xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้ามะกันเตือน ‘สหรัฐฯ ถูกทิ้ง’ หลัง 15 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก เซ็น RCEP ตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) แสดงความกังวลวานนี้ (16 พ.ย.) ว่าอเมริกากำลัง “ถูกทิ้ง” หลังจาก 15 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิกจับมือตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทของจีนในฐานะผู้นำการค้าในภูมิภาค

หอการค้าสหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชมผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Comprehensive Partnership Agreement - RCEP) และย้ำว่าผู้ส่งออก, แรงงาน และเกษตรกรชาวอเมริกันจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลาดเอเชียเพิ่มขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สนับสนุนให้สหรัฐฯ เข้าร่วมความตกลงนี้

RCEP ซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน บวกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรรวมกันราว 2,200 ล้านคน และคิดเป็นจีดีพีรวมกันถึง 30% ของโลก โดยความตกลงนี้มีเป้าหมายสนับสนุนให้ชาติสมาชิกลดกำแพงภาษีและส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของกันและกัน

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมทั้งกับ RCEP และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) กำลังกลายเป็นมหาอำนาจรายใหญ่ที่สุดที่ถูกกีดกันออกจากกลุ่มการค้าในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

ไมรอน บริลเลียนท์ รองประธานบริหารหอการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า แม้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้นโยบายต่อต้านพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ทว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวกลับไม่ได้ช่วยให้ผู้ส่งออกอเมริกันได้รับโอกาสใหม่ๆ มากนักในเอเชีย

เมื่อปี 2017 ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลง TPP ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” โดยรัฐบาลบารัค โอบามา และนับแต่นั้นมาสหรัฐฯ ก็ไม่เคยลงนามข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมในเอเชียอีกเลย

“เนื่องจาก RCEP ยังมีข้อด้อยอยู่หลายประการ เราจึงไม่สนับสนุนให้สหรัฐฯ เข้าร่วมความตกลงนี้” บริลเลียนท์ กล่าว พร้อมอ้างถึงข้อตกลงการค้าใหม่ๆ ของอเมริกาซึ่งมีเงื่อนไขที่รัดกุมกว่า และสามารถบังคับใช้ได้จริงทั้งในเรื่องการค้าดิจิทัล, การลดกำแพงภาษี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

“อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะต้องใช้ความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ที่เน้นการมองไปข้างหน้า (forward-looking) เพื่อคงไว้ซึ่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ไม่เช่นนั้นเราก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็นเพียงคนนอกที่ได้แต่เฝ้ามองดูขุมพลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ห่างๆ”

บริลเลียนท์ชี้ว่า มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังตลาดเอเชีย-แปซิฟิกเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทว่าบริษัทอเมริกันกลับได้ส่วนแบ่งตลาดน้อยลง

เขาย้ำถึงความสำคัญของตลาดเอเชีย-แปซิฟิก โดยอ้างแนวโน้มการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 2021 และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง

ที่มา : รอยเตอร์






กำลังโหลดความคิดเห็น