xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตรียมสั่งแบน ‘ฝ้าย-มะเขือเทศ’ จากซินเจียง อ้างมีการ ‘บังคับใช้แรงงาน’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) เตรียมสั่งแบนผลิตภัณฑ์ฝ้ายและมะเขือเทศจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน โดยอ้างว่ากระบวนการผลิตมีการ “บังคับใช้แรงงาน”

โฆษก CBP ระบุว่า คำสั่งของรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ถูกเลื่อนไปในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเวลา

คำสั่งแบนฝ้าย, มะเขือเทศ และสินค้านำเข้าอีก 5 ชนิดจากซินเจียงด้วยข้อครหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานนี้ถือเป็นมาตรการที่สหรัฐฯ ไม่เคยทำมาก่อน และคาดว่าจะยิ่งกระพือความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจ

สำหรับคำสั่ง ‘Withhold Release Orders’ นี้จะเปิดทางให้ CBP สามารถอายัดสินค้านำเข้าที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งเข้าข่ายละเมิดกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์, การใช้แรงงานเด็ก และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ

รัฐบาล ทรัมป์ ใช้มาตรการกดดันต่างๆ นานาต่อจีนเพื่อให้ยุตินโยบายกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์ ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อ้างรายงานที่เชื่อถือได้ว่า รัฐบาลจีนได้นำชาวอุยกูร์ราว 1 ล้านคนไปเข้าค่ายกักกันและบังคับให้ทำงาน

ปักกิ่งยืนกรานปฏิเสธข้อครหากดขี่ชาวอุยกูร์ และอ้างว่าค่ายกักกันที่ตะวันตกกล่าวถึงนั้นแท้จริงเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” เพื่อต่อต้านแนวคิดสุดโต่ง

เบรนดา สมิธ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ CBP ชี้แจงกับรอยเตอร์ว่า คำสั่งแบนนี้จะมีผลครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยฝ้าย, ผ้าฝ้าย, เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากฝ้าย, มะเขือเทศสด, มะเขือเทศบด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่นำเข้าจากซินเจียง

มาตรการของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบไปถึงห้างค้าปลีก, ผู้ผลิตเสื้อผ้า และผู้ผลิตอาหารในสหรัฐฯ เองด้วย

ผลผลิตฝ้ายของจีนคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 20% ของตลาดโลก โดยส่วนใหญ่มีการเพาะปลูกและผลิตในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

จีนยังเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ ด้วย

ผู้ค้าฝ้ายที่กรุงปักกิ่งรายหนึ่งเชื่อว่า คำสั่งแบนของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบต่อจีนมากนัก เนื่องจากจีนมีการนำเข้าฝ้ายประมาณ 2 ล้านตัน และเส้นใยฝ้ายอีก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปผลิตเครื่องนุ่งห่มส่งขายสหรัฐฯ ได้ ในขณะที่ฝ้ายจากซินเจียงนั้นมีกำลังผลิตปีละประมาณ 5 ล้านตัน

“ถ้านำฝ้ายจากซินเจียงเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลกระทบก็จะยิ่งจำกัดมาก และอาจพอทดแทนกันได้” เขากล่าว

เมื่อเดือน มี.ค. สมาชิกสภาคองเกรสได้เสนอร่างกฎหมายที่ให้ถือว่าสินค้าทุกอย่างจากซินเจียงล้วนมีกระบวนการผลิตที่เข้าข่ายบังคับใช้แรงงาน และจำเป็นต้องแสดงเอกสารรับรองหากไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ต่อมาในเดือน ก.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกคำแนะนำไปยังผู้ประกอบการชาวอเมริกันซึ่งมีกิจการอยู่ในซินเจียงหรือทำธุรกิจร่วมกับบริษัทที่ใช้แรงงานชาวซินเจียงว่า พวกเขาอาจเผชิญความเสี่ยงทั้งในด้าน “ชื่อเสียง เศรษฐกิจ และกฎหมาย”

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เช่น วอลมาร์ท อิงค์, แอปเปิล อิงค์ และ แอมะซอน เพื่อเตือนให้ตระหนักถึงความสุ่มเสี่ยง หากยังคงรักษาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง
 
ที่มา: รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น