xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: จะเป็นยังไงต่อจากนี้ไป หลังมีการลงนามในข้อตกลงการค้า RCEP กันแล้ว?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม (จอด้านขวา) ในฐานะประธานพิธีที่กรุงฮานอย ปรบมือแสดงความยินดี พร้อมกับบรรดาผู้นำและรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศสมาชิกข้อตกลง RCEP (จอเล็กๆ ด้านซ้าย) ภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งจัดแบบออนไลน์เมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.)
รอยเตอร์ - ระบบเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก 15 ราย ร่วมกันลงนามในสิ่งที่สามารถกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมประชากรเกือบๆ หนึ่งในสามของทั่วพื้นพิภพ และประมาณ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก

ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership เรียกกันย่อๆ ว่า อาร์เซ็ป RCEP) จะทยอยลดอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านี้จัดเก็บระหว่างกันให้ต่ำลง และมีจุดมุ่งหมายต่อต้านลัทธิกีดกันการค้า, ส่งเสริมเพิ่มพูนการลงทุน, และอนุญาตให้สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรียิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้

ใครบ้างที่ลงนาม?

อาร์เซ็ป ประกอบด้วย จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และ 10 ชาติสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว และพม่า

อินเดียได้เข้าร่วมในการเจรจาด้วยตอนต้นๆ แต่เลือกที่จะถอนตัวออกไปเมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศจีน

อย่างไรก็ดี บรรดารัฐสมาชิกที่เข้าร่วม อาร์เซ็ป ในเวลานี้ยังคงเปิดช่องเอาไว้ให้อินเดีย โดยสำหรับประเทศอื่นๆ แล้วสามารถเข้าร่วม อาร์เซ็ป เป็นการเพิ่มเติมขึ้นมาอีกภายหลังข้อตกลงนี้บังคับใช้ไปแล้ว 18 เดือน แต่เฉพาะอินเดีย ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้เข้าร่วมเจรจาแต่ดั้งเดิม สามารถเลือกเข้ามาร่วมในเวลาไหนก็ได้ทันทีที่ข้อตกลงเริ่มมีผล

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นยังไง?

อาร์เซ็ป ได้รับการลงนามในตอนท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียน (แบบออนไลน์) เป็นเวลา 4 วันที่กรุงฮานอยเมื่อวันอาทิตย์ (15) และตอนนี้ต้องได้รับการรับรองให้สัตยาบันก่อนจึงจะมีผลบังคับ กระบวนการเช่นนี้จะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนกว่าจะเริ่มต้นขึ้นได้และเป็นแรมปีกว่าจะเสร็จสิ้น

ข้อตกลงที่มีความยาว 510 หน้า และประกอบด้วยบทต่างๆ 21 บทฉบับนี้ ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนหน้าพิธีลงนามในวันอาทิตย์ เนื่องจาก “ประเทศผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งไม่ยินยอมที่จะให้เผยแพร่ตัวบทของข้อตกลงก่อนหน้าการลงนาม” กระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ระบุในคำแถลงของตน

ตามสำเนาของข้อตกลงซึ่งถูกอัปโหลดอยู่บนเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาร์เซ็ปทั้งหลายเมื่อวันอาทิตย์ ข้อตกลงนี้ต้องได้รับการรับรองให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ราย และประเทศนอกอาเซียนที่ร่วมลงนามอีกอย่างน้อย 3 ราย จึงจะสามารถบังคับใช้ได้

ความเป็นปรปักษ์กันในหมู่ชาติเอเชียตะวันออก

เป็นที่จับตามองกันว่า RCEP กลายเป็นหลักหมายของการที่ชาติเอเชียตะวันออกทั้ง 3 ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สามารถเข้ามาร่วมอยู่ในข้อตกลงการค้าฉบับหนึ่งเดียวกันเป็นครั้งแรก อันเป็นสิ่งที่ในอดีตไม่อาจเกิดขึ้นมาได้เลย เนื่องด้วยเผชิญอุปสรรคจากข้อพิพาทขัดแย้งทางประวัติศาสตร์และทางการทูตระหว่างประเทศทั้ง 3

เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้อยู่ในช่วงเดือดพล่านสูงสุด โดยที่มีรากเหง้าต้นตอมาจากการที่ญี่ปุ่นเคยรุกรานและยึดครองคาบสมุทรเกาหลีเป็นอาณานิคมในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้บอกว่า ข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นใช้มาเล่นงานเกาหลีใต้ในตอนนั้น เป็นการละเมิด “จิตวิญญาณ” ของอาร์เซ็ป

จากข้อตกลง อาร์เซ็ป ที่ลงนามกันครั้งนี้ เดบอราห์ เอล์มส์ (Deborah Elms) แห่งกลุ่มศูนย์การค้าเอเชีย (Asian Trade Centre) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า “ญี่ปุ่นน่าจะได้ผลประโยชน์สำคัญๆ (จากอาร์เซ็ป) เนื่องจากตอนนี้ญี่ปุ่นมีช่องทางเข้าถึงเกาหลีใต้และจีนในแบบได้รับสิทธิพิเศษ (สืบเนื่องจากข้อตกลง) อันเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีเลย”

อาร์เซ็ปจะให้ผลกันอย่างจริงจังเมื่อใด?

อาร์เซ็ปเปิดช่องให้พวกรัฐสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเพื่อนรัฐสมาชิกอื่นๆ สามารถที่จะยืดหยุ่นบางอย่างบางประการในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางปฏิบัติและทางระเบียบกฎหมายของตนเพื่อให้เป็นไปตามสิ่งที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงฉบับนี้ ตัวอย่างเช่น กัมพูชา และลาว มีเวลา 3 ถึง 5 ปี ในการยกระดับกระบวนวิธีทางศุลกากรของพวกตน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประเภทสินค้าใดบ้าง ซึ่งจะมีการลดอัตราภาษีศุลกากรตามข้อตกลงอาร์เซ็ป เป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนมาก และเงื่อนไขข้อกำหนดสำหรับแต่ละประเทศก็จะมีความแตกต่างกัน เป็นต้นว่า บางรัฐสมาชิกจะใช้วิธีระบุรายการสินค้าต่างๆ ที่อาร์เซ็ปครอบคลุมถึง ขณะที่รัฐสมาชิกอื่นๆ ใช้วิธีระบุรายการสินค้าต่างๆ ที่ไม่อยู่ในข้อตกลงอาร์เซ็ป

สำหรับพวกประเทศที่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเองอยู่ก่อนแล้ว ประโยชน์เพิ่มเติมจากการมีอาร์เซ็ปก็คือ มันเป็นการสร้างกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าร่วมชุดหนึ่ง (common set of rules of origin) ขึ้นมา ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่การเคลื่อนย้ายสินค้าในระหว่างรัฐสมาชิกทั้ง 15 ราย

อาร์เซ็ป มีข้อเปรียบเทียบกับ ข้อตกลงซีพีทีพีพี อย่างไรบ้าง?

แนวความคิดในการก่อตั้ง อาร์เซ็ป ซึ่งอยู่ในขั้นฟักตัวมาตั้งแต่ปี 2012 ถูกมองว่าเป็นวิธีการหนึ่งสำหรับจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ในการตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก ข้อตกลงนี้กลายเป็นที่สนใจและเกิดโมเมนตัมในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ตั้งแต่เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯถอนตัวออกจาก ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ในปี 2017

ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐฯถอยออกไป ชาติที่เหลืออีก 11 ราย ซึ่งได้ร่วมลงนามในทีพีพี ยังคงตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยเปลี่ยนชื่อข้อตกลงเป็น ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า CPTPP) ในจำนวน 11 ชาติสมาชิกของซีพีทีพีพีเวลานี้ มีอยู่ 7 รายซึ่งเข้าร่วมลงนามก่อตั้งอาร์เซ็ปในคราวนี้ด้วย

อาร์เซ็ปนั้นโฟกัสเน้นหนักที่การตัดลดอัตราภาษีศุลกากรและการเพิ่มช่องทางเข้าถึงตลาด แต่เห็นกันกว่ามีความครอบคลุมและความสลับซับซ้อนน้อยกว่าซีพีทีพีพี

นอกจากนั้น อาร์เซ็ปยังเรียกร้องต้องการให้แต่ละรัฐสมาชิกต้องยินยอมอ่อนข้อในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจน้อยกว่า รวมทั้งให้น้ำหนักน้อยกว่าซีพีทีพีพี ในเรื่องของสิทธิแรงงาน, การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา, ตลอดจนเรื่องกลไกต่างๆ ในการแก้ไขข้อพิพาท

แต่ขนาดตลาดของอาร์เซ็ป ใหญ่เกือบเป็น 5 เท่าตัวของซีพีทีพีพี ขณะที่มูลค่าทางการค้ารายปีและจีดีพีของรัฐสมาชิกรวมกัน อยู่ในระดับเกือบเป็น 2 เท่าตัว

“สำหรับข้อตกลงซึ่งลงนามโดยพวกประเทศที่ไม่ได้มีความสมัครใจในการเข้าร่วม และมีสมาชิกภาพที่แตกต่างหลากหลายอย่างเหลือเชื่อถึงขนาดนี้ คุณภาพของข้อตกลงอาร์เซ็ปที่ปรากฏออกมา ถือว่าล้ำเกินความคาดหมายจริงๆ” เอล์มส์แห่ง เอเชียน เทรด เซนเตอร์ กล่าว

“มันจะเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญให้แก่บริษัทจำนวนมาก”

(เก็บความจากเรื่อง EXPLAINER: What happens now the RCEP trade deal has been signed? ของสำนักข่าวรอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น