ไบเดนลั่นคนอเมริกันจะ “ไม่ทน” กับความพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ขณะที่ทรัมป์ยังยืนกรานว่า ถูกโกงคะแนน แถมใช้อำนาจฝ่ายบริหารทิ้งทวนก่อนหมดวาระ ด้วยการอภัยโทษอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงที่สารภาพถึง 2 ครั้งว่า โกหกเอฟบีไอเกี่ยวกับการติดต่อกับรัสเซีย และเป็นจุดเริ่มต้นการสอบสวนทีมหาเสียงทรัมป์กรณีสมรู้ร่วมคิดกับมอสโก
ในการปราศรัยถ่ายทอดทางทีวีเมื่อวันพุธ (25พ.ย.) เนื่องในเทศกาลวันหยุดขอบคุณพระเจ้าวันพฤหัสบดี (26) โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้จะอุทิศเนื้อหาส่วนใหญ่พูดเรื่องการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 แต่ก็กล่าวพาดพิงถึงเรื่องที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และพยายามหาทางพลิกผลการเลือกตั้งด้วยข้ออ้างต่างๆ ซึ่งฝ่ายต่างๆ รวมทั้งศาลเห็นว่าไม่มีมูล
ไบเดนบอกว่า ชาวอเมริกันนี้น “มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมและเต็มที่ แล้วจากนั้นเราก็เคารพผลลัพธ์ที่ออกมา”
“ประชาชนของประเทศและกฎหมายของดินแดนแห่งนี้ จะไม่ยอมรับให้เป็นอย่างอื่นใดๆ ทั้งสิ้น”
ในวันเดียวกัน เคต เบดดิงฟิลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของไบเดนเผยว่า ว่าที่ประธานาธิบดีจะเปิดเผยผู้ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสำคัญๆ ในคณะบริหารของเขา ซึ่งรวมถึงทีมเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ มีการคาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า เจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง
นอกจากนั้น แหล่งข่าววงในคนหนึ่งแย้มว่า ไบเดนอาจแต่งตั้งทอม โดนิลอน นักการทูตประสบการณ์สูงและอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ)
ทางด้านทรัมป์ เมื่อวันพุธได้กล่าวกับพวกผู้สนับสนุนเขาในรัฐเพนซิลเวเนียผ่านทางโทรศัพท์ โดยเรียกร้องให้พลิกผลการเลือกตั้ง และอ้างลอยๆ โดยไม่แสดงหลักฐานตามเคยว่าการเลือกตั้งคราวนี้เต็มไปด้วยการทุจริต
ก่อนหน้านี้ทรัมป์มีกำหนดการจะไปปรากฏตัวด้วยตนเอง ทว่ายกเลิกในนาทีสุดท้าย
ทั้งนี้ นอกจากได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งถึง 306-232 เสียงแล้ว ไบเดนยังมีคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่าทรัมป์อยู่ 6.1 ล้านคะแนน
ในวันพุธ ทรัมป์ยังประกาศอภัยโทษไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเขา ซึ่งรับสารภาพ 2 ครั้งว่า โกหกเกี่ยวกับการติดต่อกับรัสเซียและเป็นจุดเริ่มต้นการสอบสวนทีมหาเสียงทรัมป์กรณีสมรู้ร่วมคิดกับมอสโก
การอภัยโทษช่วยให้ฟลินน์ไม่ต้องถูกจำคุกในคดีที่เขาถูกศาลสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันตัดสินว่ามีความผิดแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการกำหนดระวางโทษ โดยที่คดีของฟลินน์ถือเป็นการปิดคดีความที่ต่อยอดมาจากการสอบสวนของโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ปรึกษาพิเศษทางกฎหมาย เมื่อปี 2017-2019 เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทีมหาเสียงทรัมป์สมรู้ร่วมคิดกับรัสเซียป่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ซึ่งได้นำไปสู่การยอมรับผิดหรือการถูกตัดสินว่าผิดของผู้ช่วย 6 คนในทีมหาเสียงของทรัมป์
ฟลินน์นั้นได้รับสารภาพถึงสองครั้งว่า โกหกสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เกี่ยวกับการติดต่อกับเซียร์เก คิสเลียค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตันช่วงก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2017 ไม่กี่สัปดาห์
แต่นับจากนั้น ฟลินน์พยายามยกเลิกคำสารภาพโดยอ้างว่า ถูกอัยการละเมิดสิทธิ์และหลอกให้ยอมทำข้อตกลงรับสารภาพและร่วมมือในการสอบสวน
ฟลินน์เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติคนแรกของทรัมป์ แต่ถูกปลดออกหลังรับตำแหน่งเพียง 24 วันจากการที่เขายอมรับว่า โกหกรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ หลังถูกแฉว่า เคยติดต่อกับคิสเลียค
ทางด้านทำเนียบขาวแถลงว่า การอภัยโทษฟลินน์คือการสิ้นสุดการติดตามดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์อย่างไม่ยอมลดละ อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามล้มล้างการเลือกตั้งในปี 2016 และบ่อนทำลายคณะบริหารของทรัมป์ทุกวิถีทาง
ทว่า แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต วิจารณ์การอภัยโทษฟลินน์ว่า เป็นการทุจริตและใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างร้ายแรง
ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์คาดว่า ทรัมป์ยังจะประกาศอภัยโทษพวกผู้ช่วยและพันธมิตรการเมืองของเขาเพิ่มเติมอีกก่อนพ้นตำแหน่งต้นปีหน้า ซึ่งอาจรวมถึงพอล มานาฟอร์ต ประธานทีมหาเสียงในปี 2016 ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดจริงในคดีสมรู้ร่วมคิดกับรัสเซียเช่นเดียวกัน, รูดี จูเลียนี ทนายความส่วนตัวของทรัมป์, สตีฟ แบนนอน อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาว และ โรเจอร์ สโตน เพื่อนเก่าแก่ของทรัมป์ซึ่งอยู่ในทีมรณรงค์หาเสียงปี 2016 ของเขาด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสโตนถูกจำคุกจากการให้การเท็จและขัดขวางการให้การของพยาน ซึ่งทรัมป์จัดการให้มีการลดโทษไปแล้ว
(ที่มา: เอเอฟพี/เอพี/รอยเตอร์)