ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” ของจีน สามารถลงจอดบนดวงจันทร์และเริ่มปฏิบัติภารกิจเจาะพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อรวบรวมตัวอย่างหินและดินและส่งกลับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการอวกาศและความฝันในการเป็นมหาอำนาจอวกาศของปักกิ่ง
ปักกิ่งทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ให้โครงการอวกาศที่ดำเนินการโดยกองทัพ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสถานีอวกาศซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำการภายในปี 2022 และส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์ในท้ายที่สุด
สำนักงานอวกาศแห่งชาติของจีนแถลงว่า ยานฉางเอ๋อ-5 ซึ่งตั้งชื่อตามนามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ในความเชื่อเก่าแก่โบราณของจีน สามารถลงจอดที่ด้านใกล้สุดของดวงจันทร์เมื่อวันอังคาร (1 ธ.ค.) และขณะนี้กำลังเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวดวงจันทร์
หากสามารถส่งหินและดินเหล่านี้กลับสู่โลกสำเร็จ จีนจะเป็นชาติที่ 3 ที่เก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์ได้ หลังจากอเมริกาและสหภาพโซเวียตเคยทำมาแล้วในทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยที่นี่ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของมนุษย์ภายหลังการปฏิบัติภารกิจของยานลูนา 24 ของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1976
สำนักข่าวซีเอ็นเอสเอของทางการจีนอธิบายว่า ภารกิจนี้เป็นหนึ่งในภารกิจในอวกาศที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดของจีน และเสริมว่า ยานฉางเอ๋อ-5 เสร็จสิ้นการขุดเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างจากชั้นใต้ดินของดวงจันทร์แล้วเมื่อตอนเช้าวันพุธ (2) และจากนั้นก็รวบรวมตัวอย่างจากพื้นผิวตามแผน
ฉางเอ๋อ-5 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากฐานส่งของจีนในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อวันเสาร์ (28 พ.ย.) หลังใช้เวลาเดินทาง 112 ชั่วโมง
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนเปิดเผยภาพพวกนักวิจัยในห้องควบคุมภารกิจในกรุงปักกิ่ง เฝ้ามองจอภาพขนาดใหญ่ด้านหน้าและปรบมือดังลั่นหลังจากยานลงจอดสำเร็จและส่งภาพพื้นผิวสีเทาของดวงจันทร์กลับมา
ยานฉางเอ๋อ-5 ซึ่งได้รับการออกแบบให้สามารถแยกส่วนออกมาได้หลายๆ ส่วน แต่ละส่วนมีภารกิจแตกต่างกันไป ทั้งนี้พวกส่วนที่ถูกแยกออกมาให้ร่อนลงสู่ดวงจันทร์นั้น จะปฏิบัติการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ โดยมีทั้งการเจาะพื้นผิวลึก 2 เมตรเพื่อเก็บตัวอย่างที่อยู่ใต้ดิน และการรวบรวมตัวอย่างที่หลากหลายจากพื้นผิว สื่อของทางการจีนระบุว่า จะใช้เวลาปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ราว 48 ชั่วโมง
จากนั้นส่วนบนสุดของส่วนที่อยู่บนดวงจันทร์ จะกลับขึ้นไปบรรจบกับส่วนซึ่งยังอยู่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อส่งตัวอย่างที่เก็บมาไปยังส่วนแคปซูลส่งกลับ โดยที่แคปซูลส่งกลับนี้ตั้งโปรแกรมให้เดินทางกลับมายังโลกและลงจอดในพื้นที่เขตมองโกเลียในของจีนประมาณกลางเดือนนี้
ทางเจ้าหน้าที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของอเมริกา (นาซา) รวมถึงเจ้าหน้าที่อวกาศของรัสเซียต่างแสดงความยินดีที่ยานฉางเอ๋อ-5 ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ
วารสารเนเจอร์ให้ความเห็นว่า ยานฉางเอ๋อมีภารกิจในการเก็บตัวอย่างพื้นผิวดวงจันทร์รวม 2 กิโลกรัมในบริเวณ “แอ่งมหาสมุทรพายุ” ซึ่งเป็นบริเวณที่ยังไม่มีการสำรวจมาก่อน
ขณะที่ โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักวิจัยของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน ชี้ว่า ภารกิจนี้มีความท้าทายทางเทคนิคและเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมมากมายที่ไม่เคยมีการใช้กันมาก่อนในตอนเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ครั้งก่อนๆ
โทมัส เซอร์บูเชน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซา แสดงความยินดีกับจีนและบอกว่า ภารกิจนี้ไม่ง่ายเลย พร้อมแสดงความหวังว่า จีนจะแบ่งปันตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ให้นานาชาติได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
จีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ผลักดัน “ความฝันสู่อวกาศ” อย่างเต็มที่ หลังจากพยายามไล่ตามความสำเร็จของอเมริกาและรัสเซียตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จีนประสบความสำเร็จในปล่อยดาวเทียมครั้งแรกในปี 1970 และหยาง หลี่เว่ย คือมนุษย์อวกาศคนแรกของจีนที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี 2003
เดือนมกราคมปีที่แล้ว ยานของจีนลงจอดที่ด้านไกลสุดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของโลก และกระตุ้นให้แดนมังกรกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะเป็นมหาอำนาจในอวกาศ
สำหรับการส่งยานสำรวจลำล่าสุดนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายอันทะเยอทะยานของจีน ซึ่งครอบคลุมการสร้างจรวดทรงพลังที่มีน้ำหนักบรรทุกมากกว่าจรวดของนาซาและสเปซเอ็กซ์ของภาคเอกชน, การสร้างฐานบนดวงจันทร์, และการสร้างสถานีอวกาศถาวรที่มีมนุษย์อวกาศประจำอยู่ นอกจากนั้นนักบินอวกาศและนักวิจัยของจีนยังหารือเกี่ยวกับการขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารอีกด้วย
(ที่มา: เอเอฟพี,รอยเตอร์,เอพี)