xs
xsm
sm
md
lg

SpaceX ส่ง 4 นักบินสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในภารกิจทางการครั้งแรกของ ‘นาซา’ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทด้านการขนส่งทางอวกาศของมหาเศรษฐีไฮเทค ‘อีลอน มัสก์’ ทำการส่งนักบินอวกาศ 4 คนขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ซึ่งถือเป็นภารกิจทางการครั้งแรกขององค์การบริการการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ในการส่งลูกเรือขึ้นไปปฏิบัติภารกิจด้วยยานอวกาศของเอกชน

ยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ซึ่งติดตั้งบนจรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ นำ 3 ลูกเรือชาวอเมริกัน ซึ่งได้แก่ ไมเคิล ฮอปกินส์, วิกเตอร์ โกลฟเวอร์ และ แชนนอน วอล์กเกอร์ รวมถึง โซอิจิ โนงูจิ นักบินอวกาศจาก JAXA ของญี่ปุ่น ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนเนดีที่แหลมคะแนเวอรัลในรัฐฟลอริดา เมื่อเวลา 19.27 น.ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของสหรัฐฯ (00.27 GMT วันจันทร์) ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของช่วงเวลาเกือบ 1 ทศวรรษที่นานาชาติต้องพึ่งพิงยาน ‘โซยุซ’ ของรัสเซียในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ

โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ทวีตข้อความยกย่องความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์และนาซาว่าเป็น “บทพิสูจน์พลังของวิทยาศาสตร์ และความสำเร็จที่เราสามารถได้มาด้วยนวัตกรรม, ความเฉลียวฉลาด และความมุ่งมั่นตั้งใจ” ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งเหลือเวลาบริหารประเทศอีกเพียง 2 เดือนเศษทวีตชมเชยว่า “ยอดเยี่ยม”



เจ้าหน้าที่สเปซเอ็กซ์ระบุว่า ยานแคปซูลครูว์ดรากอนได้แยกตัวออกจากจรวดขั้นที่ 2 สำเร็จ และกำลังมุ่งหน้าไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ โดยคาดว่ายานจะเข้าเทียบท่าที่สถานีอวกาศ ISS ในเวลาประมาณ 23.00 น.ของวันจันทร์ตามเวลาตะวันออกสหรัฐฯ (04.00 GMT วันอังคาร) และนักบินอวกาศทั้ง 4 คนจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับเพื่อนนักบินชาวรัสเซีย 2 คน และนักบินอเมริกันอีก 1 คน เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ก่อนหน้านี้ สเปซเอ็กซ์ได้ทดลองส่งยานครูว์ดรากอนพร้อมนักบินอวกาศ 2 คนไป-กลับจากสถานีอวกาศ ISS เมื่อเดือน ส.ค. ซึ่งถือเป็นภารกิจการส่งมนุษย์สู่อวกาศจากแผ่นดินสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากที่นาซายุติโครงการ Space Shuttle ไปเมื่อปี 2011 เนื่องจากไม่บรรลุเป้าประสงค์ในการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศอย่างปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ นาซาได้ประกาศรับรองยานครูว์ดรากอน และจรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์เป็นพาหนะสำหรับส่งนักบินอวกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปี

นาซามีแผนทุ่มงบประมาณกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการลูกเรือเชิงพาณิชย์ (Commercial Crew) จนถึงปี 2024 โดยคาดหวังให้ภาคเอกชนดูแลเรื่องการส่งนักบินขึ้นไปยัง ‘วงโคจรระดับต่ำรอบโลก’ เพื่อที่นาซาจะได้หันไปทุ่มเทให้กับภารกิจในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร

สเปซเอ็กซ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับค่ายอากาศยานเก่าแก่อย่าง ‘โบอิ้ง’ ซึ่งการทดสอบยานแคปซูล ‘สตาร์ไลเนอร์’ เพิ่งประสบความล้มเหลวไปเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้อำนวยการนาซา ย้ำเตือนว่า ความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์ไม่ได้แปลว่าสหรัฐฯ จะหยุดใช้บริการยานอวกาศของรัสเซียเสียเลยทีเดียว

“เราต้องมีการแลกเปลี่ยนที่นั่งให้นักบินอวกาศอเมริกันสามารถเดินทางไปกับยานโซยุซของรัสเซีย และให้นักบินอวกาศรัสเซียเดินทางกับยานอวกาศเชิงพาณิชย์ของเรา” ไบรเดนสไตน์ ระบุ โดยให้เหตุผลว่ามาตรการเช่นนี้จำเป็นในกรณีที่โครงการอวกาศของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องหยุดชะงักกลางคัน

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในด้านอวกาศเริ่มส่อแววย่ำแย่ลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยรัสเซียประกาศชัดเจนว่าจะไม่ขอเป็นหุ้นส่วนกับโครงการอาร์ทีมิส (Artemis) ของนาซาซึ่งกำหนดเป้าหมายส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ในปี 2024 เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ “ยึดสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง” มากเกินไป ขณะที่ ดมิตรี โรโกซิน ผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศ ‘รอสคอสมอส’ ก็ออกมาเยาะเย้ยเทคโนโลยีของสเปซเอ็กซ์อยู่เนืองๆ แถมยังประกาศเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาว่ารอสคอสมอสจะสร้างจรวดที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าจรวดของมัสก์เสียอีก

ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น