(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
RCEP trade pact heralds dawn of Asian Century
by David Hutt and Shawn W. Crispin
15/11/2020
จากการลงนามใน “อาร์เซ็ป” ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดกลุ่มหุ้นส่วนทางการค้าและเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งมีความทัดเทียมกับสหภาพยุโรป และกลุ่มหุ้นส่วนการค้าอเมริกาเหนือ
กรุงเทพฯ - ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership เรียกกันย่อๆ ว่า อาร์เซ็ป RCEP) ข้อตกลงการค้าของเอเชียที่มีสมาชิก 15 ราย ซึ่งถูกเสนอออกมาให้พิจารณากันครั้งแรกเมื่อเกือบๆ 1 ทศวรรษก่อน ได้รับการลงนามและประทับตราแล้วในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ณ การประชุมซัมมิตระดับภูมิภาคซึ่งจัดขึ้นในแบบเสมือนจริง
สมาชิก 10 ชาติของสมาคมอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ทั้งหมดนี้ต่างถูกครอบคลุมรวมอยู่ในสิ่งที่จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับที่ใหญ่โตที่สุดของโลก
การประชุมซัมมิตเสมือนจริงคราวนี้ แสดงให้เห็นภาพพวกผู้นำชาติสมาชิกอาร์เซ็ป ผลัดเวียนกันยืนอยู่ด้านหลังรัฐมนตรีพาณิชย์ของพวกเขา ขณะที่รัฐมนตรีเหล่านี้ลงชื่อกันทีละคนในสำเนาของข้อตกลงซึ่งวางอยู่ตรงเบื้องหน้าของพวกเขาในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ
ทั้ง 15 ชาติเอเชียเหล่านี้รวมกันแล้ว คิดกันหยาบๆ คร่าวๆ จะเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั่วโลก แม้กระทั่งเมื่อปราศจากอินเดีย ผู้ซึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้เมื่อปีที่แล้ว สืบเนื่องจากความกังวลว่ามันจะกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ ของท้องถิ่นและบรรดาผู้ผลิตในท้องถิ่น
ยอดรวมจีดีพีของชาติผู้ลงนามเหล่านี้อยู่ในระดับมหึมาถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะใหญ่กว่าทั้ง ความตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement) ของทวีปอเมริกาเหนือ และทั้งสหภาพยุโรป
อาร์เซ็ปจะลดทอนภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าในระหว่างชาติซึ่งร่วมลงนามกันลงไปให้ได้ถึง 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี และจะสถาปนากฎเกณฑ์ร่วมสำหรับเรื่องอี-คอมเมิร์ซ, การค้า, และทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่หลบเลี่ยงไม่ทำข้อผูกพันใดๆ ในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม
อาร์เซ็ปได้รับการวางแผนขึ้นมาเพื่อมุ่งลดทอนค่าใช้จ่ายและเวลาให้แก่บริษัทต่างๆ และผู้ค้าต่างๆ ด้วยการเปิดทางให้พวกเขาส่งออกสินค้าของพวกเขาไปยังชาติที่ร่วมลงนามแห่งใดๆ ก็ตาม โดยไม่ต้องคอยทำตามข้อกำหนดเงื่อนไขที่แยกต่างหากสำหรับแต่ละประเทศ คาดหมายกันว่าข้อตกลงฉบับนี้จะมีประเทศที่รับรองให้สัตยาบันครบตามกติกาที่กำหนดและเริ่มมีผลบังคับใช้กันได้ภายในปี 2021
สิ่งที่เห็นกันว่ามีความสำคัญมากด้วยเช่นกัน ได้แก่การที่อาร์เซ็ปกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ทั้งจีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมอันก้าวไกลในเอเชีย เข้าร่วมลงนามกันครบถ้วน
ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 3 รายนี้ได้จัดการหารือกันมาตั้งแต่ปี 2012 ในเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคี ทว่าแทบไม่มีความคืบหน้าไปสู่ดีลใดๆ ได้เลย โดยเฉพาะในระยะหลายปีหลังๆ มานี้เมื่อความเป็นปรปักษ์กันในทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเหล่านี้ยิ่งดุเดือดเข้มข้น
เป็นที่คาดหมายกันว่า อาร์เซ็ปจะทำให้ปักกิ่งยิ่งสามารถขยายการเข้าถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้นไปอีก หลังจากที่เดิมก็แผ่คลุมภูมิภาคนี้ได้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว โดยที่ปริมาณการค้าระหว่างกันยังคงสูงขึ้นในปีนี้ทั้งๆ ที่เกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19
ข้อตกลงฉบับนี้ไม่เพียงได้รับการคาดหมายว่าจะช่วยเหลือให้บรรดาชาติอาเซียนฟื้นตัวขึ้นมาในปีหน้าจากความหายนะทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่เท่านั้น หากอาร์เซ็ปยังเป็นเครื่องเน้นย้ำเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ในสิ่งซึ่งนักวิเคราะห์บางคนยังคงเชื่อว่า จะกลายเป็นที่รู้จักกล่าวขานในเวลาข้างหน้าว่าเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย”
ตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ บ่งชี้ว่ากลุ่มอาเซียนอาจจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยที่ภูมิภาคนี้มียอดจีดีพีรวมกันอยู่ที่ 2.57 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
ผู้คนจำนวนมากต่างพิจารณาเห็นว่า อาร์เซ็ปจะได้รับการเพิ่มพูนเสริมส่งความหมายความสำคัญสืบเนื่องจากจีน ซึ่งเป็นสถาปนิกตัวหลักของข้อตกลงฉบับนี้ ในฐานะเป็นสัญญาณประการหนึ่งที่ส่งไปยังค่ายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ว่า ปักกิ่งกำลังขยับขยายวาระการค้าเสรีแบบพหุภาคีของตนไปอย่างไรบ้าง ในระหว่างสมัยของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องการทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวสูงกว่าและมุ่งมองเน้นไปที่ภายในประเทศมากกว่า
อันที่จริงแล้ว อาร์เซ็ปกลายเป็นดีลทางการค้าฉบับใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมาได้ เพียงเพราะทรัมป์นำสหรัฐฯถอนตัวออกจาก ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ในวันทำงานเต็มวันแรกสุดแห่งการเข้ารับตำแหน่งของเขาเมื่อตอนต้นปี 2017 อันเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความผิดหวังอย่างแรงให้แก่พวกชาติพันธมิตรเอเชียของอเมริกา ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, และเวียดนาม
การจัดพิธีลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ป เพียงสองสามเดือนก่อนหน้าที่ไบเดนจะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2021 อาจทำให้สหรัฐฯตกอยู่ในฐานะที่อ่อนแอมากขึ้นไปอีกในปีหน้า เนื่องจากคณะบริหารไบเดนน่าที่จะเผชิญการคัดค้านจากภายในประเทศอย่างมโหฬาร หากคิดมองหาทางกลับเข้าไปร่วมในข้อตกลงทีพีพีรูปโฉมใหม่ ที่เวลานี้ใช้ชื่อว่า ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า CPTPP) อย่างที่เขาเพิ่งพูดว่าเขาจะกระทำ
ทรัมป์นำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพี ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะทำให้อเมริกันต้องสูญเสียตำแหน่งงานให้ต่างชาติ โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ ซีพีทีพีพี ให้คำมั่นที่จะขจัดลดทอนการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างชาติสมาชิกในระดับใหญ่โตมโหฬารและรวดเร็วยิ่งกว่าที่ระบุไว้ในอาร์เซ็ปด้วยซ้ำ แล้วยังให้ความสำคัญบรรจุกฎเกณฑ์และข้อบัญญัติต่างๆ ในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมเอาไว้อย่างโดดเด่น
ชื่อเสียงเกียรติคุณในเรื่องพหุภาคีของอเมริกายิ่งถูกกัดกร่อนลดทอนมากขึ้นไปอีก เมื่อคณะบริหารทรัมป์ตัดสินใจที่จะส่งแค่เจ้าหน้าที่ระดับค่อนข้างด้อยอาวุโส อย่างที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ โรเบิร์ต โอไบรอัน (Robert O’Brien) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯในการประชุมซัมมิตอาเซียนปีนี้ รวมทั้งในการประชุมซัมมิตเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่าซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) โดยมีเวียดนามเป็นประธานเช่นกัน
เมื่อปีที่แล้ว เหล่าผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็รู้สึกกันอยู่แล้วว่าพวกตนถูกมองข้าม และส่งผลให้บางคนคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมในการประชุมซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นวาระหนึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนกับพวกประเทศคู่เจรจา ที่จัดต่อเนื่องถัดๆ จากการประชุมซัมมิตของพวกผู้นำอาเซียนเอง ในเมื่อปรากฏว่าทั้งทรัมป์, รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์, หรือรัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ พอมเพโอ ไม่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมคราวนั้นที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อตกลงอาร์เซ็ปจะกลายเป็นการเพิ่มที่ทางหายใจหายคอสำหรับจีน ซึ่งต้องเผชิญสงครามการค้าของทรัมป์ที่มีการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอย่างหนักหน่วง รวมทั้งประสบกับบรรยากาศแห่งลัทธิกีดกันการค้าที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นโดยทั่วไปอีกด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นเพราะลักษณะความเป็นสัญลักษณ์ตลอดจนความสำคัญของข้อตกลงอาร์เซ็ป โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) จึงได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า “ปี 2020 เป็นปีที่ได้พบเห็นการเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน ทั้งๆ ที่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เอื้ออำนวยเลย”
เป็นความจริงทีเดียว กลุ่มอาเซียนได้กระโดดแซงหน้าสหภาพยุโรปกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 ด้วยมูลค่าปริมาณการค้าทั้งสิ้นเท่ากับ 416,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้จากรัฐบาลจีน
แต่ถึงแม้ตัวเลขนี้เท่ากับว่าอยู่ในอัตราเติบโต 3.8% ต่อปี ซึ่งถือว่ายังสอดคล้องเป็นไปตามแนวโน้มของการค้าที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างกลุ่มอาเซียนกับจีน ทว่ามันก็เป็นสิ่งที่ผิดจากปกติไปเยอะทีเดียว สืบเนื่องจากดีมานด์ความต้องการสินค้าจีนจากยุโรปกำลังลดต่ำลงมาก ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯก็ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี คาดหมายกันว่ามีโอกาสอยู่มากที่สุดที่อียูจะกลับกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนอีกครั้งในปีหน้า
ขณะที่การลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ปเป็นสิ่งที่ครอบงำรายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมหารือครั้งนี้ แต่อันที่จริงยังมีการลงนามในข้อตกลงฉบับอื่นๆ อีกซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะมองพินิจเข้ามาภายในเพื่อแสวงหาการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันและความร่วมมือกันระดับภูมิภาคในวงกว้างขวางออกไป
หนึ่งในจำนวนนี้ได้แก่ การเปิดตัวโครงการคลังสำรองเวชภัณฑ์จำเป็นทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้รัฐสมาชิกของอาเซียนมีความสะดวกยิ่งขึ้นในการเข้าถึงพวกอุปกรณ์สำคัญยิ่งยวดต่างๆ ถ้าหากจำนวนเคสผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของพวกเขาเกิดกลับพุ่งสูงขึ้นไปอีก
นี่น่าจะสำคัญเอามากๆ ทีเดียวสำหรับประเทศอย่างเช่นกัมพูชา ซึ่งภาคสาธารณสุขที่มีปัญหาขาดแคลนเงินทุนงบประมาณอยู่แล้ว อาจต้องเจอกับบททดสอบอันหนักหน่วงสาหัส ถ้าความกังวลที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว เกี่ยวกับภัยคุกคามที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ในนครหลวงพนมเปญซึ่งมีต้นตอมาจากภายในท้องถิ่นเอง เกิดถูกต้องกลายเป็นความจริงขึ้นมา
ข้อตกลงที่น่าจะสำคัญยิ่งกว่านี้เสียอีก ได้แก่ การตกลงเห็นชอบใน “แผนแม่บทเพื่อการฟื้นฟูอย่างรอบด้านของอาเซียน” (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) ซึ่งถือเป็น “แผนการเพื่อจัดวางทางออก” จากโรคระบาดคราวนี้ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในด้านสังคม ที่จะนำมาปฏิบัติกันในปีหน้า ตลอดจน “กองทุนเพื่อตอบโต้รับมือโควิด-19 ของอาเซียน” (Covid-19 ASEAN Response Fund) ซึ่งจะเป็นที่รวมการบริจาคทางการเงินและความช่วยเหลือต่างๆ สำหรับภูมิภาคนี้
รัฐมนตรีการค้าของสิงคโปร์ ชาน ชุน ซิง (Chan Chun Sing) พูดถึงแผนแม่บทเพื่อการฟื้นฟูฯ ว่า เป็น “ตัวแทนความพยายามร่วมกันของเรา เพื่อทำให้เศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในอาเซียน สามารถที่จะใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับสูงขึ้นทุกที เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวและความหยุ่นตัวในระยะยาวไกลออกไป”
นักวิเคราะห์บางรายมองข้อตกลงเหล่านี้ว่า คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาของภูมิภาคนี้ ที่ต้องการจะพึ่งพาอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกให้น้อยลงไม่ใช่เพิ่มขึ้น อันเป็นการปรับเปลี่ยนซึ่งจะดำเนินไปอย่างราบรื่นได้ ก็จำเป็นจะต้องเรียกร้องให้พวกชาติในภูมิภาคนี้ที่มีฐานะร่ำรวยมากกว่า แสดงความเต็มอกเต็มใจมากยิ่งขึ้นในสนับสนุนพวกรัฐสมาชิกของอาเซียนที่ยังยากจนยิ่งกว่า
มาเลเซียเป็นผู้เสนอไอเดียนี้เป็นครั้งแรกย้อนหลังกลับไปในเดือนเมษายน และในวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.) นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ของมาเลเซีย ก็ย้ำประเด็นนี้โดยกล่าวว่า “ถ้าหากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 จะสอนบทเรียนอะไรพวกเราแล้ว บทเรียนนั้นก็คือว่าอาเซียนต้องพึ่งพาตนเองในเวลาที่เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะในปัจจุบัน หรือในอนาคต”
“เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราเป็นเจ้านายเหนือชะตากรรมของภูมิภาคของเรา และเราสามารถที่จะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ตลอดจนเพื่อแก้ไขคลี่คลายปัญหาที่มีอยู่ร่วมกัน” นี่เป็นการกล่าวสำทับโดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ณ การประชุมซัมมิตที่จัดแบบเสมือนจริงเมื่อวันพฤหัสบดี (12 พ.ย.)
ขณะที่บทสรุปของการประชุมซัมมิตครั้งนี้ ควรจะได้รับการพิจารณากล่าวขวัญว่ามีความหมายสำคัญมาก สืบเนื่องจากการลงนามในข้อตกลงการค้าฉบับซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และถือเอาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลาง แต่กระนั้น ก็ดูจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่านายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม จะต้องรู้สึกเจ็บปวดเศร้าเสียใจขึ้นมาอย่างฉับพลัน ในตอนที่ทำพิธีอย่างเป็นทางการเพื่อส่งมอบตำแหน่งการเป็นประธานของสมาคมอาเซียนให้แก่บรูไน ตามธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งชาติสมาชิกจะผลัดเวียนเข้ามาทำหน้าที่นี้
เวียดนามนั้น ถือเป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงของประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากรายหนึ่งของสงครามการค้าที่ทรัมป์ก่อขึ้นกับจีน ในขณะที่กิจการระดับนานาชาติจำนวนมากโยกย้ายโรงงานของพวกตนออกมาจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกเล่นงานด้วยมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เท่าที่ผ่านมา เวียดนามได้พยายามหาทางใช้ตำแหน่งแห่งการเป็นประธานในปีนี้ของตนมาดำเนินการปฏิรูปกิจการต่างๆ ในภูมิภาค โดยรวมถึงการจัดการกับข้อพิพาททั้งหลายในทะเลจีนใต้ด้วย
แต่แล้วโรคระบาดใหญ่ที่แผ่ลามอย่างรวดเร็วกว้างขวาง กลับเป็นเครื่องขัดขวางความทะเยอทะยานเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการที่ต้องจัดการประชุมในลักษณะเสมือนจริง ได้กลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้มีการพบปะกันแบบตัวเป็นๆ ซึ่งมีบรรยากาศของความสุขุมรอบคอบมากกว่า และพวกนักการทูตชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ชมชอบโปรดปรานยิ่งกว่า ในเวลาที่จะต้องหารือกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอ่อนไหวต่างๆ
จากการที่บรูไนกำลังเข้ารับหน้าที่เป็นประธานของสมาคมอาเซียนในปีหน้า ก็มีความกังวลห่วงใยบางประการขึ้นมาเรียบร้อยแล้วว่า บรูไนอาจจะมีความยินดีมากกว่าในการยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ปักกิ่งต้องการ เพื่อจัดทำ “แนวทางปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้” (Code of Conduct for the South China Sea) ซึ่งอยู่ในกระบวนการเจรจาต่อรองกันมาอย่างยาวนานแล้ว
ยิ่งไปกว่ากัน จากการที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน จะเป็นเจ้าภาพของการประชุมซัมมิตในปีหน้า มันก็อาจเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน ในช่วงเวลาที่ ไบเดน น่าที่จะมุ่งเสาะแสวงหาหนทางฟื้นฟูความเป็นพันธมิตรและความผูกพันทั้งหลายที่ประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ มีอยู่กับอเมริกา
คณะบริหารสหรัฐฯหลายๆ ชุดต่อเนื่องกันมา ได้ทำสันติภาพกับรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งที่จริงยังถูกฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์กดขี่ปราบปรามประชาชน จนกระทั่งไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าหากผู้นำอเมริกันจะไปปรากฏตัวที่กรุงฮานอยหรือนครดานังเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิต
แต่พวกเขายังคงมีความพรักพร้อมยินดีมากกว่า เมื่อจะต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยต่อการกดขี่บีฑาของบรูไน ทั้งนี้รวมไปถึงการที่ตัวไบเดนเองก็ได้แสดงความเห็นเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า การปฏิบัติของบรูไนต่อชาวรักร่วมเพศ เป็นสิ่งที่ “น่าตื่นตระหนกและไร้ศีลธรรม”
ปี 2020 สิ้นสุดลงด้วยการที่อาเซียนได้รับการประเมินในทางบวก จากการลงนามในดีลทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ความสนใจกำลังเคลื่อนย้ายไปสู่ปี 2021 เรียบร้อยแล้ว อันเป็นปีที่กลุ่มอาเซียนจะต้องหวนกลับมาโฟกัสยังสิ่งที่เป็นความกังวลห่วงใยมาแต่ไหนแต่ไรกันมากขึ้น ซึ่งได้แก่ ความสามัคคีภายในภูมิภาค และภัยคุกคามต่างๆ จากภายนอก โดยที่มีบางคนเสนอว่าภัยเหล่านี้อาจมีผลกระทบกระทั่งกลายเป็นตัวขัดขวางการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงอาร์เซ็ปอย่างถึงที่สุดได้ทีเดียว