xs
xsm
sm
md
lg

ฝืนยิ้ม! ซาอุฯ ยินดีกับ ‘ไบเดน’ แม้ผวาสหรัฐฯ ทบทวนสัมพันธ์-ขุดคุ้ยคดี ‘คาช็อกกี’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ และเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศแสดงความยินดีกับชัยชนะของ โจ ไบเดน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) หรือกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากที่สื่ออเมริกันฟันธงว่า ไบเดน หยิบยื่นความพ่ายแพ้ให้แก่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อเป็นการส่วนตัวกับมกุฎราชกมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

อดีตรองประธานาธิบดีสายเดโมแครต วัย 77 ปี ได้ให้คำมั่นระหว่างหาเสียงว่าจะทบทวนความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรซาอุฯ โดยผลักดันให้สหรัฐฯ เลิกสนับสนุนสงครามเยเมน รวมถึงเรียกร้องหาตัวผู้รับผิดชอบในคดีฆาตกรรม ‘จามาล คาช็อกกี’ นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุฯ ผู้เป็นปฏิปักษ์กับริยาด

ในขณะที่ผู้นำรัฐอาหรับอื่นๆ ต่างรีบเร่งออกมาแสดงความยินดีกับว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ดแห่งซาอุฯ กลับทรงนิ่งเฉยอยู่นาน ทั้งที่ทรงส่งสาส์นแสดงความยินดีไปยังประธานาธิบดีแทนซาเนียในโอกาสชนะเลือกตั้ง

กระทั่งเวลา 19.32 GMT ของวันอาทิตย์ (7) สำนักข่าว SPA ของซาอุฯ จึงได้เผยแพร่พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานและเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซึ่งทรงแสดงความยินดีกับ โจ ไบเดน และ ส.ว.คามาลา แฮร์ริส ในโอกาสที่ชนะศึกเลือกตั้ง

“สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานทรงยกย่องความสัมพันธ์อันโดดเด่นและใกล้ชิดระหว่างชาติพันธมิตรทั้งสองและประชาชนของเรา ซึ่งทุกคนต่างปรารถนาที่จะยกระดับและพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกระดับ” SPA ระบุ

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าชายโมฮัมเหม็ดกับ ทรัมป์ เป็นเสมือน “กันชน” ที่ช่วยเบรกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในซาอุฯ โดยเฉพาะกรณีการสังหาร คาช็อกกี ที่สถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูลเมื่อปี 2018, บทบาทของริยาดในสงครามเยเมน รวมถึงการที่ซาอุฯ จับกุมนักเคลื่อนไหวสตรี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้อาจกลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไบเดนกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นทั้งผู้ส่งออกน้ำมันระดับท็อปและลูกค้าอาวุธรายใหญ่ของอเมริกา

“สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าโควิด-19 ก็คือ ไบเดน-20” ดร.มูนา หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวซาอุฯ กล่าว

แหล่งข่าวในแวดวงการเมืองซาอุฯ คนหนึ่งปฏิเสธแนวโน้มความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างริยาดกับอเมริกาในยุคของไบเดน โดยมองว่าถึงอย่างไรเสียซาอุฯ ก็เป็นชาติพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน ขณะที่หนังสือพิมพ์ Okaz ลงบทความหน้าหนึ่งที่สะท้อนความกังวลถึงสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสำหรับซาอุฯ นับจากนี้

“ทั้งภูมิภาคกำลังรอคอยและเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังชัยชนะของ ไบเดน” สื่อซาอุฯ ฉบับนี้เผย

นีล ควิลเลียม จากสถาบันคลังสมอง Chatham House ในอังกฤษ คาดการณ์ว่ารัฐบาล ไบเดน คงไม่รอช้าที่จะแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศของซาอุฯ

“คณะผู้นำซาอุฯ กังวลว่ารัฐบาล ไบเดน และสภาคองเกรสอาจจะดำเนินการทบทวนความสัมพันธ์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมด้วย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่พวกเขาจะเริ่มเคลื่อนไหวในทางบวกมากขึ้น และเริ่มหาทางยุติสงครามในเยเมน” ควิลเลียม ให้ความเห็น

ในขณะที่ซาอุฯ นั้นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อนโยบาย “กดดันขั้นสูงสุด” ที่ ทรัมป์ ใช้กับอิหร่าน แต่ ไบเดน ประกาศว่าเขาจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าเป็นภาคีในแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) ซึ่งเป็นข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ระหว่างกลุ่มชาติมหาอำนาจ P5+1 กับเตหะราน และถือเป็นผลงานการทูตชิ้นโบแดงที่ทำขึ้นระหว่างที่ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดีในรัฐบาล บารัค โอบามา

แหล่งข่าวการเมืองในซาอุฯ ชี้ว่า รัฐบาลริยาด “มีศักยภาพพอที่จะเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าจะคนไหน เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นชาติที่ประกอบด้วยสถาบันต่างๆ มากมาย และซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐฯ ก็มีความร่วมมือในระดับสถาบันอยู่หลายด้าน”

“ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ซาอุดีอาระเบียนั้นหยั่งรากลึก มั่นคง และมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ จึงไม่อาจแปรเปลี่ยนได้ง่ายๆ เพียงเพราะมีประธานาธิบดีคนใหม่” เขากล่าว

เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงยืนกรานว่าไม่ได้เป็นผู้บงการสังหาร คาช็อกกี ตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา ทว่าในปีที่แล้วทรงยอมรับว่า “มีส่วนจะต้องรับผิดชอบ” เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดภายใต้การดูแลของพระองค์

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้จำนวน 8 คนถูกศาลซาอุฯ พิพากษาจำคุกระหว่าง 7-20 ปี

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น