(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Chinese media says RCEP realizes Xi’s ‘Asia dream’
By FRANK CHEN
16/11/2020
สื่อของทางการจีนประโคมว่าการที่ข้อตกลงการค้าอาร์เซ็ปผ่านออกมาได้ คือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของจีนและการเสื่อมทรุดของอเมริกาในภูมิภาคนี้ ทว่าชาติอื่นๆ ซึ่งเข้าร่วมลงนามดูจะไม่ได้มีความคิดเช่นนี้
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership เรียกกันย่อๆ ว่า อาร์เซ็ป RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่นำเอา จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้ง 10 เข้ามารวมกันนั้น เริ่มต้นขึ้นในฐานะเป็นแผนการริเริ่มเพื่อการบูรณาการของอาเซียน และเสร็จสิ้นลงในอีก 8 ปีต่อมาในฐานะที่เป็นมหายุทธศาสตร์ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ
ในการประชุมแบบเสมือนจริงของชาติผู้ลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ทั้ง 15 รายเมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบระดับสูงสุดอย่างฟุ่มเฟือยทีเดียวเพื่อยกย่องสรรเสริญ “จิตวิญญาณแห่งเอเชีย” และลัทธิพหุภาคีนิยม ในคำปราศรัยของเขา ณ พิธีลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ปแบบออนไลน์
ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ ซึ่งเวลานี้กลายเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกโดยมีจีนยืนอย่างมั่นคงอยู่ตรงกลาง จะครอบคลุมประชากรโลกและผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อปีของทั่วโลกเอาไว้ประมาณหนึ่งในสาม และจะไม่มีทั้งสหรัฐฯหรือยุโรปเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วย
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ระบุยอมรับเอาไว้ในรายงานเชิงสารคดีชิ้นหนึ่งซึ่งพูดถึงการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงอาร์เซ็ปว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งปักกิ่งเกิดความหวาดกลัวขึ้นมาว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจกลายเป็นตัวขัดขวางทำให้การเจรจาแบบมาราธอนที่ดำเนินมาถึง 8 ปีต้องมีอันเสียขบวนไป ในขณะที่กำลังใกล้จะถึงขั้นตกลงกันได้อย่างสมบูรณ์อยู่แล้วเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้
นอกจากนั้นยังลือกันว่ากระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ร่างแผนการฉุกเฉินต่างๆ เตรียมเอาไว้เพื่อให้ข้อตกลงนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งข้อเสนอให้ทำข้อตกลง “เฟส 1” กับบางชาติสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการเลือกสรรว่าเป็นพันธมิตรกับปักกิ่ง ถ้าหากคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งหาทางบีบคั้นกดดันพวกชาติพันธมิตรเอเชียของตนอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และออสเตรเลีย ให้เดินผละออกจากข้อตกลงนี้ในขณะที่มันใกล้เสร็จสิ้นอยู่รอมร่อ
หนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อทางการจีนบางฉบับไปไกลถึงขั้นเสนอแนะว่า โตเกียว, โซล, และแคนเบอร์รา ได้เพิกเฉยไม่รับฟังข้อโต้แย้งของวอชิงตันที่คัดค้านข้อตกลงฉบับนี้ และการที่ประเทศพันธมิตรของอเมริกาเหล่านี้ยังคงตัดสินใจเข้าร่วมในอาร์เซ็ปคือสัญญาณเครื่องบ่งชี้อันล่าสุดของการที่สหรัฐฯกำลังสูญเสียฐานะความสำคัญสูงสุดของตนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก [1]
ซีจีทีเอ็น สื่อที่ได้รับการหนุนหลังจากทางการจีนเช่นกัน ยังไปไกลกว่านั้นด้วยการเสนอแนะว่า การที่ประเทศต่างๆ ลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ป ย่อมหมายความด้วยว่าพวกเขายอมรับระเบียบใหม่สำหรับเอเชียที่มีปักกิ่งเป็นผู้นำ
จาง เจี้ยนผิง (Zhang Jianping) ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Economy Research Cente) ที่สังกัดอยู่กับกระทรวงพาณิชย์จีน บอกกับสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ซึ่งเป็นกิจการทีวีของภาครัฐว่า “ความฝันเอเชีย” (Asia dream) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ในที่สุดก็มาถึงขั้นตอนของการผลิดอกออกผลด้วยการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้
ความฝันเอเชียของสีที่กล่าวถึงนี้ ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างออกมาครั้งแรกสุดในการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เอเปก) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในปี 2014 โดยที่ประมุขแดนมังกรพูดถึง “ชะตากรรมที่มีร่วมกัน” ในเรื่องสันติภาพ, การพัฒนา, และการให้ผลประโยชน์แก่กันและกันในภูมิภาคนี้
จางยังกล่าวต่อไปว่า ข้อตกลงอาร์เซ็ปจะกลายเป็นการแผ้วถางจัดเตรียมพื้นที่อันหนักแน่นมั่นคงแห่งใหม่ สำหรับที่จีนจะสร้างความทะเยอทะยานต่างๆ เพื่อเอเชียของตนขึ้นมา โดยที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เพื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ของปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านักวิจารณ์ผู้ออกความเห็นทางสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ทุกผู้ทุกคนจะเห็นด้วยว่า ความฝันของสีได้บรรลุถึงหลักชัยแล้วด้วยข้อตกลงอาร์เซ็ป
จอห์นนี เลา (Johnny Lau) นักวิจารณ์ออกความเห็นทางสื่อในเรื่องเกี่ยวกับกิจการจีน ซึ่งตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง เขียนลงในบทความเผยแพร่ทางสื่อชิ้นหนึ่งว่า “ปักกิ่งมีแต่จะกำลังหลอกตัวเองเท่านั้น จากความรื่นเริงบันเทิงใจด้วยความคิดที่ว่า ข้อตกลงการค้าฉบับหนึ่ง –ถึงแม้ปักกิ่งจะมีบทบาทมากกว่าใครเพื่อนในการผลักดันให้มันถือกำเนิดขึ้นมา— จะทำให้ดุลแห่งพลวัตทางอำนาจของเอเชียเกิดการเอนเอียงไปทางข้างที่ทำให้จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบ เนื่องจากข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า อาเซียน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอื่นๆ อีก ต่างกำลังพยายามที่จะหย่าร้างแยกขาดความผูกพันทางเศรษฐกิจที่พวกตนมีอยู่กับจีน ให้ออกมาจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองที่กำลังมีกันอยู่
“จุดยืนของพวกเขาก็คือ ในขณะที่กำลังทำดีลธุรกิจสำคัญๆ กับจีนอยู่นั้น พวกเขายังคงมีความลังเลใจที่จะเข้าขบวนยืนอยู่ในแถวแนวเดียวกับจีนในประเด็นปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น ข้อพิพาทต่างๆ ทางดินแดน”
เหลียนเหอ เจ่าเป้า (Lianhe Zaobao) หนังสือพิมพ์ภาษาจีนใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ ชี้เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า แรงจูงใจใหญ่ที่สุดสำหรับสิงคโปร์และพวกผู้ร่วมลงนามรายอื่นๆ อย่างเช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เข้าร่วมในข้อตกลงอาร์เซ็ป ได้แก่การฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจของพวกตนที่ถูกกระหน่ำตีเสียน่วมจากโควิด-19 โดยผ่านการค้าที่มีความเป็นเสรีมากขึ้นและการบูรณาการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกับจีน แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะยินยอมน้อมรับดีไซน์ต่างๆ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน
ผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดอัตราภาษีศุลกากรของข้อตกลงอาร์เซ็ป เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นคาดหมายว่าจะมีการลดอัตราภาษีศุลกากรลงมาโดยเร็ว สำหรับประมาณ 86% ของการส่งออกที่ญี่ปุ่นส่งไปยังจีน ทั้งนี้รวมไปถึงพวกอาหาร, เครื่องสำอาง, และสินค้าอิเล็กรอนิกส์
ข้อตกลงอาร์เซ็ปตั้งเป้าหมายที่จะขจัดภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากการนำเข้าในระหว่างชาติซึ่งร่วมลงกัน ให้ได้ถึงระดับ 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี และจะสถาปนาระเบียบกฎเกณฑ์ร่วมในเรื่องอี-คอมเมิร์ซ, การค้า, และทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมา แน่นอนทีเดียวว่า กระบวนการเปิดเสรีทางการค้าเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ขึ้นมา
กระทรวงพาณิชย์ของจีนเตือนเอาไว้ในเอกสารการวิจัยชิ้นหนึ่งว่า ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงอาร์เซ็ป พวกอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นหนักแรงงานของจีนอาจจะสูญเสียใบสั่งซื้อให้แก่พวกคู่แข่งขันชาวเวียดนาม ส่วนในระดับพวกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สินค้าเพื่อผู้บริโภคและแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนก็อาจจะพ่ายแพ้ให้แก่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีซึ่งราคาจะแพงน้อยลงสืบเนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรที่ลดต่ำ รายงานฉบับนี้ของกระทรวงพาณิชย์แดนมังกรระบุ
นอกจากนั้นเกษตรกรชาวจีนอาจจะได้เห็นผลผลิตของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไหลบ่าเข้ามาท่วมท้นตลาดท้องถิ่นแห่งต่างๆ ก็ได้ ปรากฏว่ารายงานวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของทางการฉบับนี้ได้ถูกถอดออกไปจากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ของจีนเสียแล้วโดยไม่มีการให้เหตุผลที่ชัดเจน แต่การประเมินเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาในระดับหนึ่งว่า ปักกิ่งมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวขนาดไหนในการเคารพกระทำตามมาตรการต่างๆ ทั้งในเรื่องการลดอัตราภาษีศุลกากร, การเปิดตลาด, และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตามที่ระบุเอาไว้ในข้อตกลงอาร์เซ็ป
หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุง (Yomiuri Shimbun) ของญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ว่า จุดสำคัญที่เกิดการโต้แย้งกันหนักในระหว่างการเจรจาจัดทำข้อตกลงอาร์เซ็ป ได้แก่การที่ฝ่ายจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกเพื่อการบังคับให้ทำตามระเบียบและเพื่อการติดตามผลขึ้นมา รายงานของโยมิอุริชิ้นนี้กล่าวว่าพวกผู้แทนญี่ปุ่นยืนยันให้มีบทลงโทษอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้นต่อผู้ที่ละเมิดสิ่งซึ่งตกลงกันไว้ในข้อตกลงอาร์เซ็ป โดยที่มีการหยิบยกเอาประวัติของการที่ฝ่ายปักกิ่งบ่ายเบี่ยงไม่ทำคำมั่นสัญญาบางประการที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) มาอ้างอิงด้วย
รายงานชิ้นนี้กล่าวด้วยว่า ปักกิ่งยืนกรานในเรื่องที่จะคุ้มครอง “ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังไม่แข็งแรง” บางส่วนของตน เรื่องนี้ส่งผลทำให้อัตราการขจัดภาษีศุลกากรของข้อตกลงฉบับนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 91.5% ซี่งรายงานชิ้นนี้บอกว่าจืดจางซูบซีดทีเดียวเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้ฉบับอื่นๆ เป็นต้นว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุน-สหาภพยุโรป (Japan-European Union Economic Partner Agreement)
ในเวลาเดียวกัน คาดหมายกันว่าข้อตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นการให้ที่ทางสำหรับหายใจหายคอซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด ตลอดจนให้ตลาดใหม่ๆ แก่พวกผู้ส่งออกของจีนที่ถูกเล่นงานจากโควิดและลำบากเดือดร้อนจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ
เจิ้ง หย่งเหนียน (Zheng Yongnian) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง-เซินเจิ้น (Chinese University of Hong Kong-Shenzhen) และอดีตผู้อำนวยการของสถาบันเอเชียตะวันออก (East Asian Institute) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) ได้รับการอ้างอิงจากสำนักข่าวไชน่านิวส์เซอร์วิส (China News Service) ว่า ได้แสดงความคิดเห็นว่า ข้อตกลงอาร์เซ็ปจะทำให้เป็น “เรื่องท้าทาย” สำหรับสหรัฐฯ ที่จะจัดตั้งแนวร่วมทางการค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อต่อต้านจีนขึ้นมา
เขาบอกว่า อาร์เซ็ปจะส่งผลกลายเป็นการลบล้างความพยายามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ในการปิดล็อกทำให้จีนหลุดออกจากภาคส่วนหลายๆ ภาคส่วนของระบบการค้าโลก เป็นต้นว่า เซมิคอนดักเตอร์
อาจารย์เจิ้งกล่าวต่อไปว่า ในฐษนะที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นชาติทำการค้ารายใหญ่ที่สุดภายในข้อตกลงอาร์เซ็ป จีนจะมีโอกาสเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงฉบับนี้ และด้วยเหตุนี้เองจึงมีแรงจูงใจอันแรงกล้าที่จะกระทำตามคำมั่นสัญญาข้อผูกพันต่างๆ ของตน เพื่อทำให้ข้อตกลงฉบับนี้บังเกิดผล และในทางกลับกันก็จะกลายเป็นการขัดถูภาพลักษณ์ระดับโลกของจีนให้ดูแวววับขึ้นมาด้วย
หมายเหตุผู้แปล
[1]เรื่องที่ข้อตกลงอาร์เซ็ปเป็นสัญญาณเครื่องบ่งชี้ประการหนึ่งของการที่สหรัฐฯกำลังสูญเสียฐานะความสำคัญของตนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนี้ ทางตัวแทนภาคเอกชนอเมริกันอย่างหอการค้าสหรัฐฯ ได้แสดงทัศนะความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้:
หอการค้าสหรัฐฯเตือน‘อเมริกา’กำลังถูกทิ้ง หลังจากเอเชียก่อตั้ง‘อาร์เซ็ป’—กลุ่มการค้าใหญ่ที่สุดในโลก
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
U.S. being left behind after Asia forms world's biggest trade bloc -U.S. Chamber
By Andrea Shalal, Reuters
16/11/2020
วอชิงตัน - หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce) แถลงในวันจันทร์ (16 พ.ย.) ว่า รู้สึกกังวลที่สหรัฐฯกำลังถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ภายหลังที่เมื่อวันอาทิตย์ (15) พวกระบบเศรษฐกิจใน เอเชีย-แปซิฟิก 15 ราย ก่อตั้งกลุ่มการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา เป็นการเพิ่มความมั่นคงให้แก่บทบาทฐานะความเหนือกว่าใครๆ ของจีน ในการค้าของภูมิภาค
คำแถลงของหอการค้า แสดงความยินดีต้อนรับผลประโยชน์ต่างๆ อันเกิดจากกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าของข้อตกลงฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnershipเรียกกันย่อๆ ว่า อาร์เซ็ปRCEP)นี้ และบอกด้วยว่า พวกผู้ส่งออก, คนงาน, และเกษตรกร ของสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องสามารถเข้าถึงตลาดเอเชียต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลกว่าที่เป็นอยู่ แต่เวลาเดียวกัน ทางหอกการค้าก็กล่าวด้วยว่าวอชิงตันไม่สมควรเข้าร่วมกับกลุ่มการค้านี้
สหรัฐฯนั้นอยู่ในสภาพขาดหายไปทั้งจากอาร์เซ็ป และทั้งจากกลุ่มการค้าที่เป็นทายาทสืบทอดของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnershipใช้อักษรย่อว่า TPP)
ทำให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้ถูกปล่อยทิ้งอยู่นอก 2 กลุ่มการค้าซึ่งแผ่คลุมภูมิภาคที่กำลังมีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในพื้นพิภพ
ไมรอน บริลเลียนต์ (Myron Brilliant) รองประธานบริหารของหอการค้าสหรัฐฯ บอกว่า คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้เคลื่อนไหวเข้าประจันหน้ากับการปฏิบัติทางการค้าอย่างเป็นไม่ธรรมต่างๆ ของจีน ทว่าสามารถรักษาโอกาสลู่ทางใหม่ๆ ให้แก่พวกผู้ส่งออกสหรัฐฯได้เพียงจำกัดเท่านั้นในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเอเชีย
เมื่อต้นปี 2017 ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพี ซึ่ง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนหน้าเขา ได้พยายามเจรจาต่อรองจัดทำขึ้นมาโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแห่งการที่สหรัฐฯกลับไปให้ความสำคัญแก่เอเชีย และนับตั้งแต่บัดนั้นมา ทรัมป์ยังไม่ได้บรรลุดีลทางการค้าใหม่ๆ ในเอเชียที่มีเนื้อหาครอบคลุมรอบด้านใดๆ เลย บริลเลียนต์กล่าว
“เมื่อพิจารณาถึงข้อบกพร่องต่างๆ ของอาร์เซ็ป เราจะไม่เสนอแนะรับรองให้สหรัฐฯเข้าไปร่วม” บริลเลียนต์บอก พร้อมกับชี้ว่าข้อตกลงการค้าที่สหรัฐฯทำกับประเทศอื่นๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ ได้บรรจุพวกกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ได้และเข้มแข็งยิ่งกว่าที่มีปรากฏอยู่ในอาร์เซ็ป ในประเด็นต่างๆ อย่างเช่น การค้าระบบดิจิตอล,
การขจัดกำแพงกีดกันการค้าที่อยู่ในรูปแบบนอกเหนือภาษีศุลกากร, และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
“อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯควรที่จะใช้ความพยายามเชิงยุทธศาสตร์แบบมุ่งมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น เพื่อธำรงรักษาการปรากฏตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งหนักแน่นของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้เอาไว้” เขากล่าว
“มิฉะนั้นแล้ว เราก็มีความเสี่ยงที่จะต้องกลายเป็นคนวงนอกซึ่งกำลังมองเข้าไปข้างใน ขณะที่หนึ่งในเครื่องจักรแห่งการเจริญเติบโตซึ่งใหญ่ที่สุดของโลกส่งเสียงชุลมุนวุ่นวายอยู่ข้างๆโดยที่ไม่มีเรา”
บริลเลียนต์ชี้ว่า ยอดส่งออกของสหรัฐฯไปยังตลาดเอเชีย-แปซิฟิกได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงไม่กี่ทศวรรษหลังๆ มานี้ ทว่าส่วนแบ่งตลาดของพวกบริษัทสหรัฐฯกลับหดตัวลง
เขาเน้นย้ำความสำคัญของตลาดเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการหยิบยกการคาดการณ์ที่ระบุว่าภูมิภาคนี้จะมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสูงกว่า 5% ในปี 2021 และชนชั้นกลางก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว