xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘จีน’ จับมือ 14 ชาติเอเชีย-แปซิฟิกลงนาม RCEP สร้างเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดโดยไม่มี ‘สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก แห่งเวียดนาม และ เจิน ตวน อันห์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 ที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 15 พ.ย.
15 ชาติในเอเชีย-แปซิฟิกร่วมลงนามความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 พ.ย.) ในความเคลื่อนไหวซึ่งถูกมองว่าเป็นเสมือนการ “ปฏิวัติครั้งใหญ่” ที่ทำให้อิทธิพลของจีนแผ่สยายไปทั่วภูมิภาค ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงติดหล่มความยุ่งยากจากศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี

ผู้นำกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศและ 5 ชาติคู่เจรจา ซึ่งได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ได้ร่วมลงนามรับรองความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Partnership Agreement - RCEP) ในช่วงท้ายของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 37 ที่กรุงฮานอย ซึ่งความตกลงนี้จะครอบคลุมประชากรมากถึง 2,200 ล้านคน และคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ราวๆ 30% ของโลก

ความตกลงฉบับนี้ยังต้องผ่านการรับรองให้สัตยาบันจากรัฐสภาของแต่ละประเทศก่อนจะมีผลบังคับ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกเป็นแรมปีกว่าจะเสร็จสิ้น

“เมื่อมองจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน การที่ RCEP ถูกลงนามรับรองหลังจากใช้เวลาเจรจากันมานานถึง 8 ปี ช่วยให้พวกเราเห็นแสงสว่างและความหวังท่ามกลางเมฆหมอก” นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนกล่าวหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามเสมือนจริง “มันแสดงให้เห็นว่า ระบบพหุภาคีคือแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นตัวแทนทิศทางที่เหมาะสมของเศรษฐกิจโลกและความเจริญก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ”

ความตกลงฉบับนี้มุ่งส่งเสริมให้รัฐภาคีลดกำแพงภาษี และเปิดตลาดการค้าและบริการระหว่างกัน ขณะที่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนร่วม

ทั้งนี้ คาดว่า RCEP จะลดทอนภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าในระหว่างรัฐภาคีลงไปได้ถึง 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี

“RCEP ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งภายใต้ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งสะท้อนความทะเยอทะยานด้านภูมิรัฐศาสตร์ของจีน” อเล็กซานเดอร์ คาปรี ผู้เชี่ยวชาญการค้าจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ความเห็น โดยอ้างถึงโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งสยายอิทธิพลจีนไปทั่วทุกมุมโลก

หลายรัฐภาคีที่ร่วมลงนามยังคงเผชิญวิกฤตที่หนักหนาสาหัสจากโรคระบาดโควิด-19 ตัวอย่างเช่นอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่จีดีพีไตรมาส 3 ของฟิลิปปินส์ก็หดตัวถึง 11.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประเทศเหล่านี้จึงคาดหวังว่า RCEP จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบในด้านเศรษฐกิจลงได้บ้าง

“โควิด-19 คือสิ่งที่ย้ำเตือนภูมิภาคนี้ว่าการค้าสำคัญอย่างไร และรัฐบาลทุกชาติก็กระตือรือร้นยิ่งกว่าที่เคยที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง” เดบราห์ เอลม์ส ผู้อำนวยการบริหารของบริษัทที่ปรึกษา Asian Trade Centre ในสิงคโปร์ ให้ความเห็น

ในส่วนของ ‘อินเดีย’ ซึ่งเข้าร่วมการเจรจา RCEP ในช่วงแรกๆ ตัดสินใจถอนตัวออกไปเมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างความกังวลเกี่ยวกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศจีน กระนั้นก็ดี รัฐสมาชิก RCEP ยังคงตั้งความหวังว่านิวเดลีจะตัดสินใจเข้าร่วมในอนาคต

ประเด็นที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งของ RCEP ก็คือ การที่จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่มีปมขัดแย้งในด้านประวัติศาสตร์และการทูตได้เข้าร่วมในความตกลงการค้าเดียวกันเป็นครั้งแรก

ข้อพิพาทการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เดือดพล่านถึงขีดสุดในปีที่แล้ว โดยมีต้นตอจากปมประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นเคยรุกรานและยึดครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่เจ้าหน้าที่โสมขาวยอมรับว่าข้อจำกัดทางการค้าที่ญี่ปุ่นใช้เล่นงานเกาหลีใต้ถือว่าละเมิด “จิตวิญญาณ” ของ RCEP

“ญี่ปุ่นอาจพบว่า RCEP ให้ประโยชน์อย่างมาก เพราะตอนนี้พวกเขาจะได้รับสิทธิ์พิเศษในการเข้าถึงตลาดเกาหลีใต้และจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี” เอลม์ส ระบุ

บรรดาผู้นำกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งที่ 37 ที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 15 พ.ย.
RCEP ยังมีแนวโน้มที่จะช่วยลดต้นทุนและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัฐสมาชิกได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ

RCEP ยังกำหนดเงื่อนไขที่เป็นมิตรกับรัฐสมาชิกซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดย ให้ความยืดหยุ่นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติและข้อกฎหมาย ตัวอย่างเช่น กัมพูชาและลาวจะมีเวลา 3-5 ปีในการยกระดับกระบวนวิธีทางศุลกากรให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆ ของ RCEP

ประเภทสินค้าที่จะมีการลดภาษีศุลกากรตามข้อตกลง RCEP ก็มีความสลับซับซ้อน และแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยบางรัฐสมาชิกใช้วิธีระบุรายการสินค้าที่ RCEP ครอบคลุมถึง ขณะที่บางประเทศใช้วิธีระบุรายการสินค้าที่ไม่อยู่ในข้อตกลง

สำหรับประเทศที่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเองอยู่ก่อนแล้ว ประโยชน์เพิ่มเติมจากการก่อตั้ง RCEP ก็คือการสร้างกฎเกณฑ์ร่วมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างรัฐสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ

หนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของจีนประเมินว่า แค่การขจัดกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบอื่นๆ ตามข้อตกลง RCEP ก็จะช่วยกระตุ้นจีดีพีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เติบโตได้ประมาณ 2.1% และทำให้จีดีพีทั่วโลกเติบโตอีก 1.4%

นักวิเคราะห์มองว่า RCEP จะช่วยให้จีนได้มีพื้นที่หายใจหายคอ หลังจากที่เผชิญแรงบีบจากสงครามการค้ามาเป็นปีๆ อีกทั้งยังเปิดทางให้ปักกิ่งได้เป็นผู้ร่างกฎเกณฑ์การค้าในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ลดบทบาทผู้นำลงไปมากในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้นำอเมริกาถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) เมื่อปี 2017

การปลีกตัวของสหรัฐฯ ส่งผลให้ TPP ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกหลักของยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แทบจะหมดความหมาย แม้ว่ารัฐสมาชิกที่เหลืออีก 11 ประเทศจะตัดสินใจเดินหน้าต่อโดยเปลี่ยนชื่อข้อตกลงเป็น ความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ก็ตามที

ในบรรดา 11 ชาติสมาชิกของ CPTPP เวลานี้ มีอยู่ 7 รายที่ตัดสินใจเข้าร่วม RCEP ด้วย

RCEP เน้นหนักไปที่การตัดลดอัตราภาษีศุลกากรและการเพิ่มช่องทางเข้าถึงตลาด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ CTTPP ก็ยังถือว่ามีความครอบคลุมและสลับซับซ้อนน้อยกว่า นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แต่ละรัฐสมาชิกต้องยินยอมอ่อนข้อในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจน้อยกว่า CPTPP รวมทั้งให้น้ำหนักค่อนข้างน้อยในเรื่องของสิทธิแรงงาน, การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนกลไกต่างๆ ในการแก้ไขข้อพิพาท

อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดของ RCEP นั้นใหญ่โตเกือบ 5 เท่าของ CPTPP ขณะที่มูลค่าการค้ารายปีและจีดีพีรวมของรัฐสมาชิกก็มากมายกว่ากันเกือบ 2 เท่าตัว

“สำหรับข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีความสมัครใจตั้งแต่แรกที่จะเข้าร่วม และยังมีสมาชิกที่แตกต่างหลากหลายมากขนาดนี้ คุณภาพของข้อตกลง RCEP ที่ปรากฏออกมาต้องถือว่าวิเศษเกินความคาดหมาย” เอล์มส ระบุ “มันจะเอื้อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญให้แก่บริษัทจำนวนมาก”

แม้บริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ อาจจะได้รับอานิสงส์จาก RCEP อยู่บ้างผ่านทางบริษัทในเครือซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสมาชิก แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าความตกลงนี้อาจกระตุ้นให้ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของอเมริกาในภูมิภาค

ราจีฟ บิสวาส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก IHS Markit มองว่า สหรัฐฯ ในยุคของ ไบเดน อาจยอมเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ทางการค้าที่จะได้รับ “แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายภาคส่วนในอเมริกายังมีปฏิกิริยาเชิงลบ และกังวลว่าจะสูญเสียตำแหน่งงานให้กับประเทศในเอเชีย”

ไบเดน แสดงจุดยืนล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ย.) ว่าสหรัฐฯ ต้องเดินหน้าจับมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อจัดตั้งกฎเกณฑ์การค้าโลกต่อต้านอิทธิพลจีน แต่ยังคงเลี่ยงไม่ตอบคำถามว่าสหรัฐฯ พร้อมจะเข้าร่วม RCEP หรือไม่

ไบเดน ระบุด้วยว่าตนจะเปิดเผยแผนเจรจาข้อตกลงทางการค้าและเศรษฐกิจในวันที่ 21 ม.ค. ปี 2021 หรือ 1 วันหลังจากที่สาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว

ไมรอน บริลเลียนท์ รองประธานบริหารหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) ให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ ยังไม่ควรที่จะเข้าร่วม RCEP เนื่องจากเป็นความตกลงที่มีเงื่อนไขค่อนข้างหละหลวมเมื่อเทียบกับมาตรฐานของสหรัฐฯ ในเรื่องการค้าดิจิทัล, การลดกำแพงภาษี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

“อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะต้องใช้ความพยายามเชิงยุทธศาสตร์ที่เน้นการมองไปข้างหน้า (forward-looking) เพื่อคงไว้ซึ่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ไม่เช่นนั้นเราก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็นเพียงคนนอกที่ได้แต่เฝ้ามองดูขุมพลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอยู่ห่างๆ” เขากล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น