xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แย้ม 2 แบบแก้ รธน. รบ.มีธงอยู่แล้วแต่ขอฟังหลายฝ่าย ชี้ใช้งบเยอะก็ต้องทำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
มือกฏฎหมายรัฐบาลเผย 2 แบบแก้ รธน. รับรัฐบาลมีธงในใจแล้ว ขอรอฟังเสียงหลายฝ่าย ป้องกันขัดแย้ง ระบุใช้งบเยอะก็ต้องทำ หากจำเป็น โต้ข่าวรัฐไม่อยากตั้ง ส.ส.ร.

วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในส่วนนี้จะต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ว่า ใช่ เมื่อมีการทำประชามติต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 3,000 ล้านบาท เกือบเท่ากับงบที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อสื่อถามตนก็ตอบ ไม่ได้มาบ่นหรือบอกว่าเสียดาย ไม่ได้พูดอย่างนั้น ส่วนขั้นตอนเคยอธิบายไปแล้ว แต่ถ้าจะพูดซ้ำก็ต้องเรียนให้เกิดความเข้าใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้ 2 อย่าง คือ 1. แก้เป็นรายมาตรา หรือรายเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่กระจายอยู่หลายหมวด หากจะแก้บทเฉพาะกาลที่แก้ไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นการแก้เป็นเรื่องๆ ซึ่งจะรวมไปถึงการแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง เช่นจะใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ หรือ 2 ใบ นี่คือประเภทที่หนึ่ง ซึ่งกระบวนการแก้ไขจะเดินตามมาตรา 256 ตามปกติคืนนำเข้ารัฐสภา ผ่านวาระ 1-3 หากมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการเสร็จภายใน 1 เดือน ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ประกาศใช้ได้ทันที

ส่วนการแก้ประเภทที่ 2 ถ้ามีการแก้หมวด 1 เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป หรือหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หนือหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกระจายอยู่หลายหมวด ต้องนำเข้ารัฐสภาผ่านวาระ 1-3 จากนั้นต้องนำไปทำประชามติ และการลงประชามติ ยุ่งยากอยู่เรื่องหนึ่งเพราะมีล็อกเอาไว้ว่า การทำประชามติต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีกฎหมายนี้ และต้องใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมาย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกฎหมายว่า ด้วยการออกเสียงลงประชามติ แต่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวก็ใช้ไม่ได้ ต่อมามีการออกกฎหมายประชามติเมื่อปี 2559 เพื่อใช้ลงประชามติธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่เป็นการใช้เฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จก็จบกัน ทั้งนี้ คนที่จะทำกฎหมายการลงประชามติคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง กกต. เคยส่งร่างมาที่รัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลก็เตรียมจะเสนอเข้ารัฐสภาเพื่อไว้ใช้รองรับ แต่สมาชิกนิติบัญญัติ (สนช.) ก็หมดวาระ เพราะเปลี่ยนรัฐบาล กกต.จึงนำกฎหมายกลับไปปรับปรุง และยังไม่ได้ส่งกลับมา เมื่อจบเรื่องของการทำประชามติ หากมีการสงสัยก็ต้องถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป จึงต้องเลือกเอาว่าจะแก้แบบไหนการแก้ไขมาตรา 256 หรือการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือการแก้หมวด 15 ซึ่งเป็นการแก้แบบประเภทที่ 2 ที่ต้องลงประชามติ ทั้งนี้คิดว่าหากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงไม่ทันสมัยประชุมสมัยประชุมนี้ เพราะยังมีเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการทำกฎหมายการทำประชามติ เพราะต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้งบประมาณจำนวนนี้ เพื่อแก้ไขมาตราเดียวถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นจะแก้ก็ต้องคุ้ม ถ้าจะพูดเหมือนที่ฝ่ายค้านบางท่านพูดว่า ก็ไม่เป็นไรถ้าจะต้องเสีย ถ้าเลือกยอมจะต้องเสีย และเหตุผลมีความจำเป็นก็ทำ แต่ถ้าคิดว่าจะลำบากสิ้นเปลืองในยุคนี้เวลานี้ ข้อสำคัญคือ พอดีพอร้ายคือมันคงไม่ได้ลงประชามติหนเดียว เพราะลงเพื่อที่จะไปแก้ นี่คือความเห็นของอีกฝ่ายแต่บอกไม่ได้ว่าคือใคร ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่าเขียนว่า จะเสียก็ช่างเพราะเป็นการกระจายรายได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ เพราะเงินไปใช้ในด้านธุรการ ไม่ได้นำไปแจกประชาชน แต่เป็นในส่วนที่ผู้สมัครไปกระจายกันเอง การลงประชามติไม่มีผู้มีส่วนได้เสียที่จะไปแจกหัวคะแนน อีกฝ่ายก็บอกว่า การแก้ไขและลงประชามติต้องใช้เงินเยอะ อาจจะไม่ใช่หนเดียว ถ้าสมมุติว่า ลงประชามติผ่านจนนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ฉบับที่ ส.ส.ร.ก็ต้องนำไปลงประชามติอีกรอบ อย่างน้อยก็ต้องมีการลงประชามติถึง 2 ครั้ง ดังนั้นถ้าจำเป็นจะเสียก็ต้องเสียไม่มีปัญหา ส่วนจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นแล้วแต่พูดกันในทางการเมือง

เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เสนอแนวทางของชุดดังกล่าวมาให้ทางรัฐบาลด้วย นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ได้ส่งมา ซึ่งรัฐบาลก็รอ เพราะนายกรัฐมนตรีพูดกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าอยากให้รอเพื่อจะได้รู้ว่าจะแก้เป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งหมดตอนนี้รัฐบาลมีความคิดอยู่แล้วว่าจะทำอะไรในส่วนเหล่านี้ขอให้รอฟัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะตอนนี้ฝ่ายค้านก็จะแก้อย่างหนึ่ง และพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคก็ไม่ได้คิดเหมือนกันหมด ขณะที่ ส.ว.ก็คิดจะแก้เหมือนกัน แต่เมื่อเข้าไปที่รัฐสภาต้องใช้เสียงของ 2 สภา ที่มีเสียงประมาณ 750 คน ซึ่งต้องโหวตให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 375 คน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับเสียงของ ส.ว.250 คน ที่จะต้องเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 หรือ 84 คน เมื่อไปถึงในการพิจารณาวาระ 3 ก็จะไปย้อนนับเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ต้องมีเสียงเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย จึงจะผ่านในวาระ 3 จึงจะเข้าสู่กระบวนการต่อไป หากแก้ไขแบบที่หนึ่งก็จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เลย ส่วนประเภทที่ 2 จะต้องนำไปลงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังนั้นจึงต้องพูดตกลงทำความเข้าใจกันให้ดีก่อน ให้เข้าใจเพื่อไม่ให้ไปเกิดปัญหาในสภา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกัน ซึ่ง กมธ.ชุดของนายพีระพันธุ์ก็จะช่วยได้เพราะมีสมาชิกจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

เมื่อถามว่า นายกฯ จำเป็นต้องยืนตามความเห็นของ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จำเป็น นายกฯ เพียงอยากทราบว่าจะแก้ในประเด็นอะไรบ้าง ถ้าถามใจรัฐบาล ก็มีธงอยู่แล้วว่าอยากจะแก้อะไร

เมื่อถามว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตั้ง ส.ส.ร. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จริง ใครพูด รัฐบาลไม่เคยพูดในสิ่งนั้น เพราะรัฐบาลบริหารงานมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งคำว่ารัฐบาล ไม่ได้หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ แต่หมายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ที่พบปัญหาที่บ่นๆ ว่ามีหลายเรื่อง เช่น มาตรา 144 ที่พูดกันมาหลายวันเป็นต้น ซึ่งเสียงที่คิดว่าจะแก้มาตรานี้มีท่วมท้น


กำลังโหลดความคิดเห็น