xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’โบกมืออำลา‘อาเซียน’ เมื่อตัวเองตกขบวนไม่ขึ้นรถไฟ RCEP เพราะระแวง‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย (จอตรงกลาง) ไหว้ทักทายบรรดาผู้นำของสมาคมอาเซียน ในตอนเริ่มประชุมซัมมิตอินเดีย-อาเซียน ทางออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ย. 2020
India’s farewell to ASEAN as it boards RCEP train
By M. K. BHADRAKUMAR
14/11/2020

บรรดาชาติอาซียนกำลังพากันขึ้นขบวนรถไฟ RCEP ซึ่งใกล้จะเคลื่อนตัวออกไปแล้ว ขณะที่อินเดียยังยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ที่สถานี โดยที่ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย อีก 2 ชาติหุ้นส่วนในกลุ่มคว็อตของแดนภารตะ กลับต่างก็ขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปแล้ว รวมทั้งยังสามารถมองเห็นด้วยว่ากำลังอยู่ภายในรถเสบียงโดยมือถือตะเกียบจีนกันอยู่

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ณ การประชุมระดับสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 17 (ซึ่งจัดแบบออนไลน์) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mea.gov.in/Speeches-Statements.htm?dtl/33189/English_translation_of_Prime_Ministers_remarks_at_17th_IndiaASEAN_Virtual_Summit) อ่านดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่เศร้าใจ เราต้องไม่ลืมว่าคำกล่าวนี้ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ปรากฏออกมาภายในบริบทที่มีความพิเศษผิดกว่าธรรมดา นั่นคือ กำลังจะมีการลงนามใน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหญ่โตมหึมาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่บรรดาชาติอาเซียน บวกกับจีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้

ในคำกล่าวนี้ โมดีหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงข้อตกลง RCEP ถึงแม้มันมีความหมายในฐานะของวาระแห่งความยินดีปรีดาในชีวิตของสมาคมอาเซียน พอๆ กับที่เทศกาลดิวาลี (Diwali) มีความหมายสำหรับชาวอินเดีย ตรงกันข้าม เขากลับวกเลี้ยวไปพูดพวกวลีอย่างเช่น “มาทำกันในอินเดีย” (Make in India), “นโยบายลงมือทำด้านตะวันออก” (Act East Policy), “ความริเริ่มมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Oceans Initiative), “ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” (ASEAN centrality)

ทางเลือกต่างๆ ในนโยบายของอินเดีย ที่จะนำมาใช้ได้ในความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นภูมิภาคซึ่งโมดีเรียกว่าเป็น “แกนกลาง” ในนโยบายลงมือทำด้านตะวันออกของตนเองด้วยซ้ำนั้น กำลังหดแคบลงมาอย่างน่าใจหาย ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของบรรษัท แรนด์ คอร์เปอเรชั่น (RAND Corporation) ที่เป็นหน่วยงานด้านคลังสมองของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) และใช้ชื่อเรื่องว่า “Regional Responses to US-China Competition in the Indo-Pacific” (การตอบสนองในภูมิภาคต่อการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ-จีน ในอินโด-แปซิฟิก) ระบุชื่อของญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย ว่าเป็นชาติพันธมิตรและชาติหุ้นส่วนเท่าที่มีอยู่ของวอชิงตัน ซึ่งสามารถที่จะอ้างได้อย่างมีความมั่นอกมั่นใจว่า สหรัฐฯมี “อิทธิพลทางการทูตและทางการทหารมากกว่าจีน”

พวกนักวิเคราะห์ของ แรนด์ ยังได้ให้ข้อสรุปที่น่าตื่นตะลึงบางประการ ดังนี้:

**จีนมี “อิทธิพลทางเศรษฐกิจมากกว่า” สหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก
**พวกชาติอาเซียนให้ความสำคัญแก่ข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจสูงกว่าข้อกังวลด้านความมั่นคง
**จีนสามารถที่จะ “ใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเพื่อยกระดับเพิ่มพูนความสามารถในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งเพื่อยังความอ่อนแอให้แก่อิทธิพลทางการทหารของสหรัฐฯ”
**มี “หลักฐานน้อยมาก” ที่แสดงให้เห็นว่าพวกประเทศอาเซียนเชื่อว่า “อิทธิพลทางการทหารของสหรัฐฯเป็นตัวทัดทานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน”
**ความวิตกกังวลว่าสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นผูกพันต่อภูมิภาคนี้มากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่ก้องสะท้อนกันไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
**จีนสามารถเพิ่มพูนยกระดับอิทธิพลเหนือพวกประเทศอาเซียนได้มากมายยิ่งกว่าสหรัฐฯนัก และ
**“สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ก็เฉกเช่นเดียวกับพวกประเทศอื่นๆ ในอินโด-แปซิฟิก มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหลีกเลี่ยงการต้องเลือกเอาระหว่างสหรัฐฯหรือจีน หรือการทำให้เป็นที่ปรากฏว่าผูกมัดเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจนกับประเทศหนึ่งเพื่อต่อต้านคัดค้านอีกประเทศหนึ่ง เรา (บรรษัทแรนด์) จึงคาดหมายว่าการจับมือผูกพันเป็นหุ้นส่วนกันจะอยู่ในสภาพอ่อนแอและไม่สมบูรณ์”

รายงานฉบับนี้มองข้ามเรื่องความแตกต่างระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ กับ โจ ไบเดน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จับจิตจับใจพวกนักวิเคราะห์ชาวอินเดียเสียเหลือเกินและนิยมกันนักหนาที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ตรงกันข้ามเลย รายงานของแรนด์กลับกล่าวย้ำว่า “มีความคาดหมายกันอย่างกว้างขวาง (ในหมู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค) ว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในระยะ 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า และแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งยวดในการขับดันการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ... (RCEP) จะเพิ่มความลึกซึ้งให้แก่ความผูกพันทางเศรษฐกิจระหว่างบรรดาประเทศที่เกี่ยวข้อง มีความคาดหมายกันว่าการค้ากับประเทศจีนจะยังคงเพิ่มพูนทวีขึ้นต่อไป”

คำกล่าวอันชวนเศร้าหมองของโมดี ดังก้องสะท้อนความทุกข์กังวลในรายงานฉบับนี้ของแรนด์ การลงนามในข้อตกลง RCEP คือช่วงขณะแห่งการตัดสินนิยามอนาคต บรรดาชาติอาเซียนกำลังพากันขึ้นขบวนรถไฟ RCEP ซึ่งใกล้จะเคลื่อนตัวออกไปแล้ว และขณะที่อินเดียยังยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ที่สถานีนั้น ชาติหุ้นส่วนในกลุ่มคว็อด (QUAD) อีก 2 ราย ได้แก่ญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย กลับต่างก็ขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปแล้ว รวมทั้งยังสามารถมองเห็นด้วยว่ากำลังอยู่ภายในรถเสบียงโดยมือถือตะเกียบจีนกันอยู่

แน่นอนทีเดียวว่า การเดินทางคราวนี้จะนำพาอาเซียนไปสู่จุดหมายปลายทางอันน่าตื่นตาตื่นใจซึ่งจะไม่มีการหวนกลับคืนมาอีกแล้ว การเว้าวอนอย่างสร้อยเศร้าของโมดีให้ไปเที่ยวปิกนิกด้วยกันจะไม่มีเสน่ห์ดึงดูดใจอาเซียนหรอก ขณะที่เหล่าชาติสมาชิกของสมาคมนี้เริ่มต้นเข้าสู่ความสัมพันธ์ฉันผู้ใหญ่ซึ่งมีทั้งความสุกงอมและความมั่นอกมั่นใจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.www.gov.cn/premier/news/202011/12/content_WS5fad4319c6d0f7257693f8d6.html) อันเป็นสิ่งที่อินเดียไม่สามารถเสนอให้แก่อาเซียนได้ ในความสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งอยู่ในลักษณะชักเข้าชักออกและสนุกสนานกันชั่วมื้อชั่วคราว

เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสุภาพงดงาม อาเซียนยังคงมีจดหมายวางเอาไว้เบื้องหลังเพื่อเชื้อเชิญอินเดียเข้าร่วมใน RCEP ในเวลาต่อไปตามที่แดนภารตะเห็นว่าเหมาะสม ทว่าทั้งสองฝ่ายต่างทราบดีว่านั่นเป็นสิ่งที่จะไม่มีทางเกิดขึ้น

ขณะที่ขบวนรถไฟ RCEP เคลื่อนตัวเร็วขึ้นๆ จนสร้างโมเมนตัมขึ้นมาได้แล้ว อาเซียนจะมีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตใหม่ และเริ่มต้นการสำรวจหาโอกาสที่ไร้รอยต่อทั้งหลายเพื่อทำตามสิ่งที่ตนเองต้องประสงค์ พวกนักวิเคราะห์พากันปรบมือยกย่อง RCEP ว่าเป็นข้อตกลงการค้าฉบับสำคัญที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยอ่อนด้อยกว่าเพียงแค่ข้อตกลงก่อตั้งองค์การการค้าโลก (WTO) เท่านั้น

ส่วนที่น่าเศร้าใจที่สุดก็คือ ในกระบวนการของการปฏิบัติตามข้อตกลง RCEP นั้นเอง จีนยังกำลังลบล้างเวทย์มนตร์แห่งความเกลียดกลัวแดนมังกร บทที่อินเดียทะนุถนอมและชอบท่องบ่นกันเสียเหลือเกิน --“ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี, เปิดกว้าง, ต้อนรับทุกๆ ฝ่าย, และยึดมั่นกับกฎระเบียบ”, และ “เสรีภาพในการเดินเรือและในการบินเหนือน่านฟ้า” มันช่างย้อนแย้งอะไรเช่นนี้ ในเมื่อ RCEP ก็ประกาศตัวเองเป็นข้อตกลงการค้าที่ “เสรี, เปิดกว้าง, และต้อนรับทุกๆ ฝ่าย” ทว่าอินเดียกลับล้มเหลวไม่ได้บังเกิดความซาบซึ้งใจ และหันหลังให้แก่ RCEP ไปเสียฉิบ

ไม่มีข้อสงสัยเลย RCEP ยังเป็นข้อตกลงที่ “ยึดมั่นกับกฎระเบียบ” อีกด้วย มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเจรจาอย่างเหนื่อยยากของบรรดา 15 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่มีการจัดเจรจาหารือกันถึง 31 รอบและมีการหารือในระดับรัฐมนตรีถึง 18 รอบ จวบจนกระทั่งพวกเขาสามารถบรรลุ “เนื้อหา” ซึ่งตกลงเห็นพ้องกันในที่สุด

ในความเป็นจริงแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของบรรดาประเทศผู้เข้าร่วมเจรจา ได้แก่การทำให้เครือข่ายข้อตกลงการเสรี “อาเซียน+1” ทั้งหลาย มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกลมกลืนกันกลายเป็นข้อตกลงหนึ่งเดียวขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าหนึ่งเดียวและสอดคล้องกลมกลืนกันขึ้นมาชุดหนึ่งสำหรับอินโด-แปซิฟิก นอกจากนั้นแล้ว RCEP ยังครอบคลุมถึงพวกระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับประเด็นทางการค้าแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 จำนวนมาก เป็นต้นว่า การค้าในภาคบริการต่างๆ, การลงทุน, อี-คอมเมิร์ซ, การสื่อสารโทรคมนาคม, และทรัพย์สินทางปัญญา

ถึงเวลานี้ พวกประเทศที่จะเข้าร่วมใน RCEP ทั้ง 15 ราย รวมกันแล้วจะมีจำนวนประชากรเกือบเท่ากับหนึ่งในสามของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศราวๆ 30% ของจีดีพีโลก หากวัดกันด้วยเงื่อนไขของการไหลเวียนทางการค้าแล้ว ส่วนแบ่ง 30% ในการค้าโลกของ RCEP ยังคงเล็กกว่านิดหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับของสหภาพศุลกากรอียู (EU Customs Union) ซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 33% แต่เป็นที่คาดหมายกันว่า RCEP จะแซงหน้ายุโรปได้ในไม่ช้าไม่นาน จากการที่พวกเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิกมีการทำการค้ากันลงลึกยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกัน RCEP จะกลายเป็นตัวสร้างการสัญจรทางทะเลขึ้นมาอย่างมากมายในทันทีที่มันเริ่มมีผลบังคับใช้ปีหน้า จนกระทั่งการพร่ำสวดบริกรรมคำว่า “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้ ฟังดูแล้วกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะ แล้วลองคิดดูให้ดีซิ การสัญจรทางทะเลเหล่านี้มีจีนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ที่สุดอีกด้วย

ลองหยิบยกตัวอย่างของญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย ซึ่งต่างเป็นชาติพันธมิตรในกลุ่มคว็อดของอินเดีย ปรากฏว่าการค้ากับพวกประเทศสมาชิก RCEP มีปริมาณใกล้ๆ กับระดับ 50% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของญี่ปุ่น พวกประเทศ RCEP ยังครองสัดส่วน 61% ของการค้าสองทางโดยรวมของออสเตรเลีย

ด้วยข้อตกลง RCEP มันยังหมายความถึงการที่ญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยเหลือเพิ่มพูนการส่งออกผลผลิตการกษตรและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของญี่ปุ่น ขณะที่ออสเตรเลียนั้นมีข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนอยู่ก่อนแล้ว

คาดการณ์กันว่า RCEP จะขจัดภาษีศุลกากรซึ่งจัดเก็บจากสินค้าการเกษตรนำเข้าจำนวน 61% ของอาเซียน, ขจัดภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากสินค้าการเกษตรนำเข้าจำนวน 56% ของจีน, และ 49% ของเกาหลีใต้ RCEP ยังน่าที่จะลดอัตราภาษีศุลกากร (หรือกระทั่งยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรไปเลย) ซึ่งจัดเก็บจากพวกสินค้าอุตสาหกรรม อย่างเช่น ชิ้นส่วนรถยนต์, เหล็กกล้า, ผลิตภัณฑ์เคมี (ดูเพิ่มเติมได้จากภาพแผนภูมิข้างล่างนี้)


คำกล่าวของโมดียังเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงความตระหนักรับรู้ในที่สุด เกี่ยวกับความใหญ่โตมโหฬารของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในละแวกเพื่อนบ้านของอินเดีย จากการบริหารจัดการกับโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 อย่างผิดพลาดจนถึงขั้นก่อให้เกิดความหายนะ หมายความว่า อินเดีย อิงค์ จะยังไม่สามารถเปิดประตูเพื่อทำธุรกิจอย่างจริงจังไปอีกระยะหนึ่ง เวลาเดียวกันนั้น RCEP ก็จะเริ่มต้นจัดทำปรับเปลี่ยนแผนที่ทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ของเอเชีย-แปซิฟิกกันเสียใหม่

แม่แบบแห่ง RCEP ซึ่งวางอยู่บนระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าชุดหนึ่งที่มีความเป็นหนึ่งเดียวและใช้กันครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ทิศทางอนาคตทางเศรษฐกิจของบรรดาชาติสมาชิก การลดอุปสรรคของการค้าและการลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาค ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นตัวเร่งรัดให้พวกประเทศ RCEP พากันให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น แก่การสร้างความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีกในหมู่พวกเขาด้วยกันเอง

แน่นอนทีเดียวว่า RCEP คือการป่าวร้องให้ทราบถึงรุ่งอรุณของสายโซ่อุปทานระดับภูมิภาคสายใหม่ในยุคหลังโรคระบาดโควิด แต่ในขณะที่สายโซ่อุปทานสายใหม่ของ RCEP กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น
อินเดียไม่เพียงแค่แยกตัวเองออกไปเท่านั้น หากยังกำลังอำนวยความสะดวกอย่างไม่ฉลาดเลยให้แก่ “ศัตรูตัวฉกาจ” อย่างจีน ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญที่สุดสำหรับความเจริญเติบโตในเอเชีย-แปซิฟิก

ในอีกด้านหนึ่ง ความผูกพันทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคทั้งหลายที่เป็นการพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมาจาก
RCEP ย่อมจะหมดสิ้นความสำคัญลงไปสำหรับอาเซียน เมื่อมีการนำมาเปรียบเทียบกัน ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นจะไม่มีใครหรอกที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ หากว่าสหรัฐฯกับจีนเกิด “หย่าร้างแยกขาดกัน” (decoupling) แม้กระทั่งการแยกขาดกันเพียงบางส่วน ทั้งนี้ RCEP ในความเป็นจริงแล้วเป็นความริเริ่มที่นำโดยอาเซียน และสร้างขึ้นมาบนรากฐานของข้อตกลงการค้าเสรี อาเซียน+1 จำนวน 6 ข้อตกลง ดังนั้น RCEP จึงเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้แก่ฐานะของอาเซียน ณ หัวใจของสถาบันทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคทั้งหลาย

เวลาเดียวกัน รายงานของ แรนด์ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ยังมีการประเมินผลด้วยความลึกซึ้งหลักแหลมระดับหนึ่ง เกี่ยวกับ “ประเภทของอิทธิพล” ซึ่งสหรัฐฯมีอยู่กับพวกชาติหุ้นส่วนคว็อดของตน ปรากฏว่า แรนด์มองเห็นญี่ปุ่นเป็นชาติเอเชีย-แปซิฟิกเพียงรายเดียวเท่านั้นซึ่งสหรัฐฯมี “อิทธิพลทางการทูตและทางการเมืองมากที่สุด ในทั่วทั้งเครื่องชี้วัดต่างๆ ทั้งหมด” ออสเตรเลียมาเป็นอันดับถัดไป ทว่าแคนเบอร์รายังคงซ่อนเร้นความเคลือบแคลงสงสัยว่าสหรัฐฯมีความมุ่งมั่นผูกพันกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจริงหรือไม่ รวมทั้ง “มีความวิตกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความเชื่อถือไว้วางใจได้ของสหรัฐฯ และการที่จะสามารถคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้ของสหรัฐฯ”

สำหรับอินเดีย แรนด์ประเมินผลว่ามีคุณภาพอันควรแก่การต้อนรับ โดยรายงานระบุว่า อินเดียมองจีนเป็น
“ความท้าทายทางด้านความมั่นคงที่ทรงอำนาจที่สุดและมีความสำคัญในระยะยาวที่สุดของตน ... ในสายตาของอินเดีย จีนกำลังเป็นภัยคุกคามมากเกินกว่าที่จะพิจารณาว่าเป็นเพื่อนมิตรรายหนึ่งได้ แต่ก็อันตรายเกินกว่าที่จะถือเป็นศัตรูรายหนึ่งอย่างเปิดเผย” ด้วยเหตุนี้ “ความเหนือล้ำกว่าในทางการทหารของจีนจึงทำให้พวกผู้วางแผนของอินเดียเลือกที่จะหลบเลี่ยงความเสี่ยง โดยไม่ปรารถนาที่จะแสดงจุดยืนซึ่งอาจยั่วยุให้เกิดสงครามแบบเต็มขั้นขึ้นมา”

กล่าวได้ว่า เมื่อมองกันเป็นภาพรวมแล้ว RCEP กลายเป็นสิ่งที่อินเดียไม่สามารถเลือกเข้าไปร่วมด้วยได้
พร้อมกันนั้นอินเดียก็ไม่อาจกลายเป็นผู้พำนักอาศัยอย่างเป็นธรรมชาติของกลุ่มคว็อตด้วยเช่นกัน เวลาเดียวกัน การตัดสินใจที่จะเข้าไปยึดครองที่นั่งคนขับในกลุ่มคว็อตและยกระดับมันขึ้นไปสู่ระดับรัฐมนตรี
โดยตัวมันเองก็ได้รับการวินิจฉัยสรุปจากผลที่ออกมาแล้วว่า ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดพลาดหนักหน่วง –นั่นคือ การที่ไปทึกทักเอาว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะได้ครองตำแหน่งในวาระที่ 2 อย่างมั่นคง และ ไมค์ พอมเพโอ ก็จะอยู่ยงคงกระพันไม่หายหน้าหายตาไปไหน โดยที่ พอมเพโอ ถือเป็นคู่เจรจาหารือใน ดีซี ที่รัฐบาลโมดีชื่นชอบนักหนา

อาการอิหลักอิเหลื่อทางยุทธศาสตร์ ที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิดจากความผิดพลาดเพลี่ยงพล้ำทางการทูตอย่างต่อเนื่องชนิดเหลือเชื่อเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นถนัดทีเดียวในคำกล่าวของโมดี ไฟแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจที่เคยปรากฏอย่างชัดเจนอยู่ในคำปราศัย “แชงกรีลา ไดอะล็อก” (Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ของเขา กำลังดับมอดหายวับไปเสียแล้ว และบรรดาเพื่อนผู้นำอาเซียนของเขาย่อมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่
https://indianpunchline.com/indias-farewell-to-asean-as-it-boards-rcep-train/)


เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า
29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต
ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์”
(https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก


กำลังโหลดความคิดเห็น