xs
xsm
sm
md
lg

‘อาร์เซ็ป’ เสริมทัพ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ผนึกพลังสยายปีกอิทธิพลพญามังกรในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บนจอภาพฉายภาพรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์จีน นาย จง ซัน (ขวา) กำลังลงนามข้อตกลง RCEP) โดยมีนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ยืนอยู่เคียงข้าง ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ณ กรุงฮานอย เวียดนาม พิธีลงนามฯนี้มีขึ้นในวันที่ 15 พ.ย. (ภาพรอยเตอร์ส)
เอเจนซีส์--ในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา มีการเซ็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก นั่นคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) ผู้ลงนามได้แก่ จีน และ 14 ชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศอาเซียน กระแสเสียงกลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่า RCEP ซึ่งไม่มีสหรัฐฯร่วมวงไพบูลย์ด้วยนี้ จะช่วยเสริมสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเหนืออาณาบริเวณ

พิธีลงนามฯดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนครั้งที่ 37 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม สำหรับสมาชิกใน อาร์เซ็ป ได้แก่ กลุ่ม 10 ประเทศในอาเซียน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, และออสเตรเลีย ถือเป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่สุดในโลกในแง่ของจีดีพี

การจับมือกันลงนามข้อตกลง RCEP ครั้งนี้ยังเป็นความหวังของกลุ่มผู้นำที่เฝ้ารอการกอบกู้เศรษฐกิจที่โดนพิษเชื้อโรคระบาดโควิด-19 จนซบเซาแห้งเหือดไปตามๆกัน

กรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปนี้ ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2012 ในการประชุมนอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน ฝ่าฟันอุปสรรคการเจรจาถกเถียงมาถึง 8 ปี นาย เหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งเวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมฯกล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นการยุติการถกเถียงความตกลงหุ้นส่วนของกลุ่มอย่างเป็นทางการ

ข้อตกลงในกรอบความร่วมมือนี้จะผลักดันการลดภาษี และเปิดกว้างภาคบริการภายในกลุ่มสมาชิก อาร์เซ็ปถูกมองว่าเป็นกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจซึ่งมีจีนเป็นผู้นำขบวน และสวมแทนความริเริ่มการค้าที่สหรัฐฯริเริ่มนำเสนอซึ่งขณะนี้ได้แท้งไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน

“RCEP จะช่วยหนุนส่งข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางในการเสริมสร้างทางภูมิรัฐศาสตร์ในอาณาบริเวณของจีน มันเป็นองค์ประกอบที่ส่งเสริมสอดรับกันอย่างดีเยี่ยม” Alexander Capri ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าประจำสถาบันศึกษาทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ กล่าว

ความคาดหวังประการแรกของกลุ่มผู้นำที่ลงนามข้อตกลง RCEP คือจะช่วยบรรเทาเยียวยาเศรษฐกิจที่พังยับไปเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 เช่น เมื่อเร็วๆนี้ อินโดนีเซียได้ถลำสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะที่ฟิลิปปินส์เศรษฐกิจไตรมาสสาม หดตัวไป 11.5 เปอร์เซ็นต์โดยเทียบปีต่อปี

กลุ่มผู้นำอาเซียนบนจอภาพขณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP) โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งจัดที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ภาพวันที่ 15 พ.ย. (ภาพรอยเตอร์ส)
ส่วนอินเดียที่ถอนตัวออกจากข้อตกลง RCEPเมื่อปีที่แล้วเพราะกลัวสินค้าราคาถูกของจีนจะทะลักเข้ามาท่วมตลาดแดนภารตะ และไม่เข้าร่วมพิธีลงนามข้อตกลงฯเมื่อวันอาทิตย์ ก็ยังมีโอกาสกลับเข้ามาได้ถ้าเปลี่ยนใจ

แม้ขาดชาติยักษ์ใหญ่ที่ประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนอย่างอินเดียไป ข้อตกลง RCEP ก็ยังมีตลาดขนาดมหึมาด้วยจำนวนประชากรรวมกันถึง 2,100 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจของเหล่าสมาชิกรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก

ที่สำคัญคือ กรอบความร่วมมือฯนี้จะช่วยกลุ่มบริษัทลดค่าใช้จ่าย และทำให้ชีวิตง่ายขึ้น โดยพวกเขาจะสามารถส่งสินค้าส่งออกไปยังตลาดภายในกลุ่มสมาชิกโดยที่ไม่ต้องเจออุปสรรคกฎระเบียบข้อเรียกร้องที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ในข้อตกลงฯได้กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอยู่บ้าง แต่ไม่มีข้อตกลงใดๆเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน

ข้อตกลงนี้ยังถูกมองว่าเป็นช่องทางสำหรับให้จีนกำหนดกฎเกณฑ์การค้าในภูมิภาคหลังจากที่สหรัฐฯถอนกรอบความร่วมมือด้านการค้าคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ชื่อย่อ TPP) ที่วอชิงตันเป็นผู้ริเริ่มออกไปในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์

แม้ว่ากลุ่มบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯจะสามารถรับสิทธิประโยชน์ผ่านนโยบายอุดหนุนของประเทศสมาชิก RCEP กลุ่มนักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะต้องทบทวนการเข้ามาพัวพันในภูมิภาคเอเชีย

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าไบเดนกล่าวในที่ประชุมข่าวที่ วิลล์มิงตัน รัฐเดลาแวร์เมื่อวันจันทร์(16 พ.ย.) ว่าสหรัฐฯจะต้องคุยกับพันธมิตรเรื่องกำหนดกฎเกณฑ์ด้านการค้าเพื่อที่จะรับมือกับอิทธิพลจีนที่กำลังขยายใหญ่ แต่ว่าที่นายใหญ่ทำเนียบขาวคนใหม่ก็ไม่บอกหรือส่งสัญญาณใดว่าวอชิงตันจะเข้าร่วมข้อตกลง RCEP ที่จีนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันจนได้ลงนามกันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ไบเดนเผยว่าเขามีแผนการด้านการค้าที่จะถกเถียงในวันที่ 21 ม.ค. ปีหน้า(2021) ซึ่งเป็นวันที่เขาสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น