(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
TikTok’s ‘unpatriotic’ founder gets thumbs down
by Frank Chen
06/08/2020
ความพยายามของ จาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต็อก ในการลบทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นจีนของแอปยอดนิยมตัวนี้ กำลังสร้างความเดือดดาลให้แก่ปักกิ่งและพวกยูสเซอร์ที่ใช้แอปต่างๆ ของเขาอยู่ในประเทศจีน
ติ๊กต็อกกำลังนับถอยหลังเพื่อก้าวไปสู่ฉากสุดท้ายแห่งการลงแรงทำงานหนักของตนเอง ขณะที่คณะบริหารทรัมป์คอยเฝ้าติดตามรายงานต่างๆ เกี่ยวกับการเจรจาระหว่างบริษัทแม่ของติ๊กต็อกกับไมโครซอฟท์ ในเรื่องที่ฝ่ายหลังจะเข้ามาซื้อหาครอบครองแอปแชร์วิดีโอสัญชาติจีนตัวนี้ ซึ่งมนตร์เสน่ห์ของสไตล์ขี้เล่นซุกซนสนุกสนานของมันกำลังผูกมัดตราตรึงวัยรุ่นอเมริกันจำนวนเป็นสิบๆ ล้านคน
ย้อนกลับมายังบ้านเกิด ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่งของ ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต็อก มีรายงานว่า จาง อี้หมิง (Zhang Yiming) ผู้ก่อตั้งบริษัทได้สารภาพผิดเอาไว้ในบันทึกภายในฉบับหนึ่งซึ่งส่งถึงบรรดาลูกจ้างพนักงานจำนวน 3,000 คนของเขา ว่าเขาประสบความล้มเหลวในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคำมั่นสัญญาจากทางรัฐบาลจีนที่จะหนุนหลังอย่างหนักแน่นใดๆ แก่ไบต์แดนซ์ ถึงแม้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ปักกิ่งยังคงให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่พวกบริษัทซึ่งเติบโตขึ้นมาในแดนมังกรแห่งอื่นๆ อย่างเช่น หัวเว่ย และ แซดทีอี เมื่อพวกเขาถูกสหรัฐฯหาทางไล่บี้บีบเค้นกิจการเหล่านี้ให้ถึงตาย
พวกลูกจ้างพนักงานที่ขอให้สงวนนามของไบต์แดนซ์ ซึ่งได้อ่านบันทึกภายในฉบับนี้ ระบุอ้างอิงว่า จาง พูดอย่างชัดเจนว่า ติ๊กต็อก—เวอร์ชั่นในต่างประเทศของ “ต่าวอิน” (Douyin) ซึ่งก็สามารถทำให้พวกยูสเซอร์สมาร์ตโฟนชาวจีนจำนวนมากมายรู้สึก “ว้าว” ได้ ตั้งแต่มันเริ่มเปิดตัวในปี 2017 –จะถูกขายให้แก่ผู้ซื้อสัญชาติอเมริกันก่อนถึงกำหนดเส้นตายกลางเดือนกันยายนที่ทรัมป์ขีดเอาไว้ จางยังคาดหมายว่าจะได้รับเงินทองค่าตอบแทน “อย่างเหมาะสม” จากการขายแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ ซึ่งดึงดูดฐานยูสเซอร์ที่แอคทีฟได้ 26.5 ล้านรายในสหรัฐฯนี้ ถึงแม้การซื้อขายที่เกิดขึ้นมาจะไม่ใช่เป็นการเจรจาทำธุรกรรมอย่างปกติธรรมดาก็ตาม
กระนั้นยังคงมีรายงานทางสื่อจีนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมด้วยเหมือนกันว่า จางอาจจะไม่ทำตามการเรียกร้องขู่เข็ญของทรัมป์ หรือไม่ทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเส้นตายวันที่ 15 กันยายน ซึ่งประมุขทำเนียบขาวระบุเอาไว้ว่าติ๊กต็อกต้องเปลี่ยนเจ้าของ หรือไม่แอปนี้ก็จะถูกสั่งห้ามใช้โดยสิ้นเชิงในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี มีสิ่งหนึ่งซึ่ง จาง มั่นอกมั่นใจได้ นั่นคือ ไม่เหมือนกับเมื่อตอนที่ หัวเว่ย กับ แซดทีอี ถูกทรัมป์เจาะจงพุ่งเป้าเล่นงานและปิดกั้นไม่ให้เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯและสายโซ่อุปทานของสหรัฐฯ แล้วเกิดกระแสสนับสนุนแบบชาตินิยมต่อบริษัทเทเลคอม 2 รายนี้อย่างทะลักทลายขึ้นมาในแดนมังกร การที่ติ๊กต็อกและไบต์แดนซ์ผู้เป็นบริษัทแม่ จะวาดหวังได้รับการปลอบโยนอะไรนั้น คงจะกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ยากนักหนา ในเมื่อพวกเขากำลังสร้างความขุ่นเคืองให้แก่ปักกิ่ง
นอกเหนือจากการประณามวิพากษ์ความพยายามของทรัมป์ในการรังแกบริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งให้ออกไปพ้นดินแดนสหรัฐฯแล้ว ปักกิ่งก็ไม่ได้แสดงท่าทีหนุนหลังเอาด้วยอะไรอีก โดยเฉพาะกับกลยุทธ์การทำพีอาร์ในสหรัฐฯของติ๊กต็อก ซึ่ง จาง พยายามหาทางลบทิ้งอัตลักษณ์แห่งความเป็นจีนของติ๊กต็อก เพราะคิดว่ามันจะเป็นหนทางในการรักษากิจการของตนในอเมริกาให้รอดชีวิตต่อไปได้
เรื่องที่ย่ำแย่ยิ่งไปกว่านั้นเสียอีกก็คือ ทั้งสื่อภาครัฐของจีนและประชากรชาวเน็ตจีนต่างพากันแสดงความไม่พอใจการที่จางยินยอมทำตามความเรียกร้องต้องการของวอชิงตันอย่างเซื่องๆ ตลอดจนการที่ไบต์แดนซ์ยังคงรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อขุดทิ้งรากเหง้าความเป็นจีนของตนเอง นี่ช่างตัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับการปลุกกระแสความรักชาติโดยผ่านคลิปวิดีโอและรายงานข่าว –อย่างเช่นเรื่องที่หัวเว่ยแสดงท่าทีไม่ยอมก้มหัวให้แก่การแซงก์ชั่นครั้งแล้วครั้งเล่าของสหรัฐฯ— ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ของไบต์แดนซ์ ไม่ว่าจะเป็น ต่าวอิน หรือ โถวเถี่ยว (Toutiao) แอปรวมข่าวที่ได้รับความนิยมสูงมาก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส (China News Service) สำนักข่าวของทางการจีน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า ไบต์แดนซ์ และแอปทั้งหมดของบริษัท มีแต่จะถูกบอยคอตต์โดยยูสเซอร์ชาวจีน และในที่สุดแล้วจางอาจจะต้องสูญเสียมากยิ่งไปกว่านี้อีก ถ้าหากบริษัทยังคงหาทางพาตัวเองให้ถอยห่างออกจากจีน และเปลี่ยนติ๊กต้อกให้กลายเป็น “แอปที่สอดคล้องทำตามความต้องการของสหรัฐฯ”
พวกชาวเน็ตจีนเลือดรักชาติบางรายยังกำลังเที่ยวสำรวจค้นหาข้อมูลที่จะสามารถนำมาเปิดโปงสร้างความเสียหายให้แก่จาง โดยกำลังกล่าวหาตั้งคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อชาติของเขา จากข้อความต่างๆ ที่เขาโพสต์บนเว่ยปั๋วก่อนหน้านี้ทั้งในเรื่องการทำธุรกิจในสหรัฐฯ และเรื่องการเมืองในประเทศจีนซึ่งเขามีทัศนะที่หันเหออกไปจากแนวทางอย่างเป็นทางการของปักกิ่ง รวมทั้งถูกมองว่าเป็นการมุ่งประจบประแจงพวกผู้อุปถัมภ์ฝ่ายอเมริกัน
การที่จางตัดสินใจถอนติ๊กต็อกออกไปจากฮ่องกง ซึ่งทำให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์ด้านเครือข่ายสื่อสังคมรายสำคัญรายแรก –และจนถึงเวลานี้ยังเป็นแค่รายเดียวเท่านั้นที่เลือกจะทำเช่นนี้-- ภายหลังการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ปักกิ่งร่างขึ้นเพื่อใช้กับเขตบริหารพิเศษแห่งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ทางการจีนโกรธเกรี้ยว เนื่องจากการถอนตัวหยุดดำเนินกิจการเช่นนี้ย่อมไม่ต่างอะไรกับการออกเสียงแสดงความไม่ไว้วางใจ
แผนการของเขาที่จะเปลี่ยนสถานที่จดทะเบียนบริษัทของเขาเสียใหม่ ด้วยการโยกย้ายสำนักงานใหญ่ระดับทั่วโลกของติ๊กต็อก ไปยังกรุงลอนดน ไม่ใช่กลับมาที่กรุงปักกิ่ง ถ้าหากแอปตัวนี้ถูกสั่งแบนในสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่พวกยูสเซอร์ชาวจีน
ไบต์แดนซ์ไม่ได้ตอบอะไรกลับมา เมื่อถูกสอบถามผ่านทางอีเมล์ขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
ในเวลาเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่า การขายติ๊กต็อกให้แก่ไมโครซอฟท์ สามารถที่จะตีความได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวอย่างชาญฉลาดของจาง ในการทำตามข้อเรียกร้องของทรัมป์ โดยพร้อมกันนั้นก็เป็นการแสดงความรอมชอมกับปักกิ่งไปด้วย เนื่องจากไมโครซอฟท์ และบิลล์ เกต ที่เป็นผู้ก่อตั้ง ต่างถูกมองในแง่ดีจากปักกิ่งเสมอมา
ทางด้าน ไชน่า บิสซิเนส นิวส์ (China Business News) ตั้งข้อสังเกตว่า ไบต์แดนซ์กับไมโครซอฟท์อาจเลือกใช้วิธีแลกหุ้นในธุรกิจของกันและกัน ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการแบบวิน-วินสำหรับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากติ๊กต็อกจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปในสหรัฐฯ ขณะที่ไมโครซอฟท์ก็สามารถที่จะครอบครองส่วนแบ่งตลาดก้อนโตในภาคเครือข่ายสื่อสังคมซึ่งยังมีโอกาสเติบโตต่อไปอีกมากมาย กระนั้นทั้งสองบรษัทต่างไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไรต่อรายงานข่าวที่ว่า วอชิงตันอาจจะขอให้ไมโครซอฟท์ขายธุรกิจของตนในจีน ก่อนที่จะเข้าครอบครองเป็นเจ้าของติ๊กต็อก