xs
xsm
sm
md
lg

‘พอมเพโอ’ เงิบระดมพันธมิตรต้านจีนเหลว ญี่ปุ่น-ออสซี่ แบ่งรับแบ่งสู้-แต่งดพาดพิงปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีต่างประเทศของ 4 ชาติ “กลุ่มคว็อด” (จากซ้ายไปขวา) สุพรหมณยัม ชัยศังกระ แห่งอินเดีย, โทชิมิตสึ โมเตงิ แห่งญี่ปุ่น,  ไมค์ พอมเพโอ แห่งสหรัฐฯ, และ มาริส เพย์น แห่งออสเตรเลีย ขณะออกจากทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว เมื่อวันอังคาร (6 ต.ค.) ภายหลังเข้าเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ
เอเจนซีส์ – พอมเพโอพบหารืออีก 3 รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม “คว็อด” ที่อเมริกาหวังใช้เป็นด่านหน้าต่อต้านอิทธิพลพญามังกร โดยที่เขาพยายามย้ำสิ่งที่เรียกว่าเป็นกิจกรรมประสงค์ร้ายของปักกิ่งภายในภูมิภาค ทว่า ทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลียต่างแบ่งรับแบ่งสู้ โดยต่างยืนยันสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง แต่งดเอ่ยอ้างถึงจีนโดยตรง

ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันอังคาร (6 ต.ค.) ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ประชุมหารือ 4 ฝ่ายที่เรียกกันว่า “กลุ่มคว็อด”

ในการแสดงความคิดเห็นก่อนเริ่มต้นการประชุม “กลุ่มคว็อด” ของรัฐมนตรีทั้ง 4 พอมเพโอได้พูดจาโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นผู้ปกครองในปักกิ่ง ด้วยถ้อยคำโจ่งแจ้งไม่มียั้งตามแบบฉบับของเขา ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐมนตรีของอีก 3 ประเทศ ที่ทั้งหมดหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยถึงจีนตรงๆ

“ในฐานะเป็นหุ้นส่วนอยู่ในกลุ่มคว็อดนี้ เวลานี้มีความสำคัญยิ่งยวดยิ่งกว่าเวลาใดๆ ที่เราต้องร่วมมือประสานกันเพื่อปกป้องประชาชนของเราและหุ้นส่วน จากการขูดรีด, การทุจริตฉ้อฉล, และการบีบบังคับของ ซีซีพี” พอมเพโอกล่าว โดยที่ ซีซีพี คืออักษรย่อในภาษาอังกฤษของพรรคคอมมิวนิสต์จีน “เราเห็นเรื่องนี้ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก, ในลุ่มแม่น้ำโขง, เทือกเขาหิมาลัย, ช่องแคบไต้หวัน”

จีนนั้นประณามกลุ่มคว็อดว่าเป็นความพยายามที่จะปิดล้อมกีดกันการพัฒนาของตน

ขณะที่ทั้ง 4 ชาติที่เข้าร่วมกลุ่มนี้ย้ำว่าพวกตนสำหรับสนับสนุนให้เกิดภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่น พอมเพโอยังได้กล่าวถึงการทำให้กลุ่มคว็อดมีความเป็นทางการมากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีการขยายกลุ่มให้กว้างขวางออกไป

“ทันทีที่เราทำให้สิ่งซึ่งเรากำลังทำอยู่นี้กลายเป็นสถาบันขึ้นมา –พวกเราทั้ง 4 ร่วมมือกัน— เราก็สามารถเริ่มต้นสร้างกรอบโครงด้านความมั่นคงที่แท้จริงขึ้นมาได้” พอมเพโอ บอกกับนิกเคอิ โดยเสนอแนะว่าอาจจะเพิ่มประเทศอื่นเข้ามาอยู่ใน “ผืนผ้า” ที่เขากล่าวถึงนี้ “ในเวลาที่เหมาะสม”

นอกจากนั้น พอมเพโอยังพูดกับ เอ็นเอชเค บรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงภาคสาธารณะของญี่ปุ่น ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ “ภาพซึ่งมองเห็นร่วมกัน” ของการท้าทายนี้ จะได้มีการแบ่งปันให้บรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองเห็นร่วมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการทำให้เกิดการร่วมกลุ่มอย่างเป็นสถาบัน ดังเช่น การร่วมลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งเป็นองค์การ ดังที่พอมเพโอกล่าวถึง อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นมาเลย เมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่พวกตนมีอยู่กับจีนเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเติบใหญ่ขยายตัวอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่นักวิเคราะห์เหล่านี้บอกว่า การพูดออกมาเช่นนี้ก็ถือเป็นการส่งเสียงเตือนจีน และยิ่งกระตุ้นความหวั่นเกรงของปักกิ่งที่ว่า สักวันหนึ่งกลุ่มคว็อดอาจกลายเป็น “นาโต” ในเอเชีย ซึ่งมุ่งปิดล้อมจีน อย่างที่นาโต้ทำหน้าที่ปิดล้อมสหภาพโซเวียตในยุโรป

ก่อนหน้าการประชุมกลุ่มคว็อดในช่วงเย็นวันอังคาร พอมเพโอได้หารือแบบทวิภาคีกับรัฐมนตรีของแต่ละชาติ รวมทั้งเข้าพบนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า ระหว่างที่พอมเพโอพบหารือกับมาริส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ทั้งคู่ได้พูดกันเกี่ยวกับความกังวลที่มีร่วมกันจากกิจกรรมประสงค์ร้ายของจีนในอินโด-แปซิฟิก

ทว่า ในคำแถลงของเพย์นเอง ปรากฏว่ากลับไม่พาดพิงจีนเลย โดยระบุเพียงว่า แคนเบอร์ราสนับสนุนอินโด-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง เสรี และมั่งคั่ง ทั้งนี้ “อินโด-แปซิฟิก” เป็นคำที่คณะบริหารทรัมป์ผลักดันให้ใช้แทน “เอเชีย-แปซิฟิก” โดยอ้างว่าเพื่อจะได้ครอบคลุมทั้งแปซิฟิกและอินเดีย แต่ถูกฝ่ายต่างๆ มองว่า จุดประสงค์แท้จริงคือการวางแนวความคิดเพื่อการปิดล้อมจีน

พอมเพโอถือเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสคนแรกของอเมริกาที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นนับจากนายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว เขายังเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่วิจารณ์จีนอย่างรุนแรงมาตลอดทั้งประเด็นความมั่นคงจนถึงสิทธิมนุษยชน และโรคระบาดที่วอชิงตันพยายามโยนความผิดให้ปักกิ่งก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน

ระหว่างหารือทวิภาคีกับ โตชิมิตสึ โมเตงิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น พอมเพโอ แสดงความเชื่อมั่นว่า โตเกียวและวอชิงตันมีทัศนคติมุมมองเหมือนกัน พร้อมอ้างอิงถ้อยแถลงแรกหลังรับตำแหน่งของซูงะที่ว่า อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง คือ รากฐานของสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน ซูงะ แถลงว่า การระบาดของไวรัสตอกย้ำว่า ญี่ปุ่นควรกระชับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันมากที่สุดเท่าที่ทำได้

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังยืนกรานว่า การพูดคุยกับพอมเพโอไม่ได้พุ่งเป้าประเทศใดโดยตรง และให้ภาพรวมโดยสรุปว่า มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และเกาหลีเหนือเท่านั้น

ที่ผ่านมา กลุ่มคว็อดได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เพื่อกระชับความร่วมมือในหมู่ประเทศประชาธิปไตยสำคัญในภูมิภาคที่กำลังเผชิญการคุกคามทางทหารและด้านอื่นๆ จากจีน

ทว่า เมื่อวันจันทร์ (5) ซูงะกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาต้องการส่งเสริมอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และสร้างความสัมพันธ์มั่นคงกับชาติเพื่อนบ้านที่รวมถึงจีนและรัสเซีย

ด้านจีนนั้น หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการประชุมกลุ่มคว็อดว่า ปักกิ่งหวังว่า ประเทศที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาค และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนา ไม่ใช่ในสิ่งที่ตรงกันข้าม

ในอีกด้านหนึ่ง แม้พอมเพโอพูดโอ่ก่อนการประชุมว่า จะมีการประกาศข่าวสำคัญ แต่ การหารือ 4 ฝ่ายในวันอังคารก็ยุติลงโดยไม่มีการออกคำแถลงร่วมหรือการแถลงข่าวแต่อย่างใด

อนึ่ง พอมเพโอ ยังได้ยกเลิกการแวะเยือนเกาหลีใต้และมองโกเลีย หลังจากรับรู้ว่า ทรัมป์ติดโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (2)

รัฐมนตรีต่างประเทศของ “กลุ่มคว็อด” (จากซ้ายไปขวา) สุพรหมณยัม ชัยศังกระ แห่งอินเดีย, โทชิมิตสึ โมเตงิ แห่งญี่ปุ่น,  มาริส เพย์น แห่งออสเตรเลีย, และ ไมค์ พอมเพโอ แห่งสหรัฐฯ ถ่ายภาพร่วมกันก่อนเริ่มการประชุมที่กรุงโตเกียว เมื่อวันอังคาร (6 ต.ค.)

รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ แห่งสหรัฐฯ (ซ้าย) กับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ทักทายกัน ก่อนหารือที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว วันอังคาร (6 ต.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น