รอยเตอร์/เอเจนซีส์/mgrออนไลน์ - โจ ไบเดน แสดงจุดยืนในวันจันทร์ (16 พ.ย.) ว่า สหรัฐฯต้องเดินหน้าจับมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อจัดตั้งกฎเกณฑ์การค้าโลกต่อต้านอิทธิพล “จีน” แต่เลี่ยงไม่ตอบคำถามว่าสหรัฐฯพร้อมจะเข้าร่วมข้อตกลง RCEP หรือไม่
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (17 พ.ย.) ว่า “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ได้แสดงความเห็นในวันจันทร์ (16) ถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและข้อตกลงการค้าโลก ว่า โดยเขาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่วอชิงตันต้องจับมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อเจรจาในการตั้งกฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่ขึ้นมาเพื่อต่อต้านอิทธิพลของ “จีน” ที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นออกไปว่า เขาจะเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเอเชีย RCEP ซึ่งถูกลงนามที่กรุงฮานอยในวันอาทิตย์(14) ด้วยหรือไม่
“เราถือมีส่วนแบ่งราว 25%...ของเศรษฐกิจโลก” ไบเดน กล่าวว่า และแสดงความเห็นต่อว่า “เราจำเป็นร่วมมือชาติประชาธิปไตยอื่นรวมอีกราว 25% หรือมากกว่านั้นเพื่อที่จะสามารถตั้งกฎของถนน แทนที่จะปล่อยให้ประเทศจีนหรือประเทศอื่นควบคุมผลที่ออกมา เป็นเพราะมันเป็นแค่การแข่งขันในเมือง”
รอยเตอร์ชี้ว่า ไบเดนตอบหลังถูกนักข่าวตั้งคำถามในงานแถลงข่าวที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลลาแวร์ ว่า สหรัฐฯจะเข้าร่วมข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่มีการลงนามไปเมื่อวันอาทิตย์(15)ที่มีปักกิ่งหนุนหลังด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ พบว่า RCEP ที่เกิดขึ้นมาใหม่คิดเป็นสัดส่วน 30% ของเศรษฐกิจโลก และยังคิดเป็น 30% ของประชากรโลกทั้งหมด เป็นการร่วมครั้งแรกของ 3 ชาติเศรษฐกิจโลกในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และรวมไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการลงนามการค้า 15 ชาติ โดยมีไทยรวมอยู่ในนั้น แต่อินเดียได้ถอนตัวไปก่อนหน้า เนื่องมาจากปัญหาวิตกว่าสินค้าจีนจะไหลทะลักเข้าไป และรวมไปถึงปัญหาการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนในภูมิภาค ซึ่งสื่อไทยวิเคราะห์ว่าถึงแม้ในตอนนี้ที่ข้อตกลง RCEP จะยังไม่มีอินเดียเข้าร่วมแต่มันยังคงมีความสำคัญอยู่ดี
ทั้งนี้ RCEP มีประชากรรวมกันประมาณ 2,100 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP คิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งโลกหรือ 1 ใน 3 ของทั้งโลก
รอยเตอร์ชี้ว่า การที่เกิดของ RCEP ถือเป็นความพ่ายแพ้ของสหรัฐฯในด้านการมีอิทธิพลเชิงการค้าในภูมิภาคหลังจากในปี 2017 ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯออกไปจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก TPP ที่มี12 ชาติเข้าร่วม เกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ซึ่งต้องการเพื่อปิดล้อมอิทธิพลของจีน
ทั้งนี้ ไบเดนเปิดเผยว่า เขาจะเปิดเผยถึงแผนการข้อตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจในวันที่ 21 ม.ค. ปี 2021 หรือ 1 วันหลังจากที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯคนใหม่แล้ว
ซึ่งในขณะที่ข้อตกลงการค้า TPP ยังคงมีอยู่แต่เปลี่ยนชื่อเป็น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP และชาติสมาชิกอื่นยังคงตั้งความหวังว่า สหรัฐฯในสมัยไบเดนจะกลับมาเข้าร่วมเพื่อฟื้นข้อตกลง แต่ทว่าดูเหมือนเขากล่าวในเรื่องนี้น้อยมาก และอีกทั้งที่ปรึกษาได้เปิดเผยว่า ไบเดนอาจจะยังไม่สั่งยกเลิกกำแพงภาษีจากสินค้าจีนออกไปทันที
ไบเดนกล่าวว่า เขาได้กล่าวต่อผู้นำชาติต่างๆ ว่า สหรัฐฯจะยังเดินหน้าทางการค้าด้วยการยืนยันว่าทางวอชิงตันจะลงทุนในแรงงานชาวอเมริกันและทำให้พวกเขามีทักษะการแข่งขันมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าผลประโยชน์ของแรงงานและสิ่งแวดล้อมจะต้องถูกแสดงในการเจรจาการค้าใดๆก็ตามและหยุดการข่มขู่คุกคามคู่ค้าพันธมิตรของเรา
และเมื่อไบเดนถูกถามอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุใดเขาจึงไม่เอ่ยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเข้าร่วมในแผนสำหรับข้อตกลงทางการค้าต่างๆขณะที่เขาสามารถกล่าวออกมาอย่างเปิดเผยว่า เขาจะนำสหรัฐฯเข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลก WHO และข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศโลกใหม่อีกครั้งเพื่อแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่ผู้นำคนปัจจุบันได้สั่งถอนออกไป
ไบเดนตอบกลับมาว่า “คุณกำลังถามผมในเรื่องที่ผมจะเข้าร่วมข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งในเวลานี้ประเทศเหล่านี้ยังคงอยู่ในขั้นเจรจา มันต้องการการเจรจา”
อ้างอิงจากบลูมเบิร์กพบว่า ในวันอังคาร(17)เขามีกำหนดที่จะรับการรายงานสรุปโดยผู้เชี่ยวชาญข่าวกรองสหรัฐฯ
สื่อธุรกิจชี้ว่า การพบกันนี้ไม่ใช่การรายงานสรุปอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯเนื่องมาจากสำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ GSA (General Services Administration) ยังไม่ได้ประกาศว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ
และจากการที่เขายังไม่สามารถเข้าถึงสำนักงานด้านความมั่นคงสหรัฐฯเหล่านี้ได้ทำให้ไบเดนต้องพึ่งพากลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลโอบามา รวมไปถึงอดีตเจ้าหน้าที่ในสมัยทรัมป์ที่ลาออกไป และให้ความร่วมมือกับไบเดนสำหรับการวางแผนตั้งรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่
บลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯที่จะให้รายงานสรุปกับไบเดนในวันนี้ (17) ประกอบไปด้วยที่ปรึกษาต่างๆซึ่งเป็นนักการทูต เจ้าหน้าที่ความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ อ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจของโจ ไบเดนที่ให้ข้อมูลในค่ำวันจันทร์ (16) และพบว่า ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส จะเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ จอห์น เคลลี (John Kelly) อดีตหัวหน้าคณะทำเนียบขาวของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเตือนว่า การที่ไบเดนไม่สามารถเข้าถึงชั้นความลับของสหรัฐฯนั้น อาจเป็นความเสี่ยงทางความมั่นคง
และเขายังฝากกล่าวไปถึงทรัมป์ว่า “ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพ ไม่จำเป็นต้องประกาศยอมรับความปราชัย แต่มันเกี่ยวกับประเทศ มันทำร้ายชาติของเรา”
ซึ่งเสียงของเคลลียังสอดคล้องกับการออกมายอมรับของที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐฯคนปัจจุบัน โรเบิร์ต โอ’ไบรอัน(Robert O’Brien)ซึ่งในวันจันทร์ (16) ในรายงานของรอยเตอร์ ออกมายืนยันว่า ไบเดนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย และแสดงความชื่นชมว่า ดูเหมือนว่าไบเดนจะนำทีมความมั่นคงที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามา
“หากว่าทีมไบเดน-แฮร์ริสนั้น ถูกบ่งชี้ว่าเป็นผู้ชนะ และดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นในเวลานี้ ซึ่งเราจะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจแบบมืออาชีพจากสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งนั่นจะไม่มีข้อสงสัยเลยแม้แต่น้อย”