การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.)
ไวรัสโควิด-19 ทำให้การประชุมที่ตามแผนต้องมีขึ้นที่เวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน ต้องประชุมผ่านระบบออนไลน์แทน กระแสข่าวความสนใจต่อการประชุมจึงมีน้อยกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องสำคัญมากเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของการประชุม คือ การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP-Regional Comprehensive Economic Partnership) ของชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับ 5 ชาติคู่เจรจาคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
อาร์เซ็ปคือ เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าอียู และนาฟตา รวมทั้ง CPTTP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเพราะมีประเทศจีนรวมอยู่ด้วย เดิมมีอินเดียด้วย แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดที่ประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว อินเดียขอถอนตัว เพราะเกรงว่า ภาคเกษตรและบริการจะได้รับผลกระทบ และสินค้าจากจีนจะท่วมตลาดในประเทศ
การเจรจาเพื่อก่อตั้งอาร์เซ็ปเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยตั้งเป้าหมายว่า จะบรรลุข้อตกลงในปี 2558 แต่ก็ไม่สำเร็จ จนมาถึงการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว ไทยในฐานะประธานอาเซียน สามารถผลักดันให้การเจรจาสามารถหาข้อสรุปใน 20 บทได้ นำไปสู่การเซ็นสัญญาในปีนี้ แม้ว่า อินเดียจะถอนตัวออกไป
อาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรีที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่า CPTTP และข้อตกลงการค้าเสรีของชาติตะวันตกมาก กล่าวคือ ไม่กำหนดเงื่อนไขการเปิดตลาดของประเทศสมาชิก มาตรฐานในเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิบัตร มีความยืดหยุ่นมาก
ถึงแม้อาร์เซ็ปจะเป็นข้อตกลงด้านการค้า การลงทุน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในมิติด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ริเริ่ม TPP (Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกเมื่อปี 2552 โดยมี 12 ประเทศเข้าร่วม คือ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เม็กซิโก เปรู ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน
เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจาก TPP แต่สมาชิก 11 ประเทศที่เหลือเดินหน้าต่อไป และเปลี่ยนชื่อเป็น CPTTP โดยมีการลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนมีนาคม 2561
TPP ถูกมองว่า เป็นความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะแข่งขัน และปิดล้อมจีนในทางเศรษฐกิจ เมื่ออาเซียนริเริ่มอาร์เซ็ปขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จีนจึงให้ความสำคัญกับการเข้าร่วม ถึงแม้ว่า จะต้องเปิดตลาดให้กับสินค้าของประเทศสมาชิกโดยเฉพาะญี่ปุ่น แต่อาร์เซ็ปซึ่งไม่มีสหรัฐฯ จะเป็นกลุ่มการค้าแรกที่จีนเข้าร่วม และเป็นโอกาสที่จีนจะได้แสดงบทบาทเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในอาเซียน
สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกอาร์เซ็ป ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศคู่เจรจาเช่นเดียวกับจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เพราะมี TPP อยู่แล้ว แต่สามารถขอเป็นสมาชิกได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องทำข้อตกลงเอฟทีเอกับอาเซียนก่อน
ประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งอาร์เซ็ปและ CPTTP คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ บูรไน และเวียดนาม ประเทศไทยกำลังตัดสินใจว่า จะขอเข้าเป็นสมาชิก CPTTP ด้วยหรือไม่ โดยมีทั้งฝ่ายที่คัดค้านและสนับสนุนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ
อาร์เซ็ปเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีแนวโน้มว่า เขาจะตัดสินใจนำสหรัฐฯ กลับมาร่วม CPTTP เพราะ TTP เกิดขึ้นในสมัยโอบามา ที่เขาเป็นรองประธานาธิบดี ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคง “อินโด-แปซิฟิก” ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย เอเชียใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไปจนถึงหมู่เกาะในแปซิฟิก
แม้จะยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน
การลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ปแบบเสมือนจริง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่มีความหมายในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แม้จะเป็นข้อตกลงด้านการค้าการลงทุน แต่การที่อาร์เซ็ปมีจีนเข้าร่วมด้วย ทำให้อาร์เซ็ปถูกดึงเข้าไปอยู่ในภูมิทัศน์ของศึกชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้