xs
xsm
sm
md
lg

ชาติเอเชียตั้งเขตการค้าใหญ่สุดในโลก จีนเดินหน้าหนุน-มะกันไม่ได้เข้าร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - 15 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก ลงนามตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จีนให้การสนับสนุน และไม่มีอเมริการ่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของปักกิ่งต่ออาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้แข็งแกร่งขึ้น และคาดว่า คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนจะยังไม่กลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้าภายในภูมิภาคนี้ แต่จะมุ่งจัดการวิกฤตโรคระบาดในประเทศก่อน

การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP (อาร์เซ็ป) ในที่ประชุมสุดยอดที่ฮานอย จะส่งผลกระทบชัดเจนต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผลักดัน แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนต่อมา นำอเมริกาถอนตัวออกไปในปี 2017

ท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของวอชิงตันในเอเชีย อาร์เซ็ปอาจทำให้สถานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แข็งแกร่งขึ้น และทำให้ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ มีตำแหน่งที่ดีขึ้นในการกำหนดกฎการค้าในภูมิภาค ตรงข้ามกับอเมริกาที่ไม่มีส่วนร่วมทั้งในอาร์เซ็ปและทีพีพี ซึ่งเป็นสองกลุ่มการค้าภายในภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลก

ไอริส ปัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีประจำเกรทเตอร์ ไชน่า (จีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) มองว่า อาร์เซ็ปยังอาจช่วยให้จีนลดการพึ่งพิงตลาดและเทคโนโลยีต่างชาติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกเร่งรัดจากความขัดแย้งรุนแรงกับวอชิงตัน

ทั้งนี้ อาร์เซ็ป ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีเป้าหมายลดภาษีศุลกากรสำหรับอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ

ข้อตกลงนี้ลงนามในการประชุมนอกรอบระหว่างซัมมิตอาเซียนออนไลน์ที่เหล่าผู้นำเอเชียหารือเกี่ยวกับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และแผนการฟื้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาคหลังวิกฤตโรคระบาด

นายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมในฐานะประธานอาเซียนสมัยปัจจุบัน แถลงว่า ประเทศที่ร่วมลงนามจะให้สัตยาบันรับรองและบังคับใช้อาร์เซ็ปโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด

อาร์เซ็ปจะครอบคลุมเศรษฐกิจ 30% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของโลก 30% ของประชากรโลก และผู้บริโภค 2,200 ล้านคน

กระทรวงการคลังจีน ขานรับว่า กลุ่มการค้าใหม่ให้คำมั่นลดภาษีศุลกากรสินค้าและบริการบางอย่างภายในกลุ่ม ซึ่งบางส่วนจะมีผลทันทีและส่วนอื่นๆ จะบังคับใช้ภายใน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และประเทศที่จะเริ่มลดภาษีศุลกากรทันที

แถลงการณ์ของกระทรวงการคลังจีน ระบุว่า จีนและญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงทวิภาคีในการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

อาร์เซ็ปยังทำให้สามมหาอำนาจเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงการค้าเสรีเดียวกันเป็นครั้งแรก

ชาร์ลส์ ฟรีแมน รองประธานอาวุโสหอการค้าอเมริกาประจำเอเชีย ไม่คิดว่า โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำใหม่ของอเมริกา จะกลับเข้าร่วมทีพีพีในเร็วๆ นี้ แม้เคยเป็นรองประธานาธิบดีในคณะบริหารของโอบามาที่ผลักดันความตกลงนี้ก็ตาม เนื่องจากไบเดนจะมุ่งจัดการกับวิกฤตโควิดในประเทศเป็นอันดับแรกๆ

เลือง ฮอง ไท่ หัวหน้าแผนกนโยบายการค้าพหุภาคีของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เชื่อว่า อาร์เซ็ปจะช่วยลดหรือขจัดภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและการเกษตร และกำหนดกฎการถ่ายโอนข้อมูล

ด้านรัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาร์เซ็ปจะมีผลบังคับใช้ทันทีที่ประเทศที่เข้าร่วมให้สัตยาบันรับรองภายใน 2 ปีข้างหน้า

ปังเสริมว่า สำหรับจีน ความตกลงใหม่ซึ่งครอบคลุมพันธมิตรของอเมริกาหลายชาติ คือลาภลอยจากการที่ทรัมป์ถอนตัวจากทีพีพี

ขณะเดียวกัน ผู้นำอาเซียนเผยว่า พร้อมต้อนรับอินเดียที่ถอนตัวจากการเจรจาอาร์เซ็ปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น