ซินหัว (2 ธ.ค.) - องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) รายงานว่ายานอวกาศฉางเอ๋อ-5 ของจีน ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นผิวด้านใกล้ของดวงจันทร์ เมื่อช่วงดึกของวันอังคาร (1 ธ.ค.) และส่งภาพกลับมายังศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน
รายงานระบุว่าเมื่อ 23.11 น. ตามเวลาปักกิ่ง ยานอวกาศได้ลงจอดบนพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งใกล้กับลองจิจูด 51.8 องศาตะวันตก และละติจูด 43.1 องศาเหนือ
อนึ่ง จีนได้ปล่อยยานอวกาศ 'ฉางเอ๋อ-5' ซึ่งประกอบด้วยโมดูลโคจร ลงจอด พุ่งขึ้นและส่งกลับ ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อ 22.57 น. ของวันอังคาร (1 ธ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง การทำงานแบบประสานกันของโมดูลพุ่งขึ้น-ลงจอดของ "ฉางเอ๋อ-5" ที่ความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ราว 15 กิโลเมตร ได้เริ่มทำการลงจอดด้วยเครื่องยนต์แรงขับแบบแปรผันจนความเร็วสัมพัทธ์ในแนวดิ่งกับดวงจันทร์ลดลงจาก 1.7 กิโลเมตรต่อวินาทีเหลือศูนย์ ก่อนยานสำรวจได้รับการปรับและเคลื่อนเข้าใกล้พื้นผิวดวงจันทร์
หลังยานสำรวจทำการตรวจจับและระบุสิ่งกีดขวางที่ปรากฏโดยอัตโนมัติแล้ว จึงเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและลงจอดทางเหนือของจุดเกิดการก่อตัวของภูเขาไฟ "มอนส์ รึมเคอร์" (Mons Rümker) ในแอ่งขนาดใหญ่ "โอซีเอนัส พรอสซาเลรัม" (Oceanus Procellarum) หรือที่เรียกกันว่า "มหาสมุทรพายุ" (Ocean of Storms) ที่ด้านใกล้ของดวงจันทร์
องค์การฯ ระบุว่ากล้องของฉางเอ๋อ-5 ได้บันทึกภาพขณะยานทำการลงจอดไว้ ด้านศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินได้สั่งการให้โมดูลลงจอดตรวจสอบสถานะและการตั้งค่าต่างๆ เพื่อเตรียมออกปฏิบัติการบนพื้นผิวดวงจันทร์ราว 48 ชั่วโมง
มีการคาดการณ์ว่าจะเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์ประมาณ 2 กิโลกรัมและปิดผนึกภาชนะเก็บตัวอย่างดังกล่าว จากนั้นโมดูลพุ่งขึ้นจะทำหน้าที่พาฉางเอ๋อ-5 ทะยานจากพื้นผิวดวงจันทร์ และผนวกเข้ากับการทำงานแบบประสานกันของโมดูลโคจร-ส่งกลับ หลังจากที่ตัวอย่างดินและหินถูกส่งต่อไปยังโมดูลส่งกลับแล้ว โมดูลพุ่งขึ้นจะแยกจากโมดูลโคจร-ส่งกลับ
โมดูลโคจรถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ส่งตัวอย่างกลับมายังผืนโลก ส่วนโมดูลส่งกลับถูกกำหนดให้พายานกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและลงจอดที่อำเภอซื่อจื่อหวัง (Siziwang Banner) ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน