สหรัฐฯกับอินเดียสมัครสมานสามัคคีกันเพื่อต่อต้าน “ความก้าวร้าวรุนรานของจีน” รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันกล่าวในวันอังคาร (27 ต.ค.) ภายหลังการเจรจาหารือระดับสูงระหว่างรัฐมนตรีสำคัญจากทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการลงนามกันในข้อตกลงทางทหารที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลแผนที่ซึ่งอ่อนไหวระหว่างกันด้วย
ทั้งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ มาร์ก เอสเปอร์ และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ต่างเน้นย้ำทำให้จีนกลายเป็นจุดโฟกัสของการพบหารือของพวกเขากับรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของอินเดียในคราวนี้ ในขณะที่แดนภารตะก็มีกรณีเผชิญหน้ากับแดนมังกรบริเวณชายแดนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งสองฝ่ายพิพาทช่วงชิงกันอยู่
“เรายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ในการสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างสำหรับทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความก้าวร้าวรุกรานและกิจกรรมทำลายเสถียรภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน” เอสเปอร์กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวภายหลังการพบปะหารือ
ขณะที่พอมเพโอบอกว่า มี “การหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งเขากล่าวต่อไปว่า “ไม่ได้เป็นมิตรกับประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม, ความโปร่งใส, หรือเสรีภาพในการเดินเรือ”
ทางฝ่ายอินเดียนั้น ในระหว่างการหารือ ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ และรัฐมนตรีกลาโหม ราชนาถ ซิงห์ ต่างไม่ได้อ้างอิงถึงจีนโดยออกนามตรงๆ แต่รัฐมนตรีต่างประเทศแดนภารตะได้พูดว่า สันติภาพจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกๆ ประเทศเคารพใน “บูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของทุกๆ รัฐ”
เขายังเรียกร้องต้องการให้มี “เอเชียซึ่งมีหลายๆ ขั้ว” ถึงแม้ในทางเป็นจริงแล้ว เอเชียในเวลานี้มีจีนเป็นหมายเลขหนึ่งทั้งในเรื่องพลังทางเศรษฐกิจและพลังทางการทหาร
ข้อตกลงด้านข้อมูลทางการทหาร
นอกจากหารือกันแล้ว สหรัฐฯกับอินเดียได้ลงนามในข้อตกลงต่างๆ จำนวนหนึ่ง โดยที่ได้รับความสนใจมากก็คือ ข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับใหม่ ที่มีชื่อว่า “ข้อตกลงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือด้านภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่” (Basic Exchange and Cooperation Agreement on Geospatial Cooperation) ซึ่งเอสเปอร์บอกในการแถลงข่าวว่า เป็น “หลักหมายที่สำคัญ” ซึ่งจะคอยดูแลสนับสนุนความร่วมมือระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ข้อตกลงฉบับนี้จะเปิดทางให้ฝ่ายทหารสหรัฐฯสามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลจากเครื่องจับสัญญาณ (เซนเซอร์) ที่มีความอ่อนไหว กับฝ่ายทหารของอินเดียได้
ฝ่ายอเมริกันเห็นว่า เรื่องนี้จะช่วยให้นิวเดลีสามารถใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯได้ดีขึ้นในการกำหนดเป้าหมายโจมตีของพวกขีปนาวุธ และในการจัดวางตำแหน่งกองทหารของตน
นอกจากนั้นยังจะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถจัดส่งเทคโนโลยีการนำร่องล่าสุดให้แก่เครื่องบินขับไล่ลำใดๆ ก็ตามที่สหรัฐฯจัดส่งให้แก่อินเดีย
มีรายงานว่า เอสเปอร์กำลังกดดันหว่านล้อมเพื่อให้อินเดียซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-18 ของสหรัฐฯ และถอยห่างจากการพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์รัสเซีย
ทว่าอินเดียระบุว่าต้องการให้อาวุธยุทโธปกรณ์ของตนผลิตขึ้นภายในประเทศมากกว่า และกำลังต้องการการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (26) ระหว่างที่พอมเพโอและเอสเปอร์เจรจาแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับรัฐมนตรีกระทรวงเดียวกันของตนจากฝ่ายอินเดียนั้น พวกเขากได้เรียกร้องต้องการให้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นลึกซึ้งมากขึ้นอยู่แล้ว
ชัยศังกระ ได้ทวิตหลังการพบหารือกับพอมเพโอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรที่กำลังปรากฏขึ้นมาใหม่ๆ นี้ ได้ “เติบโตไปอย่างมีสาระสำคัญ”
สำหรับ เอสเปอร์ กับ ซิงห์ นั้น “แสดงความยินดีสำหรับเรื่องการขยายการแลกเปลี่ยนแบ่งปันด้านสารสนเทศ” คำแถลงของฝ่ายสหรัฐฯระบุ ขณะที่กระทรวงกลาโหมอินเดียรายงานว่า รัฐมนตรีทั้งสองได้หารือกันถึง “พื้นที่ความร่วมมือใหม่ๆ ที่อาจเป็นไปได้” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ทั้งสหรัฐฯและอินเดียต่างมีความสัมพันธ์กับจีนซึ่งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา
วอชิงตันมีศึกการค้าที่ดุเดือดกับปักกิ่ง และคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ส่งเสียงเตือนภัยมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการที่จีนกำลังเติบโตขยายตัวเป็นมหาอำนาจในทางเศรษฐกิจและทางการทหาร
สำหรับอินเดียก็กำลังมองหาความสนับสนุนทางทหารระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ที่ได้เกิดการปะทะทางชายแดนกับจีนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่มีทหารอินเดียอย่างน้อย 20 คนเสียชีวิต ส่วนจีนยอมรับว่าฝ่ายตนก็มีผู้บาดเจ็บล้มตายแต่ไม่ให้รายละเอียด
ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองฝ่ายได้ส่งกำลังทหารหลายหมื่นคนไปยังพรมแดนที่พิพาทช่วงชิงกันของพวกเขาในภูมิภาคลาดัค และกำลังเสริมที่มั่นเผชิญหน้ากันในพื้นที่สูงชันและอากาศต่ำกว่าจุดเยือกแข็งขณะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว
อินเดียนั้นกำลังช็อปปิ้งซื้อหาพวกอุปกรณ์ใช้ในอากาศหนาวยะเยือกจากสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่หลายรายเผย นอกจากนั้นยังได้ตกลงขยายการซ้อมรบทางนาวีในมหาสมุทรอินเดียที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้าให้รวมเอาออสเตรเลียเข้ามาร่วมด้วย
เท่าที่ผ่านมา การซ้อมรบที่ใช้ชื่อวา “มาลาบาร์” นี้ มีเพียงอินเดีย, สหรัฐฯ, และญี่ปุ่น
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯพูดกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า ต้องการให้ 4 ชาตินี้ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันโดยเรียกชื่อว่ากลุ่มพันธมิตร “คว็อด” (Quad) มีการจัดโครงสร้างในลักษณะที่ถาวรมากยิ่งขึ้น อันเป็นความเคลื่อนไหวซ่งกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ฝ่ายตนได้ “เฝ้าสังเกตอยู่”
‘จีน’ด่าแหลก ‘พอมเพโอ’
เฉพาะพอมเพโอ หลังจากอินเดียแล้ว เขายังจะต่อไปเยือนศรีลังกา, มัลดีฟส์, และอินโดนีเซีย โดยการที่จีนกำลังมีทั้งการลงทุนและอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในศรีลังกาและมัลดีฟส์ ได้จุดประกายให้เกิดความวิตกกังวลในวอชิงตันและนิวเดลี
มีรายงานว่า พอมเพโอวางแผนมุ่งกดดันชาติเหล่านี้ให้ผลักไสต่อต้านการแข็งกร้าวยืนกรานของจีน ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯร้องเรียนว่ามีจุดเน้นอยู่ที่การปล่อยกู้แบบมุ่งให้ตกเป็นเหยื่อและการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่จีนมากกว่าประเทศผู้รับความช่วยเหลือ
ปรากฏว่าสถานเอกอัครราชทูตจีนในศรีลังกา ได้ประณามการไปเยือนประเทศเกาะแห่งนี้ของพอมเพโอ ตั้งแต่ก่อนเขาเดินทางไปถึงด้วยซ้ำ โดยแถลงประณามเรื่องที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯผู้หนึ่งพูดเตือนศรีลังกาว่าควรต้องระแวงระวังการลงทุนของจีน และหันมาร่วมมือกับสหรัฐฯแทน
“เราสนับสนุนศรีลังกาให้ทบทวนทางเลือกต่างๆ ที่เราเสนอไว้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความโปร่งใสและยั่งยืน ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีปฏิบัติแบบแบ่งแยกกีดกันและคลุมเครือกำกวม” ดีน ธอมป์สัน นักการทูตอาวุโสสูงสุดที่ดูแลเอเชียใต้ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เรารบเร้าศรีลังกาให้ตัดสินใจที่ยากลำบากแต่จำเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจของตนสำหรับความมั่งคั่งรุ่งเรืองในระยะยาว และเราพร้อมยืนหยัดเป็นหุ้นส่วนกับศรีลังกาสำหรับการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกา”
สถานเอกอัคครราชทูตจีนบอกว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้เป็นการละเมิดอย่างโจ่งแจ้งต่อพิธีการและมารยาททางการทูต ไม่เพียงเท่านั้น คำแถลงของทางสถานทูตยังเย้ยเยาะสหรัฐฯที่จัดให้พอมเพโอสามารถมาเยือนอย่างเร่งด่วนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งกำลังสร้างภาระด้านโลจิสติกส์อย่างใหญ่โตให้แก่ศรีลังกา ที่กำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
“วิธีการเช่นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างแท้จริงว่าท่านมีความเคารพในประเทศเจ้าภาพอย่างนั้นหรือ? มันเป็นการช่วยเหลือการป้องกันและการควบคุมโรคระบาดของท้องถิ่นหรือ? มันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนชาวศรีลังกาหรือ?” คำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตจีนตั้งคำถาม
คำแถลงยังเตือนพอมเพโอว่า อย่ามา “บังคับและรังแก” ศรีลังกาให้ต้องยินยอมต่อต้านจีน
(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)