สำนักข่าวซินหัวรายงาน— ฉางเอ๋อ-4 (Chang’e 4) ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีน ได้ปฏิบัติการบนด้านไกล (far side) ของดวงจันทร์ เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ เป็นเวลามากกว่า 600 วันแล้ว
ยานสำรวจดวงจันทร์สัญชาติจีนได้สังเกตการณ์และวัดขนาดดินแดนแปลกใหม่ นำเสนอมุมมองและความเข้าใจเกี่ยวกับด้านไกลของดวงจันทร์และสิ่งอื่นๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย
ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ (CLEP) สังกัดองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยว่าเมื่อนับถึงวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวของฉางเอ๋อ-4 เสร็จสิ้นการทำงานที่ด้านไกลของดวงจันทร์เป็นวันที่ 21 ทางจันทรคติ และขณะนี้อยู่ในโหมดหยุดเคลื่อนที่ (Dormant Mode) ในช่วงเวลากลางคืนทางจันทรคติ เนื่องจากขาดแคลนพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2020 นับเป็นวันครบรอบ 600 วัน ของการลงจอดบนดวงจันทร์ของยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ขณะที่ยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อี้ว์ทู่-2 (Yutu-2) หรือกระต่ายหยก-2 สามารถเดินทางได้เป็นระยะทางรวม 519.29 เมตร โดยยานสำรวจพื้นผิวลำนี้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยาวนานกว่าช่วงชีวิตที่ได้รับการออกแบบมาที่ 3 เดือน จนกลายเป็นยานสำรวจพื้นผิวที่ปฏิบัติภารกิจยาวนานที่สุดบนดวงจันทร์
คณะนักวิจัยของจีนได้สร้างความคืบหน้าในงานวิจัยครั้งสำคัญด้วยความช่วยเหลือจากข้อมูลที่ส่งมายังโลก อาทิ วิวัฒนาการทางธรณีวิทยา การแผ่รังสี และสภาพแวดล้อมคลื่นความถี่ต่ำของดวงจันทร์