เหตุประท้วงรุนแรงในสหรัฐฯ และความไม่เป็นธรรมทางเชื้อชาติกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกนำมาหาเสียงขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชูผลงานการรักษาความความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (law and order) และโจมตีอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน คู่แข่งสายเดโมแครตว่ามีนโยบายอ่อนปวกเปียกต่อปัญหาอาชญากรรม ขณะที่ฝ่าย ไบเดน โต้กลับว่าผู้นำสหรัฐฯ จงใจโหมกระพือความรุนแรง และสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวอเมริกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
หลังจากที่ทั้งคู่ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่างกันอย่างสุดขั้วในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกๆ วันหลังจากนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากบางรัฐจะเริ่มส่งบัตรลงคะแนนให้กับผู้ที่ไม่ประสงค์เดินทางไปหน่วยเลือกตั้ง (absentee ballots) ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ความโกรธแค้นของผู้คนในอเมริกาที่มีต่อปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีได้ระเบิดออกมาเป็นกระแสเคลื่อนไหวในนาม Black Lives Matter ก่อนจะทวีความรุนแรงกลายเป็นการเผาทำลาย ปล้นสะดมร้านค้า และมีการปะทะกันด้วยอาวุธครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตำรวจผิวขาวสังหารหนุ่มอเมริกันผิวสี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 25 พ.ค.
ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นอีกที่เมืองเคโนชา เมื่อตำรวจผิวขาวคนหนึ่งยิงรัวระยะประชิดเข้ากลางหลังของ ‘จาค็อบ เบลค’ หนุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันถึง 7 นัดซ้อนเมื่อวันที่ 23 ส.ค. กระสุนเข้าไปฝังอยู่ในตับและไต พร้อมทั้งทำลายลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ของเขา เรื่องนี้ได้ลุกลามกลายเป็นการปะทะระหว่างกองกำลังพิทักษ์ท้องถิ่นกับผู้ประท้วงเพื่อคนผิวสี และนำไปสู่การที่ฝ่ายผู้ประท้วงถูกสังหาร 2 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ด้วยน้ำมือของ ไคลี ริตเทนเฮาส์ หนุ่มผิวขาววัย 17 ปีจากกองกำลังพิทักษ์ท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ซึ่งคุกรุ่นมานานหลายเดือนก็ยกระดับกลายเป็นการปะทะระหว่างฝ่ายขวาจัดผิวขาวซึ่งสนับสนุนทรัมป์ กับฝ่ายผู้ประท้วงกลุ่ม Black Lives Matter และในวันที่ 29 ส.ค. ก็มีชายผิวขาวที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายขวาถูกยิงเข้าที่อกจนเสียชีวิต
ล่าสุด กระแสประท้วงได้ลามต่อไปถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้รวมตัวกันบนท้องถนนในนครลอสแองเจลิสเมื่อวันอังคาร (1 ก.ย.) หลังชายผิวสีคนหนึ่งถูกตำรวจยิงเสียชีวิตโดยอ้างว่าเขาทำผิดกฎหมายปั่นจักรยาน
แม้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจะถูกมองว่าเป็นความแตกแยกครั้งรุนแรงที่สุดของสังคมอเมริกัน แต่ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันยังพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยหวังชูผลงานการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นจุดดึงดูดคะแนนเสียงก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. และกลบเกลื่อนความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารประเทศด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวในการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 180,000 คน และติดเชื้อมากกว่า 5.9 ล้านคน
ไบเดน ออกมาประณามเหตุรุนแรงที่พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และท้าให้ ทรัมป์ หยุดยั่วยุปลุกปั่นเหตุจลาจล
“ผมขอประณามทุกฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะพวกซ้ายหรือขวาก็ตาม และผมขอเรียกร้องให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาทำอย่างเดียวกันนี้ เราจะต้องไม่กลายเป็นชาติที่ทำสงครามกันเอง” ไบเดน ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีในยุคของ บารัค โอบามา ระบุ
“ประธานาธิบดี ทรัมป์ ต้องการให้เกิดอะไรขึ้นหรือ ถึงได้พยายามโหมกระพือไฟแห่งความเกลียดชังและความแตกแยกในสังคม และใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือกระตุ้นฝ่ายสนับสนุนเขา? เขากำลังปลุกปั่นความรุนแรงโดยไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น”
พรรครีพับลิกันยืนยันเสียงแข็งว่า ทรัมป์ ไม่ได้มีเจตนายั่วยุความรุนแรง ทว่าต้องการฟื้นคืนความสงบเรียบร้อยสู่สังคม พร้อมทั้งวิจารณ์ผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรีสายเดโมแครตว่าไม่สามารถยับยั้งการปล้นสะดมและทำลายทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเองได้
เจสัน มิลเลอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสของทีมหาเสียงทรัมป์ ทวีตโจมตี ไบเดน ว่า “นั่งเฉยอยู่เป็นเดือนๆ” และไม่เคยออกมาประณามความรุนแรงในเมืองที่เป็นฐานเสียงเดโมแครต
เมื่อวันที่ 1 ก.ย ทรัมป์ ได้มุ่งหน้าไปยังเมืองเคโนชา (Kenosha) รัฐวิสคอนซิน เพื่อให้กำลังใจตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตอบสนองเหตุจลาจลรุนแรง โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากผู้ว่าการรัฐวิสคอนซินซึ่งมองว่าการมาของ ทรัมป์ จะยิ่งยั่วยุให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากกว่า
ผู้นำสหรัฐฯ ได้ไปเยือนร้านขายเฟอร์นิเจอร์ซึ่งถูกจุดไฟเผาวอด จากนั้นจึงไปเยี่ยมศูนย์บัญชาการชั่วคราวเพื่อชื่นชมการทำงานของกองกำลังเนชันแนลการ์ดที่ถูกส่งเข้าไปช่วยเสริมกำลังตำรวจ หลังการประท้วงโดยสันติได้ลุกลามกลายเป็นเหตุจลาจล ดวลปืน และปล้นทำลายทรัพย์สินต่อเนื่องนานหลายคืน
“นี่ไม่ใช่การประท้วงอย่างสันติ แต่เป็นการก่อการร้ายภายในประเทศ” ทรัมป์ บอกกับผู้นำภาคธุรกิจที่เคโนชา “การจะหยุดความรุนแรงได้ เราต้องกล้าเผชิญหน้ากับค่านิยมสุดโต่ง เราต้องประณามการต่อต้านและการพูดให้ร้ายตำรวจที่อันตราย”
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้การประท้วงต่อต้านลัทธิเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสีจะดำเนินไปอย่างสันติเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็มีพวกฉวยโอกาสก่อความวุ่นวายหรือเข้ามาสร้างสถานการณ์รุนแรง จนกลายเป็นจุดอ่อนให้พวกฝ่ายขวาที่สนับสนุน ทรัมป์ หยิบยกเอาไปโจมตีได้
กลุ่มเป้าหมายที่ ทรัมป์ และรีพับลิกันหวังจะซื้อใจเพื่อนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งก็คือพวกคนชานเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม “สตรีในย่านชานเมือง” ซึ่งเคยเป็นพลังที่ช่วยสนับสนุน ทรัมป์ ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 แต่มาเริ่มถอยห่างจาก ทรัมป์ หลังจากที่ผู้นำรายนี้ออกมาพูดสร้างความแตกแยกไม่หยุดหย่อน
“ในชุมชนชานเมืองบางแห่ง ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่จะชี้ขาดว่าใครชนะ” แคธรีน เพียร์สัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาให้ความเห็น “ถ้าวัดกันที่คะแนนโหวตของผู้ชายอย่างเดียว ทรัมป์ ก็คงชนะที่รัฐนี้ไปแล้ว (เมื่อปี 2016)”
เพื่อที่จะดึงคะแนนนิยมจากฐานเสียงกลุ่มนี้กลับมา จึงไม่น่าแปลกในที่ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันจะเน้นนโยบายปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติการจลาจลและความวุ่นวายที่เกิดตามมากับกระแสรณรงค์ Black Lives Matter เนื่องจากกลุ่มผู้หญิงในย่านชานเมืองนั้นมองความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
โพลรอยเตอร์/อิปซอสระหว่างวันที่ 19-25 ส.ค. พบว่า ไบเดนมีคะแนนนำ ทรัมป์ อยู่ 8 จุด ซึ่งเมื่อมองในภาพรวมทั่วประเทศก็ยังคล้ายๆ กับก่อนหน้าการประชุมใหญ่ของทั้ง 2 พรรค แต่เมื่อมองแบบเจาะลึกจะพบว่า ไบเดน เริ่มทิ้งห่างทรัมป์น้อยลงในกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงแถบชานเมือง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับอดีตรองประธานาธิบดีสายเดโมแครตซึ่งผลโพลก่อนหน้านี้บ่งบอกว่าเขามีคะแนนนำในหมู่ผู้ออกเสียงสำคัญกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงแถบชานเมืองก็ดูเหมือนว่าจะมอง ทรัมป์ ในแง่ลบน้อยลงเช่นกัน โดยคะแนนนำของ ไบเดน ในหมู่ผู้ออกเสียงกลุ่มนี้ได้ลดลงมาเหลือเพียง 9 จุดในผลโพลล่าสุด จากเดิมที่เคยทิ้งห่าง ทรัมป์ ถึง 15 จุดในผลโพลเมื่อเดือน มิ.ย.
ยุทธศาสตร์การหาเสียงของ ทรัมป์ และรีพับลิกันในรอบนี้คาดว่าจะเดินในแนวทางเดียวกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือไม่ได้มุ่งชนะที่คะแนนเสียงรวม (Popular Vote) หากแต่จะมุ่งกวาดจำนวนคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี หรือ Electoral College ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในรัฐ swing states หรือรัฐที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเทคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองใด
สำหรับ โจ ไบเดน นั้น สิ่งท้าทายที่สุดสำหรับเขาในช่วง 2 เดือนนับจากนี้ก็คือการแก้ข้อครหาของ ทรัมป์ ที่พยายามสร้างภาพลบว่าการออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่คนอเมริกันผิวสีเท่ากับ “สนับสนุนและยอมรับ” การก่อความไม่สงบ
ไบเดน และพรรคเดโมแครตพยายามสู้ด้วยการชี้ให้คนอเมริกันเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ตอนนี้ล้วนเป็นผลพวงจากนโยบายของประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่ปลุกระดมสร้างความแตกแยกมาตลอด 4 ปี และปฏิเสธไม่ได้ว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นล้วนเป็นแผ่นดินอเมริกาในยุคของทรัมป์ เขาจึงไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบในจุดนี้ได้