xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิทฯ เผยเช่าซื้อจักรยานยนต์ฟื้น เดินหน้าดันมาร์เกตแชร์ขึ้นผู้นำตลาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ซัมมิท แคปปิตอล เผยยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ การชำระหนี้เข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติแล้ว พร้อมเดินหน้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมุ่งสู่ผู้นำตลาด ด้านเอ็นพีแอลดีขึ้น หลังนำระบบเทคโนโลยีมาช่วย พร้อมทุ่มงบ 150 ล้านพัฒนาต่อ ยันยังไม่มีแผนทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

นายฮิเดโตโมะ ฟูจิวาระ ประธาน บริษัท ซัมมิท แค​ปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด
เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ถือว่าค่อนข้างหนักเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ลดลงประมาณ 10% แต่ในส่วนของบริษัทลดลงเพียง 2%

ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดในด้านจำนวนรายเพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในปีก่อนเป็น 8.9% ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปีหน้า โดยขณะนี้สภาวะสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ของบริษัทเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติแล้ว

"ในช่วงต้นปีถือว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักสำหรับเรา แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพราะรถจักรยานยนต์ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากิน จึงทำให้การผิดนัดผ่อนชำระหนี้ไม่สูงนัก ประกอบกับบริษัทเองก็มีโครงการช่วยเหลือลูกหนี้มาโดยตลอดทำให้ปัจจุบันยอดชำระหนี้ และยอดจำนวนสัญญาปล่อยกู้กลับมาใกล้เคียงเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่บางไฟแนนซ์ถอยออกจากตลาดไปในช่วงโควิด-19 ทำให้เราเก็บยอดสัญญาจากส่วนนั้นได้เพิ่ม และทำให้มาร์เกตแชร์ของจำนวนสัญญาเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และเข้าใกล้อันดับ 1 ของตลาดมากขึ้น ซึ่งเราก็จะพยายามขึ้นสู่เป้าหมายนั้นต่อไป"

ด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันอยู่ที่ 1% กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 หรือต่ำกว่าช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 1% กว่า เนื่องจากลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาชำระหนี้ได้ดีกว่าที่คาด รวมถึงบริษัทได้ลงทุนระบบติดตามทวงหนี้อัตโนมัติทำให้ประสิทธิภาพการติดตามหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 50% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมีการพิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ลูกหนี้สินเชื่อซื้อรถจักรยานยนต์ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ตามแนวทางของ ธปท. ปัจจุบันสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เกือบทั้งหมดแล้ว จากยอดขอพักหนี้ในโครงการที่มีสัดส่วน 15% ของจำนวนราย 2.75 แสนสัญญา แต่ในส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล มียอดขอพักหนี้สัดส่วน 25% ของจำนวนราย 6,000 สัญญา ปัจจุบันยังไม่กลับมาชำระหนี้ได้เป็นหลักพันราย โดยยังต้องติดตามหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ ธปท.ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ชัดเจนก่อน คาดว่แนวโน้ม NPL จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม

สำหรับแผนงานในปี 2564 บริษัทยังตั้งเป้าหมายขยายจำนวนดีลเลอร์เพิ่มขึ้นอีก 10% หรือ 40 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 400 รายในขณะที่จำนวนดีลเลอร์จดทะเบียนรวมมีกว่า 1,500 รายทั่วประเทศ ถือว่ายังมีโอกาสในการขยายดีลเลอร์เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งยังคงเน้นที่ภาคอีสานที่ปีนี้ยังเติบโตได้ดี และตั้งเป้าหมายเติบโตเป็นเท่าตัวในปีหน้า รวมถึงภาคเหนือ ขณะที่ภาคตะวันออกยังคงเป็นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งอยู่แล้วของบริษัท ส่วนภาคใต้การเติบโตอาจจะยังไม่ดีนักเนื่องจากสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังไม่เอื้ออำนวย และมีแผนจะเพิ่มจำนวนสาขาอีก 2-3 แห่งในปีหน้า จากปัจจุบันที่ 37 แห่ง พร้อมมุ่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายงบลงทุนราว 150 ล้านบาท

"ส่วนการขยายธุรกิจจำนำทะเบียนนั้น ขณะนี้เรายังไม่มีนโยบายขยายไปในธุรกิจดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่และมีความน่าสนใจ แต่เนื่องจากธุรกิจจำนำทะเบียนมีความแตกต่างจากธุรกิจที่ทำอยู่ค่อนข้างมาก โดยการปล่อยกู้ของบริษัทในปัจจุบันเป็นการปล่อยกู้ผ่านดีลเลอร์ ขณะที่การปล่อยกู้จำนำทะเบียนรถจะปล่อยให้แก่ลูกหนี้โดยตรง และจำเป็นจะต้องมีจำนวนสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่เราถนัดในขณะนี้"
กำลังโหลดความคิดเห็น