จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดเพื่อนำยานสำรวจขึ้นไปเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ ถือเป็นครั้งแรกของโลกในรอบ 40 ปี และตอกย้ำความทะเยอทะยานในการเป็นผู้นำในอวกาศของปักกิ่ง
“ลองมาร์ช-5” จรวดขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งบรรทุกยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-5” ถูกปล่อยจากศูนย์ปล่อยจรวดเหวินชางบนเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อเวลา 04.30 น. วันอังคาร (24) ตามเวลาท้องถิ่นของจีน โดยสถานีทีวีของทางการได้ถ่ายทอดสดภารกิจนี้ นอกจากนั้นยังมีประชาชนจำนวนมากที่สนใจเฝ้าชมการปล่อยจรวดบริเวณชายฝั่งพร้อมบันทึกภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ
องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติของจีน (ซีเอ็นเอสเอ) แถลงว่า ภารกิจการปล่อยจรวดประสบความสำเร็จ โดยจรวดลองมาร์ช-5 ทะยานขึ้นเกือบ 37 นาทีก่อนส่งยานขึ้นสู่เส้นโคจรที่กำหนดไว้ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจในการเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ และส่งกลับมายังโลก ให้นักวิจัยทำความเข้าใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงจันทร์
ช่วงหลายปีมานี้จีนอัดฉีดงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการอวกาศที่ดำเนินการโดยกองทัพ และตั้งเป้าที่จะจัดตั้งสถานีอวกาศที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการในปี 2022 รวมทั้งจะส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์
แรกเริ่มนั้นภารกิจเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์นี้กำหนดไว้เมื่อปี 2017 แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากเครื่องยนต์ของจรวดลองมาร์ช-5 ขัดข้อง
หากภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จีนจะเป็นประเทศที่ 3 ที่ขึ้นไปเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์ ตามรอยอเมริกาและสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1960 และ 1970
เผย จ้าวอี๋ว์ โฆษกของ ภารกิจฉางเอ๋อ-5 แถลงว่า ภารกิจนี้ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานแล่นขึ้น และยานส่งกลับโดยหลังจากเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ฉางเอ๋อจะลงจอด และอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 2 วัน จากนั้นจึงส่งตัวอย่างใส่แคปซูลยานส่งกลับที่ตั้งโปรแกรมกลับสู่โลก โดยให้ลงจอดในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ตอนช่วงต้นเดือนหน้า ทั้งนี้ตามกำหนดนั้นภารกิจนี้จะใช้เวลาทั้งหมดราว 23 วัน
ทางด้าน โจนาธาน แม็กโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน แสดงความเห็นว่า ภารกิจนี้มีความท้าทายทางเทคนิคและเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในความพยายามเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์สองครั้งแรก เช่น การใช้หุ่นยนต์
เมื่อเดือนมกราคม 2019 จีนประสบความสำเร็จในการยานสำรวจดวงจันทร์ลงจอดที่ด้านไกลสุดของดวงจันทร์ ถือเป็นครั้งแรกของโลก จากนั้นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ก็ส่งยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร
ยานฉางเอ๋อถือเป็นยานลำที่ 2 ของจีนที่ลงจอดบนดวงจันทร์ หลังจากยานอี้ว์ทู่ (กระต่ายหยก) ลงจอดในปี 2013
เฉิน หลาน นักวิเคราะห์อิสระของโกไท่โคนอตส์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการอวกาศของจีน กล่าวว่า ภารกิจล่าสุดเป็นโอกาสสำหรับจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้ในการนำมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในอนาคต และยังเป็นหนึ่งในภารกิจที่เสี่ยงที่สุดของจีน
วันอังคาร สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนยกย่องการปล่อยยานฉางเอ๋อว่า เป็นสัญญาณบ่งชี้ความเป็นผู้นำในอวกาศของจีน
ยานฉางเอ๋อ-5 เป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงส่งของปักกิ่ง ซึ่งรวมถึงการสร้างจรวดทรงพลังที่สามารถนำอุปกรณ์ขึ้นสู่อวกาศได้มากกว่าทั้งจรวดของนาซา และจรวดของภาคเอกชนอย่างสเปซเอ็กซ์, การสร้างฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์, การตั้งสถานีอวกาศถาวรที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการ และยานสำรวจดาวอังคาร
กู่ อี้กวัง รองผู้บัญชาการจรวจลองมาร์ช-5 เผยว่า นับจากปีหน้าจีนจะเริ่มภารกิจการส่งสถานีอวกาศแห่งชาติขึ้นสู่อวกาศ
สำหรับคำถามว่า จีนมีแผนส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์เมื่อใด เผยตอบว่า การตัดสินใจนี้จะอิงกับความจำเป็นทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงเงื่อนไขทางเทคนิคและเศรษฐกิจ และสำทับว่า ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตน่าจะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ดำเนินการร่วมกับหุ่นยนต์
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี, เอเจนซีส์)