xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่ง ‘ฉางเอ๋อ-5’ ทะยานสู่ดวงจันทร์ จ่อเก็บตัวอย่างหิน-ดินกลับโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพซินหัว : จรวดขนส่งลองมาร์ช-5 ซึ่งบรรทุกยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชางบนชายฝั่งมณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีน ภาพเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2020
สำนักข่าวซินหัว, ไห่หนาน—จีนส่ง ‘ฉางเอ๋อ-5’ ไปปฏิบัติภารกิจเก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์กลับมายังโลก นับเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศจีนในการเก็บตัวอย่างวัตถุจากนอกโลก


จรวดขนส่งลองมาร์ช-5 (Long March-5) บรรทุกยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชางบนชายฝั่งมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อ 04.30 น. ตามเวลาปักกิ่งของวันนี้(24 พ.ย.) โดยฉางเอ๋อ-5 ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์อวกาศจีน ทั้งยังเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกในรอบกว่า 40 ปี

นาย เผย จ้าวอี๋ว์ รองผู้อำนวยการศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ (Lunar Exploration and Space Program Center) สังกัดองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) กล่าวว่าภารกิจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงวางรากฐานสำคัญสำหรับการลงจอดบนดวงจันทร์แบบควบคุมด้วยมนุษย์และการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคตของจีน


ภารกิจฉางเอ๋อ-5 ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานแล่นขึ้น และยานส่งกลับ ที่มีมวลบินขึ้นรวม 8.2 ตัน คาดว่าจะประสบความสำเร็จในการทะยานขึ้นไปยังห้วงอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุมและเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งจะเป็นความสำเร็จที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยหลังเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์แล้ว ยานลงจอดและยานแล่นขึ้นจะแยกตัวออกจากยานโคจรและยานส่งกลับ

ขณะที่ยานโคจรและยานส่งกลับโคจรอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ราว 200 กิโลเมตรนั้น ยานลงจอดและยานแล่นขึ้นจะลงจอดทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแห่งพายุ (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บริเวณด้านใกล้ของดวงจันทร์ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

หลังจากนั้นแขนกลหุ่นยนต์จะเก็บตัวอย่างก้อนหินและดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงเจาะสว่านลงบนพื้นดินภายในเวลา 48 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะเก็บรวบรวมตัวอย่างหินและดินราว 2 กิโลกรัม และปิดผนึกไว้ในภาชนะบนยานอวกาศ จากนั้นยานแล่นขึ้นจะออกเดินทางและลงจอดพร้อมกับยานโคจรและยานส่งกลับในวงโคจร โดยหลังจากตัวอย่างถูกส่งไปยังยานส่งกลับแล้ว ยานแล่นขึ้นจะแยกตัวออกจากยานโคจรและยานส่งกลับ

ยานโคจรจะนำยานส่งกลับมายังโลกทันทีที่ความสัมพันธ์ทางเรขาคณิตระหว่างโลกและดวงจันทร์เหมาะสมกัน เมื่อยานส่งกลับได้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง จะลงจอดที่อำเภอซื่อจื่อหวังฉีในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน โดยกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลามากกว่า 20 วัน

นายเผย กล่าวว่าหากภารกิจฉางเอ๋อ-5 ประสบผลสำเร็จ ก็สามารถประกาศได้ว่าโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนประสบความสำเร็จ


โครงการสำรวจดวงจันทร์ 3 ขั้นตอน ที่ตั้งชื่อตามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ” ในตำนานจีน เริ่มต้นเมื่อปี 2004 โดยเป็นภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ และการนำตัวอย่างกลับมายังโลก

เผยกล่าวว่าจีนได้รับเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานในการสำรวจดวงจันทร์แบบไร้มนุษย์ควบคุมด้วยการลงทุนอันจำกัด พร้อมเสริมว่าขณะนี้จีนกำลังร่างแผนการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต โดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 จะใช้วิธีเก็บตัวอย่างที่แตกต่างจากของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต เพื่อปูทางสู่การสำรวจดวงจันทร์แบบควบคุมด้วยมนุษย์และการสำรวจอวกาศห้วงลึก

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ใช้วิธีส่งทีมนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์เพื่อเก็บตัวอย่างวัตถุ ขณะที่ภารกิจของสหภาพโซเวียตใช้ยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุมเดินทางออกจากดวงจันทร์และกลับมายังโลกโดยตรง แต่จีนกลับเลือกใช้วิธีการทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ซึ่งรวมถึงการทะยานสู่ห้วงอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุมและเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ เนื่องจากวิธีดังกล่าวสามารถนำตัวอย่างกลับมาได้มากขึ้น ทั้งเป็นการวางรากฐานทางเทคโนโลยีสำหรับภารกิจบนดวงจันทร์แบบควบคุมด้วยมนุษย์

“การทะยานสู่ห้วงอวกาศแบบไร้มนุษย์ควบคุมและเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มันจะเป็นภารกิจที่ยากมาก” เผิง จิง รองหัวหน้าผู้ออกแบบยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 จากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศจีน (CAST) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) ระบุ

“เรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่สร้างความก้าวหน้า ความสำเร็จครั้งนี้จะช่วยให้เรามีความสามารถพื้นฐานสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคต อาทิ การเก็บตัวอย่างและออกเดินทางจากดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ” เผิงกล่าว

เป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจฉางเอ๋อ-5 ได้แก่ การตรวจสอบพื้นที่ลงจอดเพื่อเก็บข้อมูลการวิเคราะห์สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวอย่างจากดวงจันทร์ ตลอดจนการวิเคราะห์ตัวอย่างจากดวงจันทร์ในห้องปฏิบัติการในระยะยาว โดยพื้นที่ลงจอดของฉางเอ๋อ-5 จะอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ลงจอดของฉางเอ๋อ-3 ซึ่งเดินทางสู่ดวงจันทร์เมื่อปี 2013

คณะผู้เชี่ยวชาญชี้ถึงการเลือกพื้นที่ลงจอดดังกล่าวจากอายุทางธรณีวิทยา ซึ่งน้อยกว่าพื้นที่เก็บตัวอย่างของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีการเก็บตัวอย่างมาก่อน โดยตัวอย่างใหม่นี้จะมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล

“คณะนักวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกคนจะมีโอกาสได้รับตัวอย่างดวงจันทร์ที่ถูกนำกลับมายังโลกโดยฉางเอ๋อ-5 เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติม” เผยกล่าวปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น