รอยเตอร์ – เกาหลีเหนือประกาศตัดโทรศัพท์สายด่วนที่ใช้สื่อสารกับเกาหลีใต้วันนี้ (9 มิ.ย.) ระบุเป็นเพียง “มาตรการขั้นแรก” ก่อนจะระงับการติดต่อทั้งหมดกับโซล เนื่องจากไม่พอใจที่ปล่อยให้นักเคลื่อนไหวร่อนใบปลิวโจมตีระบอบคิม
ตลอดหลายวันมานี้ เกาหลีเหนือแสดงท่าทีกระฟัดกระเฟียดและขู่จะปิดสำนักงานติดต่อประสานงานข้ามแดน (liaison office) รวมถึงโครงการความร่วมมืออื่นๆ หากโซลไม่ดำเนินการยับยั้งกิจกรรมของผู้ลี้ภัยโสมแดงที่ส่งบอลลูนขึ้นไปโปรยใบปลิวข้ามไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอรายงานวันนี้ (9) ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึง คิม โยจอง น้องสาวของผู้นำ คิม จองอึน และ คิม ยองโชล รองประธานคณะกรรมการกลางพรรคแรงงานเกาหลี เห็นตรงกันว่า “สมควรปรับการทำงานร่วมกับโซลให้กลายเป็นเสมือนงานต่อต้านศัตรู” โดยในขั้นแรกจะตัดการสื่อสารผ่าน liaison office รวมถึงสายด่วนระหว่างกองทัพและทำเนียบประธานาธิบดีทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงเที่ยงวันนี้ (9)
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่โสมขาวซึ่งระบุว่า เช้าวันนี้ (9) เจ้าหน้าที่โสมแดงประจำ liaison office ไม่รับสายจากเกาหลีใต้อย่างเคย ส่วนสายด่วนทางทหารก็ไม่มีสัญญาณตอบรับเช่นกัน
เกาหลีเหนือไม่รับโทรศัพท์ติดต่อข้ามแดนจากเกาหลีใต้เมื่อเช้าวันจันทร์ (8) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 ที่พวกเขาทำเช่นนี้ ทว่าในตอนบ่ายก็มีการรับสายตามปกติ
การที่เกาหลีเหนือปิดสายด่วนถือเป็นสัญญาณเตือนถึงความสัมพันธ์ที่เริ่มเสื่อมทรามลง ท่ามกลางความพยายามของเกาหลีใต้ที่จะโน้มน้าวให้เปียงยางละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติ
เกาหลีเหนือและใต้ยังถือเป็นประเทศ “คู่สงคราม” ในทางเทคนิค เนื่องจากสงครามเกาหลีที่ปะทุขึ้นในช่วงปี 1950-53 ถูกระงับไว้ด้วยข้อตกลงหยุดยิง ทว่ายังไม่มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพ
นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเปียงยางน่าจะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของชาวโสมแดงแปรพักตร์ในเกาหลีใต้ รวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณหลังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
“เกาหลีเหนือกำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบากกว่าที่เราคิด” ชู แจวู อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคยุงฮี ให้ความเห็น “ผมคิดว่าเกาหลีเหนือต้องการบีบให้เกาหลีใต้ทำอะไรบางอย่าง”
แดเนียล เวิร์ตซ์ จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ (National Committee on North Korea) ทวีตข้อความว่า แม้เกาหลีเหนือจะใช้วิธีตัดสายด่วนกับเกาหลีใต้อยู่เนืองๆ แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ถือว่า “อันตราย” อยู่ดี
“การติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอคือสิ่งจำเป็นในยามวิกฤต และด้วยเหตุนี้เกาหลีเหนือจึงเลือกที่จะตัดมันทิ้ง เพื่อสร้างบรรยากาศความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น” เวิร์ตซ์ ให้ความเห็น
เคซีเอ็นเอระบุว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ “ต่างรู้สึกโกรธแค้นพฤติกรรมทรยศและเจ้าเล่ห์ของเกาหลีใต้” พร้อมกล่าวหาโซลว่าอนุญาตให้ผู้แปรพักตร์โสมแดงทำลายเกียรติยศของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ
“เราได้ลงความเห็นแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพบปะซึ่งหน้ากับทางการเกาหลีใต้ และไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับพวกเขาอีก เพราะพวกเขามีแต่สร้างความผิดหวังแก่เรา”