xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ ‘ทรัมป์’ หวาดกลัวมากที่สุด คือ การเติบใหญ่เข้มแข็งของ ‘แอนต์ กรุ๊ป’ กิจการในเครืออาลีบาบา ของ แจ็ก หม่า

เผยแพร่:   โดย: วิลเลียม เพเซค



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Ant Group’s march is what Trump fears the most
by William Pesek
09/10/2020

แอนต์ กรุ๊ป กิจการในเครืออาลีบาบา ของ แจ็ก หม่า น่าที่จะสามารถเปล่งรัศมีบดบังพวกแบงก์วอลล์สตรีทได้ในไม่ช้าไม่นานนี้ และให้นิยามคำจำกัดความว่าด้วยการเงินระดับโลกกันเสียใหม่ ภายหลังจากทำ ไอพีโอ ซึ่งอาจจะระดมเงินทุนได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่ แอนต์ กรุ๊ป (Ant Group) กำลังใกล้ดำเนินการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ซึ่งคาดกันว่าอาจจะกลายเป็นการทำไอพีโอที่ระดมเงินได้มากที่สุดเป็นสถิติใหม่ของโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เล็งเป้ามุ่งโจมตีเล่นงานบริษัทในเครืออาลีบาบาของ แจ็ก หม่า แห่งนี้ ทั้งนี้ จังหวะเวลาที่ทรัมป์กำลังพิจารณาเพื่อประกาศมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ต่อ “อาลีเพย์” (Alipay) ของ แอนต์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-10-08/ant-group-faces-u-s-headwinds-in-race-to-ipo-before-trump-vote) ตลอดจนแพลตฟอร์มชำระเงินทางดิจิตอลของจีนรายอื่นๆ เป็นต้นว่าของ เทนเซนต์ โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings ) นั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายมุ่งก่อกวนขัดขวางการที่ แอนต์ กรุ๊ป จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นใน 2 ตลาดหลักทรัพย์คือฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ พร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการกระทำที่สามารถตีความได้ว่า เป็นการดึงความสนใจ และก็เงินทุนด้วย ออกไปจากวอลล์สตรีท นอกจากนั้นมันยังบ่งชี้ให้เห็นว่า “เรื่องเซอร์ไพรซ์ในเดือนตุลาคม” ของทรัมป์ ก่อนหน้าการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ อาจจะเป็นการตะล่อมให้จีนเข้าสู่สงครามการค้าที่มีขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเขาจะสามารถปลุกปั่นตามเก็บดอกผลทางการเมืองเข้าพกเข้าห่อได้

แต่ว่ามีใครพวกไหนบ้างที่ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกก่อกวนขัดขวางอะไรทั้งนั้น? คำตอบคือพวกนักลงทุนนั่นเอง

พฤติการณ์น่าขันของทรัมป์ดูเหมือนไม่ได้มีผลออกมาตามที่ตั้งใจเอาไว้ เนื่องจาก แอนต์ ยังคงรักษามูลค่าราคาโดยตัวของมันเองเอาไว้ได้ บางทีน่าจะเป็นเพราะพวกนักเสี่ยงโชคต่างพากันได้ข้อสรุปว่าพิษไข้จากโรคโควิด-19 ของทรัมป์นั่นแหละที่กำลังอวดฤทธิ์เดชอยู่ หรือว่าเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีนแล้ว เสียงตะโกนตะคอกจากทวิตเตอร์ของทรัมป์ได้ผลย่ำแย่กว่านักหนา เมื่อเปรียบเทียบกับการไล่ล่าไล่งับจากรัฐบาลที่แสนสับสนอลหม่านของเขา

และกระทั่งถ้าหากทรัมป์ตัดสินใจกระโจนเข้าใส่อย่างเต็มที่ สุปุน วัลโปลา (Supun Walpola) นักวิเคราะห์ของ ไลต์สตรีม รีเสิร์ช (LightStream Research) ก็ยังคงบอกว่า ยังมีที่ทางอีกเยอะแยะมากมายในประเทศจีน เหลือให้ แอนต์ เติบโตขยายตัวได้ต่อไปอีก

ทางด้านสิงคโปร์ก็ไม่มีอาการสั่นผวาอะไร อย่างที่สื่อบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเอาไว้ตอนต้นเดือนตุลาคมนี้ กองทุนความมั่นคงภาครัฐ จีไอซี (GIC Pte) ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายนี้ มีแผนการหว่านเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเข้าไปใน ไอพีโอ ของ แอนต์

ด้าน เทมาเสค โฮลดิ้งส์ (Temasek Holdings Pte) กิจการเพื่อการลงทุนของภาครัฐสิงคโปร์ ก็ดูมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมในการจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดคราวนี้ ซึ่งมองกันว่าอาจจะระดมเงินได้เป็นจำนวนสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nam04.safelinks.protection.outlook.com/?url=https%3A%2F%2Fwww.bloomberg.com%2Fquote%2FTMSK%3ASP&data=02%7C01%7C%7C3b3880989f7b4a52f69208d86ba033fd%7C84df9e7fe9f640afb435aaaaaaaaaaaa%7C1%7C0%7C637377683089243283&sdata=bzPPIxT6Fhl4f%2FcECfR1QQLZxSsvYiXDzEJ0Pk7LpQo%3D&reserved=0)

นี่จะต้องถือเป็นการวางเดิมพันที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์อย่างสูงใน 2 ระดับด้วยกัน

หนึ่ง สิงคโปร์ที่แสนจะอนุรักษนิยมนั้น ไม่ได้เคยมีชื่อเสียงระบือในเรื่องมีความกระหายที่จะเสี่ยงภัย นี่ย่อมบ่งชี้ว่าพวกผู้จัดการกองทุนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารกองทุนความมั่นคั่งของภาครัฐสิงคโปร์ จะต้องมีความเชื่อมั่นในกิจการยักษ์ใหญ่ทางการเงินที่ แจ็ก หม่า สร้างขึ้นมาแห่งนี้

สอง มันเป็นเครื่องเตือนย้ำอย่างอ้อมๆ ว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ฮ่องกงตายแล้ว หมดบทบาทไปแล้ว ซึ่งพูดกันสนั่นตลอดทั่วเอเชียในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้น ยังขาดไร้ความเป็นจริงอันประณีตละเอียดอ่อน

แน่นอนทีเดียว คำถามยังมีอยู่ว่า ทางกองทุนบำเหน็จบำนาญภาครัฐบาล (Government Pension Investment Fund) ของญี่ปุ่น, บรรษัทการลงทุนเกาหลี (Korea Investment Corporation) ของทางการเกาหลีใต้, หรือยักษ์ใหญ่กองทุนเพื่อการลงทุนรายอื่นๆ ของเอเชียจะกระทำตามหรือไม่ เวลานี้พวกเขาไม่ได้พูดอะไรออกมา แต่พวกนักลงทุนคุยกันว่า มีโอกาสอย่างมากที่ว่าพลวัตของความกลัวที่จะพลาดโอกาสงามๆ ที่ใครๆ ไขว่คว้าเอาไว้กันทั้งนั้น จะทำให้พวกกองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐในทุกหนทุกแห่งต้องเข้ามาซื้อหุ้น แอนต์

เมื่อพูดถึงเรื่องการสูญเสียโอกาสงามๆ กันแล้ว ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของทรัมป์ ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าการเฝ้ามองอยู่ข้างๆ ด้วยความอิจฉาริษยา ขณะที่ภูมิภาค “จีนและปริมณฑล” (Greater China) กำลังหยิบฉวยเอาเรื่องดีๆ เด็ดๆ ไปครอบครอง ทั้งๆ ที่อเมริกาก็ปรารถนาจะได้เอาไว้

ถึงแม้ทรัมป์พยายามทำตัวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ป่าวร้องไม่ขาดปากในเรื่องที่ว่าสหรัฐฯกำลังจะหมดปัญหาเรื่องโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อยู่แล้ว และเศรษฐกิจอเมริกันจะกลับแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯก็ออกมาตรการที่เหมือนเป็นการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ออกมาในตลาดไม่ขาดสายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นมาจริงๆ นั้นกลับอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อจีนและเศรษฐกิจของแดนมังกรกำลังฟื้นตัวขึ้นมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สหรัฐฯนั้นกลับเป็นตรงกันข้ามแบบห่างไกลสุดกู่ โดยยังคงอยู่ในอาการโซซัดโซเซด้วยจำนวนเคสผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 8 ล้านคน จึงยิ่งไม่ต้องพูดกันถึงลู่ทางโอกาสในการเดินเครื่องเศรษฐกิจ

เหตุผลประการหนึ่งของความแตกต่างห่างไกลกันเช่นนี้ ได้แก่การที่ทำเนียบขาวของทรัมป์ยังคงติดอยู่ในความคิดจิตใจแบบสมัยปี 1985

ในตอนนั้น ญี่ปุ่นคือผู้ที่เล่นบทเป็นผู้ร้าย ตามโลกทรรศน์ของทรัมป์ที่เห็นว่าจีนกำลังเล่นอยู่ในทุกวันนี้ แล้วด้วยการที่สหรัฐฯใช้พวกเครื่องมืออันโจ๋งครึ่มตรงไปตรงมา อย่างพวกการขึ้นอัตราภาษีศุลกากร และนโยบายการห้ามการจำกัดในด้านต่างๆ ก็ดูสามารถดึงตำแหน่งงานต่างๆ กลับคืนไปยังเส้นทางของอเมริกาได้สำเร็จ

แต่ในปี 2020 มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อการสร้างกล้ามเนื้อในระบบเศรษฐกิจของทรัมป์เลย นี่กลายเป็นความผิดพลาดแบบทำเข้าประตูตัวเอง ในเวลาที่รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังลงทุนเป็นจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าครอบงำโลกแห่งเทคภายในปี 2025 และภายหลังจากนั้น

แอนต์ คือสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่างตะวันออก-ตะวันตก การทำไอพีโอคราวนี้ของแอนต์ คือการปรับเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจทางการเงิน และวิถีทางต่างๆ ซึ่งวิสาหกิจภาคเอกชนกำลังฉายแสงจรัสจ้าเกินกว่าภาครัฐ มันมีอะไรมากมายเกินกว่าแค่ความรำคาญใจสืบเนื่องจากความอับอายซึ่งปรากฏอยู่ในประเด็นสนทนาต่างๆ ของทำเนียบขาว งานนี้ (ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็น ไอพีโอ ครั้งใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์) เป็นงานของ ไชน่าอิงค์ (China Inc ภาคบรรษัทจีน) ล้วนๆ

ในอีกด้านหนึ่ง ไอพีโอครั้งนี้ทำให้ฮ่องกงได้รับโอกาสในการเพิ่มพูนทั้งความเชื่อมั่นซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง และในการเพิ่มพูนเงินทุน แท้ที่จริงแล้ว แอนต์สามารถที่จะจดทะเบียนเข้าซื้อขายเฉพาะที่เซี่ยงไฮ้ก็ได้ และนั่นก็จะเข้าทำนองเป็นการนำเอาไข่ทั้งหมดที่มีอยู่ไปใส่ไว้ในตะกร้ากระดานหุ้น STAR board ซึ่งโฟกัสที่บริษัทเทค เหมือนอย่างที่พูดกันไว้ในสุภาษิตคำพังเพย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2020/08/26/tech/ant-group-ipo-hnk-intl/index.html)

แทนที่จะทำเช่นนี้ ไอพีโอคราวนี้ซึ่งน่าจะระดมเงินได้มากจนแซงหน้าครั้งที่รัฐวิสาหกิจ ซาอุดี อารัมโค (Saudi Aramco) เข้าตลาด จะเป็นการเข้าจดทะเบียนซื้อขายใน 2 ตลาดหลักทรัพย์ (dual listing) ซึ่งจะเป็นการค้ำจุนเสริมความเข้มแข็งให้แก่สถานะของฮ่องกง ขณะเดียวกัน นี่ก็จะให้ผลดีสำหรับ แอนต์ ด้วย

ความสนอกสนใจในหุ้นของ แอนต์ มีมากมายมหาศาลเสียจนกระทั่งบริษัทมีสิทธิ์ที่จะบอกปัดไม่ทำตามประเพณีของตลาดฮ่องกงในเรื่องการมีพวกนักลงทุนระดับเสาหลักประกาศตัวออกมาคอยประคับประคองเพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จของการทำไอพีโอ ไม่เพียงเท่านั้น แอนต์ ยังมีสิทธิ์พิเศษในเรื่องการเป็นผู้ควบคุมวิธีการที่ตนเองใช้เพื่อจัดสรรหุ้นให้แก่พวกนักลงทุนในฮ่องกงซึ่งบริษัทมองเห็นว่ามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์

ยิ่งไปกว่านั้น แอนต์ ยังได้รับอิสระในการกำหนดพวกนักลงทุนสถาบันแผ่นดินใหญ่ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นของตน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างบิดเบี้ยวผิดพลาด ในตลาดเซี่ยงไฮ้ ซึ่งหุ้นประเภท เอ (A-share) ที่อยู่ในมือนักลงทุนจีนนั้นมีชื่อเสียงลือฉาวว่าเคลื่อนไหวขึ้นลงกันอย่างวูบวาบเหลือเกิน

อาลีเพย์ VS ธนาคารระดับโลก

เป็นความจริง ความมุ่งมั่นตั้งใจของทรัมป์ที่จะเล่นงาน อาลีเพย์ ทำนองเดียวกับที่ได้ถล่มใส่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ มาแล้วนั้น ได้สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่การจดทะเบียนเข้าตลาดครั้งนี้ ก็เหตุผลแบบเดียวกันกับที่ได้เคยใช้อ้างเพื่อเล่นงานหัวเว่ยนั่นแหละ ทีมงานของทรัมป์กำลังกล่าวหาแพลตฟอร์มชำระเงินด้วยระบบดิจิตอลของ แอนต์ ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

สิ่งที่น่าจะเป็นจริงมากกว่าก็คือ ทรัมป์มีความกังวลว่า แอนต์ เป็นภัยคุกคามต่อความได้เปรียบของกิจการธนาคารระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯได้รับประโยชน์มายาวนานจนรู้สึกเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

ทีมทรัมป์ไม่ใช่เป็นพวกเดียวหรอกที่คิดเช่นนี้ ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์สหรัฐฯ ไคลี เบสส์ (Kyle Bass) แห่ง เฮย์แมน แคปิตอล (Hayman Capital) ก็หยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า แอนต์ กับ เทนเซนต์ คือ “อันตรายร้ายแรงอันชัดเจนและเฉพาะหน้าต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ โดยเวลานี้กำลังคุกคามพวกเราเสียยิ่งกว่าประเด็นปัญหาอื่นๆ ทั้งหลาย”

เบสส์ประมาณการว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังผลักดันระบบชำระเงินดิจิตอลสกุลเงินหยวนของตนในหมู่ประชากรราวๆ 62% ของโลก ในวิถีทางซึ่งเป็นการคุกคามอิทธิพลของวอชิงตัน

บางทีมันอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วย แต่อะไรล่ะคือแผนการของวอชิงตันที่จะใช้แข่งขันกับความทะเยอทะยานทางดิจิตอลของ ไชน่าอิงค์? (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloombergquint.com/business/china-inc-set-for-biggest-u-s-ipo-year-since-2014-despite-spat)

นอกเหนือจากการแซงก์ชั่นแบบตกเป็นฝ่ายถูกกระทำแล้ว มันก็ดูเหมือนไม่มีอะไรอย่างอื่นอีก

กระนั้น นี่ย่อมทำให้ แอนต์ ของ แจ็ก หม่า มีช่องทางลดน้อยลงในการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นให้สำเร็จ ก่อนที่รัฐบาลของทรัมป์จะสามารถทำสิ่งที่เลวร้ายที่สุดซึ่งตนเองกระทำได้ (หลังจากข้อเขียนชิ้นนี้ในภาษาอังกฤษเผยแพร่ไปแล้ว คณะบริหารทรัมป์ก็มีความเคลื่อนไหวที่จะเล่นงาน แอนต์ ด้วยการใส่ชื่อเข้าไปในบัญชีดำเพื่อแซงก์ชั่นของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/10/parting-trump-salvo-targets-ant-group-and-huawei/ และที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว ที่ https://mgronline.com/around/detail/9630000105903 -ผู้แปล) ไฟเขียวที่ แอนต์ จำเป็นต้องได้รับจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงนั้น กำลังอยู่ระหว่างเส้นทางการดำเนินการ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติของตลาดแห่งนี้ ยิ่งกระบวนนี้ขยับใกล้วันเลือกตั้งในสหรัฐฯ 3 พฤศจิกายน มากเข้าไปเท่าใด พวกนักเสี่ยงโชคทั้งหลายก็ควรคาดหมายว่าจะเกิดกระแสปั่นป่วนวูบวาบมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับในตอนนี้ ทีมงานของ แอนต์ คงจะตั้งความหวังให้ โจ ไบเดน จะเป็นผู้ชนะได้ครองทำเนียบขาวตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า เนื่องจากว่าสมัยที่สองของทรัมป์อาจจะเป็นอย่างเดียวกับสมัยแรก เพียงแต่ว่ามีการเล่นงานโจมตีหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้เราสามารถที่จะขบคิดกันออกทีเดียวว่า ทรัมป์อาจจะพยายามบีบคั้นพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯให้เดินตามวอชิงตันในการสกัดกั้นจำกัดการขยายกิจการของ แอนต์

เวลาเดียวกัน ชั้นเชิงกลเม็ดของสิงคโปร์แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้มีผู้เลียนแบบเกิดขึ้นมาในหมู่สมาชิก 10 ชาติของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้ง จีไอซี และ เทมาเสค ต่างเข้าไปร่วมตั้งแต่รอบการระดมทุนเมื่อปี 2018 ของ แอนต์ แล้ว โดยที่ตอนนั้น แอนต์ ยังถูกตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น คำถามที่ว่าพวกผู้จัดการกองทุนความมั่งคั่งในจาการ์ตา, กัวลาลัมเปอร์, มะนิลา, และที่อื่นๆ จะเอาด้วยไหมในการวางเดิมพันเข้าร่วมใน ไอพีโอ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา ไม่ว่ามันจะเป็นการจดทะเบียนซื้อขายที่ตลาดฮ่องกง หรือว่าแบ่งเป็น 2 ตลาดกับเซี่ยงไฮ้ก็ตามที ดูเหมือนจะเป็นคำถามตื้นๆ ที่ใครๆ ก็เดาคำตอบออกอยู่แล้ว

หากนำเอาเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาในสมการนี้ด้วย มันก็น่าจะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างเดียวกัน กระทั่งถ้าหากทรัมป์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายน ระบบการเมืองสหรัฐฯก็กำลังพิสูจน์ตนเองให้เห็นกันอยู่แล้วว่าเป็นบริกรที่เชื่อถือไม่ได้ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั้งๆ ที่มีการพูดจาโจมตีสี รวมทั้งมีความไม่พอใจความคลุมเคลือกำกวมของสี ทว่าในวงการเมืองของสหรัฐฯก็ยังคงแทบไม่ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันเลยเกี่ยวกับเงินทองที่จะนำไปใช้เพื่อไล่ตามให้ทันเส้นทางของจีน

ลองถาม มาซาโยชิ ซง (Masayoshi Son) ผู้ก่อตั้งกลุ่มซอฟต์แบงก์ (SoftBank) ในญี่ปุ่นดูก็ได้ เราสามารถกล่าวได้อย่างไม่น่าผิดพลาดว่า ซงคือผู้ที่ทำอะไรมากกว่าใครๆ ในการติดตามแกะรอยจนมองเห็นความรู้ความสามารถของ แจ็ก หม่า ย้อนหลังกลับไปในปี 2000 หม่ายังเป็นแค่ครูสอนภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในนครอย่างหางโจว (Hangzhou) ที่เวลานั้นยังถือว่าเป็นเมืองห่างไกลจากแวดวงอุตสาหกรรมนสมัยใหม่ทั้งหลาย

เงินจำนวน 20 ล้านดอลลาร์ที่ ซง ให้แก่ หม่า ได้งอกเงยกลายเป็นมีมูลค่าราวๆ 50,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 เมื่อ อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง (Alibaba Group Holding) จดทะเบียนเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดที่นิวยอร์ก

ตลอดปีที่แล้ว ซงตัดขายหุ้นอาลีบาบาที่เขาถืออยู่ออกไปเรื่อยๆ เพื่อระดมเงินมาอุดรอยรั่วในงบดุลบัญชีของซอฟต์แบงก์ โดยที่ช่วงล่าสุดก็เป็นเงินมากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.japantimes.co.jp/news/2020/06/25/business/corporate-business/softbank-masayoshi-son-alibaba-jack-ma/) กระนั้น ก็แทบเป็นการแน่นอนทีเดียวว่า ซงจะเข้าฉวยคว้าลองชิมรสชาติ ไอพีโอ ของ แอนต์ ในช่วงขณะที่กองทุนวิชั่นฟันด์ (Vision Fund) มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ของเขากำลังต้องการคว้าชัยชนะใหญ่ๆ สักครั้งหนึ่ง

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะหล่อหลอมอาลีเพย์ให้กลายเป็น “ซูเปอร์แอป” ขึ้นมาอย่างแท้จริง และทำให้ “วีแชท” (WeChat) ซูเปอร์แอปของค่ายเทนเซนต้องหันมามองด้วยความระแวดระวัง ขณะที่ความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของอาลีเพย์เองนั้น อยู่ในระดับที่กว้างไกลไร้ขอบเขต

สิ่งที่เริ่มต้นขึ้นมาในฐานะเป็นเพียงแค่บริการชำระเงินทางออนไลน์ แต่หลังจากนั้น อาลีเพย์ก็ได้เกิดการเบนเข็มอย่างแรงและเข้าสู่ธุรกิจบริการทางการเงินด้านอื่นๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่แวดวงนี้ในปัจจุบัน มันกำลังกลายเป็นมหาอำนาจทั้งในด้านการปล่อยเงินกู้, การออกกรมธรรม์ประกันภัย, กองทุนรวม, บริการเกี่ยวกับการเดินทางอย่างเช่นการจองตั๋วเครื่องบินจองห้องพักโรงแรม, และการทำงานร่วมระหว่างแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อตอบโจทย์ด้านการจำหน่ายและเพื่อให้เกิดการประหยัดอันเกิดจากขนาด (economies of scale)

กวนหนาน ลี่ว์ (Guannan Lu) แห่ง ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช (Forrester Research) ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ว่ามาเหล่านี้มันก็ไม่ใช่เป็นยุทธศาสตร์ใหม่เอี่ยมอะไรจริงๆ หรอก “แต่ว่า แอนต์ กรุ๊ป ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งขึ้นมาได้สำเร็จ”

เป็นความก้าวหน้าซึ่งเพียงพอถึงขนาดจะทำให้คุณเกิดความสงสัยเกี่ยวกับอนาคตของกิจการธนาคารตามแบบแผนเดิมๆ ในระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียแห่งนี้กันทีเดียว พวกธนาคารเหล่านี้จะอยู่ต่อไปได้อย่างไรจากการทำบทบาทหน้าที่เป็นเพียงคนกลางในภูมิภาคจีนและปริมณฑล ซึ่งพวกครัวเรือนทั้งหลายและวิสาหกิจขนาดย่อมจนถึงขนาดกลางมีความสามารถที่จะหลีกหลบไม่ติดต่อยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยได้?

ครับ เตรียมเครื่องหมายตกใจของคุณเอาไว้ให้พรักพร้อมได้เลย: อาลีเพย์มียูสเซอร์บนแผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนมากกว่า 700 ล้านราย! และตามข้อมูลของ อะนาไลซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (Analysys International) อาลีเพย์มีส่วนแบ่งในตลาดการชำระเงินผ่านมือถือบนแผ่นดินใหญ่อยู่ 55% !

แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเงินระบบดิจิตอลของ แอนต์ เป็นตัวสร้างรายได้ให้แก่บริษัทมากกว่า 63% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 นี่เพิ่มขึ้นมาจากระดับไม่ถึง 45% เมื่อตอนสิ้นปี 2017 ในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2020 อัตราผลกำไรสุทธิของ แอนต์ คือ 30% ซึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นจากยอดรายได้รวมที่อยู่ที่ 3,200 ล้านดอลลาร์

แน่นอนทีเดียว แอนต์ ยังคงพัวพันเกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็งกับการดำเนินงานด้าน อี-คอมเมิร์ซ ที่มีฐานะเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้วของอาลีบาบา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://techcrunch.com/2020/07/14/ant-alibaba-1-3-billion-users/#:~:text=Alipay%2C%20the%20brand%20of%20Ant's,active%20users%20as%20of%20March.)

ในขณะนี้ ยูสเซอร์อาลีเพย์จำนวนกว่า 90% กำลังใช้แอปนี้มากกว่าแค่การชำระเงินทางออนไลน์เท่านั้น นี่คือ “การสร้างระบบนิเวศแบบวงจรปิดขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ภายในนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่เงินทองจะผละออกไปจากระบบนิเวศกระเป๋าเงินออนไลน์นี้เลย” นักวิเคราะห์ ฮาร์ชิตา ราวัต (Harshita Rawat) แห่ง เบิร์นสไตน์ รีเสิร์ช (Bernstein Research) อธิบายแจกแจง

ราวัต ชี้ว่า แอนต์ “ใช้ระบบการชำระเงินของตน ในฐานะที่เป็นกลไกครอบครองยูสเซอร์เพื่อนำไปสร้างบริการทางการเงินแขนงต่างๆ ที่กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น” นี่ก็รวมไปถึงการหาหนทางต่างๆ เพื่อผสมพันธุ์ระหว่าง ความทะเยอทะยานของ แอนต์ ที่จะกลายเป็นศูนย์การค้าด้านบริการทางการเงินของจีน กับ ตลาดซื้อขายออนไลน์ของอาลีบาบาซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเจ้าตลาดด้านนี้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ อาลีบาบาจึงมีผลประโยชน์โดยตรงในการทำให้ แอนต์ สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดได้ด้วยความเข้มแข็ง นอกจากนั้น อาลีบาบายังครอบครองหุ้นอยู่ใน แอนต์ เป็นจำนวน 33% แล้วยังมีสิ่งที่นักวิเคราะห์ เคลวิน โฮ (Kelvin Ho) แห่ง ฟิตช์ เรตติ้งส์ (Fitch Ratings) เรียกว่า “สิทธิในการต่อต้านการถูกลดสัดส่วนหุ้น โดยที่จะมีสิทธิถือครองหุ้นเพิ่มเติมใน ไอพีโอ คราวนี้” ด้วยเหตุนี้ ฟิตช์ จึงมองไม่เห็นความเสี่ยงในทางลบที่จะมีต่อเรตติ้งของ อาลีบาบา

“แอนต์” โฮ บอก “มีฐานะเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้วในตลาดการชำระเงินและในตลาดฟินเทคของจีน และการทำ ไอพีโอ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาของ แอนต์ ควรที่จะเพิ่มพูนโครงสร้างด้านเงินทุนของบริษัทให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก อาลีเพย์ ซึ่งเป็นกิจการด้านการชำระเงินในเครือของ แอนต์ นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อธุรกิจคอมเมิร์ซที่เป็นแกนกลางของอาลีบาบา”

พิจารณาจากการที่ชาวจีนจำนวนมากได้ดาวน์โหลดแอปอาลีเพย์มาใช้งานกันอยู่แล้ว ซีอีโอ อีริค จิง (Eric Jing) จึงให้ความสนใจแง่มุมของการส่งออกโมเดลเช่นนี้ไปยังต่างแดน เวลานี้ แอนต์ กำลังมีความร่วมมือกับพวกบริษัทสตาร์ตอัป 9 แห่งทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ เป็นต้นว่า จีแคช (GCash) ในฟิลิปปินส์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rappler.com/business/globe-gcash-alipay-mynt-compatibility) และ เพย์ทีเอ็ม (Paytm) ในอินเดีย และ แอนต์ วางแผนจะใช้เงินที่ระดมได้จากการนำหุ้นของตนเข้าตลาด มาใช้จ่ายเพื่อเร่งเจาะเข้าสู่ตลาดต่างแดนซึ่งทรงความสำคัญ

ญี่ปุ่นนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่ชัดเจนไม่มีความแน่นอน มีความเป็นไปได้สูงที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ โยชิฮิเดะ ซูงะ จะเดินตามถ้าหากทรัมป์เคลื่อนไหวสั่งแบนอาลีเพย์ขึ้นมา แบบเดียวกับที่ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าเขาได้ทำกับหัวเว่ย

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องซอฟต์แบงก์เข้ามาอีก ถึงแม้ว่า ซง น่าที่จะเข้าร่วมลงทุนในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ แอนต์ แต่อภิมหาเศรษฐีผู้นี้ก็มีความทะเยอทะยานอย่างมหาศาลเกี่ยวกับ แอป “เพย์เพย์” (PayPay) ของทางซอฟต์แบงก์เอง เป้าหมายในระยะยาวของ ซง จึงน่าจะเป็นการสร้างอาลีเพย์แห่งญี่ปุ่นขึ้นมา

ในเรื่องจังหวะเวลา ต้องนับว่าช่างบังเอิญเอื้ออำนวยผลดีให้แก่ แอนต์ มากเหลือเกิน อย่างที่ นักวิเคราะห์ ไมเคิล คอสตัน (Michael Causton) แห่งบริษัทวิจัย สมาร์ตกรรมะ (Smartkarma) บอกว่า โควิด-19 กลายเป็น “ของขวัญ” ที่มอบให้แก่พวกผู้ให้บริการรับชำระเงินทางระบบดิจิตอลทั้งหลาย

ปัญหาอื่นของแอนต์ น่าจะอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งอาจจะมีความรู้สึกลังเลสองจิตสองใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชนิด disruption (การเปลี่ยนแปลงชนิดที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้เทคโนโลยีเก่าหมดบทบาทแลล้มหายตายจากไป -ผู้แปล)

โปรเจ็คต์ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของสี มีจุดมุ่งหมายที่จะแปรเปลี่ยนจีนให้เข้าเป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์, พลังงานหมุนเวียน, วิทยาการหุ่นยต์, ยานยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง, และซอฟต์แวร์ ทว่าฐานะของ แอนต์ ที่ครอบงำทั้งด้านธุรกรรมทางการเงิน, เงินกู้, ผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน, และการบริหารจัดการความมั่งคั่ง ย่อมทำให้เกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า พวกธนาคารในประเทศจีนจะยังมีอะไรเหลือให้ทำได้สักกี่อย่างในระยะเวลาสองสามปีหลังจากนี้

แบงก์ยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่าง ไอซีบีซี, ธนาคารเพื่อการก่อสร้างประเทศจีน (China Construction Bank), ธนาคารเกษตรกรรมแห่งประเทศจีน (Agricultural Bank of China) และอื่นๆ อาจจะพบว่ากิจการธนาคารตลาดมวลชนคือสถานที่ซึ่งมีผู้เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้นจนแน่นขนัด ในขณะที่ทั้งอาลีเพย์และพวกคู่แข่งพากันสยายปีกของตนออกไป

มันจึงเป็นเรื่องแน่นอนที่ว่า ด้วยขนาดของ แอนต์ ภายหลังทำไอพีโอคราวนี้แล้ว จะทำให้พวกบิ๊กเนมใหญ่ที่สุดในทางการเงินของจีน ต้องพากันจับตามองด้วยความระแวงระวัง

ใหญ่กว่าที่ใหญ่สุดในเวลานี้

ระดับซึ่ง แอนต์ กำลังเล็งเอาไว้ว่า มูลค่าตามราคาตลาดหุ้นของตนควรจะไปถึงนั้น ไมเคิล คาร์เตอร์ (Michael Carter) ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ทั่วโลก ของ โอซากา มัตซุย แมเนจเมนต์ (Osaka Matsui Management) บอกว่า จะ “ทำให้ แอนต์ มีมูลค่ามากกว่า โกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป และวางตำแหน่งของ แอนต์ เข้าไปใกล้เคียงกับของ เพย์พัล (PayPal)”

หรือ ถ้าจะดูการประมาณการของ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit (ใช้อักษรย่อว่าEIU) แอนต์ ก็อาจจะคุยได้ว่ามีมูลค่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงแม้กระทั่งกับ เจพีมอร์แกน เชส
แบงก์รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา นี่แน่นอนทีเดียวว่าจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับพวกเหยี่ยวในวอชิงตันซึ่งวิตกอยู่แล้วถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯกำลังถูกทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง ไม่เพียงเท่านั้น พวกสถาบันที่ประกอบกิจการแบบเดิมๆ ในแผ่นดินใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อต่อจากนี้พวกเขาจะสามารถดำเนินงานไปได้ในฐานะที่เป็นเพียงส่วนต่อขยายของรัฐเท่านั้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rappler.com/business/globe-gcash-alipay-mynt-compatibility)

สิ่งที่เพิ่มความงุนงงสับสนมากขึ้นไปอีกก็คือ การผงาดขึ้นมาของ แอนต์ อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่พวกเงินตรากระดาษกำลังจะหดหายไป โดยที่ต้องไม่ลืมว่าเงินตรากระดาษมีความหมายในแง่ทำให้พวกรัฐบาลทั้งหลายมีเหตุผลข้ออ้างหลักในการเข้ามีบทบาทหน้าที่ทางเศรษฐกิจ

หากคุณลองนึกถึงคลื่นช็อกที่ เฟซบุ๊ก ก่อขึ้นมา ด้วยสกุลเงินตราดิจิตอล “ลิบรา” ที่บริษัทวางแผนนำเอามาใช้ มันก็จะมองเห็นได้ง่ายๆ ถึงภัยคุกคาม –ไม่ว่ามันจะเป็นภัยคุกคามจริงๆ หรือเป็นแค่สิ่งที่รับรู้เข้าใจว่าเป็นภัยคุกคาม— ซึ่งพวกให้บริการอย่าง อาลีเพย์ แสดงออกให้เป็นที่รู้สึกได้ของพวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย
ตั้งแต่วอชิงตันไปจนถึงปักกิ่ง

ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น แต่การทำ ไอพีโอ ของ แอนต์ ยังคงถือเป็นหลักหมายสำคัญสำหรับซูเปอร์พื้นที่เขตเศรษฐกิจจีนตอนใต้ ซึ่ง สี กำลังพากเพียรสร้างขึ้นมา แม้การปราบปรามทำลายอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกงกำลังทำให้พวกบรรษัทนานาชาติตระหนกตกใจ แต่นครแห่งนี้ก็ยังคงอยู่ในจุดศูนย์กลางของโครงการ กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เกรตเทอร์ เบย์ แอเรีย (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) ของ สี

แผนการนี้เป็นการนำเอาความมั่งคั่งและพลังงานแห่งนวัตกรรมของฮ่องกงและมาเก๊า มารวมกับของเมืองใหญ่ 9 แห่ง ได้แก่ กว่างโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน, และเจ้าชิ่ง ในมณฑลกวางตุ้ง เขตพื้นที่ดังกล่าวนี้มีประชากรรวมกันเท่ากับ 72 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

โปรเจ็คต์นี้ซึ่งเป็นการนำเอานครริมชายฝั่ง 4 แห่งเข้ารวมเป็นมหานครใหญ่ไฮเทคหนึ่งเดียวกัน อาจจะก่อให้เกิด ซิลิคอนแวลลีย์ตะวันออก (Silicon Valley East) ขึ้นมา ซึ่งสามารถสร้างบริษัทเกิดใหม่ระดับ “ยูนิคอร์น” ในทางด้านเทค (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.economist.com/china/2019/07/11/chinas-silicon-valley-is-transforming-china-but-not-yet-the-world) ขณะที่เขตต่างๆ ซึ่งอยู่รายล้อมก็มีพื้นที่ผืนใหญ่ๆ หลายๆ ผืน สำหรับเรื่องการค้า, การท่องเที่ยว, และโลจิสติกส์

นี่แหละคือปัญหาท้าทายสำหรับท่าน ท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ขอให้ท่านโชคดีในความพยายามที่จะหยุดยั้งไม่ให้ ไชน่าอิงค์ เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ขณะที่ท่านกำลังดึงลาก อเมริกาอิงค์ ให้ถอยหลังกลับ


กำลังโหลดความคิดเห็น