เอพี – พอมเพโอและเอสเปอร์ สองผู้ช่วยสำคัญด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ เตรียมเยือนอินเดียวันอังคารนี้ (27 ต.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับจีนที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลทั่วโลก ขณะที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าสู่โค้งสุดท้าย และทรัมป์พยายามโจมตีว่า ไบเดนหงอจีน
ไมค์ พอมเพโอ และมาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะพบกับสองรัฐมนตรีอินเดียเพื่อหารือเรื่องยุทธศาสตร์และความมั่นคงในวันอังคาร ก่อนที่พอมเพโอจะเดินทางต่อไปยังศรีลังกา มัลดีฟส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งล้วนถูกดึงเข้าสู่การประลองกำลังระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง
แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์โอ้อวดว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิของอินเดีย แต่การด้นสดเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างการโต้วาทีกับโจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ต.ค.) และพาดพิงว่า อากาศอินเดียสกปรกเช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย อาจทำให้นิวเดลีขุ่นเคืองใจ
แต่ไม่ว่าคำพูดของทรัมป์จะส่งผลต่อภารกิจของพอมเพโอและเอสเปอร์หรือไม่ สิ่งที่ชัดเจนคือ นี่คือช่วงเวลาสำคัญในความสัมพันธ์อเมริกา-อินเดีย ขณะที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลปกคลุมไปทั่วบริเวณที่วอชิงตันเรียกว่า อินโด-แปซิฟิก
ความตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างนิวเดลีกับปักกิ่งยิ่งเพิ่มดีกรีความเป็นปฏิปักษ์จีน-อเมริกาที่โหมกระพือจากข้อพิพาทเรื่องไวรัส การค้า เทคโนโลยี ไต้หวัน ทิเบต ฮ่องกง สิทธิมนุษยชน และข้อพิพาทระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งประเด็นการแย่งชิงสิทธิ์เหนือดินแดนและการแข่งขันทางทะเลจะเป็นประเด็นสำคัญระหว่างการเยือนอินโดนีเซียซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของพอมเพโอในทริปนี้
ขณะเดียวกัน อินเดียกำลังพยายามพาตัวเองออกจากปัญหาภายในมากมาย ซึ่งรวมถึงความไม่สงบในแคชเมียร์ ขณะที่ต้องเผชิญการคุกคามจากทั้งจีนและปากีสถาน กรณีจีนนั้นมีการเผชิญหน้าทางทหารบริเวณชายแดนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งแม้ทรัมป์เสนอตัวช่วยไกล่เกลี่ย แต่ดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
พอมเพโอเปิดเผยชัดเจนว่า คณะบริหารทรัมป์ต้องการโดดเดี่ยวจีน และให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางว่า ทริปนี้จะมีการหารือว่า ประเทศเสรีสามารถร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อย่างไร
สัปดาห์ที่แล้ว สตีเฟน บีกัน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอเมริกา เยือนอินเดียและวิจารณ์ว่า จีนเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเพราะกลัวมีปัญหาเอง และย้ำว่า วอชิงตันยินดีส่งเสริมผลประโยชน์ของอินเดียในภูมิภาคนี้ สร้างอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และรับมือความเสี่ยงจากเครือข่ายสื่อสารไฮเทคของจีนซึ่งอเมริกามองว่า เป็นแกนกลางกิจกรรมเศรษฐกิจแบบทำลายล้างของจีน
นับจากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี อเมริกาและอินเดียเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยตอนที่ทรัมป์เยือนอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์มีการลงนามข้อตกลงการทหารมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ และการค้าเกี่ยวกับการทหารระหว่างกันเพิ่มขึ้นจากเกือบศูนย์ในปี 2008 เป็น 15,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม จี. ปาร์ทาซาร์ตี อดีตนักการทูตอินเดีย ชี้ว่า อินเดียไม่ต้องการเป็นด่านหน้าในการต่อต้านจีน แต่จะพยายามรักษาสมดุลอำนาจของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค
ต้นเดือนนี้ พอมเพโอเดินทางไปโตเกียวเพื่อประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลียที่เรียกว่า “กลุ่มควอด” ที่ถูกมองว่า มีเป้าหมายในการคานอำนาจจีนที่แผ่ขยายอิทธิพลทางทหารไปทั่วภูมิภาค