xs
xsm
sm
md
lg

เอเชีย ‘โล่งอก-มีหวัง’ หลังจบยุค ‘ทรัมป์’ แต่ชาติพันธมิตรหวั่น ‘ไบเดน’ ปล่อยจีนแผ่อิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 4 ธ.ค. 2013) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จับมือกับ โจ ไบเดน ที่เวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง
เอพี/เอเจนซีส์ - เอเชียทั้งโล่งอกและมีความหวังกับ โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำคนต่อไปของอเมริกา หลังจากต้องเผชิญช่วงเวลา 4 ปี ภายใต้ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่โจมตีทั้งศัตรูและพันธมิตรอย่างมีความสุข กระนั้นก็ตาม จากการที่ไบเดนต้องแบกรับปัญหามากมายภายในประเทศ จึงมีความกังวลอย่างกว้างขวางในหมู่พันธมิตรของอเมริกันทางเอเชียว่า พวกเขาอาจถูกละเลย และวอชิงตันจะปล่อยให้ปักกิ่งแผ่ขยายอิทธิพลตามใจชอบ

ต่อไปนี้คือแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในเอเชีย หลังจากไบเดนได้เข้าครองทำเนียบขาว

จีน
เป้าหมายแรกในเอเชียของไบเดนน่าจะเป็นจีน

สองชาติมหาอำนาจพัวพันกันอย่างตัดไม่ขาดทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง แม้อเมริกากำลังเข้ามาสำแดงแสนยานุภาพทางทหารในแปซิฟิกมากขึ้น เพื่อขัดขวางความพยายามขยายอิทธิพลของจีนก็ตาม

ภายใต้คณะบริหารทรัมป์ สองชาติทำสงครามการค้าและสงครามปากอย่างดุเดือด แต่สำหรับคณะบริหารของไบเดนนั้น อเล็กซานเดอร์ ฮวง ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทัมกังในไทเป และอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน มองว่า น่าจะกลับไปใช้แนวทางสายกลางและลดการเผชิญหน้าแบบอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามามากกว่า

ฮวงเสริมว่า การเข้าหาจีนมากขึ้นอาจทำให้วอชิงตันลดการสนับสนุนไทเปลง แต่ไม่ได้ลดความมุ่งมั่นในการรับประกันว่า ไต้หวันสามารถป้องกันตัวเองจากการคุกคามของปักกิ่ง

ทางด้าน ถัง หรุ่ยกั๊ว วิศวกรเคมีปลดเกษียณสะท้อนมุมมองของคนมากมายในจีนว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีคนใหม่คือใครก็ไม่อาจหยุดยั้งขาลงของอเมริกาในสถานะมหาอำนาจโลกได้

สองเกาหลี
ทรัมป์กับคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ พัฒนาจากการข่มขู่เปิดศึกกันให้กลายเป็นซัมมิต 3 รอบที่แม้เป็นข่าวครึกโครมทั่วโลก แต่ไม่อาจโน้มน้าวให้เปียงยางทำลายอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ครอบครองอยู่

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้คิมต้องปรับตัวรับมือไบเดน ที่หน่วยโฆษณาชวนเชื่อโสมแดงเคยเรียกว่า “หมาบ้า” ที่ “ต้องตีให้ตาย”

ส่วนไบเดนเคยเรียกคิมว่า “คนใจโหด” และ “อันธพาล” และโจมตีทรัมป์ว่า มอบความชอบธรรมให้ผู้นำเผด็จการอย่างคิมด้วย “ซัมมิต 3 รอบที่จัดขึ้นเพื่อสร้างข่าว” แต่ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการปลดอาวุธ

ไบเดนสนับสนุนแนวทางอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่เริ่มจากการประชุมระดับคณะทำงาน และพร้อมยกระดับการแซงก์ชันจนกว่าเกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านเกาหลีเหนือซึ่งพูดเสมอว่าคลังแสงนิวเคลียร์เป็นเครื่องค้ำประกันสำหรับการอยู่รอดที่แข็งแกร่งที่สุด และยังไม่เคยแสดงความปรารถนาที่จะทำข้อตกลงอันสมบูรณ์ซึ่งพวกเขาต้องทอดทิ้งอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ ต้องการกระบวนการที่ขับดันโดยการประชุมสุดยอด ซึ่งทำให้ตัวเองมีโอกาสได้รับการยินยอมอ่อนข้อโดยทันที แต่มีหวังถูกปฏิเสธหากใช้วิธีเริ่มเจรจากันตั้งแต่ระดับนักการทูตระดับล่างขึ้นมาตามลำดับ

สำหรับเกาหลีใต้ มีแนวโน้มว่า ไบเดนจะให้ความเคารพความเป็นชาติพันธมิตรมากกว่าทรัมป์ที่ถือวิสาสะลดขนาดการซ้อมรบร่วม และโวยไม่เลิกเรื่องค่าใช้จ่ายของการส่งทหารอเมริกัน 28,500 คนมาประจำการเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากเกาหลีเหนือ

ญี่ปุ่น
โตเกียวหวังว่า นโยบายเชิงรุกด้านสิ่งแวดล้อมของไบเดนจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น และหวังว่า ผู้นำใหม่ของอเมริกาจะใช้ไม้แข็งกับจีนซึ่งเป็นคู่แข่งถาวรของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ฮิโร ไอดะ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองยุคใหม่และประวัติศาสตร์อเมริกาของมหาวิทยาลัยคันไซ มองว่า อเมริกาไม่สามารถดูแลประเทศอื่นๆ ได้ แต่ต้องเลือกฟื้นฟูตัวเองก่อน

ปีเตอร์ ทาสเกอร์ นักวิเคราะห์ของอาร์คัส รีเสิร์ชในโตเกียว ขานรับว่า ไบเดนกำลังจะเข้าบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาภายใน ตั้งแต่ความไม่สงบจากประเด็นเชื้อชาติจนถึงความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ และไวรัสโคโรนา จึงอาจปล่อยให้ญี่ปุ่นสู้เพียงลำพัง ขณะที่จีนตอบสนองความทะเยอทะยานด้านดินแดนของตัวเองโดยไม่ถูกขัดขวาง เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือที่จะสานต่อโครงการนิวเคลียร์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริดเจ็ต เวลช์ นักวิจัยกิตติคุณของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ในมาเลเซีย ชี้ว่า บางประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซียที่กำลังมุ่งเน้นการฟื้นเศรษฐกิจ โน้มเอียงเข้าหาจีนที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ เขายังมองว่า อำนาจของอเมริกาไม่มีทางเหมือนเดิม

ขณะที่ ริชาร์ด เฮย์เดเรียน นักวิเคราะห์ในฟิลิปปินส์ เชื่อว่า ไบเดนอาจระวังมากขึ้นในการติดต่อกับพวกผู้นำที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งในฟิลิปปินส์ ไทย และกัมพูชา ขณะเดียวกัน ไบเดนซึ่งมีท่าทีระมัดระวังมากกว่า อาจทำให้เกิดเสถียรภาพมากขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ โดยเขาเห็นว่าอเมริกาน่าจะยังคงแสดงความเป็นผู้นำ แต่จะอยู่ในลักษณะร่วมมือปรานกับพวกผู้เล่นและมหาอำนาจระดับภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย รวมทั้งมหาอำนาจทางยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินเดีย
ความสัมพันธ์ทางทหารและความมั่นคงระหว่างอเมริกากับอินเดียจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่คณะบริหารของไบเดนอาจเพ่งเล็งปัญหาสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาของอินเดียที่ทรัมป์เคยละเลยมากขึ้น

ไมเคิล คูเกลแมน รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียของศูนย์วิลสันในวอชิงตัน ยังคาดว่า ไบเดนจะวิจารณ์นโยบายชาตินิยมฮินดูของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ที่ถูกกล่าวหาว่า กดขี่ชนกลุ่มน้อย กระนั้น สองชาติจะร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้นเพื่อคานอำนาจจีน และคณะบริหารชุดใหม่ของอเมริกาจะไม่ยอมเสี่ยงทำตัวเป็นศัตรูกับอินเดีย ที่ถือเป็นเดิมพันทางยุทธศาสตร์ซึ่งดีที่สุดของอเมริกาในเอเชียใต้อย่างเด็ดขาด

(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 12 มิ.ย. 2018) คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จับมือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก่อนหน้าหารือกันที่สิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น