xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาจะ‘รีเซต’นโยบายที่มีต่อจีนหรือ หากประธานาธิบดีคนต่อไปคือ‘โจ ไบเดน’?

เผยแพร่:   โดย: จาค็อบ ฟรอเมอร์, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานจากกรุงวอชิงตัน



US elections: whether Trump or Biden wins, China policies won’t change much, experts say
By Jacob Fromer in Washington, The South China Morning Post
Updated: 10:33pm, 4 Sep, 2020

ถ้าชนะการเลือกตั้ง โจ ไบเดน และพวกที่ปรึกษาซึ่งมาจากยุคโอบามาของเขา ไม่น่าที่จะกดปุ่มรีเซตเพื่อหวนกลับไปใช้นโยบายรับมือกับปักกิ่งแบบซึ่งเคยใช้กันอยู่ก่อนหน้าสมัยทรัมป์ ตรงกันข้าม เวลานี้อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสหรัฐฯกำลังมีความไว้วางใจจีนกันน้อยมาก และทีมรณรงค์หาเสียงทั้งของเดโมแครตและรีพับลิกันต่างรับรู้ถึงความเป็นจริงใหม่อันตึงเครียดนี้

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ระหว่างที่มีการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรครีพับลิกันซึ่งเนื้อหาสำคัญคือการกระหน่ำโจมตี โจ ไบเดน ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต อย่างไม่มียั้งชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าอยู่นั้น มีรายงานข่าวด่วนระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารทรัมป์ กำลังชั่งน้ำหนักว่าจะตราหน้าการที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่เป็นคนมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ว่าเป็นพฤติการณ์การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ดีหรือไม่

ปรากฏว่าทีมรณรงค์หาเสียงไบเดนได้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อข่าวนี้ ซึ่งรายงานทีแรกโดยเว็บไซต์ข่าว POLITICO ด้วยความรวดเร็วฉับไวมาก และเมื่อคำนึงว่าเหลือเวลาอีกเพียง 9 สัปดาห์สำหรับการรณรงค์เล่นงานอย่างเต็มที่ใส่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพวกเดโมแครตบรรยายว่าเป็นสงครามเพื่อช่วงชิง “จิตวิญญาณ” ของประเทศชาติด้วยแล้ว มันก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดาอีกด้วย

ทั้งนี้ โฆษกของทีมหาเสียงไบเดนรีบออกมาแถลงว่า “ไม่เพียงเราเห็นด้วยกับเรื่องนี้เท่านั้น แต่ โจ ไบเดน ยังได้พูดยืนยันว่าเป็นเช่นนั้นไปตั้งแต่แรกแล้ว

ในฤดูการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ประเทศชาติมีความแตกแยกกันหนักหน่วงเป็นพิเศษ และมีความสับสนวุ่นวายอันรุนแรงเช่นนี้ ชาวอเมริกันต่างพากันให้ความสนใจแก่พวกประเด็นภายในประเทศเป็นสำคัญ เป็นต้นว่า ความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว และยอดเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาที่กำลังพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

กระนั้นก็มีตัวอย่างของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่หาได้ยากอยู่เหมือนกัน นั่นคือ ทีมรณรงค์หาเสียงทั้งสองดูเหมือนต่างถือเรื่องจีน เป็นประเด็นด้านนโยบายการต่างประเทศที่เร่งด่วน –และต่างกำลังใช้เรื่องนี้มากระหน่ำตีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้ “แข็งกร้าวเพียงพอ” กับปักกิ่ง

“ทรัมป์ยินยอมตามที่ฝ่ายจีนต้องการ” เป็นข้อความสำคัญในโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งทีมรณรงค์หาสียงไบเดนปล่อยออกมาเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

“จีนจะเป็นเจ้าของประเทศของเราแน่ๆ ถ้า โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้ง” ทรัมป์พูดเช่นนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง ในการประชุมระดับชาติพรรครีพับลิกันเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังเต็มไปด้วยปัญหาในแนวรบต่างๆ จำนวนมาก –ทั้งด้านการค้า, เทคโนโลยี, การทหาร, สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ขณะที่ทรัมป์และคณะบริหารของตนได้ให้ความกระจ่างแล้วว่าจะเดินหน้าดำเนินนโยบายอะไรกันต่อไปนั้น ไบเดนและพวกที่ปรึกาของเขายังคงไม่ได้เสนออะไรอย่างเฉพาะเจาะจงมากนักเกี่ยวกับวิธีการที่เขาจะรับมือกับจีนซึ่งอาจจะมีความผิดแผกแตกต่างไปจากแนวทางของทรัมป์

ถ้าหากไบเดนเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาจะยังคงดำเนินนโยบายของทรัมพ์ในการกดดันรีดภาษีศุลกากรจากสินค้าจีนต่อไปหรือไม่? รัฐบาลของไบเดนจะยังคงแบนอุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ หรือไม่? แล้วการกวัดแกว่งดาบอย่างท้าทายของคณะบริหารทรัมป์ในทะเลจีนใต้ เข้าเผชิญหน้ากับการทุบอกเบ่งกล้ามเพิ่มมากขึ้นของจีนล่ะ?

ถึงแม้ผู้แข่งขันแต่ละคนต่างกำลังโจมตีใส่กันและกันด้วยการสาดโคลนว่าอีกฝ่ายหนึ่งอ่อนแอในเรื่องจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่พวกผู้เชี่ยวชาญยังคงเห็นว่าไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้งคราวนี้ในวันที่ 3 พฤศจิกายนก็ตามที –และไม่ว่าพวกที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศของทีมรณรงค์หาเสียงจะเป็นใครก็ตามที— ก็ไม่มีฝ่ายไหนเลยที่น่าจะกระตือรือร้นกดปุ่มรีเซตกันใหม่ในเรื่องสถานการณ์ความตึงเครียดซึ่งมีอยู่กับปักกิ่ง ในทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง

“มีความเปลี่ยนแปลงในทางอารมณ์ความรู้สึกกันไปแล้วจริงๆ ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในพวกชาวพรรคเดโมแครตหรือชาวพรรครีพับลิกัน” เอลิซาเบธ เฟรินด์ ลารุส (Elizabeth Freund Larus) ประธานภาควิชารัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยแมรีวอชิงตัน (University of Mary Washington) ในเมืองเฟรเดอริกเบิร์ก (Fredericksburg) รัฐเวอร์จิเนีย กล่าวให้ความเห็น “ฉันจะไม่คาดการณ์หรอกว่า เรากำลังจะมีการเดินย้อนกลับไป อย่างเช่น สู่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนแบบเมื่อทศวรรษ 1990”

หากถอยหลังไปถึงตอนนั้น ทัศนะของวอชิงตันต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกำลังถูกนิยามจำกัดความด้วยความเชื่อที่แตกต่างไปจากในปัจจุบัน กล่าวคือ เห็นกันว่าพวกธุรกิจสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยสหรัฐฯตลอดจนเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในท้ายที่สุดแล้วน่าจะสามารถทำให้จีนเกิดความมั่นใจยอมเปิดกว้างระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองของตน

แต่ในตอนนี้ ตัวผู้สมัครทั้งสองและบรรดาที่ปรึกษาของพวกเขาต่างยอมรับถึงความเป็นจริงใหม่อันตึงเครียดของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนกันทั้งนั้น

ทรัมป์และเหล่าที่ปรึกษาสาย “เหยี่ยวจีน” (China hawk) ของเขา อย่างที่พวกเขามักถูกเรียกขานกัน –นำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ, ที่ปรึกษาด้านการค้าของทำเนียบขาว ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro), ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative) โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer)— ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้บางคนน่าจะยังได้อยู่ต่อไปหากทรัมป์ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยสอง

บางคน อย่างเช่น เดวิด ลิวอิส (David Lewis) อาจารย์รัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University) ในเมืองแนชวิลล์ (Nashville) รัฐเทนเนสซี ชี้กันด้วยซ้ำไปว่า ไม่ว่าใครจะได้อยู่ต่อ นโยบายก็ดูเหมือนจะกำหนดเอาไว้แน่นอนแล้ว “นโยบายเกี่ยวกับจีนดูเหมือนผลักดันโดยตัวประธานาธิบดีผู้นี้เอง พอๆ กับที่ปรึกษาของเขาไม่ว่าคนไหนก็ตาม” อาจารย์ลิวอิสบอก

พวกที่ปรึกษายุคโอบามาพากันปรับตัวเข้าสู่ความเป็นจริงใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง ไบเดน ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในยุคของบารัค โอบามา ยังคงเลือกบุคลากรมาแวดล้อมตัวเขาด้วยพวกที่ปรึกษาจากคณะบริหารชุดนั้น เป็นต้นว่า แอนโธนี บลิงเคน (Antony Blinken) อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและอดีตรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ คนอื่นๆ ซึ่งมีรายงานว่ากำลังให้คำปรึกษาทีมรณรงค์หาเสียงของไบเดนอยู่ ยังมีอาทิ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดนเอง, อีลี่ แรตเนอร์ (Ely Ratner) อดีตรองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา, เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก, และ จุง พัค (Jung Pak) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือ

สัญญาณประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนทัศนะวิธีคิดของบุคลากรเหล่านี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นมาภายหลังช่วงที่เคยทำงานอยู่ในยุคโอบามา ได้แก่ การที่ แรตเนอร์และแคมป์เบลล์ แสดงการยอมรับเอาไว้ในนิตยสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส” (Foreign Affairs) เมื่อปี 2018 ว่า สหรัฐฯได้ “ประเมินเอาไว้ต่ำเกินไปในเรื่องที่ว่าจริงๆ แล้วคณะผู้นำของจีนมีความไม่มั่นคงและมีความทะเยอทะยานไปพร้อมๆ กันได้ถึงขนาดไหน”

“การรับมือกับความท้าทายนี้ให้ถูกต้องเหมาะสม จำเป็นจะต้องโยนทิ้งความคิดแบบคาดหวัง ซึ่งได้กลายเป็นลักษณะเด่นมายาวนานในแบบแผนวิธีของสหรัฐฯที่ใช้กับจีน” พวกเขาเขียนเอาไว้เช่นนี้

ในสัญญาณอีกประการหนึ่งของการเปลี่ยนความคิดไปแล้ว แรตเนอร์ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่กับ ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน (Center for New American Security) คลังสมอง (think tank) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้ไปให้ปากคำต่อรัฐสภาสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้วว่า จีนมุ่งแสวงหาทาง “เพื่อทำให้โลกมีความปลอดภัยสำหรับลัทธิอำนาจนิยม (authoritarianism)”

และในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่ เจค ซุลลิแวน เขียนร่วมกับนักประวัติศาสตร์ ฮัล แบรนดส์ (Hal Brands) เผยแพร่ในนิตยสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) เดือนพฤษภาคมปีนี้ ระบุเอาไว้ว่า “สัญญาณต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังเข้าเกียร์สูงเพื่อแข่งขันกับความเป็นผู้นำโลกของอเมริกานั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนปราศจากข้อผิดพลาด รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป”

มีรายงานตอบโต้ข่าวกรองของสหรัฐฯชิ้นหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ให้ข้อสรุปเอาไว้ว่า จีนมีความคิดเห็นต่อทรัมป์ว่าเป็น “คนที่คาดทายทำนายไม่ได้” รวมทั้งระบุว่าประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯเวลานี้ “ประเมินว่าจีนปรารถนาให้ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ชนะในการลงเลือกตั้งอีกสมัย”

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าเรื่องมันอาจจะไม่ได้เรียบๆ ง่ายๆ แบบนั้นหรอก ตัวอย่างเช่น มีความคาดหมายบางอย่างบางประการกันในจีนว่า ยุคของประธานาธิบดีไบเดนอาจจะยุติสงครามการค้าของทรัมป์ ทว่ากลับมีความตระหนักกันน้อยลงในเรื่องที่ว่าในสหรัฐฯโดยรวมเวลานี้มีความไว้วางใจต่อจีนกันน้อยนิดขนาดไหนแล้ว รวมทั้งจากไบเดนและพวกที่ปรึกษาของเขาด้วย

ในความเป็นจริง พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีนแล้ว ผู้สมัครทั้งสองดูจะมีความแตกต่างกันในเรื่องสไตล์มากกว่าในเรื่องนโยบายแท้จริง

ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็น บิลล์ คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช, และ บารัค โอบามา ทั้งหมดต่าง “พูดจาแข็งกร้าว” เกี่ยวกับจีนกันทั้งนั้นระหว่างการรณรงค์หาเสียง – “แล้วจากนั้นก็เริ่มดำเนินประดานโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นในทันทีที่ได้เข้าสู่ (วอชิงตัน) ดีซี” แอลเลน คาร์ลสัน (Allen Carlson) ผู้อำนวยการของโปรแกรมจีนและเอเชียแปซิฟิกศึกษา (China and Asia Pacific studies program) ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) แจกแจง

“ครั้นแล้ว ทรัมป์ก็กลายเป็นผู้ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปในเรื่องนี้” คาร์ลสันกล่าวต่อ “แล้วก็ไม่ใช่อะไรมากมายนักหรอกในแง่ของการมี “ความแข็งกร้าวมากกว่า” ต่อจีนเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนหน้าเขา หากแต่เป็นในแง่เกี่ยวกับระดับของการที่นโยบายต่างๆ ของเขาต่อปักกิ่งนั้นมีความวูบวาบขึ้นลงอย่างรวดเร็ว สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรุนแรงโดยผ่านการทวิต และ บ่อยครั้งมาจากการที่ตัวประธานาธิบดีมีความรับรู้ความเข้าใจว่าอะไรคือผลประโยชน์ของตนเองในวันนั้นๆ –มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับชาติที่มีความสอดคล้องสม่ำเสมอ”

พวกผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะว่า ในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน ไบเดนและเหล่าที่ปรึกษาของเขาน่าที่จะยังคงธำรงรักษาแรงกดดันต่อปักกิ่งเอาไว้ แม้กระทั่งภายหลังเปลี่ยนจากโหมดการรณรงค์หาเสียงมาเป็นโหมดการปกครองประเทศแล้ว

“โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว” เป็นคำพูดของ บิลล์ บิช็อป (Bill Bishop) นักวิเคราะห์เรื่องจีน ผู้ซึ่งจัดทำเผยแพร่จดหมายข่าวที่มีชื่อว่า “ซิโนซิซึม” (Sinocism) “ความเป็นจริงได้เกิดการแปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกินทั้งในจีนและในดีซี จนกระทั่งผมจะต้องรู้สึกช็อกแน่ ถ้าหากเราได้เห็นการย้อนกลับอย่างสำคัญไปสู่แนวทางรับมือกับจีนที่อ่อนโยนลง จากคณะบริหารไบเดน”

“จริงๆ แล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป “ เขากล่าวต่อ “ก็คือ สี จิ้นผิง”

สี จิ้นผิง กำลังกลายเป็นเป้า

สี เผชิญการวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสองพรรคการเมืองในวอชิงตัน สืบเนื่องจากการเป็นผู้กำกับตรวจสอบสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากเรียกว่า เป็นนโยบายภายในประเทศแบบเผด็จการอำนาจนิยม และนโยบายการต่างประเทศแบบนักขยายดินแดน เขาประสบความสำเร็จในการยุติข้อจำกัดว่าด้วยสมัยของการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำให้เขาสามารถปกครองประเทศไปได้เรื่อยๆ เขายังขยับขยายระบบการเฝ้าตรวจตราสอดแนมแบบยุคดิจิตอลของปักกิ่ง และปะทะครั้งแล้วครั้งเล่ากับพวกชาติเพื่อนบ้านในเรื่องดินแดน –ตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัย

หลักนโยบายสำหรับการรณรงค์หาเสียงของพรรคเดโมแครตในปีนี้ ถึงขนาดเอ่ยชื่อสีออกมาตรงๆ โดยกล่าวว่า “เขาทำลายการปกครองตนเองของฮ่องกง”

“เราจะบังคับใช้อย่างเต็มที่ในเรื่องกฎหมาย “รัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง” (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) ซึ่งครอบคลุมทั้งการลงโทษคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่, สถาบันการเงิน, บริษัท, และตัวบุคคล ที่รับผิดชอบต่อการลิดรอนอำนาจปกครองตนเองของฮ่องกง” เอกสารนี้ระบุ

หลักนโยบายของพรรคเดโมแครตยังพูดถึง “การข่มขู่คุกคาม” ของจีนในทะเลจีนใต้ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ “การปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลจีน” รวมทั้งเตือนว่าการบ่อนทำลายพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออก “จะกลายเป็นการมอบของขวัญให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน”

อาจารย์ลารุสแห่งมหาวิทยาลัยแมรีวอชิงตัน บอกว่า เธอคิดว่า “กำลังจะมีการแข่งขันและการท้าทายต่อจีนอย่างแข็งขันแรงกล้าขึ้นมาอย่างแน่นอน แม้กระทั่งถ้าหากพรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะ เนื่องจากโดยภาพรวมแล้วมีความรู้สึกผิดหวังและยอมรับว่ามีความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง”

ทว่าแม้จะเลือกเดินแนวทางที่แข็งกร้าว ไบเดนก็น่าที่จะแสดงท่าทีซึ่งแตกต่างไปจากทรัมป์อยู่ดี พวกผู้เชี่ยวชาญบอก

“ทรัมป์เป็นคนที่ชอบการต่อสู้ เขาเป็นชอบการเล่นเกมลักษณะนี้ แต่ไบเดนมีลักษณะท่าทางในเชิงการทูตยิ่งกว่ามากมายนัก” ลารุส กล่าว “ไบเดนกำลังจะใช้แบบแผนวิธีที่แตกต่างออกไปมากๆ เขาอาจจะหนักแน่น แต่มันจะเป็นความหนักแน่นที่นุ่มนวลกว่ากันเยอะ”

ขณะที่บิช็อปบอกว่า เขาเชื่อว่า “ในคณะบริหารไบเดน มันจะยุติลงด้วยแบบแผนวิธีที่มีลักษณะทางยุทธศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมเยอะ รวมทั้งมีความสมเหตุสมผลระดับประธานาธิบดีมากขึ้นเยอะ ในการแข่งขันชิงชัยกับจีน ซึ่งในหลายๆ หนทางเลย (จากแบบแผนวิธีเช่นนี้)มันน่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายมากขึ้นสำหรับจีน”

โรคระบาดและบทบาทของจีน

เกี่ยวกับโรคระบาดอันเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทีมรณรงค์หาเสียงทั้งสองต่างเห็นพ้องต้องกันว่าพวกผู้มีอำนาจชาวจีนได้ปกปิดการปะทุในตอนเริ่มแรกของโรคติดต่อนี้ที่เมืองอู่ฮั่น

นาวาร์โร ที่ปรึกษาของทรัมป์ ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติ โดยเรียกมันว่าเป็น “อาณานิคมแห่งหนึ่งของจีน” ขณะที่ทั้งทรัมป์และลูกน้องบริวารของเขาต่างเรียกเชื้อร้ายที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ว่าเป็น “ไวรัสจีน” (China virus) และ “ไวรัสของจีน (Chinese virus) กันอยู่เป็นประจำ

ทรัมป์ถึงขนาดเคลื่อนไหวดำเนินการเพื่อให้สหรัฐฯยุติการให้เงินทุนอุดหนุนแก่องค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ บลิงเคน ที่ปรึกษาของไบเดน ทวิตเมื่อปลายเดือนสิงหาคมว่า รัฐบาลจีน “ปกปิดข้อมูลข่าวสารที่สำคัญยิ่งยวดเกี่ยวกับไวรัสเอาไว้ และปฏิเสธไม่ให้พวกผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้” – แต่ก็กล่าวต่อไปว่า ทรัมป์ “ใช้เวลาเกือบๆ สองเดือนในการยกย่องสรรเสริญการให้ความร่วมมือและความโปร่งใสของจีน ทั้งนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองข้อตกลงทางการค้าที่ว่างเปล่าของเขา”

บลิงเคน ยังบอกกับ ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) ของโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ถ้าหากสหรัฐฯถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก “ก็มีแต่จะเป็นการส่งมอบความเป็นผู้นำของเราให้แก่จีนเท่านั้น”

ในเรื่องทคโนโลยี คณะบริหารทรัมป์ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแบน ติ๊กต็อก แอปสื่อสังคมของจีน ไม่ให้ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลยูสเซอร์ชาวอเมริกัน คณะบริหารนี้ยังพยายามตอกย้ำไม่ให้พวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯใช้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ในการสร้างเครือข่าย 5จี ของพวกเขา

ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ถ้าไบเดนได้เป็นประธานาธิบดี จะมีการบังคับแบนติ๊กต็อกหรือไม่ ทว่ามีนักกฎหมายผู้หนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงของไบเดนได้บอกกับพวกเจ้าหน้าที่ในทีมให้ลบแอปติ๊กต็อกออกจากโทรศัพท์ของพวกเขา

ส่วนสำหรับหัวเว่ยนั้น แคมป์เบลล์ที่ปรึกษาอีกคนหนึ่งของไบเดน พูดเมื่อปีที่แล้วว่า จีนได้แสดงความ “โอหัง” เกี่ยวกับบริษัทนี้ ขณะที่ไบเดนพูดในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ว่า “ไม่ ผมจะไม่” ยินยอมให้พวกบริษัทจีนมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งยวดของสหรัฐฯ”

จุดยืนร่วมกันในเรื่องชาวอุยกูร์

เกี่ยวกับประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ มันอาจจะมีความแตกต่างกันในเรื่องน้ำเสียง ทว่าไม่จำเป็นว่าต้องมีความผิดแผกกันในเรื่องนโยบาย

ตามหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเขียนโดย จอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ ในปีที่แล้ว ทรัมป์ตอนแรกๆ ส่งเสริมสนับสนุนสีให้ยังคงสร้างค่ายกักกัน ซึ่งมีการประมาณการกันว่ามีชาวอุยกูร์ 1 ล้านคนถูกกักกันควบคุมตัว (ทรัมป์เรียกหนังสือเล่มนี้ของโบลตันว่าเป็น “การรวบรวมคำโกหกและเรื่องราวที่แต่งขึ้นเอง)

แต่ในช่วงหลายๆ เดือนต่อจากนั้น คณะบริหารทรัมป์ –ที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งสองพรรคในรัฐสภา –ก็พุ่งเป้าหมายแซงก์ชั่นเล่นงานคณะผู้นำระดับท็อปบางคนของซินเจียง แล้วจากนั้นก็มาระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ด้วยการใช้คำว่า “การทำลายล้างเผ่าพันธุ์”

ในการโต้วาทีนัดหนึ่งกับพวกผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรคเดโมแครตเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไบเดนถูกถามให้แสดงความเห็นในเรื่องชาวอุยกูร์ ซึ่งเขาบอกว่าคนเหล่านี้กำลังอยู่ใน “ค่ายกักกัน” และ “กำลังถูกล่วงละเมิด”

“สิ่งที่เราจะต้องทำให้เป็นที่ชัดเจนก็คือว่า จริงๆ แล้วเราจะไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขา (คณะบริหารทรัมป์) ได้กระทำลงไปหรอก” เขากล่าว

เขากระทั่งเสนอแนะให้ดำเนินการสำแดงแสนยานุภาพทางทหาร

“สิ่งที่เราได้เริ่มต้นเอาไว้ในคณะบริหารของเรา (คณะบริหารโอบามา) แต่ทรัมป์ได้ยุติไป ก็คือ เราควรที่จะเคลื่อนกำลังพลานุภาพทางทะเลของเราสัก 60% เข้าไปในพื้นที่ส่วนนั้นของโลก เพื่อทำให้ฝ่ายจีนเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่าพวกเขาจะไม่ทำอะไรต่อไปจากนั้นอีก เราจะไปที่นั่นเพื่อพิทักษ์คุ้มครองชาวบ้านอื่นๆ”

สิ่งที่ทรัมป์กับไบเดนต้องขบคิดมากยิ่งไปกว่าพวกที่ปรึกษาของพวกเขา ในเวลาพิจารณาเพื่อกำหนดท่าทีชุดใหม่ๆ ว่าต้องการให้แข็งกร้าวกับจีนมากแค่ไหน ก็คือ พวกผู้ออกเสียงชาวอเมริกันจะว่ายังไง

ผลการสำรวจความคิดเห็นของ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew Research Centre) ซึ่งเผยแพร่ออกมาในปลายเดือนกรกฎาคมพบว่า หลังจากช่วงเวลากว่า 2 ปีของการไม่ไว้วางใจจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งสองพรรคการเมืองในวอชิงตัน, การทำสงครามการค้าโดยคณะบริหารทรัมป์, และนโยบายต่างๆที่แข็งกร้าวมากขึ้นทุกทีของสี จิ้นผิง ทำให้เวลานี้ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบๆ สามในสี่ทีเดียว มีความคิดเห็นในทางที่ไม่ชอบจีน

ด้วยจำนวนมากถึง 73% มันจึงกลายเป็นครั้งที่ชาวอเมริกันมีทัศนะต่อจีนในทางลบสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ ได้ตั้งคำถามนี้ในการสำรวจของตนในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

(เก็บความจากเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.scmp.com/news/china/politics/article/3100126/us-elections-whether-trump-or-biden-win-china-policies-wont)

(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ หารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างที่ทั้งคู่ต่างไปร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี-20 เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2019 ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ต้อนรับ โจ ไบเดน ซึ่งเวลานั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2013


กำลังโหลดความคิดเห็น