US election 2020: Joe Biden faces pressure to separate China trade policy from Donald Trump’s
By Finbarr Bermingham , The South China Morning Post
Updated: 11:55am, 15 Sep, 2020
อเมริกันชนรู้สึกลบต่อจีนเพิ่มขึ้นมากจนอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยเป็นมาก็จริงอยู่ ทว่าการมีสายสัมพันธ์ทางการค้าอันดีกับชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรายนี้ กลับยังคงเป็นที่นิยมชมชื่นในหมู่ผู้ออกเสียงสหรัฐฯอย่างน่าประหลาดใจ เวลานี้ โจ ไบเดน จึงเผชิญความท้าทายในการทำให้นโยบายการค้าจีนของเขาแตกต่างไปจากของทรัมป์ โดยที่พวกอดีตผู้ช่วยทำเนียบขาวต่างพากันคาดหมายว่า หากไบเดนขึ้นเป็นประธานาธิบดี คงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางยุทธวิธีมากกว่าการยกเครื่องกันยกใหญ่
เมื่อตอนย่างเข้าเดือนสิงหาคมปีนี้ ผู้ช่วยคนหนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ต้องรีบรุดออกมาอธิบายเพิ่มเติมความคิดเห็นซึ่งผู้สมัครผู้นี้พูดเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์แก่ “เนชั่นแนล พับลิก เรดิโอ” (National Public Radio เครือข่ายสถานีวิทยุสาธารณะในสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/NPR) แล้วมีสื่อกระจายข่าวบางแห่งไปตีความว่า เขาจะยกเลิกมาตรการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีน หากเขาชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่
ไบเดน “จะประเมินผลของมาตรการขึ้นภาษีเหล่านี้กันอีกครั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่ง” ผู้ช่วยผู้นี้กล่าวย้ำ และโดยข้อเท็จจริงแล้วเขาก็ไม่ได้ให้สัญญาเลยว่ากำลังจะยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไป อย่างไรก็ตาม การที่ต้องร้อนรนออกมาตอบโต้แก้ข่าวเรื่องที่อาจบ่งชี้ให้เห็นว่าเขาทำท่าจะอ่อนปวกเปียกในเรื่องจีน –หรืออ่อนปากเปียกในเรื่องการค้า— ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความท้าทายซึ่งไบเดนเผชิญอยู่ ในการต่อสู้ชิงชัยกับประธานาธิบดีคนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เวลานี้ ซึ่งเป็นนักแอนตี้การค้าและแอนตี้จีน
“มีบ่อยครั้งที่พวกผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่ง จะมีความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงๆ ในเรื่องการค้า นี่เป็นยุทธวิธีธรรมดาสามัญเหลือเกินในเส้นทางของการรณรงค์หาเสียง ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี (บารัค) โอบามา เมื่อตอนที่เขาอยู่บนเส้นทางหาเสียงในปี 2008 ก็วิพากวิจารณ์เอาไว้เยอะในเรื่องวิธีการที่สหรัฐฯไปทำข้อตกลงการค้าซึ่งได้ทำกันไปเรียบร้อยแล้ว” นี่เป็นคำอธิบายของ เอลิซาเบธ บัลซ์แซน (Elizabeth Baltzan) ผู้มีตำแหน่งสูงสุด (principal) ที่ บริษัทที่ปรึกษาทางการค้า อเมริกัน ฟีนิกซ์ เทรด แอดไวซอรี เซอร์วิเซส (American Phoenix Trade Advisory Services) และเคยเป็นเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯทั้งในยุคโอบามาและในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวต่อไปว่า “แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ในเวลานี้ต้องถือเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติเอามากๆ ตรงที่ว่าประธานาธิบดีผู้กำลังดำรงตำแหน่งอยู่กลับเป็นผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการค้าอย่างหนักหน่วงเสียเอง”
ผลสำรวจของ พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew research Center) จากเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่ามีชาวอเมริกันสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 73% ทีเดียว เวลานี้มีความคิดเห็นในทางที่ไม่ชมชอบจีน แต่กระนั้นก็มี 51% ที่ต้องการให้ดำเนินการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งกับคู่แข่งผู้ใหญ่โตที่สุดของอเมริการายนี้ หากนับกันเฉพาะในยุคสมัยใหม่
ยังมีผลโพลของสำนักสำรวจความคิดเห็น “แกลลัป” (Gallup) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ –โดยที่สำคัญแล้วเป็นการสำรวจก่อนหน้าที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่างๆ จากโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่— ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า 79% มีทัศนะต่อการค้าในเชิงบวก ตัวเลขนี้ต้องถือว่าชวนให้เซอร์ไพรซ์ หากเราเพียงแต่วินิจฉัยตัดสินความเป็นไปในอเมริกาโดยแค่ดูจากบรรยากาศการณรงค์หาเสียงทางการเมือง
หนึ่งในความท้าทายสำคัญๆ ของไบเดน ถ้าหากเขาชนะได้รับกุญแจไขเข้าไปพำนักในทำเนียบขาว ก็คือ เขาจะต้องสังเคราะห์ทัศนะที่แตกแยกไปกันคนละทางสองทางเหล่านี้ให้กลายเป็นนโยบายที่กลมกลืนสอดคล้องกัน เขาไม่เพียงจะต้องสร้างความสามัคคีขึ้นในประเทศชาติที่เกิดความแตกขั้วแบ่งแยกกันอย่างหนักเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นในหมู่ผู้ประกาศตนสังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างกว้างขวาง โดยที่จำนวนมากของพวกเขาก็รู้สึกเช่นกันว่าพอกันทีสำหรับการพาณิชย์แบบปล่อยเสรีเต็มที่ และพอกันทีสำหรับสิ่งที่รับรู้เข้าใจกันว่าเป็นการยินยอมอ่อนข้อในเรื่องจีน
“พวกผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย จะต้องก้าวออกไปให้ไกลกว่าภูมิปัญญาซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับกัน ที่ว่าข้อตกลงการค้าทุกๆ อย่างคือข้อตกลงการค้าที่ดี และที่ว่าการมีการค้าขายกันมากขึ้นคือคำตอบที่ดีเสมอ” นี่เป็นข้อเขียนของ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาคนหนึ่งในทีมรณรงค์หาเสียงไบเดน ซึ่งได้รับการจับตาจากฝ่ายต่างๆ จำนวนมากว่า จะได้ครองตำแหน่งระดับอาวุโสในคณะบริหารไบเดนหากมันเกิดขึ้นมาได้สำเร็จ เขาเขียนเช่นนี้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ทางวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) ทั้งนี้เขายังย้ำต่อไปว่า “รายละเอียดต่างๆ (ของข้อตกลงการค้าทั้งหลาย) คือสิ่งที่มีความสำคัญ”
ข้อเขียนของซุลลิแวนและของคนอื่นๆ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเข้ามีบทบาทอยู่ในคณะบริหารไบเดนที่อาจจะเกิดขึ้นมา กำลังกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางซึ่งผู้สมัครคนนี้น่าจะก้าวเดินไปทั้งในเรื่องจีนและในเรื่องการค้า
ตัวบุคคลอย่างเช่น เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) และ อีลี่ แรตเนอร์ (Ely Ratner) ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในคณะบริหารโอบามา ต่างกำลังออกมารับสารภาพผิดในทั้งสองเรื่องนี้เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว พวกเขายอมรับว่าภัยคุกคามจากจีนเป็นเรื่องที่ถูกให้น้ำหนักน้อยเกินไปในอดีตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการเทศนาเกี่ยวกับการค้าเสรี ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินไปในลักษณะกระเหี้ยนกระหือรือน้อยลงกว่าเดิม
ในเรื่องจีน ธีมที่นิยมใช้กันทั่วไปคือสหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกับจีนในบางด้าน และจะต้องร่วมมือด้วยในบางอย่าง แต่ต้องยุติทัศนะของนโยบายการค้าแบบใครชนะคือคนที่กวาดเดิมพันไปคนเดียวทั้งหมด (zero sum) ซึ่งปรากฏชัดเจนในแบบแผนวิธีการจัดการปัญหาของทรัมป์
“ถ้าหากผมเป็นไบเดน วิธีการที่ผมจะวางแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ผมจะพูดว่าผมสามารถทำอะไรได้บ้างในเรื่องการค้า แทนที่จะบอกว่าผมควรจะทำยังไงบ้าง” นี่เป็นความเห็นของ แฟรงก์ ลาวิน (Frank Lavin) อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อในเอกสาร “คำแถลงของบรรดาอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติพรรครีพับลิกัน” ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในสัปดาห์ปลายเดือนสิงหาคม เพื่อแสดงการสนับสนุนรับรองไบเดน
“ความคิดเห็นของผมก็คือ เขาจะรักษาส่วนประกอบบางอย่างในนโยบายทรัมป์เอาไว้ แต่แน่นอนว่าเขาจะไม่รักษาพวกน้ำเสียงเกรี้ยวกราดและพวกถ้อยคำท้าตีท้าต่อยเอาไว้หรอก ดังนั้นมันจะเป็นเพียงแค่การปรับปรุงให้ดีขึ้น” เขากล่าวต่อ
ข้อเสนอเมื่อไม่นานมานี้ของไบเดนที่ว่าด้วยการ “สร้างสายโซ่อุปทานสหรัฐฯขึ้นมาใหม่” (rebuild US supply chains) ซึ่งมีการเอ่ยชื่อจีนถึง 10 ครั้ง โดยที่มีรัสเซียเป็นอีกชาติเดียวซึ่งถูกเอ่ยนาม (จำนวน 3 ครั้ง) คือการตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงนี้
“ผมคิดว่าความแตกต่างที่แท้จริงนั้นจะเป็นเรื่องของยุทธวิธี ข้อโจมตีหลักของค่ายไบเดนที่มีต่อนโยบายการค้าของทรัมป์นั้น อยู่ตรงที่ว่าสหรัฐฯเลือกที่จะต่อสู้ทางการค้ากับพวกชาติพันธมิตรด้วย แทนที่จะโฟกัสมุ่งสาดกระสุนไปที่จีน ซึ่งมันยังเป็นการทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความแปลกแยกอย่างไม่จำเป็นเลย ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้แหละที่สหรัฐฯยังควรที่จะต้องรักษาความสนิทสนมเอาไว้” เอดเวิร์ด อัลเดน (Edward Alden) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้า ซึ่งทำงานให้ เคาน์ซิล ออน ฟอเรนจ์ รีเลชั่นส์ (Council on Foreign Relations) คลังสมองทรงอิทธิพลด้านการต่างประเทศที่ตั้งสำนักงานอยู่ในนครนิวยอร์ก กล่าว
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่าไบเดนจะยกเลิกการขึ้นภาษีศุลกากรตามอำนาจในมาตรา 232 ที่เก็บจากอลูมิเนียมและเหล็กกล้า โดยประเทศที่ถูกเล่นงานคือเหล่าชาติพันธมิตรสหรัฐฯไล่ตั้งแต่ เกาหลีใต้ และ บราซิล ไปจนถึง แคนาดา และสหภาพยุโรป ส่วนมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรที่ใช้อำนาจตามมาตรา 301 และพุ่งเป้าที่จีนโดยเฉพาะนั้น จะยังอยู่หรือจะถูกยกเลิกไปน่าจะขึ้นกับว่าจีนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ พวกอดีตเจ้าหน้าที่อเมริกันหลายรายพูดกันเช่นนี้
“พวกภาษีเก็บตาม 232 เป็นสิ่งที่สามารถยกเลิกได้ง่ายกว่าภาษีตามมาตรา 301 ซึ่งใช้กับจีนโดยเฉพาะ ผมคิดว่าอย่างหลังนี่จะต้องมีความลำบากมากกว่านิดหน่อย” เป็นคำบอกเล่าของ เจมส์ กรีน (James Green) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา (minister counsellor) ฝ่ายกิจการการค้า อยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่งในสมัยโอบามาเป็นเวลากว่า 5 ปี
กรีนคาดหมายว่าจีนจะทดสอบไบเดนในเรื่องการค้าตั้งแต่ต้นๆ ทีเดียว บางทีอาจจะเป็นการยกเลิกข้อตกลงการค้า เฟส 1 –ซึ่งกรีนเองบรรยายว่าเป็น “ข้อตกลงแบบปล้องไม้ไผ่ที่ตรงกลวง เนื่องจากด้านนอกมันดูเหมือนกับว่าเป็นการดีลกับจีน แต่เนื้อหาข้างในกลับกลวงโบ๋— แล้วจากนั้นปักกิ่งก็จะคำนวณพิจารณาสิ่งที่ประธานาธิบดีคนใหม่ตอบโต้กลับมา
“ดังนั้นกระทั่งถ้าหากคณะบริหารไบเดนไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นยินดีอะไรเกี่ยวกับการขึ้นภาษีศุลกากรเหล่านี้ ผมก็คิดว่าพวกเขาจะบรรจุมันเอาไว้ในตำแหน่งที่พวกเขาจะสามารถก้าวเลยผ่านมันไปก็ได้ หรือเพิ่มน้ำหนักให้มันแรงยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้” กรีนกล่าว
การรักษามาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์เอาไว้ จะเป็นการกระทำซึ่งขัดแย้งตรงกันข้ามจากถ้อยคำวาจาเกี่ยวกับการค้าของไบเดนก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่าเมื่อตอนที่ยังเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ เขาเคยออกเสียงสนับสนุนพวกนโยบายปรับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนให้เข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งเห็นด้วยกับการให้จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดจนรับรองเห็นชอบกับข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement)
เมื่อตอนรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครตให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเคยพูดเอาไว้ว่า “พวกเกษตรกรของอเมริกากำลังถูกบดขยี้จากสงครามภาษีศุลกากรที่ (ทรัมป์) ทำกับจีน” พร้อมกับพูดต่อไปว่า ทรัมป์ “คิดว่าภาษีศุลกากรของเขานั้นจีนกำลังเป็นคนจ่าย แต่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ระดับเพิ่งเริ่มต้นคนไหนก็ตามใน ไอโอวา (University of Iowa มหาวิทยาลัยไอโอวา) หรือ ไอโอวา สเตท (Iowa State University มหาวิทยาลัยรัฐไอโอวา) ก็สามารถบอกคุณได้ทั้งนั้นแหละว่า ประชาชนชาวอเมริกันต่างหากที่กำลังเป็นคนจ่ายภาษีศุลกากรของเขา”
คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ผู้ร่วมทีมของไบเดนที่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็เป็นผู้ที่คัดค้านแบบแผนวิธีการของทรัมป์อย่างแข็งขัน โดยบอกว่า “สงครามการค้ากำลังบดขยี้เกษตรกรชาวอเมริกา ฆาตกรรมตำแหน่งงานอเมริกัน และกำลังลงโทษผู้บริโภคชาวอเมริกัน”
“ดิฉันจะทำงานกับพวกชาติพันธมิตรของเราในยุโรปและเอเชียเพื่อประจันหน้ากับจีนในเรื่องวิธีการปฏิบัติทางการอย่างแย่ๆ ของจีน แต่ไม่ใช่การสืบต่อทำให้สงครามภาษีศุลกากรที่กำลังล้มเหลวของทรัมป์กลายเป็นเรื่องถาวรอมตะ โดยคนที่กำลังจ่ายภาษีศุลกากรพวกนั้นอยู่ก็คือชาวอเมริกันผู้กำลังทำงานหนัก” เธอกล่าว ในช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงชัยเป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต
ดังนั้น หากทั้งคู่ชนะได้รับเลือกตั้ง บางคนบางฝ่ายจึงคาดหมายว่าจะมีการพิจารณาทบทวนเรื่องมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรเหล่านี้ โดยพวกที่ถูกมองว่าสร้างความเสียหายให้แก่ชาวอเมริกันมากที่สุดจะถูกยกเลิกไป
“ฉันคิดว่าเขาจะพิจารณาทบทวนภาษีศุลกากรเหล่านี้ โดยมองดูว่าอันไหนที่กำลังจะส่งเสริมสนับสนุนจริงๆ ต่อเป้าหมายของเขาในเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ และอันไหนไม่ใช่” บัลซ์แซน อดีตเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ กล่าว “ถ้าคุณมองดูการวิพากษ์วิจารณ์ของเดโมแครตบางอันต่อวิธีการที่ทรัมป์กระทำอยู่เกี่ยวกับเรื่องภาษีนี่ให้ดี มันไม่ใช่เป็นการโจมตีภาษีพวกนี้ในตัวมันเองเท่าไหร่หรอก แต่มันเป็นเรื่องที่พวกเขารู้สึกว่าเขาทำเรื่องนี้ลงไปด้วยวิธีการที่ขบคิดพิจารณาอย่างไม่เหมาะสมถูกต้องต่างหาก”
แต่สำหรับนโยบายการค้าอื่นๆ ซึ่งโฟกัสที่จีนของทรัมป์นั้น บางเรื่องคณะบริหารไบเดนอาจจะมีช่องทางสำหรับการยักย้ายเปลี่ยนแปลงลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น เรื่องการถอดถอนฐานะพิเศษทางการค้าของฮ่องกง, การลงโทษคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่ของฮ่องกงและของจีนแผ่นดินใหญ่จากเรื่องการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อใช้กับฮ่องกง, การควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว, ตลอดจนพวกมาตรการห้ามขนส่งสินค้าและการลงโทษคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับการที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วแทบจะพูดได้อย่างมั่นใจว่า ไบเดนจะทำอะไรอย่างชนิดคาดทายทำนายได้มากยิ่งกว่าทรัมป์ เขาจะเสาะแสวงหาทางสร้างความเป็นพันธมิตรขึ้นมาใหม่กับพวกหุ้นส่วนที่เคยถูกทรัมป์หยามหมิ่น ในจังหวะเวลาที่จีนกำลังมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับทั้งออสเตรเลีย, อินเดีย, แคนาดา รวมทั้งยังกำลังต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องการทำสนธิสัญญาการลงทุนกับสหภาพยุโรป
“จีนอาจจะเพียงแค่กำลังฉวยใช้ประโยชน์จากความผันผวนแปรปรวนของช่วงโรคระบาด และสูญญากาศทางอำนาจระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นมาจากการที่คณะบริหารสหรัฐฯไม่ยอมแสดงบทบาท แต่มีเหตุผลดีทีเดียวที่จะเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนอันลึกซึ้งกว่านั้นและคงทนถาวรกว่านั้นกำลังปรากฏออกมาให้เห็น โลกอาจจะกำลังเกิดความตระหนักสำนึกเป็นครั้งแรกว่านโยบายการต่างประเทศแบบแข็งกร้าวยืนกรานอย่างแท้จริงของจีนนั้นมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร” นี่เป็นข้อเขียนของ เคิร์ต แคมป์เบลล์ ที่ปรึกษาคนหนึ่งของไบเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสถาปนิกจัดวางนโยบาย “ปักหมุดสู่เอเชีย” (Pivot to Asia) ของโอบามา ในบทความที่เผยแพร่ทางวารสาร ฟอเรนจ์ แอฟแฟรส์ (Foreign Affairs) เมื่อเร็วๆ นี้
แต่พวกนักวิเคราะห์เรื่องการเมืองของจีนกำลังมีความเห็นแตกแยกกันว่า การหวนกลับไปสู่ลัทธิพหุนิยมและการมุ่งรวมกลุ่มกับพวกชาติพันธมิตรขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้รับมือกับจีนเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในแวดวงแห่งอำนาจภายในกองบัญชาการของคณะผู้นำจีนที่วังจงหนานไห่ในกรุงปักกิ่งหรือไม่
“ปักกิ่งน่าจะยังต้องการได้ทรัมป์มากกว่าไบเดน เพราะไบเดนขาดบุคลิกภาพอันโดดเด่นในการชี้นำนโยบายจีน นี่หมายความว่าเขาจะทำตัวเป็นตัวแทนฉันทามติของสองพรรคการเมืองอเมริกัน” อู่ เฉียง (Wu Qiang) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็น “ไบเดนบอกว่าเขาจะปรับปรุงความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพวกชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่ได้เคยทำในรอบระยะ 4 ปีที่ผ่านมา”
นี่ก็เป็นทัศนะที่ได้รับการรายงานข่าวกันอย่างกว้างขวางก่อนที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะอยู่ในอาการดิ่งลงเหวในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ โดยเวลานั้นเห็นกันว่าปักกิ่งปรารถนาที่จะรับมือกับประธานาธิบดีซึ่งนิยมการแลกเปลี่ยนกัน มากกว่าประธานาธิบดีผู้ต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งถึงรากเหง้า แต่เมื่อในเวลานี้ทรัมป์กำลังมีความแข็งกร้าวกับจีนมากยิ่งขึ้นทุกวี่วัน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในปัจจุบันก็อยู่ในภาวะแตกร้าวหนัก จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกแน่ใจน้อยลง
“มันเป็นทัศนะสามัญทั่วไปในหมู่เพื่อนร่วมงานชาวจีนของผมเลยว่า ใช่แล้ว ทรัมป์กำลังทำความเลวร้ายมากให้แก่จีน แล้วมันอาจจะเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก แต่หลักๆ แล้วเขาโฟกัสเน้นหนักในประเด็นทางศรษฐกิจ และเขากำลังทำลายอเมริกาตลอดจนกลุ่มพันธมิตรตะวันตกของอเมริกา ซึ่งนี่แหละกลับจะเป็นการช่วยเหลือจีนในระยะยาว” เป็นคำบอกเล่าของ สุ่ยเซิง เจ้า (Suisheng Zhao) ผู้อำนวยการของศูนย์กลางเพื่อความร่วมมือจีน-สหรัฐฯ (Centre for China-US Cooperation) ณ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ (University of Denver) โดยที่ตัวเขาเองคิดว่าเวลานี้ปักกิ่งน่าจะพึงพอใจปรปักษ์ที่มีความเป็นแบบแผนปกติอย่างไบเดนมากกว่า
เจ้าบอกด้วยว่า “แต่ผมบอกพวกเขา (เพื่อนร่วมงานชาวจีน) ว่า ความคิดแบบนั้นนะผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งเมื่อมองจากทัศนะมุมมองของฝ่ายจีน ทรัมป์กำลังทำลายอเมริกาก็จริง แต่เขาก็กำลังทำลายจีนด้วย เขากำลังทำลายทั่วทั้งโลกนั่นแหละ ... ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับในระยะยาวหรอก”