เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - นายใหญ่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ประกาศแผนขยายกองทัพเรืออเมริกัน เพื่อที่จะ “พลิกเกม” ในการทำสงครามทางทะเล ด้วยเรือ เรือดำน้ำ และเครื่องบิน หลายหลากทั้งแบบไร้คนขับและระบบอัตโนมัติ ที่มีความสามารถในการโจมตีและการอยู่รอดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเผชิญหน้าและล้อมกรอบไม่ให้พญามังกรแผ่ขยายอิทธิพลทางทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “อินโด-แปซิฟิก”
มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ (16 ก.ย.) ว่า การทบทวนแสนยานุภาพทางนาวีครั้งมโหฬารที่มีชื่อว่า “มุ่งสู่อนาคต” ได้นำไปสู่แผนการซึ่งจะทำให้ “เกมเปลี่ยน” และขยายจำนวนกองเรือของอเมริกาเป็นกว่า 355 ลำ จากปัจจุบัน 293 ลำ
แผนการนี้ซึ่งต้องใช้งบประมาณรวมหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2045 มีเป้าหมายเพื่อให้สหรัฐฯธำรงรักษาความเหนือล้ำกว่ากองกำลังทางนาวีของจีนเอาไว้ โดยที่เวลานี้สหรัฐฯถือจีนเป็นภัยคุกคามหลักของตน
ในการปราศรัยที่บริษัท แรนด์ คอร์ป ในรัฐแคลิฟอร์เนีย คราวนี้ เอสเปอร์บอกว่า กองเรือรบของอเมริกาในอนาคตจะมีความสมดุลมากขึ้น ในเรื่องความสามารถที่จะทำการโจมตีอย่างร้ายแรง จากอากาศ ทะเล และใต้น้ำ
โดยการขยายกองเรือครั้งนี้จะมีการเพิ่ม เรือผิวน้ำ “จำนวนมากขึ้นแต่ขนาดเล็กลง” เรือดำน้ำจำนวนมากขึ้น เรือใต้ผิวน้ำทั้งแบบมีคนขับและไม่มีคนขับรวมทั้งแบบอัตโนมัติ ตลอดจนเครื่องบินไร้คนขับประเภทต่างๆ ซึ่งใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นฐาน
แผนการนี้คือการสร้างกองเรือที่มีความสามารถมากขึ้นในการอยู่รอดท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรง รวมทั้งเพื่อสำแดงแสนยานุภาพและการปรากฏตัวของอเมริกา ตลอดจนเพื่อทำการโจมตีอย่างแม่นยำในระยะไกลมากๆ
แอสเปอร์ยกตัวอย่างโครงการเรือฟรีเกตติดขีปนาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ ซึ่งมุ่งสร้างเรือที่เพิ่มเขี้ยวเล็บในการโจมตี ความสามารถในการอยู่รอด ศักยภาพและสมรรถนะในการทำสงครามแบบกระจายตัว
เจ้ากระทรวงเพนตากอนเสริมว่า ขณะนี้กำลังทำการทดลอง “ซี ฮันเตอร์” ซึ่งเป็นเรือไร้คนขับขนาด 40 เมตร โดรนเรือแบบไทรมาลัน (trimaran เรือเร็วลอยน้ำที่มีลำเรือ 3 ลำขนานกัน) นี้ สามารถสำรวจทะเลแบบอัตโนมัติเพื่อค้นหาเรือดำน้ำของศัตรูครั้งละนานกว่า 2 เดือน
เอสเปอร์ยังกล่าวอีกว่า ความพยายามเหล่านี้เป็นขั้นตอนต่อไปในการทำให้กองเรือแห่งอนาคตกลายเป็นความจริง โดยจะเป็นระบบไร้คนขับซึ่งสามารถทำหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการต่อสู้กับข้าศึก เช่น ปล่อยอาวุธร้ายแรง วางทุ่นระเบิด จนถึงการเติมเสบียง หรือการตรวจตราสอดแนมศัตรู และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำสงครามทางทะเลในหลายๆ ปีกระทั่งหลายๆ ทศวรรษข้างหน้า
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ย้ำว่า จีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่สำคัญที่สุดของอเมริกา ขณะที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็น “เขตสงครามที่สำคัญที่สุด” สำหรับกองทัพสหรัฐฯ ทั้งนี้สหรัฐฯในยุคของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพยายามเปลี่ยนชื่อภูมิภาคซึ่งทั่วโลกเรียกกันมานานว่า เอเชีย-แปซิฟิก ให้เป็น อินโด-แปซิฟิก โดยระบุว่าต้องการให้ครอบคลุมรวมถึงอินเดียด้วย อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังไม่เห็นดีเห็นงาม เนื่องจากเห็นชัดว่าอเมริกาเสนอแนวความคิดนี้เพื่อมุ่งระดมประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกรวมไปจนถึงอินเดีย มาต่อต้านคัดค้านจีน
เอสเปอร์ระบุว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนอกจากเป็นฮับการค้าโลกแล้วยังเป็นศูนย์กลางการประชันอำนาจระหว่างอเมริกากับจีนอีกด้วย
ในรายงานประจำปีของเพนตากอนว่าด้วยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่นำออกเผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ระบุว่าปักกิ่งมีกองกำลังนาวีใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำรวม 350 ลำ
กระนั้น เอสเปอร์ย้ำว่า กองกำลังนาวีจีนยังขาดความแข็งแกร่งและสมรรถนะ และระบุว่า “แม้กระทั่งถ้าหากเราหยุดยั้งไม่สร้างเรือใหม่ๆ สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ จึงจะมีความทัดเทียมกับสมรรถนะของเราในทะเลหลวงได้”
เขาบอกด้วยว่า การที่สหรัฐฯจะมีเรือให้ได้ 355 ลำตามเป้าหมาย หมายความว่า กองทัพเรือต้องได้ส่วนแบ่งก้อนโตมากขึ้นจากงบประมาณของเพนตากอน นอกจากนั้นอเมริกายังจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในการขยายและปรับปรุงยกระดับอู่ต่อเรือต่างๆ ให้ทันสมัย โดยที่จุดนี้จีนมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน