xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คาดออกมาตรการเยียวยา ปชช.ที่รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายในสิ้นเดือนนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ (12 ม.ค.) ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2563 จนถึงวันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อแม้จะสูงคือ 200-300 คนต่อวัน แต่เป็นการเพิ่มที่ค่อนข้างคงที่ ไม่ได้สูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน อย่างที่วิตกตอนแรก และผู้ติดเชื้อระลอกใหม่นี้ ใช้เวลารักษาหายเร็วขึ้นมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 มกราคม จนถึงวันนี้ รักษาหายรวมกันมากกว่า 2,000 คน การระบาดรอบใหม่นี้ เรามีความพร้อมมากกว่าเมื่อปีที่แล้วมาก ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ป้องกัน โรงพยาบาล บุคลากร ความรู้ความเข้าใจในการป้องกัน ที่สำคัญมากคือ ความร่วมมือ ความรับผิดชอบของพี่น้องประชาชน ช่วยกันจำกัด การแพร่ระบาด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 หลักต่อวัน การตรวจหาเชื้อเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อ มากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละวัน แสดงว่า แม้เราจะควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ในเบื้องต้น แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศให้ลดลงมาเหลือสองหลัก หลักเดียว จน ควบคุมได้ในที่สุด ผมมั่นใจว่า เราจะทำได้แน่นอน เหมือนที่เราเคยทำได้มาแล้ว

เรื่อง วัคซีน ผมได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) เร่งรัดกระบวนการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ให้เร็ว วัคซีนมาถึงแล้ว ฉีดให้ประชาชนได้ทันที โดยเฉพาะ วัคซีน ของ แอสตร้า ซีเนก้า ที่ประเทศไทยได้รับสิทธิให้เป็นผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผนการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่ใช้กันอยู่ คือ เรียงตามลำดับความเสี่ยง กลุ่มบุคลการทางการแพทย์ ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว คนที่พื้นที่ที่มีการระบาดสูง จะได้รับก่อน เรื่องนี้ เตรียมไว้หมดแล้ว

การระบาดระลอกใหม่ แม้จะไม่มีการปิดสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง ไม่มีการจำกัดการเดินทาง การออกนอกเคหสถาน เป็นวงกว้าง เหมือนการระบาดเมื่อต้นปีก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ บางส่วนยังดำเนินต่อไปได้ ยอดค่าใช้จ่ายผ่านโครงการ คนละครึ่ง ยังอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการระบาด แต่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง ที่มีการควบคุมระดับสูงสุด ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และพนักงาน ลูกจ้างรัฐบาลกำลังประเมินสถานการณ์การระบาด เพื่อกำหนดมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในเรื่อง การช่วยเหลือเงินเยียวยาค่าครองชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดรอบนี้ คาดว่า จะมีความชัดเจน และจะมีมาตรการออกมาได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้