xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯล้มเหลวในความพยายามสร้างกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคขึ้นมาต่อต้านจีน

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 28 ก.พ. 2019) รัฐมนตรีต่างประเทศ ทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ (ซ้าย) กับรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วมกัน ที่กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

US fails to build regional coalition against China
by Richard Javad Heydarian
07/08/2020

เหล่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแสดงปฏิกิริยาตอบรับแบบขอไปที กับการลงแรงผลักดันเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ให้รวมกลุ่มความร่วมมือกันขึ้นมาเพื่อต่อต้านคัดค้านจีนในการอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ เหนือทะเลจีนใต้

ความพยายามของสหรัฐฯที่จะสร้างกลุ่มความร่วมมือกลุ่มหนึ่งขึ้นมาในหมู่ชาติพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตน เพื่อแข่งขันต่อสู้กับการกล่าวอ้างต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้ ดูเหมือนจะอยู่ในอาการล้มคว่ำหงายท้องไปเสียแล้ว

การอุตสาหะลงแรงของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ แห่งสหรัฐฯ ในการตีฆ้องลั่นกลองขอความสนับสนุนให้บรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อต่อสู้คัดค้านการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างแข็งกร้าวของจีนในภูมิภาคแถบนี้ ประสบกับการถูกเพิกเฉยไม่สนอกสนใจ

หลังจากการประโคมป่าวร้องคำแถลงทางนโยบายครั้งล่าสุดว่าด้วยข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ของเจ้ากระทรวงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/07/us-picks-a-fight-with-china-in-south-china-sea/) ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็เร่งรัดผลักดันให้มีการสร้างพลังสนับสนุนระดับท้องถิ่นที่มุ่งต่อต้านคัดค้านจีนขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าพวกประเทศเอเชียตะวนออกเฉียงใต้รายหลักๆ ซึ่งต่างกระตือรือร้นที่จะรักษาความผูกพันอย่างมั่นคงกับจีนเอาไว้ต่อไป จึงพากันนำตัวเองถอยห่างออกจากคำแถลงของพอมเพโออย่างเปิดเผย ขณะที่ชาติอื่นๆ หากไม่แสดงการตอบรับอย่างจืดชืด ภายในประเทศเหล่านี้ก็เกิดการแตกแยกความคิดเห็นในเรื่องที่พวกเขาควรประกาศสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อจุดยืนที่กำลังแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ของอเมริกาดีหรือไม่

ระหว่างการแถลงนโยบายว่าด้วยทะเลจีนใต้คราวล่าสุด ซึ่งเป็นการยกระดับเพิ่มขยายสงครามเย็นที่คณะบริหารทรัมป์กำลังทำอยู่กับปักกิ่งอย่างสำคัญ พอมเพโอประกาศก้องว่าจะป้องกันภัยจาก “จักรวรรดิทางทะเล” จีน อีกทั้งจะสนับสนุน “เหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิทางอธิปไตยของพวกเขาที่มีเหนือทรัพยากรต่างๆ นอกชายฝั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสิทธิต่างๆ และความผูกพันต่างๆ ของพวกเขาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

จากการแถลงนโยบายดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแค่สหรัฐฯปฏิเสธไม่ยอมรับข้ออ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลจำนวนมากมายของจีนว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่านั้น แต่ยังให้การยืนยันรับรองอย่างอ้อมๆ ต่อการอ้างกรรมสิทธิ์ของชาติอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งเป็นปรปักษ์กับการกล่าวอ้างของปักกิ่งอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม (แวนการ์ด แบงก์ Vanguard Bank), มาเลเซีย (เจมส์ โชล James Shoal), อินโดนีเซีย (นาตูนา เบซาร์ Natuna Besar), และฟิลิปปินส์ (เซคันด์ โธมัส โชล Second Thomas Shoal และ มิสชีฟ รีฟ Mischief Reef) โดยบอกว่าสถานที่ต่างๆ ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์นั้น อยู่ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) หรือไม่ก็เป็นพื้นที่ไหล่ทวีปของประเทศเหล่านี้ต่างหาก

แต่ปรากฏว่า มันยังคงห่างไกลนักจากการส่งผลชักชวนจูงใจให้เหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลายในภูมิภาคนี้ ออกมาให้การสนับสนุนอย่างเด็ดขาดชัดเจน และสหรัฐฯยังต้องอยู่ในอาการดิ้นรนหนักสำหรับการเรียกระดมพลก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่อคัดค้านต่อต้านจึนขึ้นมา

ระหว่าง “การสนทนาสหรัฐฯ-อาเซียน” (US-ASEAN Dialogue) ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/33rd-u-s-asean-dialogue-strengthening-u-s-asean-relations/#.XyvNRayw-Dg.twitter) ทางฝ่ายสหรัฐฯบอกว่า เดวิด อาร์ สติลเวลล์ (David R Stilwell) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และเหล่ารัฐมนตรีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมหารือกัน “ยืนยันอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องหาหนทางแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติ ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ดังที่สะท้อนให้เห็นอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) และคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2016 (the 2016 Arbitral Tribunal ruling)

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ในปี 2016 ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นผู้ยื่นฟ้อง คำตัดสินนี้ระบุว่าข้ออ้างต่างๆ จำนวนมากของจีนในทะเลจีนใต้นั้นเป็นโมฆะ มันจึงกลายเป็นหลักหมายแสดงถึงความคืบหน้าอย่างสำคัญครั้งหนึ่งในความร่วมมือกันทางการทูตเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ (หมายเหตุผู้แปล – จีนซึ่งเป็นจำเลยสำคัญในการถูกฟ้องร้องคราวนั้น ได้ปฏิเสธตั้งแต่ต้นไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาเรื่องนี้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรแห่งนี้ รวมทั้งไม่ได้เข้าร่วมการแก้ต่างใดๆ ตลอดจนประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินที่ออกมา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Philippines_v._China)

กระนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ก็ยังคงประสบความสำเร็จเพียงน้อยนิด ในการเชิญชวนเรียกร้องความสนับสนุนในระดับชาติ ระหว่างที่เขาดำเนินการเจรจาแบบทวิภาคีหลายต่อหลายครั้งกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของหลายๆ ชาติในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ วิเวียน บาลากริชนัน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ และกับ เร็ตโน มาร์ซูดี (Retno Marsudi) ของอินโดนีเซีย

ถึงแม้ทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ได้เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์โดยตรงใดๆ ในทะเลจีนใต้ แต่พวกเขาก็ถูกจับตามองกันอยู่มากในฐานะที่เป็นผู้นำในทางพฤตินัยในอาเซียน ทั้งคู่ยังแสดงจุดยืนแบบวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อการยืนกรานของจีนในการอ้างสิทธิทางทะเลตามน่านน้ำข้างเคียงต่างๆ

พอมเพโอโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ กล่าวยกย่อง “การสนทนาอันยิ่งใหญ่” ระหว่างเขากับรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ “เพื่อหารือกันเกี่ยวกับความปรารถนาของพวกเราที่จะยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องทะเลจีนใต้ และส่งเสริมสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

อย่างไรก็ดี น้ำเสียงสดใสมองการณ์แง่ดีเช่นนี้ กลับไม่ได้ปรากฏอยู่ในคำแถลงของทางฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งมีแต่อ้างอิงถึงการสนทนากันตามแบบแผนเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการวิจัยพัฒนาในเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ขณะที่กล่าวย้ำถึง “จุดยืนอันสม่ำเสมอและมีมานานแล้ว” ของสิงคโปร์ ในเรื่องข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ด้วยภาษาถ้อยคำที่ผ่านการขัดเกลาอย่างสุขุมรอบคอบ

“สิงคโปร์ไม่ได้เป็นรัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ด้วย และเราก็ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนซึ่งขัดแย้งกันอยู่นี้” นี่เป็นคำแถลงที่ยังคงใช้ถ้อยคำจืดชืดซ้ำซากน่าเบื่อจากกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ “ความสนใจสำคัญที่สุดของเราคือการมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในน่านน้ำแห่งนี้ ซึ่งเป็นน่านน้ำมีการสัญจรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

ตามปากคำของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่างที่พอมเพโอสนทนากับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในเรื่อง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อันแข็งแรงและต่อเนื่องระหว่างสหรัฐฯ-อินโดนีเซีย และเป้าหมายที่มีร่วมกันของประเทศทั้งสองในเรื่องการเคารพปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/search?q=Retno%2520Pompeo&src=typed_query)

ทว่าตามคำแถลงของฝ่ายรัฐมนตรีอินโดนีเซียนั้น กลับไม่ได้ระบุถึงเรื่องข้อพิพาททางทะเลนี้เอาเลย ตรงกันข้ามกลับมีแต่การเน้นหนักถึง “ความสำคัญของความร่วมมือกันให้มากขึ้นในด้านสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเศรษฐกิจของอเมริกาและของอินโดนีเซียขึ้นมาใหม่ และธำรงรักษาภูมิภาคนี้ให้ปลอดภัย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/eAsiaMediaHub/status/1290528136124198913)

ถึงแม้อินโดนีเซียไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งโดยตรงในกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ แต่การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น (nine-dash-line) ซึ่งขาดความชัดเจนแน่นอนและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมากนั้น ก็ทับซ้อนกับน่านน้ำของแดนอิเหนาในบริเวณทะเลนาตูนาเหนือ (North Natuna Sea)

ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียได้หันมาใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์อย่างเกินเลยของฝ่ายจีน รวมทั้งได้ยื่นสารบันทึกวาจา (note verbale) ฉบับหนึ่งต่อสหประชาชาติ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thediplomat.com/2020/06/indonesia-cites-2016-south-china-sea-arbitral-tribunal-award-at-un-is-that-a-big-deal/) ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความสงสัยข้องใจว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนนั้นมีผลบังคับตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการปี 2016 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การที่พอมเพโอแสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยชัดเจน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/u-s-position-on-maritime-claims-in-the-south-china-sea/) ต่อการที่อินโดนีเซียอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ นาตูนา เบซาร์ ยังคงไม่ได้นำไปสู่การตอบสนองอย่างที่เขาปรารถนาจากฝ่ายอินโดนีเซีย ซึ่งดูเหมือนกำลังกำหนดพิกัดจุดยืนของตนให้อยู่ในขอบเขตอันจำกัดชัดเจน และมีความกระตือรือร้นมากกว่าที่จะธำรงรักษาความผูกพันอย่างสร้างสรรค์กับปักกิ่ง

ระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ พวกเจ้าหน้าที่จีนก็ได้เคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-07-30/China-vows-to-prioritize-Philippines-request-for-vaccine-access-Sxy6OlYSek/index.html) ในการอาศัยคำมั่นสัญญาที่จะจัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปให้แต่เนิ่นๆ ตลอดจนเรื่องการลงทุนต่างๆ ทางโครงสร้างพื้นฐาน มาป้องกันไม่ให้เกิดกระแสตีกลับซึ่งนำโดยสหรัฐฯในเรื่องข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แม้กระทั่งพวกพันธมิตรระดับที่มีการทำสนธิสัญญาข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์ ซึ่งกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ระดับท็อปหลายคนออกมาสนับสนุนและต้อนรับคำแถลงต่างๆ ของพอมเพโออย่างเปิดเผยด้วยซ้ำ กลับตกอยู่ในสภาพเกิดการแตกแยกความคิดเห็นกันภายใน

ในความพยายามที่จะสงวนรักษาความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่กับปักกิ่ง ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ได้ตัดสินใจกระทำสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้แก่ การสั่งห้ามกองทัพเรือฟิลิปปินส์เข้าร่วมในการดำเนินกิจกรรมและการฝึกซ้อมทางทหารต่างๆ ที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำในทะเลจีนใต้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/08/duterte-bans-exercises-with-us-in-south-china-sea/)

สิ่งซึ่งประธานาธิบดีผู้เป็นเพื่อนมิตรกับจีนผู้นี้ กระทำมากยิ่งกว่าผู้นำคนอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้ก็คือ เขากระทั่งประกาศเปิดเผยว่ากำลังวางเดิมพันความสำเร็จในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์โควิด-19 ของเขาทั้งหมดทั้งสิ้น เอาไว้กับการที่จะได้รับวัคซีนมาก่อนสิ้นปีนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/philippines-extends-coronavirus-restrictions-in-manila-as-cases-surge)

“ขอให้รอเวลาที่จะได้วัคซีนกันเถอะ ขอให้รอไปจนถึงเดือนธันวาคม ถ้าเราเพียงแค่มีความอดทนเพียงพอ ... เราก็จะไม่เพียงแค่ได้กลับไปสู่ ‘ความปกติใหม่’ (new normal) เท่านั้น มันจะเป็นการได้กลับไปสู่ความปกติ (normal) ธรรมดาๆ อีกครั้งด้วยซ้ำไป” ดูเตอร์เตการเช่นนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ภายหลังการสนทนากับคณะผู้นำจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/philippines-extends-coronavirus-restrictions-in-manila-as-cases-surge)

แต่กระนั้น พวกผู้นำระดับสูงหลายคนของฟิลิปปินส์ ยังคงดูมีท่าทีสนับสนุนจุดยืนของสหรัฐฯในการต่อต้านจีนอย่างเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น ในการสนทนากันทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ระหว่างพอมเพโอ กับ ทีโอโดโร ล็อกซิน จูเนียร (Teodoro Locsin Jr.) รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึง “การที่สหรัฐฯให้ความสนับสนุนแก่บรรดารัฐชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการยืนหยัดยึดมั่นสิทธิทางอธิปไตยและผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกตนซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://globalnation.inquirer.net/190110/us-policy-shift-on-scs-maritime-claims-raised-during-call-between-pompeo-locsin)

รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ยังถึงกับลดทอนน้ำหนักการตัดสินใจล่าสุดเรื่องไม่ให้ซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯของประธานาธิบดีดูเตอร์เต โดยกล่าวเรียกร้องจีนว่า ไม่ควรที่จะตีความ “มากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://globalnation.inquirer.net/190069/locsin-to-china-whats-ours-is-ours-as-ph-sits-out-south-china-sea-naval-drills#ixzz6UOU2QK5J)

“คุณหวัง (อี้) คุณกำลังตีความมากเกินไปแล้ว สำหรับคำชี้แนะธรรมดาๆ ฉบับหนึ่งที่ไม่ให้เข้าร่วมในการซ้อมรบทางเรือเหล่านี้ในครั้งนี้” ล็อกซินกล่าว โดยพาดพิงอ้างอิงถึงการที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ออกมาชื่นชมยินดีเรื่องที่ฟิลิปปินส์ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการซ้อมรบที่นำโดยสหรัฐฯ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://globalnation.inquirer.net/190110/us-policy-shift-on-scs-maritime-claims-raised-during-call-between-pompeo-locsin)

“เราไม่เข้าร่วมในคราวนี้ แต่เรายังไม่ทราบหรอกว่าเราจะเข้าร่วมไหมในคราวหน้า โอเคนะครับ?” ล็อกซินกล่าวต่อ พร้อมกันเน้นย้ำถึงการเปิดกว้างของฟิลิปปินส์ในการเข้าร่วมการฝึกซ้อมทางนาวีในทะเลจีนใต้ที่นำโดยสหรัฐฯในครั้งต่อๆ ไปในอนาคต

ล็อกซินยังพูดอย่างชัดเจนว่า จุดยืนของฟิลิปปินส์ว่าด้วยข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ “มีความสอดคล้องต่อเนื่องและชัดเจน” และจีนควรที่จะยอมรับปฏิบัติตามคำตัดสินปี 2016 ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น