(เก็บความจากเอเชียไทมส์WWW.asiatimes.com)
Why China is taking over the ‘American century’
by Dilip Hiro
19/08/2020
แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาหาทางช่วงชิงความยอดเยี่ยมทางเทคโนโลยีในอดีตของตนเองกลับคืนมา สหรัฐฯกลับกำลังพึ่งพาอาศัยการกระหน่ำโจมตีจีน ตลอดจนการสั่งห้ามและการกีดกันทางด้านเทคต่อแดนมังกร
สำหรับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะบริหารทรัมป์แล้ว มันคือช่วงฤดูกาลอันเปิดกว้างเสรีอย่างแท้จริงสำหรับการกระหน่ำโจมตีจีน ถ้าหากคุณต้องการให้ยกตัวอย่างล่ะก้อ ลองนึกถึงตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองที่เล่นไม่ยอมหยุดในเกมประณามกล่าวโทษเกี่ยวกับ “ไวรัสจีนจอมล่องหน” (the invisible Chinese virus)[1] ขณะที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายออกไปอย่างชนิดเอาไม่อยู่ตลอดทั่วทั้งสหรัฐฯ
อันที่จริงแล้ว เมื่อมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน การวิพากษ์วิจารณ์แบบสร้างความเกลียดชังยิ่งกว่านี้นักหนาดูเหมือนไม่เคยยุติหยุดยั้งลงเลย
ระหว่างช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สมาชิก 4 คนที่อยู่ในระดับคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประชันแข่งขันกันและกันในการสำรอกคำพูดถ้อยคำต่อต้านจีนออกมา
การกระหน่ำโจมตีจีนชุดที่ว่านี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ คริสโตเฟอร์ เรย์ (Christopher Wray) ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) กล่าวบรรยายถึง [2] ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ว่าเป็นทายาทของ โจเซฟ สตาลิน (Josef Stalin) จอมเผด็จการโซเวียต
มันถูกต่อยอดโดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ขณะเขาเรียกร้องอย่างเสียงดังฟังชัด
[3] ให้เหล่าพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐฯจับตามองอุดมการณ์ลัทธิมาร์ก-ลัทธิเลนิน “ที่ล้มละลายไปแล้ว” (“bankrupt” Marxist-Leninist ideology) ของผู้นำจีน และความเรียกร้องต้องการที่จะวางตัวเป็น “เจ้าในระดับโลก” (global hegemony) ซึ่งมาพร้อมกับอุดมการณ์ดังกล่าว โดยที่พอมเพโอยืนกรานว่าชาติพันธมิตรเหล่านี้จะต้องเลือกเอา “ระหว่างเสรีภาพหรือระบอบเผด็จการ” (โดยที่เขาคงหลงลืมไปแล้วว่า
ประเทศไหนบนพื้นพิภพนี้กันแน่ ซึ่งประกาศอ้างออกมาจริงๆ[4] ว่า ฐานะความเป็นเจ้าในระดับโลกเป็นสิทธิอันชอบธรรมของตน)
เวลาเดียวกันนั้น เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ก็จัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบินของตนหลายลำพร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ เข้าไปในทะเลจีนใต้และน่านน้ำอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
ในลักษณะข่มขู่คุกคามยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต [5]
คำถามมีอยู่ว่า: อะไรอยู่เบื้องหลังการที่คณะบริหารทรัมป์กำลังเพิ่มการยั่วเย้ารังแกจีนเช่นนี้? คำตอบที่เป็นไปได้อย่างสูงสามารถค้นหาได้จากคำพูดคำจาอย่างโผงผางของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อตอนที่เขาให้สัมภาษณ์ คริส วอลเลซ (Chris Wallace) แห่งโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ ในเดือนกรกฎาคม[6] ที่ว่า “ผมไม่ใช่เป็นผู้แพ้ที่ดีหรอก ผมไม่ชอบการตกเป็นฝ่ายแพ้”
ความเป็นจริงมีอยู่ว่า ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯกำลังพ่ายแพ้จีนแล้วจริงๆ ในปริมณฑลสำคัญ 2 ปริมณฑล อย่างที่ เรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ พูดเอาไว้ [7] ว่า “ในแง่ของเศรษฐกิจและแง่เทคโนโลยี (จีน) กลายเป็นคู่แข่งที่อยู่ในระดับทัดเทียมกับสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว ...ในโลก (แห่งโลกาภิวัตน์) ชนิดที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก”
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จีนกำลังก้าวผงาดขึ้นมา ส่วนสหรัฐฯกำลังตกต่ำลงไป อย่างไรก็ดี อย่าได้ประณามกล่าวโทษเพียงแค่ทรัมป์และบริวารของเขาสำหรับเรื่องนี้ เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่มีการก่อตัวและคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ เป็นเวลานานแล้ว
ตัวเลขข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมากเป็นสิ่งที่สามารถให้ภาพเช่นนี้ได้อย่างชัดเจน จีนซึ่งแทบไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแรงทั่วโลกในช่วงปี 2008-2009 ได้ก้าวขึ้นแทนที่ญี่ปุ่นในฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเมื่อเดือนสิงหาคม 2010 ในปี 2012
ด้วยมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกที่อยู่ในระดับ 3.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จีนได้แซงหน้า [8] สหรัฐฯซึ่งทำได้รวม 3.82 ล้านล้านดอลลาร์ และกระชากเอาสหรัฐฯให้หลุดออกจากตำแหน่งที่เคยครอบครองมาเป็นเวลานาน 60 ปี ในฐานะการเป็นชาติที่มีการค้าขายข้ามพรมแดนเป็นอันดับ 1 ของโลก
เมื่อถึงสิ้นปี 2014 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน เมื่อวัดคำนวณกันโดยใช้ค่าเสมอภาคที่กำหนดโดยกำลังซื้อ (purchasing power parity) [9] จะอยู่ที่เท่ากับ 17.6 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าเล็กน้อยจากระดับ 17.4 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ซึ่งครองตำแหน่งเป็นระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1872 เป็นต้นมา
ในเดือนพฤษภาคม 2018 รัฐบาลจีนได้เผยแพร่แผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025)
ซึ่งกำหนดจุดมุ่งหมายที่จะดำเนินการพัฒนาอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมไฮเทค 10 แขนง เป็นต้นว่า รถยนต์ไฟฟ้า, เทคโนโลยีสารสนเทศเจเนอเรชั่นหน้า, การสื่อสารโทรคมนาคม, วิทยาการหุ่นยนต์ระดับก้าวหน้า, และปัญญาประดิษฐ์
แขนงสำคัญๆ อื่นๆ ที่ระบุเอาไว้ในแผนการดังกล่าวนี้ ยังประกอบด้วย เทคโนโลยีการเกษตร, วิศวกรรมการบินและอวกาศ, การพัฒนาวัสดุสังเคราะห์, วิทยาการที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ ของการแพทย์ชีวภาพ, และโครงสร้างพื้นฐานด้านรางไฮสปีด
แผนการนี้ตั้งจุดมุ่งหมายที่จะให้จีนบรรลุการพึ่งตนเองได้ 70% ในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ และมีฐานะเหนือล้ำทรงอิทธิพลกว่าเจ้าอื่นๆ ในตลาดระดับโลกของอุตสาหกรรมเหล่านี้ภายในปี 2049 อันเป็นช่วงเวลาครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับผลิตภัณฑ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว เซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และในปี 2014 เอกสารแนวทางปฏิบัติสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแผงวงจรรวมแห่งชาติของรัฐบาลจีน ได้ระบุวางเป้าหมายเอาไว้ข้อหนึ่งว่า จีนจะกลายเป็นผู้นำในระดับโลกรายหนึ่งในด้านเซมิคอนดักเตอร์ภายในปี 2030
ในปี 2018 อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ภายในจีน ได้ยกระดับก้าวขึ้นมาจากแค่การบรรจุหีบห่อและการตรวจทดสอบซิลิคอนอย่างง่ายๆ มาสู่การออกแบบชิปและการผลิตชิปซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า ในปีต่อมา สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ (US Semiconductor Industry Association) ชี้ [10] ว่า ขณะที่อเมริกาเป็นผู้นำของโลกด้วยการมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเกือบๆ ครึ่งหนึ่งทีเดียวนั้น แต่จีนคือภัยคุกคามสำคัญที่สุดต่อฐานะครอบงำเช่นนี้ของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการลงทุนของภาครัฐอย่างใหญ่โตมหึมาในด้านโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
อันที่จริงเมื่อถึงตอนนั้น สหรัฐฯได้ถูกจีนแซงหน้าไปเรียบร้อยแล้วในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่พูดกันอยู่นี้ ทั้งนี้ การศึกษาชิ้นหนึ่ง [11] ของ ชิงหนาน เซี่ย (Qingnan Xie) แห่งมหาวิทยาลัยหนานจิง และ ริชาร์ด ฟรีแมน (Richard Freeman) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปี 2000 จนถึงปี 2016 ส่วนแบ่งของจีนในเรื่องจำนวนบทความทางวิชาการซึ่งตีพิมพ์ตามวารสารทั่วโลกในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพแขนงต่างๆ,วิศวกรรมศาสตร์, และคณิตศาสตร์ ได้เพิ่มขึ้นมา 4 เท่าตัว และแซงหน้าส่วนแบ่งของสหรัฐฯ
ในปี 2019 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมตัวเลขเกี่ยวการขอจดสิทธิบัตรเมื่อปี 1978 เป็นต้นมา
สหรัฐฯล้มเหลวไม่อาจรักษาฐานะการเป็นประเทศผู้ยื่นขอจดรายใหญ่ที่สุดของโลกเอาไว้ได้อีกต่อไป โดยตามตัวเลขข้อมูล [12] ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) จีนได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรรวม 58,990 เรื่อง ส่วนสหรัฐฯยื่น 57,840 เรื่อง
นอกจากนั้น นี่ยังเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) บริษัทไฮเทคสัญชาติจีน แซงหน้าบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) โดยที่ในปี 2019 นั้น หัวเว่ยยื่นขอจดสิทธิบัตร 4,144 เรื่อง ส่วนควอลคอมม์ยื่น 2,127 เรื่อง
ในส่วนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ของสหรัฐฯ ยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ในเรื่องจำนวนบทความทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ด้วยตัวเลข 470 เรื่อง แต่มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ของจีน สามารถครองอันดับ 2 ด้วยจำนวน 265 เรื่อง และที่น่าสนใจมากก็คือในจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เด่นที่สุดในเรื่องนี้ 5 แห่ง ปรากฏว่าเป็นมหาวิทยาลัยจีน 3 แห่ง
การแข่งขันอย่างคู่คี่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค
เมื่อถึงปี 2019 พวกผู้นำในด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภคในอเมริกานั้น มีดังเช่น กูเกิล, แอปเปิล, แอมะซอน, และไมโครซอฟท์ ส่วนในจีน พวกผู้นำได้แก่ อาลีบาบา (ก่อตั้งโดย แจ๊ก หม่า), เทนเซนต์ (Téngxùnในภาษาจีน), เสียวหมี่, และ ไป่ตู้ ทั้งหมดนี้ต่างก่อตั้งขึ้นโดยพลเมืองที่เป็นเอกชน
ในหมู่บริษัทสหรัฐฯนั้น ไมโครซอฟท์ก่อตั้งขึ้นในปี 1975, แอปเปิลในปี 1976, แอมะซอนในปี 1994, และกูเกิล ในเดือนกันยายน 1998 ส่วนพวกยักษ์ใหญ่เทคของจีนรายแรกสุด คือ เทนเซนต์ ก่อตั้งขึ้นมาหลังกูเกิล 2 เดือน, ติดตามมาโดยอาลีบาบาในปี 1999, ไป่ตู้ ในปี 2000, และ เสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์
ในปี 2010
ตอนที่จีนย่างเข้าสู่ไซเบอร์สเปซครั้งแรกในปี 1994 รัฐบาลของประเทศนั้นยังคงมุ่งมั่นธำรงรักษานโยบายในการควบคุมข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการให้กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (Ministry of Public Security) ควบคุมเซนเซอร์ต่อไป
ในปี 1996 แดนมังกรจัดตั้งเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคขึ้นมาในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งอยู่ประชิดติดกับฮ่องกงแค่ข้ามแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) มาเท่านั้น ทั้งนี้เซินเจิ้นถือเป็นเขตแรกในบรรดาเขตอุตสาหกรรมพิเศษจำนวนหนึ่งที่จะมีการจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา นับจากปี 2002 เขตพิเศษเหล่านี้จะเริ่มต้นดึงดูดความสนใจของพวกบริษัทนานาชาติในโลกตะวันตก ซึ่งมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์และข้อได้เปรียบต่างๆ จากการที่เขตเหล่านี้มีมาตรการปลอดภาษี รวมทั้งมีแรงงานมีทักษะที่สามารถว่าจ้างได้ในราคาถูก เมื่อถึงปี 2008 บริษัทต่างประเทศเช่นนี้กลายเป็นผู้มีส่วน [13]ในการส่งออกสินค้าไฮเทคของจีนอยู่ถึง 85%
อย่างไรก็ดี ด้วยความตระหนกจากรายงานของทางการฉบับหนึ่งที่ออกมาเมื่อปี 2005 ซึ่งค้นพบว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่องร้ายแรงหลายๆ ประการในระบบนวัตกรรมของประเทศชาติ รัฐบาลจีนจึงได้ออกเอกสารทางนโยบายฉบับหนึ่งในปีต่อมา ระบุบัญชีรายชื่ออภิมหาโครงการ (mega-project) รวม 20 โครงการ[14] โดยมีทั้งโครงการในด้านนาโนเทคโนโลยี , ไมโครชิปทั่วไประดับไฮเอ็น, อากาศยาน, เทคโนโลยีชีวภาพ, และยาใหม่ๆ แล้วถัดจากนั้นจีนก็มุ่งโฟกัสอยู่ที่การใช้วิธีจากล่างสู่บน (bottom-up approach) ในเรื่องนวัตกรรม, การเข้าเกี่ยวข้องส่งเสริมพวกกิจการสตาร์ตอัป (startup) รายเล็กๆ, กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (venture capital),และความร่วมมือประสานงานกันระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ, โดยที่ปรากฏว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถผลิดอกออกผลในทางบวกเป็นจำนวนมาก
ณ เดือนมกราคมปี 2000 มีชาวจีนไม่ถึง 2% ที่ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อจัดหาสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องการกันในตลาดดังกล่าว โรบิน หลี่ (Robin Li) และ อีริค สีว์ (Eric Xu) ได้ก่อตั้ง ไป่ตู้ ขึ้นในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้เป็นเสิร์ชเอนจิน (search engine) สำหรับภาษาจีนขึ้นมา ครั้นถึงปี 2009 ท่ามกลางการแข่งขันกับ กูเกิล ไชน่า (Google China) ที่เป็นกิจการในเครือของ กูเกิล ซึ่งดำเนินงานภายใต้การควบคุมเซนเซอร์ของรัฐบาลจีน
[15] ไป่ตู้ยังคงคว้าเอาส่วนแบ่งตลาดมาได้เป็น 2 เท่าตัวของคู่แข่งอเมริกันของตน ขณะเดียวกับที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนจีนมีอัตราส่วนพุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 29% ของประชากร
ภายหลังเกิดการพังครืนหลอมละลายของภาคการเงินทั่วโลกเมื่อปีช่วง 2008-09 วิศวกรชาวจีนและผู้ประกอบการชาวจีนจำนวนมากทีเดียวซึ่งทำงานและดำเนินกิจการกันอยู่ที่ซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley)ได้เดินทางกลับบ้าน และเข้าแสดงบทบาทสำคัญในการเฟื่องฟูขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจการไฮเทคในตลาดจีนอันใหญ่โตกว้างขวาง ซึ่งได้ถูกตัดขาดออกไปเหมือนดังหนึ่งมีกำแพงขวางกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จากพวกบริษัทสหรัฐฯและบริษัทตะวันตกอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจการอเมริกันและตะวันตกเหล่านี้ไม่ปรารถนาที่จะดำเนินกิจการภายใต้การควบคุมเซนเซอร์ของรัฐบาลจีน
ไม่ช้าไม่นานหลังจาก สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของจีนในเดือนมีนาคม 2013 รัฐบาลของเขาได้เริ่มเปิดฉาก [16] การรณรงค์ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุน “ความเป็นผู้ประกอบการของมวลชน และนวัตกรรมของมวลชน” (mass entrepreneurship and mass innovation) โดยใช้กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (venture
capital) ที่มีรัฐหนุนหลังอยู่ นั่นคือตอนที่ เทนเซนต์ ก้าวผงาดขึ้นมาด้วย “วีแชต” (WeChat) แอปพลิเคชั่นระดับซูเปอร์แอปของตน ซึ่งมีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มอเนกประสงค์ ใช้งานได้สะดวกทั้งสำหรับการติดต่อสื่อสารทางสังคม, การเล่นเกม, การชำระเงิน, การจองตั๋วรถไฟ, และอื่นๆ อีกจิปาถะ
อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซ ของ แจ็ก หม่า เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (New York Stock Exchange) ในเดือนกันยายน 2014 โดยที่ในการเสนอขายต่อสาธารณชนครั้งแรก
(initial public offering) สามารถระดมเงินได้สูงเป็นสถิติใหม่ในเวลานั้น นั่นคือ 25,000 ล้านดอลลาร์ ครั้นถึงตอนสิ้นทศวรรษนั้น ไป่ตู้ ได้กระจายกิจการ [17] เข้าสู่ปริมณฑลของปัญญาประดิษฐ์
(artificial intelligence) ขณะเดียวกับที่ขยายบริการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อันหลากหลายซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันอยู่กับอินเทอร์เน็ตของตน ในฐานะที่เป็นเซิร์ชเอนจินซึ่งยูสเซอร์อินเทอร์เน็ตชาวจีนถึง 90% หรือเท่ากับผู้คนมากกว่า 700 ล้านรายเลือกใช้ บริษัทจึงกลายเป็นเว็บไซต์ในไซเบอร์สเปซที่มีผู้เข้าไปมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยที่ยูสเซอร์ซึ่งใช้ผ่านทางอุปกรณ์ไร้สายมีจำนวนมากกว่า 1,100 ล้านราย
สำหรับ เสียวหมี่ คอร์เปอเรชั่น จะเปิดตัว [18] โทรศัพท์สมาร์ตโฟนเครื่องแรกของตนในเดือนสิงหาคม
2011 แต่เมื่อถึงปี 2014 การรุดหน้าอย่างรวดเร็วของบริษัทก็สามารถแซงเลยพวกคู่แข่งสัญชาติจีนทั้งหลายในตลาดภายในประเทศ และจากนั้นก็ได้พัฒนาสมรรถนะด้านชิปโทรศัพท์มือถือของตนเองขึ้นมา ในปี 2019 บริษัทขายโทรศัพท์มือถือได้ 125 ล้านเครื่อง เป็นอันดับ 4 เมื่อจัดอันดับกันทั่วโลก
ถึงกลางปี 2019 จีนมีสตาร์ทอัปถือครองโดยภาคเอกชนที่แต่ละรายมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เป็นจำนวน 206 ราย [19] แซงหน้าสหรัฐฯซึ่งมี 203 ราย
ในบรรดาผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมากของแดนมังกรคนหนึ่งซึ่งยืนโดดเด่นเป็นพิเศษได้แก่ แจ็ก หม่า ซึ่งเกิดในปี 1964 โดยมีชื่อภาษาจีนว่า หม่า อิ๋ว์น (Ma Yun)[20] ถึงแม้เขาประสบความล้มเหวไม่ได้งานที่สาขาร้านเคนทักกี ฟรายด์ ชิกเกน เพิ่งเปิดใหม่ในเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองเกิดของเขา แต่ลงท้ายแล้วเขาก็สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับท้องถิ่นแห่งหนึ่งจนได้หลังจากใช้ความพยายามเป็นครั้งที่ 3 และกว่าที่เขาจะซื้อหาคอมพิวเตอร์เครื่องแรกมาไว้ในครอบครองก็เมื่ออายุปาเข้าไป
31 ปี
ในปี 1999 เขาก่อตั้งอาลีบาบาขึ้นมาพร้อมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง บริษัทแห่งนี้ต่อมาจะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเทคมูลค่าสูงที่สุดในโลก เมื่อถึงวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 55 ปี หม่ามีฐานะเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดเปํนอันดับ 2 ในจีน โดยมีทรัพย์สินในครอบครองคิดเป็นมูลค่า 42,100 ล้านดอลลาร์
ชาวอเมริกันผู้มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายคลึงกันมากกับหม่า นั่นคือ เจฟฟ์ เบซอส [21] เป็นผู้ที่เกิดในปีเดียวกัน เขาสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาทางวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์จากสถาบันการศึกษาชื่อดังของอเมริกาอย่างมหาวิทยาลัยปรินซตัน เขาจะก่อตั้งAmazon.comขึ้นมาในปี 1994 เพื่อขายหนังสือทางออนไลน์ ก่อนก้าวเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซ และกิจการด้านอื่นๆ
แอมะซอน เว็บ เซอร์วิเซส (Amazon Web Services) บริษัททางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud
computing) จะกลายเป็นกิจการรายใหญ่ที่สุดของโลกในด้านนี้ แอมะซอนยังเปิดตัวเครื่องอ่านหนังสือแบบมือถือที่ใช้ชื่อว่า “คินเดิล” (Kindle) อีก 3 ปีต่อมา บริษัทเข้าลงทุนทำรายการโชว์ทางทีวีและภาพยนตร์ของตนเอง
ในปี 2014 บริษัทเปิดตัว แอมะซอน เอคโค (Amazon Echo) ลำโพงอัจฉริยะที่มีระบบผู้ช่วยเสมือน ในรูปของเสียงผู้หญิงใช้ชื่อว่า “อเล็กซา” (Alexa) คอยช่วยเหลือให้เจ้าของสามารถเปิดปิดเพลง, ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ของบ้านอัฉจริยะ, และรับข้อมูลข่าวสาร, ข่าว, พยากรณ์อากาศ, และอื่นๆ
ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่ในครอบครองจำนวน 145,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 เบซอสจึงกลายเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดบนพื้นพิภพนี้
อาลีบาบาอาศัยชิปอนุมานทางปัญญาประดิษฐ์ (artificial-intelligence inference chip) มาเป็นตัวให้พลังแก่คุณสมบัติ (feature) ต่างๆ บนเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของตน ทำให้สามารถจำแนกแยกแยะ [22] ภาพผลิตภัณฑ์ 1,000 ล้านภาพซึ่งพวกผู้ขายอัปโหดลดขึ้นสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของอาลีบาบาในแต่ละวัน และจัดเตรียมภาพเหล่านี้ให้พร้อมเพื่อการเสิร์ช และทำคำแนะนำแบบรายบุคคลส่งไปยังฐานลูกค้าจำนวน 500 ล้านรายของอาลีบาบา ขณะที่แอมะซอนใช้วิธีอนุญาตให้พวกผู้ขายภายนอกใช้แพลตฟอร์มของตนโดยคิดค่าธรรมเนียม ทำให้สามารถเพิ่ม [23] รายการสินค้าสำหรับขายของตนขึ้นเป็น 370 ล้านรายการ –โดยที่มีผู้คน 197 ล้านรายเข้าถึงAmazon.comในแต่ละเดือน
เวลานี้จีนมีฐานะเป็นผู้นำหน้ากว่าใครๆ ทั่วโลกในด้านการชำระเงินผ่านระบบไร้สาย โดยที่สหรัฐฯอยู่ในอันดับ 6 ในปี 2019 ธุรกรรมชนิดนี้ในจีนมีมูลค่าถึงประมาณ 80.5 ล้านล้านดอลลาร์ และเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปีนี้ ทางการผู้รับผิดชอบทั้งหลายจึงต่างกระตุ้นส่งเสริม [24] ให้พวกลูกค้าใช้วิธีการชำระเงินแบบไร้สาย, การชำระเงินทางออนไลน์, และการชำระเงินผ่านระบบบาร์โคด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เป็นที่คาดการณ์กันว่ายอดรวมของการชำระเงินผ่านระบบไร้สาย [25] จะอยู่ที่ 111.1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อนำตัวเลขรายการเดียวกันของสหรัฐฯซึ่งทำได้ 130,000 ล้านดอลลาร์ [26] มาเปรียบเทียบแล้ว มันก็ดูกระจอกไปเลย
ในเดือนสิงหาคม 2012 จาง อี้หมิง (Zhang Yiming) วัย 29 ปี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในปักกิ่ง ได้สร้างมิติใหม่ในการรวบรวมข่าวสารต่างๆ สำหรับให้ยูสเซอร์ใช้งาน [27] ผลิตภัณฑ์ของเขาที่มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า “โถวเถี่ยว” (Toutiao แปลว่า พาดหัวข่าววันนี้) คอยติดตามพฤติกรรมของยูสเซอร์ตามเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนนับพันนับหมื่นแห่ง เพื่อให้ได้กรอบความคิดออกมาว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขาสนใจมากที่สุด แล้วจากนั้นก็เสนอแนะข่าวสารเรื่องราวต่างๆ ให้
เมื่อถึงปี 2016 โถวเถี่ยวได้ยูสเซอร์แล้ว 78 ล้านคน โดยที่ 90% ของจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุต่ำว่า 30 ปี
ในเดือนกันยายน 2016 ไบต์แดนซ์เปิดตัวแอปวิดีโอสั้นในประเทศจีน โดยใช้ชื่อว่า “ต่าวอิน” (Douyin) ซึ่งได้ยูสเวอร์ไป 100 ล้านรายภายในเวลา 1 ปี อีกไม่นานต่อมาแอปตัวนี้จะเข้าสู่ตลาดเอเชียสองสามแห่งโดยใช้ชื่อว่า “ติ๊กต็อก” [28] ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ไบต์แดนซ์ จะทุ่มเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ซื้อMusical.lyแอปสื่อสังคมที่มีฐานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งทางด้านการสร้างคลิปวิดีโอ, การส่งข้อความ, และการถ่ายทอดเผยแพร่แบบสดๆ และยังไปจัดตั้งสำนักงานแห่งหนึ่งขึ้นในแคลิฟอร์เนีย
จาง รวมเอาแอปที่ซื้อมานี้เข้าไปในติ๊กต็อกเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 เพื่อทำให้บริษัทของเขามีฐานที่ใหญ่โตมากขึ้นในสหรัฐฯ จากนั้นยังใช้จ่ายเงินทองอีกเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อโปรโมตติ๊กต็อก ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์วิดีโอ โดนมีเนื้อหาทั้งที่เป็นการเต้นรำสั้นๆ, การลิปซิงค์, เรื่องตลกสนุกสาน, และการแสดงความสามารถต่างๆ ปรากฏว่ามันได้รับการดาวน์โหลดจากผู้คนในสหรัฐฯ 165 ล้านราย และส่งผลขับดันให้คณะบริหารทรัมป์เกิดความหงุดหงิดจนต้องออกมาขัดขวาง
ติ๊กต็อกกลายเป็นความคลั่งไคล้ของคนเจเนอเรชั่น Z ในเดือนเมษายน 2020 มีผู้ดาวน์โหลดทั่วโลกทะลุหลัก 2,000 ล้านราย บดบังพวกยักษ์เทคสหรัฐฯทั้งหลาย นี่จึงทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ (ผู้ไม่ยอมเป็นผู้แพ้!) และประดาเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของเขาดาหน้าออกมาโจมตีแอปตัวนี้ ทรัมป์ยังลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อพยายามที่จะสั่งห้าม [29] ทั้ง ติ๊กต็อก และ วีแชต ไม่ให้ดำเนินกิจการในสหรัฐฯ หรือไม่ให้ชาวอเมริกันได้ใช้งาน (ยกเว้นแต่จะยอมขายแอปเหล่านี้ให้ยักษ์ใหญ่เทคสหรัฐฯ) เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร ก็โปรดติดตามกันต่อไป
การผงาดขึ้นมาอย่างทรงพลังของหัวเว่ย
แต่บริษัทจีนที่เป็นผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคและการสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ คอมพานี ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น และถือเป็นบริษัทนานาชาติระดับโลกรายแรกของแดนมังกร หัวเว่ยยังกลายเป็นจุดแกนกลางจุดหนึ่งในสมรภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันอีกด้วย
หัวเว่ย (ซึ่งในภาษาจีนแปลว่า ความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม) เป็นผู้ทำ[30] โทรศัพท์และเครื่องเราเตอร์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่การสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลก บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 194,000 คนซึ่งดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ 170 ประเทศ ในปี 2019 รายรับต่อปีของบริษัทอยู่ที่ 122,500 ล้านดอลลาร์
ในปี 2012 หัวเว่ยแซงหน้าคู่แข่งขันที่ใกล้เคียงที่สุดของตน คือ บริษัทอีริคสัน เทเลโฟน คอร์เปอเรชั่น แห่งสวีเดน และกลายเป็นบริษัทซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม
ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28% ของตลาดทั่วโลก ในปี 2019 บริษัทยังแซงหน้าแอปเปิล กลายเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองลงมาจาก ซัมซุง เท่านั้น
มีปัจจัยจำนวนมากซึ่งร่วมส่วนทำให้หัวเว่ยสามารถผงาดขึ้นมาอย่างสูงลิบเช่นนี้ ได้แก่ โมเดลทางธุรกิจของบริษัท, บุคลิก และโหมดในการตัดสินใจของ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งบริษัท, นโยบายต่างๆ ของภาครัฐในเรื่องอุตสาหกรรมไฮเทค, และระบบกรรมสิทธิ์ที่พิเศษเฉพาะของหัวเว่ยนั่นคือพวกพนักงานเป็นเจ้าของบริษัท
เหริน เจิ้งเฟย เกิดเมื่อปี 1944 ในมณฑลกุ้ยโจว เขาไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง (Chongqing University) จากนั้นก็เข้าทำงานในสถาบันวิจัยทางการทหารแห่งหนึ่ง ระหว่างช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อตุง อันเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย (ปี 1966-1976) เขาถูกปลดประจำการในปี 1983 เมื่อตอนที่จีนตัดลดขนาดหน่วยทหารในเหล่าทหารช่างของตน ทว่าคำขวัญของกองทัพจีนที่ว่า “สู้รบและอยู่รอด” (fight and survive) ยังคงอยู่กับตัวเขา เขาย้ายไปยังเมืองเซินเจิ้น และทำงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังอยู่แบเบาะของประเทศจีนเป็นเวลา 4 ปี และมีเงินเก็บเพียงพอสำหรับการร่วมก่อตั้งกิจการซึ่งต่อมาจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่เทค “หัวเว่ย”
เขาโฟกัสไปที่เรื่องการวิจัยและการพัฒนา, การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ จากพวกบริษัทตะวันตกมาปรับใช้ ขณะที่บริษัทใหม่ของเขา [31] ได้รับออร์เดอร์จำนวนเล็กน้อยจากฝ่ายทหาร และในเวลาต่อมาก็ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้ดำเนินการวิจัยและการพัฒนาซึ่งสำคัญยิ่ง นั่นคือ การพัฒนาโทรศัพท์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แบบ จีเอสเอ็ม (GSMย่อมาจาก Global System for Mobile Communication) ระบบเพื่อการสื่อสารคมนาคมแบบเคลื่อนที่ทั่วโลก) ตลอดช่วงเวลาหลายปีเหล่านี้ บริษัทได้ผลิตพวกโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์สำหรับสมาร์ตโฟนรุ่นเจเนอเรชั่นที่ 3 (3จี) และ 4จี
ขณะที่อุตสาหกรรมไฮเทคของจีนพุ่งทะยาน หัวเว่ยก็รุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นมาด้วย ในปี 2010 บริษัทว่าจ้าง [32] ไอบีเอ็ม และ แอคเซนเจอร์ พีแอลซี (Accenture PLC) ให้ออกแบบวิธีการต่างๆ ในการบริหารจัดการเครือข่ายสำหรับผู้ให้บริการด้านเทเลคอมทั้งหลาย ในปี 2011 บริษัทว่าจ้าง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) ให้คำปรึกษาแก่บริษัทในเรื่องการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศและการลงทุนต่างๆ
เหมือนๆ กับเหล่าผู้ประกอบการชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก เหรินเน้นหนักให้ความสำคัญลำดับสูงสุด [33] แก่ลูกค้า และในเมื่อปราศจากแรงกดดันระยะสั้นให้ต้องรีบเร่งเพิ่มรายได้และสร้างผลกำไรอย่างที่บริษัททั้งหลายมักประสบกัน ทีมบริหารของเขาจึงได้ลงทุนเป็นจำนวน 15,000 ล้าน ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี [34] ในงานด้านการวิจัยและการพัฒนา
เรื่องนี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมหัวเว่ยจึงกลายเป็น 1 ใน 5 บริษัทของทั่วโลกซึ่งอยู่ในธุรกิจสมาร์ตโฟนระบบ
5จี แถมยังอยู่ในอันดับ 1 ของบัญชีรายชื่อเหล่านี้ [35] ด้วยการส่งออกโทรศัพท์ได้ 6.9 ล้านเครื่องในปี
2019 และครอบครองส่วนแบ่งตลาดไปได้ 36.9% ในวันก่อนหน้าที่จะมีการเปิดตัวโทรศัพท์ 5 จี เหรินเปิดเผย [36] ว่าหัวเว่ยมีสิทธิบัตรด้าน 5 จีจำนวนมากอย่างน่าตะลึงถึง 2,570 เรื่อง
ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลยที่ในการแข่งขันกันระดับโลกในเรื่อง 5จี หัวเว่ยคือเจ้าแรกที่สามารถเปิดตัวผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ออกมาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทั้งนี้ 5จี มีความเร็วยิ่งกว่าการสื่อสารโทรคมนาคมรุ่นก่อนหน้า นั่นคือ 4 จี ประมาณ 100 เท่า[37]โดยรับส่งสัญญาณได้ 10 กิกะบิตต่อวินาที และเป็นที่คาดหมายกันว่า เครือข่าย 5จี ในอนาคตจะเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมากมายเข้าด้วยกัน ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องซักผ้าและกริ่งประตู
ความสำเร็จอย่างมโหฬารของหัวเว่ย กลายเป็นสัญญาณเตือนภัยดังก้องขึ้นทุกทีสำหรับคณะบริหารทรัมป์ และพวกเขาก็ขยับเข้าใกล้การขัดแย้งกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอของสหรัฐฯ [38] พูดถึงหัวเว่ยว่าเป็น “เครื่องมือชิ้นหนึ่งของรัฐแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่คอยแต่จะมุ่งสอดแนม โดย (เป็นเครื่องมือที่นำมา) ใช้ทั้งในการเซนเซอร์ควบคุมพวกที่มีความเห็นต่างในทางการเมือง
และทั้งในการทำให้สามารถสร้างค่ายกักกันขนาดใหญ่โตขึ้นมาในซินเจียง”
เชิงอรรถ
[1] https://en.mercopress.com/2020/07/21/using-masks-to-defeat-the-invisible-chinese-virus-is-patriotic-says-trump-fifteen-points-behind-biden-in-the-polls
[2] https://www.politico.com/news/2020/06/24/robert-obrien-xi-jinping-china-stalin-338338
[3] https://www.livemint.com/news/world/pompeo-calls-for-free-world-to-triumph-over-china-s-new-tyranny-11595548532362.html
[4] https://www.project-syndicate.org/commentary/america-evangelical-crusade-against-china-by-jeffrey-d-sachs-2020-08
[5] https://www.thenation.com/article/world/pompeo-south-china-sea/
[6] https://www.foxnews.com/politics/transcript-fox-news-sunday-interview-with-president-trump
[7] https://www.bbc.co.uk/news/world-us-canada-53329755
[8] https://www.theguardian.com/business/2013/feb/11/china-worlds-largest-trading-nation
[9] https://www.bbc.co.uk/news/magazine-30483762
[10]https://www.theregister.co.uk/2019/04/10/china_sold_almost_100_billion_worth_of_semiconductors_in_2018/
[11] https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2018-09-12/chinese-researchers-are-outperforming-americans-in-science
[12] https://www.electronicsweekly.com/uncategorised/china-tops-2019-patent-filings-2020-04/
[13] https://hbr.org/2010/12/china-vs-the-world-whose-technology-is-it
[14] https://en.wikipedia.org/wiki/Science_and_technology_in_China
[15] https://www.technologyreview.com/2018/12/
[16] https://www.technologyreview.com/2018/12/19/138307/how-google
[17] https://www.searchenginejournal.com/baidu-facts/336803/#close
[18] https://blog.mi.com/en/2018/11/28/news-xiaomi-and-ikea-partner-to-bring-smart-connected-homes-to-more-users/
[19] https://www.business-standard.com/article/international/number-of-unicorn-startups-in-china-exceeds-us-number-for-first-time-119102100359_1.html
[20] https://www.jagranjosh.com/general-knowledge/jack-ma-biography-1589805175-1
[21] https://www.theladders.com/career-advice/amazon-ceo-jeff-bezos-life-career-cars
[22] https://artificialintelligence-news.com/2019/09/26/alibaba-hanguang-800-ai-inference-chip-ml-tasks/
[23] https://www.bigcommerce.co.uk/blog/amazon-statistics/
[24] https://www.globenewswire.com/news-release/2020/05/28/2040017/0/en/China-s-Mobile-Payment-Industry-2020-Mobile-Payment-Transactions-in-China-Forecast-to-Reach-RMB777-5-trillion-in-2020-Surging-by-31-8-on-an-Annualized-Basis.html
[25] https://www.globenewswire.com/news-release/2020/05/28/2040017/0/en/China-s-Mobile-Payment-Industry-2020-Mobile-Payment-Transactions-in-China-Forecast-to-Reach-RMB777-5-trillion-in-2020-Surging-by-31-8-on-an-Annualized-Basis.html
[26] https://www.forbes.com/sites/shelleykohan/2020/03/01/fueled-by-increased-consumer-comfort-mobile-payments-in-the-uswill-exceed-130-billion-in-2020/#17c565c744f2
[27] https://www.thetimes.co.uk/article/tiktok-how-a-chinese-app-for-teens-took-over-the-world-and-embarrassed-donald-trump-rxn68rsj3
[28] https://www.businessinsider.com/tiktok-app-online-website-video-sharing-2019-7?r=US&IR=T
[29] https://www.nytimes.com/2020/08/07/technology/trump-tiktok-wechat.html
[30] https://www.theguardian.com/technology/2020/jul/13/what-is-huawei-and-why-role-in-uk-5g-so-controversial
[31] https://en.wikipedia.org/wiki/Huawei
[32] https://www.theregister.com/2011/05/11/huawei/
[33] https://hbr.org/2015/06/huaweis-culture-is-the-key-to-its-success
[34] https://www.huawei.com/en/facts/voices-of-huawei/interview-with-ren-zhengfei
[35] https://www.telegraph.co.uk/technology/2020/01/29/huawei-now-worlds-biggest-maker-5g-phones/
[36] https://www.huawei.com/en/facts/voices-of-huawei/interview-with-ren-zhengfei
[37] https://5g.co.uk/guides/how-fast-is-5g/
[38] https://www.voanews.com/usa/us-imposes-visa-restrictions-chinese-tech-companies-employees
[39] https://www.commerce.gov/news/press-releases/2020/05/commerce-addresses-huaweis-efforts-undermine-entity-list-restricts
[40] https://www.reuters.com/article/us-usa-huawei-tech-exclusive/u-s-moves-to-cut-huawei-off-from-global-chip-suppliers-as-china-eyes-retaliation-idUSKBN22R1KC
[41] https://www.theguardian.com/technology/2020/jul/18/pressure-from-trump-led-to-5g-ban-britain-tells-huawei
[42] https://www.newsbreak.com/news/1599518768843/huawei-reports-131-growth-in-first-half-of-2020
[43] https://www.washingtonpost.com/politics/with-kung-flu-trump-sparks-backlash-over-racist-language--and-a-rallying-cry-for-supporters/2020/06/24/485d151e-b620-11ea-aca5-ebb63d27e1ff_story.html
[44] https://www.thedailybeast.com/trump-im-like-really-smart-a-very-stable-genius
ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ก่อนหน้านี้ทางเว็บไซต์ TomDispatch (http://www.tomdispatch.com/) อ่านต้นฉบับดั้งเดิมได้ที่http://www.tomdispatch.com/post/176742 tomgram%3A_dilip_hiro%2C_donald_trump_is_losing_his_tech_war_with_xi_jinping/#more
ดิลิป ฮิโร เป็นนักเขียนอาชีพ งานชิ้นหนึ่งในผลงานจำนวนมากของเขา ได้แก่เรื่อง After
Empire: The Birth of a Multipolar World ปัจจุบันเขาอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อเขียนภาคต่อไปของหนังสือเล่มนี้ โดยที่จะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องโรคระบาดโควิด-19