Pompeo threatens to light the fuse in Persian Gulf
by M. K. BHADRAKUMAR
19/09/2020
รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ประกาศฟื้นเอามาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านของยูเอ็นกลับมาบังคับใช้ใหม่ โดยไม่แยแสว่านานาประเทศแม้กระทั่งชาติพันธมิตรอเมริกันไม่มีใครเอาด้วย ขณะเดียวกันกองทัพเรือสหรัฐฯก็ส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอเมริกาสามารถที่จะใช้เป็นกำลังในการบังคับใช้การลงโทษคว่ำบาตรดังกล่าว
กองเรือที่ 5 (The Fifth Fleet) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ประกาศในวันเสาร์ (18 ก.ย.) ว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 1 หมู่ของตน ซึ่งประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิตซ์ (USS Nimitz) ,
เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี (guided-missile cruiser) 2 ลำ คือ ยูเอสเอส พรินซ์ตัน (USS Princeton) และ ยูเอสเอส ฟิลิปปิน ซี (USS Philippine Sea) , และเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี (guided-missile destroyer) ยูเอสเอส สเตอเรตต์ (USS Sterett) ได้แล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซแล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tehrantimes.com/news/452621/U-S-aircraft-carrier-enters-Persian-Gulf-amid-heightened-tensions) เป็นอันว่าภายหลังทิ้งระยะไปประมาณ 10 เดือน เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯก็กำลังถูกส่งเข้ามาประจำการในอ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง
ข่าวนี้ย่อมจะยิ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงโหมกระพือข่าวลือว่า กำลังจะเกิดการปะทุตูมตามทางการทหารที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านขึ้นมาแล้ว ในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กันยายน ตริตา ปาร์ซี (Trita Parsi) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี โดยที่เขายังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของสถาบันควินซีเพื่อศิลปะในการบริหารจัดการรัฐอย่างมีความรับผิดชอบ (Quincy Institute for Responsible
Statecraft) คลังสมองซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้เขียนเอาไว้ว่า “การปะทะกันโดยตรงครั้งแรก
(ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน) อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดคือวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึงนี้ (วันที่ 21
กันยายน)”
ตามการประมาณการของปาร์ซี (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://quincyinst.org/2020/09/16/is-mike-pompeo-preparing-an-october-surprise/) ถ้าหากการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประสบความล้มเหลวไม่สามารถที่จะเดินคืบหน้าไปได้อย่างหนักแน่น เขาก็อาจจะหันมาอาศัยพวกลูกเล่นแบบดิ้นสุดฤทธิ์บางอย่างบางประการ เพื่อให้เขาได้ปรากฏตัวนานๆ อยู่ในวงจรข่าว และช่วยกระหน่ำประโคมความรักชาติแบบคลั่งสงครามขึ้นในหมู่สาธารณชนอเมริกันผู้โดนหลอกได้ง่ายๆ
ผู้ซึ่งจะฮือกันออกมารายล้อมหนุนหลังสนับสนุนประธานาธิบดีซึ่งก็เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯโดยตำแหน่ง และเมื่อเป็นเช่นนั้น แผน บี ของทรัมป์จึงอาจจะเป็นการประดิษฐ์สร้างให้เกิดการปะทุตูมตามทางทหารที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านในบางรูปแบบขึ้นมา ในช่วงระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ยังเหลืออยู่ระหว่างเวลานี้กับวันเลือกตั้งสหรัฐฯ 3 พฤศจิกายน
ปาร์ซีมองว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ไมค์ พอมเพโอ คือเสนาธิการใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังแผน บี ที่ว่านี้ โดยสิ่งที่ตั้งใจจะทำกันดูเหมือนจะเป็นการยั่วยุอย่างไรอย่างหนึ่งเพื่อให้อิหร่านใช้กำลัง ซึ่งมันก็จะถูกป่าวร้องให้กลายเป็นเหตุผลข้ออ้างสำหรับการที่กองทัพสหรัฐฯจะดำเนินการโจมตีเพื่อ “แก้เผ็ด” ปาร์ซีมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคแถบนี้คนหนึ่ง ดังนั้นการคาดคะเนของเขาจึงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยละเลย ยิ่งกว่านั้นจากการที่กองทัพเรือสหรัฐฯส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเข้าไปในน่านน้ำนอกชายฝั่งอิหร่านเช่นนี้ จึงยิ่งกลายเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่คำทำนายของปาร์ซี
จริงๆ แล้ว ภายหลังประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หนุนหลังความเคลื่อนไหวของเขาที่จะอ้างอิงกลไกซึ่งเรียกกันว่า “สแนปแบ็ก” (snapback) เพื่อนำเอามาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านครั้งต่างๆ ของสหประชาชาติกลับมาบังคับใช้กันใหม่ พอมเพโอก็ยังคงข่มขู่คุกคามว่าสหรัฐฯจะเดินหน้าปฏิบัติตาม “มาตรการแซงก์ชั่นของยูเอ็น” ดังกล่าวตามลำพังฝ่ายเดียว แม้ไม่มีมติการให้อำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเป็นตัวหนุนหลังก็ตาม ถึงเรื่องเช่นนี้กำลังถูกมองกันว่าเป็นสถานการณ์ที่พิลึกแปลกประหลาดมาก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.tehrantimes.com/news/452642/Snapback-mechanism-is-Trump-s-campaign-propaganda-Leader-advisor) ทว่าพอมเพโอยังคงยืนกรานในเรื่องการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นของยูเอ็นเหล่านี้ซึ่งต้องถือว่าไม่ได้มีปรากฏอยู่จริงเสียแล้วให้จงได้ โดยที่เขาออกมาประกาศเมื่อวันเสาร์ (19 ก.ย.) ว่า จะมีผลบังคับกันตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) ของวันที่ 20 กันยายน[1]
“การบังคับใช้” มาตรการแซงก์ชั่นที่อ้างว่าฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ตามกลไก “สแนปแบ็ก” ซึ่งพอมเพโอเสนอออกมานี้ จะส่งผลทำให้เรือรบสหรัฐฯเข้าโจมตีและยึดเรือสินค้าต่างๆ ของอิหร่านในน่านน้ำระหว่างประเทศ –และแม้กระทั่งเรือที่ไม่ได้เป็นของอิหร่านแต่ถูกเรือรบสหรัฐฯสงสัยว่ากำลังลำเลียงสินค้าของอิหร่าน พอมเพโอดิ้นรนยืนยันว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นหากยังมีความจำเป็นอีกด้วย และสหรัฐฯนั้นกำลังทำให้เกิดผลตามมติคำตัดสินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่า นี่เป็นคำโกหกทั้งหมดอย่างสมบูรณ์แบบ)
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้จึงเป็นการดำเนินการปิดล้อมทางนาวีชนิดหนึ่งต่ออิหร่านนั่นเอง สหรัฐฯซึ่งอยู่ในอาการหมดหวังกำลังพยายามทำให้ความตึงเครียดยิ่งเขม็งเกลียวด้วยการยั่วยุอิหร่าน นี่เป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว
ข้อสรุปอีกประการหนึ่งซึ่งทราบกันล่วงหน้าอย่างชัดเจนแล้วเช่นเดียวกัน ได้แก่การที่อิสราเอลจะต้องยินดีปรีดารีบกระโจนเข้าไปร่วมในเพลิงสงครามระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นมา จากการที่อิสราเอลเพิ่งจะประสบความสำเร็จในการสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติกับ 3 ชาติอาหรับ อันได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, และโอมาน อิสราเอลก็เท่ากับสามารถเข้าถึงจุดที่มั่นอันสำคัญยิ่งยวด 3 จุดตรงบริเวณที่มองเห็นชายฝั่งอิหร่าน และเครื่องบินไอพ่นของตนสามารถออกปฏิบัติการจากจุดเหล่านี้ได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โดยรวมเหล่านี้แล้ว จังหวะเวลาของการที่อิสราเอลทำ “ข้อตกลงสันติภาพ” กับทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, และโอมาน ก็ดูจะมีความหมายอย่างใหม่ขึ้นมาทีเดียว อิสราเอลนั้นมีความใฝ่ฝันที่เฝ้ารอคอยมานานแล้วว่าสักวันหนึ่งจะสามารถนำเอาสหรัฐฯเข้าทำการโจมตีทางทหารใส่อิหร่าน และอิสราเอลจะต้องใช้ความพยายามอย่างสุดฤทธิ์เพื่อทำให้ความฝันนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา ในช่วงเวลาที่ทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ และพอมเพโอ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ ยังคงเป็นผู้วางนโยบายที่ทรงอิทธิพลมากคนหนึ่ง
ในเวลานี้ทั้งทรัมป์และนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ต่างอยู่ในเรือลำเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับพวกนักการเมืองที่เครดิตความน่าเชื่อถือตกต่ำเสื่อมถอยลงไปทุกทีไม่ว่าที่ไหนในโลก แต่กำลังมีช่องทางที่จะได้ประโยชน์จากการกระหน่ำประโคมความรักชาติแบบคลั่งสงครามในช่วงการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งซึ่งกำลังขยับใกล้เข้ามา ทรัมป์นั้นเผชิญสมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วยความไม่แน่ไม่นอนและอันตรายยิ่ง
สำหรับเนทันยาฮู เขากำลังถูกไต่สวนด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น ยิ่งกว่านั้นการบริหารจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ของเขาก็ถูกประณามติเตียนอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนชาวอิสราเอล ซึ่งจำนวนมากกำลังเรียกร้องให้เขาลาออกและหายตัวไปเสียเลย (อิสราเอลเพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 2 ในขณะโรคระบาดทำท่าแพร่ออกไปอย่างควบคุมไม่อยู่)
มีความน่าจะเป็นอย่างสูงทีเดียวว่า หากกองทัพเรือสหรัฐฯเข้าสกัดขัดขวางเรือของอิหร่าน ฝ่ายเตหะรานก็จะถูกบังคับให้ต้องตอบโต้กันในบางลักษณะ พวกเขาจะใช้รูปแบบตอบโต้อย่างไรนั้นคงจะต้องติดตามดูกันไป โดยที่ นายพลฮอสเซน ซาลามี (Gen. Hossein Salami) ผู้บัญชาการที่ทรงอำนาจมากของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corpsใช้อักษรย่อว่าIRGC) ของอิหร่าน เพิ่งออกมาเตือนทรัมป์อย่างตรงไปตรงมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.tehrantimes.com/news/452634/IRGC-chief-to-Trump-We-will-target-everyone-involved-in-Soleimani)
สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ทรัมป์ย่อมทราบดีว่านี่เป็นเส้นทางเดินที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง เป็นต้นว่าแผน บี
ทั้งแผนเลยสามารถที่จะกลายเป็นบูมเมอแรงดีดตัวย้อนกลับมาเล่นงานใส่ทรัมป์เองได้ ถ้าหากในการปะทะต่อสู้กัน อิหร่านสามารถทำให้กองกำลังของฝ่ายสหรัฐฯมีการบาดเจ็บล้มตายอย่างร้ายแรง โดยที่สมรรถนะทางด้านขีปนาวุธของอิหร่านก็ถือว่าใหญ่โตเข้มแข็งอยู่มาก อย่างไรก็ดี แผน บี ดูเหมือนเป็นกลอุบายแบบสะเพร่าเลินเล่อของพอมเพโอ ผู้ซึ่งเคยเป็นนายทหารเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯที่ขอออกจากราชการตั้งแต่ยังหนุ่ม
เห็นกันอย่างกว้างขวางว่า พอมเพโอกำลังสนใจจับจ้องต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยหน้าคือในปี 2024 และมีความกระตือรือล้นอย่างมากมายจนเกินงามที่จะเอาอกเอาใจกลุ่มล็อบบี้ชาวยิว ระหว่างพอมเพโอกับนาทันยาฮูก็ดูใกล้ชิดไม่มีช่องห่างอะไรกัน เหนือสิ่งอื่นใดเลย สงครามกับอิหร่านนั้นจะเข้ากันได้ดีมากกับพวกผู้ออกเสียงในเขตภูมิลำเนาของพอมเพโอที่อุดมไปด้วยพวกอีแวนเจลิก (evangelical constituency ชาวคริสเตียนโปรแตสแตนท์ผิวขาวผู้ยึดมั่นเคร่งครัดคำสอนตามคัมภีร์ไบเบิล และฝักใฝ่นิยมอิสราเอล -ผู้แปล) ด้วยเหตุนี้ แผน บี จึงอาจจะมีโอกาสที่จะถูกนำไปปฏิบัติอ
ถึงแม้มีความเสี่ยงสูงก็ตามที ทั้งนี้เว้นเสียแต่ว่าทรัมป์แตะเบรกในนาทีสุดท้าย
เมื่อย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ระยะใกล้แล้ว นี่คือสถานการณ์ที่อาจเทียบเคียงได้กับ “เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยปี 1964 (1964 Gulf of Tonkin incident) อันฉาวโฉ่ในสงครามเวียดนาม (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.history.com/news/the-gulf-of-tonkin-incident-50-years-ago) โดยที่กรณีดังกล่าวเป็นการที่สหรัฐฯปลอมแปลงสร้างสถานการณ์ขึ้นมา แล้วฉวยใช้ขยายผลเพื่อจัดส่งหน่วยสู้รบภาคพื้นดินหน่วยแรกเข้าไปในอินโดจีน ตลอดจนเริ่มต้นเปิดฉากการโจมตีทิ้งระเบิดอย่างมโหฬาร
(เก็บความจากเว็บไซต์indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://indianpunchline.com/pompeo-threatens-to-light-the-fuse-in-persian-gulf/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า
29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต
ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
หมายเหตุผู้แปล
[1] เรื่องที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศฟื้นมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านของยูเอ็นให้กลับมีผลบังคับขึ้นมาใหม่นี้ สำนักข่าวเอพีได้รายงานเอาไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้:
สหรัฐฯประกาศฟื้นมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านของยูเอ็น -แต่ทั่วโลกพากัน‘หาว’
โดย สำนักข่าวเอพี
US says all UN sanctions on Iran restored, but world yawns
By MATTHEW LEE AP Diplomatic Writer
20/09/2020
วอชิงตัน - คณะบริหารทรัมป์ประกาศเมื่อวันเสาร์ (19 ก.ย.) ว่า มาตรการแซงก์ชั่นทุกๆ ประการของสหประชาชาติที่ใช้ในการเล่นงานลงโทษอิหร่าน ได้รับการฟื้นฟูให้มีผลบังคับขึ้นมาใหม่แล้ว ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกประเทศแทบทั้งหมดในโลกพากันปฏิเสธโดยเห็นว่าผิดกฎหมาย และกลายเป็นการจัดเวทีสำหรับการประจันหน้ากันอย่างน่าเกลียดในองค์กรโลกแห่งนี้ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีของยูเอ็น
คณะบริหารทรัมป์บอกว่า ตนกำลังใช้กลไก “สแนปแบ็ก” (snapback) ซึ่งระบุเอาไว้ในมติคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นฉบับที่รับรองข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 โดยจะมีผลตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันเสาร์ (19 ก.ย.) ตามเวลาภาคตะวันออกของสหรัฐฯ (ตรงกับ 00.00 น. จีเอ็มที วันอาทิตย์ที่ 20 หรือ 07.00 น.วันอาทิตย์ที่ 20 เวลาเมืองไทย) นั่นคือ 30 วันหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ
ได้แจ้งต่อคณะมนตรีว่า อิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามพันธะผูกพันสำคัญๆ ซึ่งระบุเอาไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุม” (Joint
Comprehensive Plan of Action ใช้อักษรย่อว่า JCPOA)
“สหรัฐฯต้องใช้การปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดครั้งนี้เนื่องจากว่า ไม่เพียงอิหร่านล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีในJCPOA ของตนเท่านั้น แต่คณะมนตรีความมั่นคงยังล้มเหลวไม่ขยายมาตรการของยูเอ็นในเรื่องห้ามการขนส่งอาวุธให้อิหร่าน ซึ่งได้บังคับใช้มาเป็นเวลา 13 ปีแล้ว” พอมเพโอระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเวลา 20.00 น.ตรง
“ในการปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับสิทธิต่างๆ ของเรา ... เราได้เริ่มต้นกระบวนการสแนปแบ็ก เพื่อฟื้นฟูมาตรการแซงก์ชั่นยูเอ็นที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ทั้งหมดในทางปฏิบัติ รวมไปถึงการห้ามการขนส่งอาวุธด้วย” เขากล่าว “ผลของการนี้ก็คือโลกจะมีความปลอดภัยมากขึ้น”
ทำเนียบขาววางแผนจะออกคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งในวันจันทร์ (21 ก.ย.) ซึ่งแจกแจงรายละเอียดว่าสหรัฐฯจะบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นที่ถูกฟื้นกลับคืนมาเหล่านี้กันอย่างไร ขณะเดียวกันก็เป็นที่คาดหมายกันว่ากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯจะสรุปให้ทราบว่าบุคคลชาวต่างประเทศและธุรกิจต่างประเทศจะถูกลงโทษอย่างไรหากละเมิดคำสั่งนี้
“สหรัฐฯคาดหวังว่ารัฐสมาชิกยูเอ็นทั้งหมดจะปฏิบัติตามพันธกรณีของพวกเขาอย่างเต็มที่ ด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้” พอมเพโอบอก “ถ้ารัฐสมาชิกยูเอ็นรายใดล้มเหลวไม่กระทำตามพันธกรณีของพวกเขาด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการแซงก์ชั่นเหล่านี้แล้ว สหรัฐฯก็เตรียมพร้อมที่จะใช้อำนาจหน้าที่ภายในประเทศของเราในการบังคับให้เกิดผลต่อเนื่องต่างๆ สำหรับความล้มเหลวเหล่านั้น และให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาว่าอิหร่านไม่ได้รับประโยชน์ต่างๆ ของกิจกรรมซึ่งถูกยูเอ็นสั่งห้าม”
แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของสหรัฐฯเผชิญการคัดค้านอย่างรุนแรงจากสมาชิกรายอื่นๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง ผู้ซึ่งประกาศว่าจะเพิกเฉยไม่แยแสการประกาศของสหรัฐฯ พวกเขากล่าวว่าสหรัฐฯได้สูญเสียจุดยืนทางกฎหมายที่จะประกาศกลไกสแนปแบ็กไปแล้ว ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์นี้ในปี 2018 และบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่างๆ ต่ออิหร่านของอเมริกาเองขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯยังคงโต้แย้งว่าตนเองยังคงมีสิทธิดังกล่าวอยู่ ในฐานะที่เป็นผู้เข้าร่วมดั้งเดิมของข้อตกลงดังกล่าวและเป็นสมาชิกรายหนึ่งของคณะมนตรี
กระทั่งก่อนที่สหรัฐฯจะออกประกาศในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ พวกเพื่อนสมาชิกในคณะมนตรีก็พากันกล่าวว่าการประกาศเช่นนี้ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถของสหรัฐฯในการบังคับใช้กลไกสแนปแบ็ก ทั้งนี้สแนปแบ็กหมายความว่ามาตรการแซงก์ชั่นระหว่างประเทศต่างๆ ที่ได้ผ่อนคลายลงหรือยกเลิกไปจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนั้น ได้ถูกนำกลับมาบังคับใช้อีกครั้งหนึ่ง และรัฐสมาชิกยูเอ็นทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น สำหรับการแซงก์ชั่นอิหร่านของยูเอ็นที่พูดถึงกันนี้ ก็มีดังเช่น การลงโทษอิหร่านจากการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมไม่ว่าสู่ระดับใด, การห้ามอิหร่านมีกิจกรรมด้านขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) , การห้ามอิหร่านซื้อหรือขายพวกอาวุธตามแบบแผนธรรมดาที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์
มาตรการห้ามเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วหรือมีการกำหนดให้หมดอายุลงภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ในข้อตกลงปี 2015 ขณะที่เนื้อหาสาระหลักๆ ของข้อตกลงดังกล่าว คือการที่อิหร่านได้รับเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเดือดร้อนจากการถูกแซงก์ชั่น โดยแลกเปลี่ยนกับการที่เตหะรานต้องจำกัดโครงการด้านนิวเคลีย์ของตน
ในบรรดาสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงด้วยกัน จีนกับรัสเซียมีความแน่วแน่เป็นพิเศษในการปฏิเสธจุดยืนเรื่องนี้ของสหรัฐฯ ทว่าพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯเองก็ออกมาแสดงตัวคัดค้านอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยในจดหมายที่ส่งถึงประธานของคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันศุกร์ (18 ก.ย.) อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี --3 ชาติยุโรปที่เข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และเวลายังคงยึดมั่นกับพันธะกรณีของข้อตกลงดังกล่าว— มีเนื้อหาระบุว่า คำประกาศของสหรัฐฯ “ไม่สามารถที่จะมีผลทางกฎหมายได้ และดังนั้นจึงไม่สามารถใช้เพื่อส่งผลต่อกระบวนวิธีได้” ด้วยเหตุนี้ ทั้ง 3 ประเทศจึงมีความเห็นว่าการบรรเทามาตรการแซงก์ชั่นอิหร่านสืบเนื่องจากข้อตกลงนิวเคลียร์นั้น ยังคงมีผลบังคับต่อไป
ทางด้านรองเอกอัครราชทูตรัสเวียประจำยูเอ็น ดมิตริ โปลิอันสกีย์ กล่าวว่า สหรัฐฯมีแต่โดดเดี่ยวตัวเองเท่านั้น “มันเป็นเรื่องเจ็บปวดมากเมื่อต้องเห็นประเทศยิ่งใหญ่รายหนึ่งกระทำเรื่องซึ่งทำให้ตัวเองอับอายขายหน้าเช่นนี้ ทั้งนี้ด้วยการคัดค้านสมาชิกรายอื่นๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอย่างเพ้อคลั่งดื้อดึง” เขาโพสต์ข้อความเช่นนี้ทางทวิตเตอร์
ในจดหมายของอิหร่านเองที่ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันเสาร์ (19 ก.ย.) เตหะรานกล่าวว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของสหรัฐฯ “ถือเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีหลักและผลในทางกฎหมายใดๆ
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยังคงพูดกันเสียงแข็งในเรื่องความมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะให้แน่ใจว่าจะมีการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นเหล่านี้ ทว่ายังคงไม่มีความชัดเจนว่าคณะบริหารสหรัฐฯจตอบโต้อย่างไรจากการถูกเพิกเฉยจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะจากชาติพันธมิตรในยุโรป ซึ่งให้คำมั่นเรื่อยมาว่าจะรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ให้อยู่รอดต่อไป การที่จุดยืนของสหรัฐฯถูกปฏิเสธอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจกลายเป็นการผลักดันคณะบริหารให้ถอยห่างออกจากประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก หลังจากคณะบริหารทรัมป์ได้นำสหรัฐฯถอนตัวออกจากหน่วยงานยูเอ็น, องค์การต่างๆ, และสนธิสัญญาต่างๆ มาหลายแห่งและหลายฉบับแล้ว