“ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ตอน ไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญ กลยุทธ์สยบแรง ‘ม็อบ’
ความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากมติของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน เห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เป็นมติที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน
ซึ่งในคณะกรรมาธิการฯนั้น มีสัดส่วนของฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก จึงสามารถมองได้ และสรุปว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณไฟเขียวให้แก้มาตรา 256 แล้ว
เหตุใดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงยอมง่ายๆ แบบนี้ เพราะมาตราดังกล่าว เป็นเหมือนกุญแจดอกสำคัญอันจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรัฐบาล
หรืออย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มติดังกล่าวเป็นเพียงการยืมกลไกลของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อลดแรงเสียดทานของสังคม โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเท่านั้น
เมื่อใช้กลยุทธ์นี้ ก็คือการสลายพลังม็อบนักเรียน นักศึกษา เยาวชนปลดแอก ที่เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไขใหญ่ที่จะชุมนุมประท้วง กลายเป็นการพาม็อบจากถนนเข้าสู่รัฐสภา เพื่อสยบคลื่นลมทางการเมืองที่กำลังร้อนฉ่า เพื่อประคองสถานการณ์ประเทศให้เดินต่อไปได้
ความจริงแล้ว มติดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันอะไรกับรัฐบาลว่า จะต้องทำตามคณะกรรมาธิการฯ ดังนั้น มันจึงยังไม่ใช่ที่สุด ยังไม่เด็ดขาด รัฐบาลสามารถเล่นสองหน้าได้ ส. ส. ซีกรัฐบาลชูมือเห็นด้วย แต่ไม่ใช่รัฐบาลบิ๊กตู่จะเดินตาม
สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือ รัฐบาลจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าว? แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลจะรับข้อเสนอ โดยไม่ปฏิเสธ เพียงแต่เมื่อถึงเวลาแล้ว ข้อเสนอทั้งหมดจะถูกรัฐบาลเสนอเข้าสู่สภาฯกี่เรื่อง
ตามมติกรรมาธิการ ที่เห็นพ้องต้องกัน ให้แก้มาตรา 256 น่าจะได้รับการขานรับจากรัฐบาลหรือไม่ เมื่อดูเสียงคณะกรรมาธิการฯออกมาในรูปการณ์แบบนี้ โอกาสจะถูกเสนอเข้าสู่สภาฯ มีสูง
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็คงไม่อยากจะทำลายน้ำใจของพรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามเรียกร้องการแก้ไขในมาตรานี้มาโดยตลอด และเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล
เนื่องจาก การตัดสินใจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาฯ จะเป็นการลดแรงเสียดทานทั้งจากภายนอก คือ การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และภายในรัฐบาล อย่างพรรคร่วมรัฐบาล อันเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลเองด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลตะยอมเสนอแก้มาตรา256 ก็ไม่ได้หมายความว่า การยอมเสนอจะช่วยการันตีว่า การแก้ไขมาตรา 256 จะสำเร็จ เพราะต้องไม่ลืมว่า มาตรานี้คือ กุญแจดอกสำคัญที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ วางค่ายกล เอาไว้อย่างดี
โดยเฉพาะใน (8) มาตรา 256 ที่ระบุไว้ว่า “ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป”
ซึ่งการแก้ไขมาตรา 256 อยู่ในหมวด 15 จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น ต่อให้ทั้งสองสภาฯ ให้ความเห็นชอบผ่านมา ก็ยังต้องมาลุ้นกันเหนื่อยตรงนี้อีกช็อต
การทำประชามติก็ไม่แน่ว่า จะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน หากรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้มันผ่าน ย่อมต้องมีช่องทางเพื่อจะคว่ำมันในชั้นนี้ อย่าลืมว่า กลไกท้องถิ่นอยู่ในมือของรัฐบาลมาตลอด 5-6 ปี
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันยังมี ส.ส.ของตัวเองอยู่ทั่วทุกภาค นับประสาอะไรลำพังการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐยังกวาด ส.ส.เขตมาได้ร่วมร้อยคน กับการทำประชามติคงไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่จะกำหนดทิศทางว่า มันควรไปทางไหน
และแน่นอนว่า กระบวนการแก้ไขจะไม่ฉับไว ประเภท 3 วาระรวด เพราะรัฐบาลไม่มีทางปล่อยผ่านไปแบบรวดเร็ว ที่สำคัญ จะต้องตกลงกันในพรรคร่วมรัฐบาลก่อนว่า จะยอมให้แก้ไขในมาตราใดบ้าง
ขณะที่หัวใจสำคัญของรัฐบาลคือ ส.ว. ที่แม้ครั้งนี้มีท่าทีเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยอมไม่แฮปปี้แน่หากจะมีใครมาแก้ไขอำนาจของตัวเอง
ที่สำคัญ รัฐบาลย่อมไม่ยกนั่งร้านตัวเองออกเพื่อเป็นการฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงตัดประเด็นเรื่องการแก้ไขเพื่อล้าง ส.ว.ชุดนี้ออกได้เลย
แม้กระทั่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นี้ ก็คงไม่ยอมให้มีการวางกลไกใหม่เพื่อให้แก้ได้ง่ายเกินไป เพียงแต่อาจจะถอยให้มันง่ายขึ้นมานิดนึง แต่ไม่ถึงกับง่ายดาย เหมือนดีลิส ข้อความในสมาร์ตโฟน
หรือประเด็นระบบเลือกตั้ง หากมีการแก้ข้อนี้ รัฐบาลอาจตะยอมก็ได้ แม้ดูว่า รัฐบาลไม่ยอม แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคที่จะโกยคะแนนแบบท่วมท้นแล้ว เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในช่วงขาลง
พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นพรรคเบอร์หนึ่งของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ขณะที่พรรคก้าวไกล หรือพรรคอนาคตใหม่เดิม ก้าวขึ้นมาเทียบรัศมีกับพรรคเพื่อไทย
ไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดคะแนน หากพรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่า ฐานเสียงที่วางเอาไว้แน่นแล้ว อาจจะยอมแก้ระบบเลือกตั้งให้ แต่ก็จะยังเป็นกติกาที่ตัวเองได้เปรียบอยู่
แต่ทั้งหมดทั้งปวง เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่ เพราะกระบวนการแก้ไขยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ ซึ่งหากมีการยุบสภาก่อน ก็หมายความว่า กระบวนการดังกล่าวจะเป็นหมัน หรือแท้งไป ดังนั้น ระยะเวลาต่อจากนี้มีอีกหลายตัวแปร
แต่วันนี้ที่ต้องไฟเขียวให้แก้ไขได้ เพราะต้องการลดแรงกดดัน และการเคลื่อนไหวในสังคมไว้ก่อน.