(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
TikTok grab could extend US online dominance
by Rob Lever
06/08/2020
การบีบบังคับยึดเอา “ติ๊กต็อก” มาไว้ในครอบครอง อาจเป็นการเพิ่มขยายฐานะในการครอบงำเหนือโลกออนไลน์ของสหรัฐฯ แต่มันก็มีผลพวงต่อเนื่องในทางลบอย่างไม่ตั้งใจ
การนำเอา ติ๊กต็อก มาผูกเอาไว้กับ ไมโครซอฟท์ สามารถที่จะเพิ่มขยายฐานะครอบงำของอเมริกันในโลกออนไลน์และสื่อสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก แต่มันก็อาจก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องด้านลบที่ไม่ได้ตั้งใจบางประการขึ้นมาแก่บรรดาบริษัทสหรัฐฯและแก่แนวความคิดเรื่องอินเทอร์เน็ตแบบเปิดกว้าง
ข้อตกลงที่กำลังเจรจาอยู่กับคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นการหั่นแล่เอาส่วนต่างๆ ของแอปวิดีโอยอดนิยมตัวนี้มาให้แก่ไมโครซอฟท์ ซึ่งจะทำให้ยักษ์ใหญ่เทคอเมริกันรายนี้สามารถปักหลักวางเท้าได้อย่างมั่นคง ภายในสภาพแวดล้อมทางสื่อสังคมซึ่งเน้นหนักที่เยาวชนคนหนุ่มสาวและกำลังเติบโตขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังจะทำให้ไมโครซอฟท์เข้าร่วมขบวนกลายเป็นคู่แข่งขันของพวกบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก
ดีลลักษณะเช่นนี้ “จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะนำหน้าใครเพื่อนในทางเทคโนโลยีของอเมริกัน ด้วยการโยกย้ายผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคตัวสำคัญตัวหนี่งให้ออกมาจากการครอบครองถือกรรมสิทธิ์ของจีน” นี่เป็นความเห็นของ ดาร์เรลล์ เวสต์ (Darrell West) ผู้อำนวยการของศูนย์กลางเพื่อนวัตกรรมเทคโนโลยี ซึ่งสังกัดอยู่กับสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) กลุ่มคลังสมองชื่อดังที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน
“แต่มันก็อาจจะกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดลัทธิชาตินิยมทางข้อมูล (data nationalism) ขึ้นมา โดยมันจะกลายเป็นเชื้อเพลิงเติมพลังให้แก่เสียงเรียกร้องในหลายๆ ประเทศ ซึ่งต้องการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมเหนือแพลตฟอร์มต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจน (ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมเหนือ) การจัดเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ภายในขอบเขตเส้นเขตแดนประเทศของพวกเขาเอง”
มีนักวิเคราะห์คนอื่นๆ อีกที่บอกว่า ดีลนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างไกลมากต่อแนวความคิดว่าด้วยการมีอินเทอร์เน็ตแบบเปิดกว้าง ซึ่งถือเป็นจุดยืนของวอชิงตันมาอย่างยาวนาน และขัดแย้งเป็นตรงกันข้ามกับแนวความคิดของจีนตลอดจนระบอบปกครองเผด็จการอื่นๆ ซึ่งต้องการให้จำกัดควบคุมเนื้อหาทางออนไลน์
“มันจะกลายเป็นการก้าวเดินที่ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีก เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของธรรมาภิบาลทางอินเทอร์เน็ต” เป็นความเห็นของเกรแฮม เวบสเตอร์ (Graham Webster) บรรณาธิการโครงการ ดิจิไชน่า โปรเจ็คต์ (DigiChina Project) ของศูนย์นโยบายไซเบอร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University Cyber Policy Center)
“นี่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมาในลักษณะที่ว่า สหรัฐฯกำลังดูเหมือนหันไปให้ความสนับสนุนจุดยืนที่ยึดถือมายาวนานของฝ่ายจีน ซึ่งก็คือว่าถ้าพวกเขาไม่ชอบวิธีการที่พวกบริษัทในอีกประเทศหนึ่งดำเนินกิจการแล้ว พวกเขาก็สามารถที่จะสั่งแบนหรือเข้ายึดบริษัทเหล่านี้ได้ ดังนั้น นี่จะกลายเป็นจังหวะการก้าวเดินที่ใหญ่โตมาก”
ไมโครซอฟท์ขึ้นสู่เวที
ไมโครซอฟท์แถลงว่ากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อขอซื้อกิจการติ๊กต็อกส่วนที่อยู่ในสหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ รวมทั้งจะแก้ไขคลี่คลายความห่วงกังวลของวอชิงตันเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางข้อมูล สืบเนื่องจากการกล่าวหาที่ว่าแพลตฟอร์มทางสังคมออนไลน์อย่างติ๊กต็อก อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำจารกรรมได้
ตัวประธานาธิบดีทรัมป์นั้นแถลงว่า เขาคงจะยินยอมอนุมัติดีลซื้อขายเช่นนี้ได้ แถมยังกำหนดขีดให้กลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เป็นเส้นตาย โดยหากถึงตอนนั้นการเจรจายังไม่มีข้อยุติ เขาก็จะสั่งแบนตี๊กต็อกในสหรัฐฯ
ดีลใดๆ ก็ตามทีที่จะเกิดขึ้นมา ย่อมทำให้ไมโครซอฟท์ได้รับส่วนแบ่งชิ้นโตของฐานยูสเซอร์ของติ๊กต็อกซึ่งประมาณการกันว่ามีผู้ใช้งานกันในระดับเรือนพันล้านคน รวมทั้งได้รับแบ่งปันเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้แอปตัวนี้เป็นที่นิยมชื่นชอบอย่างกว้างขวางในหมู่ยูสเซอร์สมาร์ตโฟนวัยเยาว์
การเจรจาต่อรองกันครั้งนี้บังเกิดขึ้น ท่ามกลางพื้นหลังของการที่พวกบริษัทเทคระดับบิ๊กเบิ้มสัญชาติสหรัฐฯ ทั้งในด้านสื่อสังคม, เสิร์ชทางออนไลน์และการโฆษณาทางออนไลน์, คลาวด์ คอมพิวติ้ง, และภาคส่วนอื่นๆ กำลังมีฐานะครอบงำเหนือกิจการเหล่านี้ของทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ธุรกิจพวกนี้มีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกที
แพทริก มัวร์เฮด (Patrick Moorhead) นักวิเคราะห์ซึ่งทำงานที่ มัวร์ อินไซต์ส แอนด์ สแทรเทจี (Moor Insights & Strategy) บอกว่า การที่สหรัฐฯเคลื่อนไหวบีบคั้นบริษัทเทคของจีนเช่นนี้ อาจจะถือได้ว่ามีเหตุผลความชอบธรรม เนื่องจากจีนจำกัดการดำเนินงานของพวกบริษัทสหรัฐฯในแดนมังกรมาโดยตลอด
“จีนกำลังบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของพวกเขาต่อเราเรื่อยมาในระยะ 25 ปีหลังมานี้” เขากล่าว
“ถ้าหากคุณเป็นบริษัทอเมริกันอะไรรายหนึ่งซึ่งกำลังจะดำเนินกิจการในจีน คุณจำเป็นต้องหาคนท้องถิ่นมาร่วมเป็นเจ้าของด้วยในสัดส่วน 49% แล้วคุณยังต้องยอมส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาให้อีก แต่กิจการของจีนอะไรรายหนึ่งในสหรัฐฯไม่ได้จำเป็นต้องมีสปอนเซอร์สหรัฐฯมาร่วมเป็นเจ้าของ คุณแค่เปิดช็อปก็ดำเนินกิจการได้แล้ว สหรัฐฯจึงกำลังเรียกร้องต้องการระเบียบหลักเกณฑ์การค้าที่มีความสมมาตร”
การถูกตัดแบ่งออกเป็นหลายๆ ส่วน
อย่างไรก็ตาม ซูซาน แอรอนสัน (Susan Aaronson) อาจารย์และหัวหน้าของศูนย์ด้านการค้าดิจิตอลและธรรมาภิบาลทางข้อมูล (Digital Trade and Data Governance hub) ณ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (George Washington University) มองว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะตัดเฉือนติ๊กต็อก อาจจะเจอปัญหาอุปสรรคอันใหญ่โต รวมทั้งก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องต่างๆ ในทางลบ
“พวกเขาไม่สามารถตัดเฉือนแบ่งแอปออกเป็นส่วนๆ ได้หรอก เรื่องเช่นนี้ไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จมาก่อนเลย” แอรอนสันกล่าว พร้อมกับเสริมว่า ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าการขายคราวนี้จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างไรต่อกิจการของติ๊กต็อกในประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบแห่ง
แอรอนสันให้ความเห็นอีกว่า การที่ทรัมป์ “ข่มเหงรังแก” ติ๊กต็อก และ ไบต์แดนซ์ เช่นนี้ อาจกลายเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ใช้ปฏิบัติการทำนองเดียวกัน โดยเป็นไปได้ว่าเพื่อเล่นงานพวกบริษัทอเมริกันซึ่งมีฐานะครอบงำเหนือระบบนิเวศอินเทอร์เน็ตของโลกในส่วนซึ่งอยู่นอกประเทศจีน
“ข้อสรุปโดยรวมทั้งหมดของอินเทอร์เน็ตคือ ข้อมูลควรที่จะไหลเวียนข้ามพรมแดนต่างๆ ได้อย่างเสรี” แอรอนสัน ชี้ “ถ้าหากคุณกำลังใช้วิธีข่มเหงรังแกคนอื่นๆ และกำลังทำตัวเป็นนักชาตินิยมแล้ว อินเทอร์เน็ตก็จะเกิดการแบ่งแยกแตกออกเป็นส่วนๆ มากยิ่งขึ้นไปอีก”
เว็บเตอร์ก็เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าวนี้ เขากล่าวว่าพวกบริษัทเทคสหรัฐฯอาจเผชิญผลพวงต่อเนื่องจากสิ่งซึ่งน่าจะถูกมองว่า เป็นการที่สหรัฐฯ “ทำการเวนคืน” ติ๊กต็อก
“มันอาจจะมีค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่วทีเดียว ถ้าหากกิจการ (ของสหรัฐฯ) เหล่านี้สักแห่งหนึ่ง ถูกบังคับให้ต้องตัดแบ่งส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของตนออกไป” เขาชี้
ยังมีผลกระทบทางลบที่มีลักษณะรากฐานยิ่งกว่านี้อีกด้วย เว็บสเตอร์บอก นั่นคือ การบังคับให้ขายติ๊กต็อกย่อมหมายถึงการก้าวถอยห่างออกมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์มากมายแก่พวกยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนแวลลีย์ทั้งหลาย
“จุดยืนที่สหรัฐฯยึดถือเรื่อยมาก็คือ บริษัทต่างๆ ควรที่จะสามารถทำธุรกิจข้ามพรมแดน และการเปิดกว้างเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์แก่พวกบริษัทสหรัฐฯ” เขากล่าว
การแบ่งเฉือนติ๊กต็อก “อาจกลายเป็นการผลักดันให้เกิดแบบแผนของกระบวนการทำให้บริการต่างๆ ทางออนไลน์มีลักษณะท้องถิ่น (localization of online services) ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐนและบริษัทต่างๆ ของสหรัฐฯคัดค้านมาโดยตลอด เขาแจกแจงต่อ