xs
xsm
sm
md
lg

พินิจเรื่อง‘อุยกูร์ซินเจียง’ที่กำลังทำให้‘อียู-จีน’ยังทำข้อตกลงกันไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์


ผู้ประท้วงสวมหน้ากากสีขาวมีน้ำตาไหลออกมาเป็นเลือด เข้าร่วมการประท้วงรอบๆ สถานที่สำคัญของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2018 เพื่อเรียกร้องอียูให้กดดันจีนเคารพสิทธิมนุษยชนในซินเจียง
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

How Xinjiang is holding back an EU-China deal
by Pepe Escobar
15/09/2020

ฝ่ายตะวันตกซึ่งได้เข่นฆ่าสังหารชาวมุสลิมตลอดจนทำให้พวกเขาต้องพลัดถิ่นที่อยู่กันอย่างมากมายมหาศาล ใน“สงครามต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย” เวลานี้กำลังปล่อยน้ำตาโดยบอกว่ารู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวอุยกูร์ในประเทศจีน

ถ่ายทอดสดยิงตรงจากทั้งปักกิ่ง-บรัสเซลส์-เบอร์ลิน --นี่คือการประชุมซัมมิตทางวิดีโอขนาดแท้

จากปักกิ่ง เรามีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากเบอร์ลิน คือ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล และจากบรัสเซลส์ ได้แก่ ประธานของคณะมนตรียุโรป (European Council) ชาร์ลส์ มีแชล (Charles Michel) และประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ฝ่ายจีนเรียกการประชุมคราวนี้ว่าเป็นซัมมิตแบบนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อันที่จริง มันเป็นการพบปะหารือระดับสูงระหว่างคณะผู้นำจีนกับคณะผู้นำยุโรปเป็นครั้งที่ 2 แล้วในรอบระยะเวลา 2 เดือน และยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันภายหลังคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ตระเวนเดินทางเยือนทั้งฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, และนอร์เวย์ ขณะที่ หยาง เจียฉี ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลด้านการต่างประเทศของจีน[1] ก็ได้ไปเยือนสเปน และกรีซ

จุดหมายปลายทางของการพบปะหาหรือเหล่านี้ –ทั้งในแบบพบปะเจอหน้าเจอตัวกันโดยตรง และในแบบพบปะเสมือนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ –ก็คือ การทำสนธิสัญญาการลงทุนจีน-อียู เยอรมนีนั้นกำลังดำรงตำแหน่งเป็นประธานของอียูตามวาระหมุนเวียนคราวละ 6 เดือน โดยที่เบอร์ลินต้องการให้มีการลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้กันในการประชุมซัมมิตระหว่างอียู -27 กับปักกิ่ง ซึ่งตามกำหนดเดิมควรจะจัดขึ้นที่เมืองไลป์ซิก ในเดือนนี้ ทว่าโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแผน

ดังนั้น ซัมมิตดังกล่าวจึงถูกกระจายย่อยลงมาเป็นมินิวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครั้งนี้ ขณะที่สนธิสัญญายังคงถูกถือกันว่าจะมีการลงนามกันก่อนสิ้นสุดปี 2020

ยังมีเรื่องลับลมคมในที่ควรต้องสังเกตดูกันอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ มินิซัมมิตคราวนี้ยังเกิดขึ้น 1 วันก่อนที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน เข้าร่วมใน “การสนทนาแบบเสมือนจริงครั้งพิเศษกับบรรดาผู้นำทางธุรกิจ” (Special Virtual Dialogue with Business Leaders) ซึ่งโปรโมตโดย เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) โดยที่ คลอส ชวับ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม กำลังพยายามเหลือเกินในการผลักดันแนวความคิดว่าด้วย “เกรต รีเซต” (Great Reset) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/09/from-9-11-to-the-great-reset/)

เรา “ยังคงยึดมั่นในพันธะผูกพัน”

มินิซัมมิตวิดีโอ อียู-จีน คราวนี้ มีความโดดเด่นในเรื่องการทำอะไรต่างๆ อย่างสุขุมรอบคอบมาก อียูเวลานี้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า พิจารณาเห็นจีนเป็นทั้งหุ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ และก็เป็น “ปรปักษ์ในทางยุทธศาสตร์” โดยที่บรัสเซสล์พูดอย่างแน่วแน่ว่า ตนจะ “ร่วมมือ” กับจีน ถึงแม้ขณะเดียวกันก็จะพิทักษ์ปกป้อง “คุณค่าต่างๆ” ทางด้านสิทธิมนุษยชนของตนเองเช่นกัน

ส่วนสำหรับสนธิสัญญาการลงทุนที่มีการเจรจาต่อรองกันมาจนถึงเวลานี้ก็ 7 ปีแล้วนั้น อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวว่า “ยังคงมีอะไรอีกมากที่จะต้องทำกัน”

สิ่งที่อียูต้องการเป็นอย่างยิ่งยวด คือ การให้บริษัทต่างๆ ของยุโรปที่ประกอบกิจการในจีน ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ทำนองเดียวกับที่พวกบริษัทจีนได้รับการปฏิบัติเมื่ออยู่ภายในอียู นักการทูตที่เกี่ยวข้องหลายรายยืนยันว่าด้านหลักๆ เลย ได้แก่ ตลาดการสื่อสารโทรคมนาคม และตลาดรถยนต์ –ซึ่งควรที่จะมีการเปิดกว้างแบบหมดสิ้น— และการยุติการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมของเหล็กกล้าจีน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โจ เคเซอร์ (Joe Kaeser) หัวหน้าใหญ่ของบริษัทซีเมนส์ (Siemens) ทำเอาวงแตก เมื่อไปบอกกับหนังสือพิมพ์ ดี ไซต์ (Die Zeit) ว่า “เราประณามอย่างเด็ดขาดไม่มีเงื่อนไขต่อรูปแบบทุกๆ อย่างของการกดขี่, การบังคับใช้แรงงาน, และการคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน” โดยที่มุ่งพาดพิงถึงเรื่องฮ่องกงและซินเจียง

เรื่องนี้ทำให้เกิดความปั่นป่วนกันใหญ่ ธุรกิจของซีเมนส์อย่างน้อย 10% มาจากประเทศจีน โดยที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจที่แดนมังกรนับตั้งแต่ปี 1872 และเวลานี้ก็ว่าจ้างพนักงานอยู่ที่นั่นมากกว่า 35,000 คน ซีเมนส์เลยถูกบังคับให้ต้องออกมาแถลงต่อสาธารณชนว่า บริษัท “ยังคงยึดมั่นในพันธะผูกพัน” ต่อประเทศจีน

จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2017 แซงหน้าทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่มีเสียงระฆังเตือนภัยคอยดังลั่นขึ้นมาและสงบลงไป ครั้งแล้วครั้งเล่า

เป็นตอนเดือนมกราคมของปีที่แล้วนั่นเอง ที่ BDI (สหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมัน Federation of German Industries) ให้คำจำกัดความจีนเป็นครั้งแรกว่า เป็น “คู่แข่งในเชิงระบบ” (systemic competitor) รายหนึ่ง ไม่ใช่เป็นแค่ “หุ้นส่วน” เท่านั้น ความกังวลของหน่วยงานนี้มีศูนย์รวมอยู่ที่เรื่อง “การบิดเบือน” ตลาด และกำแพงที่ขวางกั้นไม่ให้บริษัทเยอรมันสามารถแข่งขันภายในประเทศจีน

มินิซัมมิตวิดีโอคราวนี้เกิดขึ้นในขณะที่สงครามการค้าที่วอชิงตันโจมตีเล่นงานปักกิ่งได้บานปลายไปจนถึงระดับสงครามเย็น 2.0 นักการทูตอียูหลายรายยอมรับด้วยความไม่สบายใจและขอไม่ให้ระบุชื่อว่า ฝ่ายยุโรปกำลังตกอยู่ตรงหว่างกลาง และยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้เพียงประการเดียวก็คือ ต้องพยายามเดินหน้าผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกตน ขณะเดียวกับที่ยืนยันยาแก้สรรพโรคอย่างสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุนี้ อียูได้เรียกร้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ (14 ก.ย.) นี้ ซึ่งทางสื่อจีนไม่ได้นำมารายงานไว้ ข้อเรียกร้องนี้คือ: ยินยอมให้เราส่ง “ผู้สังเกตการณ์อิสระ” ไปยังซินเจียง

นักรบญิฮาดและค่ายกักกัน

ดังนั้น มันจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่เราจะต้องหวนกลับมาสู่ประเด็นที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร้อนแรงอย่างเรื่อง “ค่ายกักกัน” ซินเจียง

พวกชนชั้นนำที่เป็นนักแอตแลนติกนิยม [2] ได้เปิดการรณรงค์อย่างดุร้ายป่าเถื่อนและไม่มีการยับยั้งชั่งใจใดๆ เพื่อมุ่งสร้างเรื่องเล่าที่ว่า ปักกิ่งกำลังกระทำสิ่งซึ่งไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่า “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์” ทางวัฒนธรรมในซินเจียง

นอกเหนือจากถ้อยคำโวหารของรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว การรณรงค์นี้ส่วนใหญ่ที่สุดดำเนินการโดยพวกคลังสมอง (thinks tank) สหรัฐฯซึ่งทำหน้าที่เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” (influencer) โดยเที่ยวออกรายงานต่างๆ ที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วตามสื่อมวลชนบรรษัท (corporate media) ของโลกตะวันตก

หนึ่งในรายงานเหล่านี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.csis.org/analysis/addressing-forced-labor-xinjiang-uyghur-autonomous-region-toward-shared-agenda) อ้างอิง “เรื่องราวที่ได้รับฟังโดยตรงจากชาวอุยกูร์จำนวนหนึ่ง” ผู้ซึ่งถูกนิยามจำกัดความว่า “ถูกว่าจ้าง” ให้ทำงานในลักษณะของผู้ใช้แรงงานโดยถูกบังคับ ผลที่เกิดต่อเนื่องตามมาประการหนึ่ง ก็คือ รายงานชิ้นนี้สรุปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ สายโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) จึง “น่าที่จะถูกแปดเปื้อนไปด้วยแรงงานที่ถูกบังคับ” เสียแล้ว

คำที่ถูกนำมาใช้เพื่อหวังให้เกิดผลในที่นี้คือ คำว่า “น่าที่จะ” (likely) อย่างเดียวกับในเรื่องเล่าที่ว่า รัสเซีย “น่าที่จะ” กำลังแทรกแซงก้าวก่ายการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และ “น่าที่จะ” วางยาพิษพวกปรปักษ์ของวังเครมลิน

มันไม่มีหนทางใดๆ เลยที่จะตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของพวกแหล่งข่าวที่ถูกอ้างอิงเอาไว้ในรายงานเหล่านี้ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนับสนุนทางการเงินอย่างสะดวกง่ายดายจาก “ผู้บริจาคหลายรายที่สนใจเรื่องการพาณิชย์ในเอเชีย” ใครกันล่ะพวกผู้บริจาคเหล่านี้? พวกเขามีวาระอะไรหรือเปล่า? ใครจะได้กำไรจาก “การพาณิชย์ในเอเชีย” ชนิดที่พวกเขากำลังผลักดันอยู่?

ว่ากันในระดับส่วนตัวแล้ว ซินเจียงคือเรื่องท็อปสุดในการจัดลำดับความสำคัญเพื่อการเดินทางของผมในปีนี้ ซึ่งลงท้ายต้องถูกพับเก็บไปก่อนโดยโรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากผมต้องการตรวจสอบด้วยตัวผมเองเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ทุกๆ แง่มุมของสิ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างแท้จริงๆ ในดินแดนภาคตะวันตกไกลโพ้นของประเทศจีน

แล้วก็อย่างที่มันปรากฏให้เห็นกันอยู่ พวก “อินฟลูเอนเซอร์” ที่เป็นนักก็อปปี้ในอียู กำลังเดินหน้ากันอย่างเสรีในการนำเอาเรื่องเล่าสหรัฐฯเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ มาก็อปปี้ป่าวร้องต่อ โดยมีการเน้นย้ำด้วยว่าพวกเสื้อผ้าที่ชาวยุโรปกำลังสวมใส่อยู่ “อาจจะ” –และ คำที่ถูกนำมาใช้เพื่อหวังให้เกิดผลในที่นี้คือ คำว่า “อาจจะ” (could)— ถูกผลิตขึ้นโดยผู้ใช้แรงงานที่ถูกบังคับ

อย่าไปคาดหวังเลยว่าพวกเครือข่ายของนักแอตแลนติกนิยมจะแยแสสนใจเสนอเรื่องเล่าของพวกเขา ในแบบที่ทำให้เห็นบริบทของการที่จีนกำลังต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้ายในซินเจียงอยู่

ในวันเวลาของอัลกออิดะห์เมื่อก่อนนี้ ผมได้เคยไปเยี่ยมและสัมภาษณ์พวกนักรบญิฮาดชาวอุยกูร์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในคุกกว้างขวางแห่งหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักรบมูจาฮีดีนในการบังคับบัญชาของผู้บัญชาการมาซูด (commander Masoud) [3] ในหุบเขาปัญจชีร์ (Panjshir valley) พวกเขาทั้งหมดต่างถูกปลูกฝังความคิดจากพวกอิหม่านซึ่งเทศนาสั่งสอนอยู่ตามโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (madrassas) ที่ได้เงินทุนจากซาอุดีอาระเบีย ทั่วทั้งซินเจียง

ขยับใกล้เข้ามาอีก พวกนักรบญิฮาดแนวคิดสำนักซาลาฟี (Salafi-jihadis) ชาวอุยกูร์ มีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักมากในซีเรีย โดยที่พวกเขามีจำนวนอย่างน้อย 5,000 คนทีเดียว ทั้งนี้ตามตัวเลขของสถานเอกอัครราชทูตซีเรียในปักกิ่ง

ปักกิ่งทราบเป็นอย่างดีว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าคนเหล่านี้เดินทางกลับไปยังซินเจียง พอๆ กับที่มอสโกทราบนั่นแหละว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าพวกนักรบญิฮาดชาวเชชเนียเดินทางกลับไปยังพื้นที่เทือกเขาคอเคซัส

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องน่าพิศวงอะไรสำหรับสิ่งที่จีนได้กระทำไป นั่นก็รวมไปถึงการปิดพวกโรงเรียนสอนศาสนา, การกักตัวพวกอิหม่าม และการจับกุม –และ “การให้การศึกษาใหม่” – พวกที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพวกนักรบญิฮาดตลอดจนครอบครัวของคนเหล่านี้

ลืมไปได้เลยสำหรับบริบทที่ฝ่ายตะวันตกกำลังเสนอกันเกี่ยวกับพรรคอิสลามเตอร์กิสถาน (Turkistan Islamic Party หรือ TIP) ซึ่งได้ประกาศจัดตั้งรัฐเจ้าอาหรับอิสลาม (Islamic Emirate) แห่งหนึ่งขึ้นมา ในลักษณะคล้ายๆ พวก ไอซิส/ดาเอช (ISIS/Daesh) (ซึ่งก็คือพวกไอเอสนั่นเอง โดยทั้ง ไอซิส และ ดาเอช เป็นอีกหลายๆ ชื่อย่อของกลุ่มนี้ -ผู้แปล) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ในพื้นที่จังหวัดอิดลิบ (Idlib) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย

พรรค TIP นั้นก่อตั้งขึ้นในซินเจียงตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน และมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมากในซีเรียตั้งแต่ปี 2011 --ซึ่งก็เป็นปีเดียวกันกับเมื่อตอนที่พรรคนี้ประกาศอ้างความรับผิดชอบสำหรับการปฏิบัติการแบบก่อการร้ายในคัชการ์ (Kashgar) ซึ่งได้สังหารผู้คนไป 23 คนนั่นเอง

มันเป็นเรื่องเกินกว่าความน่าสมเพช สำหรับการที่ฝ่ายตะวันตกได้เข่มฆ่าสังหารชาวมุสลิมตลอดจนทำให้พวกเขาต้องพลัดถิ่นที่อยู่กันอย่างมากมายมหาศาล –ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม— ด้วย “สงครามต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย” แต่แล้ว โอ้โห กลับมารู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวอุยกูร์

มันจะทำให้เกิดสติปัญญามากกว่านะ ถ้าหากจะหันไปรำลึกจดจำประวัติศาสตร์

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 821 เมื่อตอนที่เจ้าหญิงไท่เหอ (princess Taihe) พระขนิษฐาของพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งในราชวงศ์ถัง ประทับหลังอูฐแบคเทรียน (Bactrian camel อูฐ 2 โหนก) ตัวหนึ่ง โดยที่มีข้าราชบริพารที่เป็นสตรีของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปบนหลังม้าเฟอร์กานา (Ferghana horse) [4] อันมีค่า ตลอดทางในการเสด็จออกจากพระราชวังหลวงในกรุงฉางอาน ไปยังดินแดนของชาวอุยกูร์

เจ้าหญิงไท่เหอ ทรงได้รับคัดเลือกให้เป็นเครื่องราชบรรณาการมีชีวิต และกำลังเสด็จไปเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับคาข่าน (khaghan) ชาวอุยกูร์ เพื่อผนึกประสานมิตรภาพของประชาชนทั้งสองฝ่ายให้มั่นคงแน่นแฟ้น พระองค์เสด็จมาจากตะวันออกก็จริง แต่ฉลองพระองค์และเครื่องประเบต่างๆ ของพระองค์มาจากทางตะวันตก จากทุ่งหญ้าสเตปป์และทะเลทรายทางเอเชียกลาง ที่ซึ่งพระองค์จะทรงไปพำนักอาศัยในชีวิตใหม่ของพระองค์

และด้วยวิธีการเช่นนี้เอง ชาวอุยกูร์กับราชวงศ์ถังจึงได้กลายเป็นพันธมิตรกัน

หมายเหตุผู้แปล
[1] หยาง เจียฉี (Yang Jiechi) เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และมนตรีแห่งรัฐที่กำกับดูแลด้านการต่างประเทศ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกรมการเมืองอันมีอำนาจยิ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการของคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลาง แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Yang_Jiechi
[2] นักแอตแลนติกนิยม (Atlanticist) พวกที่สนับสนุนความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปตะวันตกทั้งทางทหาร, การเมือง, และเศรษฐกิจ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Atlanticism
[3]ผู้บัญชาการมาซูด (commander Masoud) ชื่อเต็มๆ ของเขาคือ อาเหม็ด ชาร์ มาซูด (Ahmad Shah Massoud) เขาเป็นผู้นำกองจรยุทธ์ชาวอัฟกานิสถานที่ทรงอำนาจมากระหว่างสงครามต่อต้านการยึดครองของโซเวียต และหลังจากพวกตอลิบานยึดครองอัฟกานิสถานได้ เขาก็ยังคงเป็นผู้บัญชาการฝ่ายค้านชั้นนำซึ่งต่อต้านระบอบปกครองตอลิบาน จวบจนกระทั่งเขาถูกลอบสังหารในปี 2001 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Ahmad_Shah_Massoud
[4]ม้าเฟอร์กานา (Ferghana horse) หรือเป็นที่รู้จักกันว่า “ม้าเหงื่อโลหิต” ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Ferghana_horse และ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (บนซ้าย), ประธานของคณะมนตรียุโรป ชาร์ลส์ มีแชล (บนขวา), ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (ล่างขวา), และ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล  ของเยอรมนี (ล่างซ้าย) ขณะเข้าร่วมการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มินิซัมมิตอียู-จีน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น