(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Quad is built on wobbly foundations
by Gregory Clark
05/10/2020
รัฐมนตรีต่างประเทศของ 4 ประเทศที่เรียกกันว่า “กลุ่มควอด” (Quad) พบปะหารือกันในกรุงโตเกียวเพื่อร่วมมือกันต่อต้านจีน ทว่ามันไม่มีความชัดเจนเลยว่าปักกิ่งกำลังเป็นภัยคุกคาม
ความทรงจำช่างแสนสั้นเสียเหลือเกิน ในวันอังคาร (6 ตุลาคม) นี้ ขณะที่เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และสหรัฐฯ พบปะหารือกันในกรุงโตเกียว เพื่อดำเนินการสิ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “การสนทนา 4 ฝ่าย” (Quadrilateral Dialogue) –หรือก็คือการที่ 4 ชาติเหล่านี้กำลังร่วมมือกันเพื่อรับมือกับสิ่งที่กล่าวหากันว่าเป็นความก้าวร้าวรุกรานของจีนในเอเชีย— แทบจะไม่มีใครเลยสามารถจดจำได้ว่า ไอเดียดั้งเดิมของกลุ่ม 4 หรือ กลุ่มควอด เช่นนี้สามารถย้อนหลังกลับไปไกลกว่านี้มาก นั่นคือสาวไปได้จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1970
ในเวลานั้น แคนเบอร์ราได้ทำให้ตนเองเกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า สงครามในเวียดนามจำเป็นต้องตอบโต้รับมือด้วยการถือเป็นกลอุบายในการเข้าพิชิตเอเชียของจีน “โดยกรณีแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการพึ่งพาอาศัยพวกหุ่นของตนในฮานอย”
ซีโต้ -- Southeast Asia Treaty Organization องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้— ได้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1954 เพื่อหยุดยั้งสิ่งที่กล่าวหากันว่าเป็นภัยคุกคามของพวกคอมมิวนิสต์ต่อเอเชีย ทว่ากลับสามารถที่จะดึงดูดชาติสมาชิกที่เป็นเอเชียจริงๆ ได้เพียงแค่ ฟิลิปปินส์ กับประเทศไทยเท่านั้น
มองเห็นกันว่า กลุ่มควอดจำเป็นที่จะต้องดึงดูดพวกมหาอำนาจเอเชียที่มีขนาดใหญ่โตกว่านั้น –อย่างญี่ปุ่น และอินเดีย
ทว่ามันแทบไม่ได้บรรลุผลรูปธรรมใดๆ เลย และด้วยการสิ้นสุดลงของสงครามเวียดนามในปี 1975 ตลอดจนการพังทลายของซีโต้ในปี 1977 การพูดจาเกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือต่อต้านจีนก็พลอยล้มหายตายจากไปด้วย
ทุกวันนี้เราทึกทักเอาว่ากำลังเผชิญการท้าทายครั้งใหม่จากจีน ด้วยเหตุนี้จึงมีการรื้อฟื้นกลุ่มควอดขึ้นมาใหม่ แต่ว่าภัยคุกคามอย่างใหม่ที่เราทึกทักเอาว่ากำลังเผชิญอยู่นี้คืออะไรกันแน่ๆ ล่ะ? ทุกวันนี้มันไม่ได้มีสงครามเวียดนามหรือภัยคุกคามที่สั่นคลอนเสถียรภาพของเอเชียอะไร จึงดูเหมือนกับว่าภัยคุกคามเพียงประการเดียวคือข้อเท็จจริงที่ว่าจีนดำรงคงอยู่ และอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนกำลังเติบโตขยายตัว
มันไม่ค่อยมีอะไรมากนักหรอกที่พวกมหาอำนาจกลุ่มควอดจะสามารถทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้
เป็นความจริง ปักกิ่งประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะบางเกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งพวกชาติเอเชียอื่นๆ บางรายก็อ้างกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ไต้หวันทำเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน พื้นที่ของเกาะต่างๆ ทั้งหมดที่อ้างกรรมสิทธิ์โดยไต้หวันทว่าถูกโต้แย้งแข่งขันจากชาติเอเชียอื่นๆ นั้นยังใหญ่โตมโหฬารเสียยิ่งกว่าพวกที่อ้างกรรมสิทธิ์โดยปักกิ่งมากมายนัก
ข้อสรุปเมื่อปี 2016 ของศาลยูเอ็นที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ที่ขัดแย้งกันของฝ่ายต่าง ๆ จึงมีผลต่อเรื่องนี้ด้วย
แล้วถ้าหากเราย้อนหลังกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์ หรือไปดูที่พวกสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นในปี 1951 และ 1952 ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นคนกลาง จีนทั้งสองย่อมสามารถที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเป็นพื้นฐานทางกฎหมายบางประการสำหรับสนับสนุนการประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ของพวกตนได้ทีเดียว
เรื่องที่ปักกิ่งคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands) ในทะเลจีนตะวันออก ถูกมองเช่นกันว่าเป็นข้อพิสูจน์อันแสดงให้เห็นถึงความก้าวร้าวรุกรานของจีน ทว่าปักกิ่งไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะแห่งนี้เพื่อตัวเอง หากทำเช่นนั้นในนามของไต้หวัน ผู้ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์โดยที่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และทางภูมิศาสตร์อันแข็งแกร่งรองรับ
ในความเป็นจริงแล้ว มันแข็งแกร่งมากเสียจนกระทั่งภายใต้แรงกดดันจากกลุ่มล็อบบี้เพื่อไต้หวันในสหรัฐฯ วอชิงตันต้องยอมปฏิเสธการกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซนกากุของญี่ปุ่นทีเดียว เมื่อตอนที่หมู่เกาะริวกิวซึ่งรวมไปถึงโอกินาวะด้วย ถูกส่งมอบคืนให้ญี่ปุ่นในปี 1971
สหรัฐฯเพียงแค่รับทราบสิทธิในทางการบริหารของญี่ปุ่นเท่านั้น
แม้กระทั่งชื่อของหมู่เกาะแห่งนี้ก็ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น เซนกากุเป็นคำแปลของชื่อ “หมู่เกาะพินนาเคิล” (Pinnacle Islands) ซึ่งพวกนักสำรวจชาวอังกฤษตั้งขึ้นมาสำหรับเรียกพื้นที่แถวนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18
ชื่อภาษาจีน –เตี้ยวอี่ว์ไถ Diaoyutai หรือ สถานที่ตกปลา— กลับสามารถย้อนกลับไปได้ไกลกว่ามาก
ในที่อื่นๆ ก็เช่นกัน มันยากที่จะค้นพบตัวอย่างเกี่ยวกับการก้าวร้าวรุกรานของจีนตามที่กล่าวหากัน แน่ล่ะมีการอ้างอิงพูดถึงกันอยู่มากเกี่ยวกับสงครามชายแดนจีน-อินเดียปี 1962 (Sino-Indian frontier war of 1962) โดยที่ฝ่ายอินเดียยังกล่าวอ้างถึงแรงบีบคั้นแบบก้าวร้าวรุกรานของจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอีกด้วย
ทว่าในฐานะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะจีนในกระทรวงการต่างประเทศของแคนเบอร์ราในตอนนั้น ผมทราบดีถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกกระทรวงการต่างประเทศทั้งหลายของชาติตะวันตกที่เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่มีวัสดุเอกสารซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สงครามความขัดแย้งในปี 1962 คราวนั้น ทั้งหลายทั้งปวงมีสาเหตุเนื่องมาจากนโยบาย “เดินหน้า” ในแถบเทือกเขาหิมาลัยของนิวเดลี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1950 –อันเป็นข้อเท็จจริงที่แม้กระทั่งพวกผู้สังเกตการณ์ชาวอินเดียก็ได้ยืนยันรับรองกันนับตั้งแต่ตอนนั้นมา
น่าจะเป็นจริงเอามากๆ ที่ว่าความขัดแย้งทางชายแดนขนาดเล็กๆ จำนวนมากนับตั้งแต่ขณะนั้น มีสาเหตุเนื่องจากบาดแผลในความรู้สึกภาคภูมิใจของอินเดีย มากกว่ามาจากการที่ปักกิ่งกำลังกระตือรือร้นเสาะแสวงหาทางสร้างความยุ่งยากขึ้นมา
ดังนั้น หากเราแยกเอาพวกจินตนาการอันกว้างไกลของเหล่าสมาชิกกลุ่มควอดออกไปแล้ว ตรงไหนล่ะคือสิ่งที่เรามองเห็นว่าเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันถึงความก้าวร้าวรุกรานของปักกิ่งตามที่กล่าวหากัน? ถ้าหากมีการพูดจาแบบเป็นปฏิปักษ์ใดๆ ออกมาจากปักกิ่งในทุกวันนี้แล้ว สาเหตุที่น่าจะเป็นจริงมากที่สุดย่อมสืบเนื่องมาจากทัศนคติอันเป็นปฏิปักษ์ของพวกสมาชิกกลุ่มควอดนั่นเอง
เกรกอรี คลาร์ก อดีตนักการทูตชาวออสเตรเลียซึ่งไปพำนักปักฐานอยู่ในญี่ปุ่น รวมทั้งเคยเป็นประธานกับรองประธานของมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 2 แห่ง เวลานี้เขายังคงสนใจติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ในเอเชียอย่างต่อเนื่อง