พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตกำลังพยายามสุดฤทธิ์เพื่อช่วงชิงกลุ่มผู้ออกเสียงอิสระและพวกแนวคิดสายกลาง ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคราวนี้ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างยิ่งในช่วงเร่งความเร็วโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการประชุมใหญ่ระดับชาติของทั้ง 2 พรรคซึ่งจัดขึ้นไล่หลังกันติดๆ
ตลอดการประชุมใหญ่ของรีพับลิกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ทักษะลูกเล่นทั้งหลายของเขาจากการทำรายการเรียลลิตี้โชว์มานานปี เพื่อพยายามโน้มน้าวจูงใจบรรดาผู้สนับสนุนที่รู้สึกแปลกแยกไปมากสืบเนื่องจากการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ของเขา ให้หวนกลับมาหาเขาอีกครั้ง โดยเฉพาะในคืนวันพฤหัสบดี (27) ซึ่งเป็นวันที่ทรัมป์ปราศรัยตอบรับการเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันอีกสมัยหนึ่งอย่างเป็นทางการนั้น เขาใช้คำเตือนแรงๆ วาดภาพที่ดูเลวร้ายมากว่า ถ้าปล่อยให้ โจ ไบเดน คู่แข่งของเขาจากพรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะขึ้นสู่อำนาจแล้ว อเมริกาก็จะกลายเป็นประเทศชาติที่ไม่มีขื่อแป บ้านเมืองไม่มีกฎหมาย
และนี่ก็น่าจะเป็นภาพวาดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ที่รีพับลิกันจะนำมาใช้ในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้อีกด้วย นั่นคือ เปลี่ยนหัวข้อจากเรื่องโรคระบาดที่สังหารชาวอเมริกันไป 180,000 คน และทำลายเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างยับเยิน โดยหันมาประณามพวกเดโมแครตที่ทำให้เกิดความรุนแรงตามท้องถนน
ระหว่างการประชุมใหญ่สัปดาห์ที่แล้ว พวกรีพับลิกันต่างพากันทอดทิ้งเพิกเฉยไม่พูดถึงวิกฤตการณ์สาธารณสุข เรียกได้ว่าทำราวกับปัญหานี้ได้ลดน้อยหรือกระทั่งสิ้นสุดไปแล้ว และกลับหันเหพยายามมาชักชวนผู้ออกเสียงให้ย้อนระลึกถึงเศรษฐกิจที่เคยคึกคักเฟื่องฟูก่อนหน้าเกิดวิกฤต ขณะที่เมื่อตอนพรรคเดโมแครตประชุมใหญ่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทั้งไบเดนและผู้ขึ้นพูดคนอื่นๆ ต่างโฟกัสไปที่การประณามไล่ต้อนทรัมป์ให้ต้องยอมรับผิดสำหรับการกระทำอย่างบกพร่องล้มเหลวต่างๆ ของเขาในระหว่างโรคระบาด
“การประชุมใหญ่ทั้ง 2 ครั้งนี้ พยายามเสนอภาพของความเป็นจริงที่แตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง ในแง่มุมที่ว่าประเทศชาติของเราเวลานี้อยู่ตรงจุดไหน และอนาคตของเราน่าจะเป็นยังไงต่อไป” คริสโตเฟอร์ ดีไวน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐฯ ณ มหาวิทยาลัยเดย์ตัน ในรัฐโอไฮโอ กล่าวให้ความเห็น
การประชุมใหญ่ของทรัมป์นั้น พยายามวาดภาพให้เขากลายเป็นแชมเปี้ยนผู้ต่อสู้เพื่อ “ความสงบเรียบร้อย” ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดพวกผู้ออกเสียงซึ่งไม่ยอมรับถ้อยคำแสบร้อนสร้างความแตกแยกของเขา แต่อาจจะกังวลใจต่อการประท้วงที่ยืดเยื้อมาเป็นแรมเดือนสืบเนื่องจากความอยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว และความโหดร้ายทารุณของตำรวจ โดยที่การชุมนุมต่อต้านเช่นนี้บางครั้งก็ปะทุบานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง
“นี่คือความพยายามของพวกเขาในการรักษาฐานเสียงของพวกเขาให้อยู่มือ และปลุกระดมคนเหล่านี้ให้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนน” แคทลีน โดลัน อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี บอก
“แต่ฉันคิดจริงๆ ว่า จุดประสงค์หลักของเขาคือการพยายามดึงคะแนนจากพวกผู้หญิงบางส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร เป็นคนในกลุ่มที่เขากำลังเรียกว่า ‘ผู้หญิงแถบชานเมือง’”
ตามผลการสำรวจความคิดเห็นของรอยเตอร์/อิปซอส ซึ่งทำขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 ส.ค. ไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ 8 จุด (เปอร์เซนต์) เมื่อมองดูเป็นภาพรวมทั่วประเทศ ซึ่งยังคงเหมือนๆ กับผลโพลก่อนหน้าการประชุมใหญ่ของทั้ง 2 พรรค แต่เมื่อมองแบบเจาะลึกลงไป จะพบว่าในการช่วงชิงผู้ออกเสียงที่อยู่แถบชานเมือง ไบเดนทิ้งห่างทรัมป์น้อยลง และมีความคู่คี่กันมากขึ้น นี่ย่อมเป็นสัญญาณน่ากังวลสำหรับอดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ ซึ่งผลโพลก่อนหน้านี้ชี้ว่าเขามีคะแนนนำในหมู่ผู้ออกเสียงสำคัญกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้หญิงแถบชานเมือง ดูกำลังมีความเห็นในทางลบต่อทรัมป์น้อยลงเมื่อเทียบกับตอนช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้การนำของไบเดนในหมู่ผู้ออกเสียงกลุ่มนี้ได้ลดลงมาเหลือ 9 จุดในผลโพลล่าสุด เปรียบเทียบกับที่เคยทิ้งห่างถึง 15 จุดในผลโพลซึ่งทำกันเมื่อเดือนมิถุนายน
โพลเดือนสิงหาคมยังชี้ว่า ไบเดนมีคะนนนำ 5 จุดในกลุ่มชาวอเมริกันผิวขาวที่มีการศึกษาสูงในระดับมหาวิทยาลัย เปรียบเทียบกับที่เคยนำอยู่ 7 จุดในเดือนกรกฎาคม และ 11 จุดทีเดียวในเดือนมิถุนายน
แต่ในการเกี้ยวพาพวกผู้ออกเสียงแถบชานเมืองด้วยคำมั่นที่จะใช้ไม้แข็งปราบปรามอาชญากรรม ขณะเดียวกับที่แทบไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจใดๆ ต่อพวกผู้ประท้วงซึ่งเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว ทรัมป์ก็อาจจะยิ่งผลักดันให้ชาวอเมริกันผิวดำสนับสนุนไบเดนอย่างเหนียวแน่นขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ผลโพลเดือนสิงหาคมแสดงว่า ไบเดนได้คะแนนถึง 62 จุดในกลุ่มชาวอเมริกันผิวดำ เพิ่มขึ้น 6 จุดจากเดือนกรฎาคม และถือเป็นการนำห่างที่สุดสำหรับไบเดนในกลุ่มนี้ในช่วงเวลาอย่างน้อยที่สุด 6 เดือนทีเดียว
ไคล คอนดิค นักเวิคราะห์ที่ทำงานให้กับศูนย์กลางเพื่อการเมือง มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า ข้อความที่ว่าจะใช้ความเด็ดขาดสร้างความสงบเรียบร้อย อาจจะมีพลังกว่านี้มาก หากเป็นเมื่อก่อนเกิดโรคระบาด
“มันอาจจะประสบความสำเร็จ ถ้าหากว่าเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง (ราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน จนถึงราวสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม) แล้ว โควิดไม่ได้เป็นจุดโฟกัสเหมือนกับในตอนนี้ นั่นดูเหมือนยังยากที่จะจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นมาได้ แต่มันก็มีความเป็นไปได้นะ” เขาบอก
“ทรัมป์” มุ่งหาเสียงจากความรุนแรง?
ขณะที่การประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันพยายามยกย่องเชิดชูทรัมป์ในทุกๆ
ฝีก้าว แต่ก็มีความเข้มข้นพอกันในการยืนยันโน้มน้าวให้ชาวรีพับลิกันหรือผู้ออกเสียงที่ยังไม่ติดสินใจเกิดความเชื่อว่า ไบเดน-ผู้ซึ่งแสดงตนเป็นผู้สมัครแนวทางสายกลางมาโดยตลอดในกระบวนการสรรหาผู้สมัคร
(ไพรมารี) ของพรรคเดโมแครตนั้น จะตกเป็นหนี้บุญคุณอย่างเงยหัวไม่ขึ้นของพวกฝ่ายซ้ายจัดกลุ่มต่างๆ
ในพรรคของเขา
ผู้ขึ้นพูดคนแล้วคนเล่าของรีพับลิกันพากันกล่าวหาไบเดนว่าทำเป็นมองไม่เห็นอาชญากรรมและความรุนแรงที่สร้างความด่างพร้อยให้แก่การประท้วงอย่างสันติเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว
ซึ่งเริ่มปะทุแรงขึ้นมาจากการที่ตำรวจใช้เข่าหนีบคอเข่นฆ่าชายผิวดำชื่อ จอร์จ ฟลอยด์ ในเดือนพฤษภาคม แล้วล่าสุดยังเกิดกรณีตำรวจยิง จาค็อบ แบล็ค ชายผิวดำในเมืองเคโนชา รัฐวิสคอนซิน ก็ยิ่งนำไปสู่การประท้วงระลอกใหม่ๆ
ฟอร์ด โอคอนเนลล์ ที่ปรึกษาของรีพับลิกันซึ่งใกล้ชิดกับทีมรณรางหาเสียงของทรัมป์ ยอมรับว่าการจัดโปรแกรมสำหรับการประชุมใหญ่คราวนี้ จุดสำคัญจุดหนึ่งมุ่งไปที่การโน้มน้าวพวกผู้ออกเสียง ซึ่งอาจจะรู้สึกเซ็งทรัมป์ เนื่องจากสไตล์สร้างความแตกแยกของเขา หรืออาจจะยังคงต้องการหาเหตุผลสำหรับการให้ความสนับสนุนทรัมป์
ขณะที่ เลียม โดโนแวน นักยุทธศาสตร์ของรีพับลิกันซึ่งทำงานอยู่ที่รัฐเวอร์จิเนีย และไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ
กับทีมหาเสียงของทรัมป์ ให้ความเห็นว่าความไม่สงบซึ่งลุกลามขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในวิสคอนซิน อาจจะกลายเป็นปัจจัยหนุนทรัมป์อย่างชนิดที่การประท้วงครั้งอื่นๆ ไม่สามารถทำได้
ในขณะที่โรคระบาดยังคงดุเดือดรุนแรง ส่วนเศรษฐกิจก็ยังอาการเพียบหนัก “ความผันผวนวุ่นวายและความไม่แน่นอน อาจจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาก็ได้” โดโนแวน บอก
ปรากฏว่า ไบเดนก็กำลังเสนอแนะเช่นกันว่าทรัมป์กำลังต้อนรับความผันผวนวุ่นวายด้วยความยินดี “ความรุนแรงที่พวกท่านกำลังมองเห็นอยู่นั้นคือสิ่งที่อยู่ในคณะบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ คืออเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ พวกเขา (พวกรีพับลิกัน) ลืมไปแล้วหรือว่าใครกำลังเป็นประธานาธิบดีอยู่” ไบเดนกล่าวปราศรัยระหว่างการระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี (27) “แต่ในสายตาของทรัมป์นั้นความรุนแรงไม่ได้เป็นปัญหา มันเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง”
การประท้วงที่เกิดขึ้นมานี้ถือเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับไบเดน
ผู้ซึ่งดูจะต้องการโฟกัสไปที่เรื่องไวรัสโคโรนามากกว่า ทั้งนี้ขณะที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพวกผู้ประท้วงเรียกร้อง เขาก็คอยวิพากษ์วิจารณ์การทำลายข้าวของต่างๆ ของชุมชน และไม่เห็นด้วยกับการตัดลดงบประมาณที่ให้แก่สำนักงานตำรวจต่างๆ อย่างที่พวกนักเคลื่อนไหวปีกซ้ายในพรรคของเขาเรียกร้อง
อย่างไรก็ตาม จิม เมสซินา ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงให้แก่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในการลงเลือกตั้งสมัยที่สองปี 2012 ให้ความเห็นว่า การที่พวกรีพับลิกันใช้ถ้อยคำดุเดือดรุนแรงในการโจมตีเล่นงานผู้ประท้วง อาจกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจให้แก่พวกอิสระ ซึ่งต้องการให้ยุติการแตกแยกแบ่งขั้วอย่างสุดโต่งในบ้านเมือง
“ทรัมป์ก้าวไปทางขวาสุดๆ จนกระทั่งเขากำลังทอดทิ้งตำแหน่งตรงกลางๆ ที่เขาจะต้องช่วงชิงไปแล้ว” เมสซินา บอก
(เก็บความและเพิ่มเติมจากเรื่อง Conventions highlight wildly different Biden, Trump strategies going into final election stretch ของสำนักข่าวรอยเตอร์)