คลื่นพิโรธที่มหาชนในสหรัฐอเมริกามีต่อการเหยียดผิวและการใช้ความทารุณโหดร้ายที่ตำรวจในหลากหลายมลรัฐกระทำต่อฝูงชนซึ่งออกมาต่อสู้ในประเด็น Black Lives Matter เพื่อคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ได้ทวีความรุนแรงเป็นการเผาทำลาย และปล้นสดมภ์ร้านค้า อีกทั้งยังมีการปะทะด้วยอาวุธร้ายแรงครั้งแล้วครั้งเล่า นับจากที่ตำรวจผิวขาวสังหารหนุ่มอเมริกัน-แอฟริกัน นาม จอร์จ ฟลอยด์ ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2020
เหตุรุนแรงปะทุต่อเนื่องมาจนถึงการจลาจลโกลาหลสามคืนในเมืองเคโรชา รัฐวิสคอนซิน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อตำรวจยิงรัวระยะประชิดเข้ากลางหลังของ จาค็อบ เบลค จูเนียร์ หนุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 7 นัดซ้อน กระสุนฝังในตับและไต พร้อมทั้งทำลายลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2020 จนกระทั่งลุกลามเป็นการปะทะระหว่างกองกำลังพิทักษ์ท้องถิ่นกับผู้ประท้วงเพื่อคนผิวสี นำไปสู่การที่ฝ่ายผู้ประท้วงถูกสังหาร 2 รายและบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ด้วยน้ำมือของหนุ่มผิวขาววัย 17 ปีจากกองกำลังพิทักษ์ท้องถิ่น
ขณะที่ความรุนแรงซึ่งยืดเยื้อกว่าสามเดือนในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ได้พัฒนาขึ้นเป็นการปะทะระหว่างฝ่ายขวาจัดผิวขาวซึ่งสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับฝ่ายประท้วงกลุ่มแบล็กไลฟ์ และในวันที่ 29 สิงหาคม 2020 ชายผิวขาวที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มปีกขวา ถูกยิงเข้าที่อกและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
ในการนี้ แม้คลื่นพิโรธแห่งยุคสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกจารึกว่าเป็นวิกฤตการณ์ความแตกแยกร้ายกาจที่สุดของสังคมอเมริกัน แต่ทรัมป์และพรรครีพับลิกันก็ดิ้นรนที่จะพลิกวิกฤตไปเป็นโอกาสลุ้นให้เป็นจุดดึงดูดคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ภายหลังจากที่ทรัมป์ถูกมองว่าล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 จนเกิดการระบาดไปทั่วประเทศ โดยมีคนอเมริกันเสียชีวิตมากกว่า 1.8 แสนราย จากจำนวนที่ติดเชื้อมากกว่า 5.9 ล้านราย ซึ่งส่งผลให้คะแนนความนิยมที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับ ดิ่งวูบลงอย่างต่อเนื่อง
รูปธรรมของเรื่องนี้ปรากฏขึ้นในการประชุม Republican National Convention ระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม เมื่อธีมหลักของการประชุมถูกเน้นอยู่ที่เรื่อง Law and Order ซึ่งทรัมป์ได้ตอกย้ำประเด็นนี้ซ้ำๆ ในระหว่างการปราศรัยตอบรับการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
นักวิเคราะห์จึงฟันธงว่าพรรครีพับลิกันได้กำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงในโค้งสุดท้ายระหว่างกันยายนถึงตุลาคม โดยจะชูเรื่อง Law and Order ว่าทรัมป์จะกล้าใช้ความเด็ดขาดในการบังคับใช้ Law and Order มาแก้ไขวิกฤตความรุนแรงและแตกแยก เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยกลับสู่สังคมอเมริกัน
ในเวลาเดียวกัน ก็จะดำเนินยุทธศาสตร์โจมตีฝ่ายเดโมแครตว่า โจ ไบเดน คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นอ่อนแอ หนำซ้ำยังไปส่งเสริมสนับสนุนผู้ประท้วงให้สร้างความวุ่นวาย
นักวิเคราะห์ชี้ว่าการเดินนโยบายหาเสียงดังกล่าวจะช่วยปกปิดเบี่ยงเบนความรู้สึกของผู้คนออกมาจากประเด็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
ในเวลาเดียวกัน นักวิเคราะห์ชี้ว่าขณะที่การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวและใช้ความรุนแรงบีฑาคนผิวดำ ดำเนินไปด้วยความสันติเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางครั้งก็มีพวกฉวยโอกาสปล้นชิงร้านค้าและสร้างความวุ่นวาย นอกจากนั้น ยังมีพวกอนาธิปไตยลอบเข้ามาสร้างสถานการณ์รุนแรง ส่วนเกินของการประท้วงอย่างสันติจึงกลายเป็นจุดที่ฝ่ายขวาและชาวรีพับลิกันนำไปเล่นงาน
ในความพยายามจะเอาชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์และรีพับลิกันเล็งไปที่ “กลุ่มชนชานเมือง หรือกลุ่มซับเออร์เบิน” ซึ่งเป็นคะแนนเสียงชี้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสตรีในย่านชานเมือง กลุ่มสตรีเหล่านี้เคยเป็นเสียงสนับสนุนทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เมื่อทรัมป์ออกมาพูดสร้างความแตกแยกมิได้หยุด กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงพากันถอยออกจากทรัมป์ ดังนั้น ทรัมป์และรีพับลิกันจึงตั้งเป้าหมายที่จะดึงเสียงสนับสนุนกลุ่มนี้กลับมาให้สำเร็จ
ยุทธศาสตร์การหาเสียงของทรัมป์และรีพับลิกันในรอบนี้จะเดินในแนวทางเดียวกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือไม่มุ่งจะชนะในเชิงคะแนนเสียงรวม (Popular Vote) หากแต่จะมุ่งเอาชนะที่หัวใจของการเลือกตั้งคือ ในส่วนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี หรือ Electoral College โดยตั้งหวังว่าจะไปดึงคะแนนเสียงจากพวกรัฐที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเทคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองหนึ่งใด หรือก็คือรัฐที่เป็น Swing State และก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชนะกวาดทั้งรัฐ Swing State ด้วย แต่จะเอาชนะให้ได้เฉพาะในบางพื้นที่ที่เป็นคะแนนเสียงสำคัญ เพียงเพื่อจะพอให้ชนะในรัฐนั้นๆ และได้รับ Electoral Vote ไป
ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่จะเจาะกลุ่มสตรีในย่านชานเมือง หรือซับเออร์เบิน วีเม่น นโยบายการปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อยุติการจลาจลและความวุ่นวายอันเกิดตามมากับการประท้วงในประเด็น Black Lives Matter จึงเป็นนโยบายหาเสียงที่ทรัมป์และรีพับลิกันเชื่อว่าจะสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายสำคัญนี้กลับมาได้ เพราะสตรีในย่านชานเมืองรู้สึกว่าชีวิตขาดความมั่นคงปลอดภัยและจึงต้องการความสงบเรียบร้อย
ดังนั้น นักวิเคราะห์คาดว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่จะร้อนแรงในช่วงสองเดือนข้างหน้าจะอยู่ในประเด็นการบังคับใช้ Law and Order พร้อมกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็จะเร่งสาดน้ำมันเข้าไปโหมคลื่นพิโรธ เพื่อกระพือความแตกแยกขัดแย้งและวิกฤตความรุนแรง
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ชัดว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ปรากฏออกมาหลังการประชุม Republican National Convention โดยประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าจะไปเมืองเคโรชา ซึ่งไม่น่าจะมุ่งไปปลอบโยนครอบครัวของจาค็อบ เบลค จูเนียร์หนุ่มอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ถูกตำรวจรัวยิงระยะประชิดเข้ากลางหลัง 7 นัดซ้อนและกลายเป็นอัมพาตไปตลอดร่างกายครึ่งล่าง หากแต่คงเป็นการไปปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ตำรวจ
นอกจากนั้น หลังเหตุร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิต 1 รายในเมืองพอร์ตแลนด์ ประธานาธิบดีทรัมป์ออกโรงกระหน่ำทวิตโจมตีนายกเทศมนตรีแห่งพอร์ตแลนดื ซึ่งเป็นเดโมแครต ว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งปวง พร้อมกับโหมกระพือเรียกร้อง Law and Order
“คนพอร์ตแลนด์ก็เหมือนในเมืองอื่นๆ และส่วนอื่นๆ ของประเทศยิ่งใหญ่ของเรา คือต้องการกฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย พวกนายกเทศมนตรีเดโมแครตที่เป็นฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง เหมือนคนงั่ง ที่บริหารพอร์ตแลนด์อยู่ในขณะนี้ ตลอดจนหมอนั่นที่ขังตัวในห้องใต้ถุน ไม่เต็มใจที่จะเป็นผู้นำ หรือกระทั่งพูดคัดค้านอาชญากรรม จะไม่มีทางที่จะสถาปนาความสงบเรียบร้อยแห่งกฎหมายและความเป็นระเบียบได้”
แนวโน้มที่จะได้เห็นในสองเดือนข้างหน้านี้ จึงหนีไม่พ้นการพยายามโหมกระแสอันนี้ และคาดได้ว่าจะต้องเกิดความรุนแรงสาหัสยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะทรัมป์จะเร่งเดินเครื่องโหมในเรื่องนี้ ด้วยความหวังว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยให้สามารถช่วงชิงคะแนนได้
ด้านโจ ไบเดน และเดโมแครตก็ต่อสู้ด้วยการย้ำว่าในเวลานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ คือผลงานของประธานาธิบดีทรัมป์ และความรุนแรงที่ยกระดับมหาศาลขึ้นมาในช่วงสี่ปีนี้ ก็เป็นผลจากการยุยงปลุกระดมโดยทรัมป์ซึ่งคอยสร้างความแตกแยก ทั้งนี้ ความวุ่นวาย การละเมิดกฎหมาย อีกทั้งจลาจลทั้งปวงในตอนนี้ ล้วนเป็นอเมริกาในแผ่นดินของประธานาธิบดีทรัมป์นั่นเอง ทรัมป์หนีความรับผิดชอบไม่พ้นอย่างแน่นอน