xs
xsm
sm
md
lg

‘พอมเพโอ’จะผลักดัน ‘สหรัฐฯ’ เฉียดใกล้การเปิดศึกทำสงครามกับ ‘จีน’ถึงขนาดไหน?

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

How far will Pompeo drive the war with China?
by George Koo
10/08/2020

รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ เป็นผู้ที่มองกันว่ามีความฉลาดหลักแหลม แต่ก็ยังสิ่งต่างๆ จำนวนมากที่เขาไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจ

รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ กำลังแสดงตัวเป็นผู้รับผิดชอบของสหรัฐฯในการประสานความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ เพื่อเล่นงานโจมตีจีน ขณะที่คะแนนความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังตกต่ำถูกทิ้งห่างไกลเบื้องหลังคู่แข่งคนสำคัญของเขา ซึ่งได้แก่อดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน คำพูดและการกระทำแบบมุ่งยั่วยุของพอมเพโอก็ดูยิ่งแปลกพิกลและยิ่งเกะกะระรานมากขึ้นเท่านั้น

เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่การกล่าวหา ติ๊กต็อก ว่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ติ๊กต็อกเป็นแพลตฟอร์สื่อสังคมอย่างหนึ่งที่มาจากประเทศจีนและสามารถดึงดูดความชื่นชอบของผู้คนได้อย่างรวดเร็วจนมียูสเซอร์มากกว่า 100 ล้านรายแล้วในสหรัฐฯ

พอมเพโอไม่ได้เสนอหลักฐานหรือคำอธิบายใดๆ รองรับเลยว่า ทำไมติ๊กต็อกจึงสามารถกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติไปได้ ทว่าเหตุผลแท้จริงนั้นเป็นความอิจฉาริษยาเสียมากกว่า พอมเพโอกำลังเจ็บปวดจากอาการรู้สึกอิจฉาริษยาทางเทคโนโลยี และรู้สึกอิจฉาริษยาในเรื่องส่วนแบ่งตลาด เขาไม่สามารถแค้นคิดออกมาได้เลยว่า จะมีอะไรจากจีนซึ่งสามารถดีกว่าอะไรที่มาจากอเมริกาได้ ทำนองเดียวกับกรณีของหัวเว่ย ก่อนหน้าติ๊กต็อก

พอมเพโอผู้นิยมความโอ่อ่าหรูหรา น่าที่จะเป็นคนฉลาดหลักแหลม ทว่าเขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี เขาอารมณ์เสียเมื่อตอนที่ซีอีโอของ 3 ใน 4 ยักษ์ใหญ่ไฮเทค –อันได้แก่ แอปเปิล, แอมะซอน, และ กูเกิล— ในระหว่างไปให้ปากคำต่อรัฐสภาอเมริกันเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ยอมระบุยืนยืนว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของการถูกโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศจีน

พอมเพโอรู้สึกถูกหยามหยันจากการที่บริษัทอเมริกันซึ่งมีมูลค่ามากที่สุด 3 รายนี้ ไม่ให้ความสนับสนุนความพยายามของเขาในการทำให้จีนกลายเป็นปีศาจร้าย

มอบรางวัลให้ซักเคอร์เบิร์ก

ในบรรดา 4 ซีอีโอเทคยักษ์ใหญ่ซึ่งไปให้ปากคำนั้น มีเพียง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) แห่งเฟซบุ๊กเท่านั้น ซึ่งยืนยันอย่างรวดเร็ว –ไม่ใช่หรอกควรที่จะพูดว่าอย่างอย่างร้อนใจกระวนกระวายมากกว่า-- ในเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา ถึงแม้เขาไม่ได้เสนอหลักฐานเป็นรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการให้ปากคำแบบพูดอะไรกว้างๆ ทั่วๆ ไปของเขา

แน่นอนทีเดียว เขาอาจจะมีอคติ เนื่องจากความนิยมชมชื่นในติ๊กต็อก นับเป็นตัวแทนของภัยคุกคามที่มีต่อเฟซบุ๊ก และกำลังทำให้เฟซบุ๊กต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์มสื่อสังคม

ในธุรกิจสื่อสังคมนั้น การสูญเสียจำนวนสายตาที่เข้ามาจับจ้องติดตาม เป็นสิ่งซึ่งสามารถแปลความหมายได้โดยตรงว่าหมายถึงการสูญเสียรายรับจากค่าโฆษณา ในซิลลิคอนแวลลีย์ การพูดว่าถูก “zucked” มีความหมายว่า คู่แข่งรายหนึ่งวของเฟซบุ๊กกำลังถูกเทคโอเวอร์ หรือถูกเบียดขับออกไปจากธุรกิจ แต่ติ๊กต็อกกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากเกินไปและเติบโตมากเกินไปด้วยความรวดเร็วเกินไปกว่าที่จะถูก “zucked” เสียแล้ว

เป็นที่ชัดเจนว่า เฟซบุ๊กจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อโค่นติ๊กต็อกลงมา และซักเคอร์เบิร์กก็ได้รับการอุ้มชูจากคณะบริหารทรัมป์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ทรัมป์ประกาศความตั้งใจของเขาที่จะแบนติ๊กต็อกไม่ให้ใช้กันในสหรัฐฯ เว้นแต่บริษัทถูกเปลี่ยนมาอยู่ในกำมือของเจ้าของที่เป็นอเมริกัน

เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แก่สายตาของชาวอเมริกันทั้งหลายทั้งปวง ในข้อเท็จจริงที่ว่า อะไรๆ ก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้ที่มี “เพื่อนมิตรในทำเนียบขาว” การเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรี หรือการวิ่งเต้นให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตในฐานะบำเหน็จรางวัลทางการเมือง หรือการได้ออกมาจากคุกจากตะรางอย่างรวดเร็ว หรือการทำให้ประวัติความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ได้รับการลบล้าง – ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นไปได้ด้วยการบริจาคทางการเมืองแบบมือเติบ และเมื่อคุณมี “เดอะ โดนัลด์” ยืนอยู่ทางฝ่ายคุณ

อย่างไรก็ดี การที่ทรัมป์จะสั่งการให้ขายติ๊กต็อกแก่เฟซบุ๊ก มันก็จะเป็นการกระทำที่โจ๋งครึ่มเกินไปแม้กระทั่งสำหรับคนอย่างเขาก็เถอะ เขาจึงให้เวลาไมโครซอฟท์ 45 วันในการฉวยใช้ประโยชน์จากการที่บริษัทเจ้าของติ๊กต็อกอยู่ในฐานะที่ต้องรีบร้อนขายทิ้ง และปิดดีลนี้ลงไปให้ทันเส้นตาย

ทรัมป์กระทั่งคาดหวังว่าจะได้ส่วนแบ่งก้อนใหญ่จากการซื้อขายนี้เพื่อนำส่งกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และยังมีความเป็นไปได้มากว่าจะมีค่านายหน้าส่วนตัวเข้ากระเป๋าของเขาเอง สำหรับ “การสร้าง” ดีลคราวนี้ขึ้นมา

ติ๊กต็อกควรที่จะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทำเนียบขาว

แล้วคนจีนผู้เป็นเจ้าของติ๊กต็อกควรที่จะทำอย่างไรต่อไป? พวกเขาเผชิญกับฝ่ายบริหารที่ทุจริตชั่วร้ายอย่างสุดขีด และฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งถ้าหากไม่ใช่พวกที่คอยพยักหน้าทำตามทำเนียบขาวอย่างเซื่องๆ ก็เป็นพวกซึ่งสมรู้ร่วมคิดอย่างเต็มใจเพื่อให้ได้เงินสินบนสกปรกในรูปแบบต่างๆ จากทำเนียบขาว

ติ๊กต็อกจำเป็นที่จะต้องนำเอากรณีของตนไปพึ่งพาฝ่ายที่ 3 ในอำนาจ 3 ฝ่ายที่มีการแบ่งสรรอย่างเท่าเทียมกันของระบบรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งก็คือฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้การตัดสินคดีหลายคดีเมื่อไม่นานมานี้ของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ในองค์คณะผู้พิพากษาชุดปัจจุบันของศาลแห่งนี้ มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งจากทรัมป์ถึง 2 คน ทว่าองค์กรนี้ยังคงมีวิจารณญาณที่จะมองเห็นว่าการยึดมั่นปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญเอาไว้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่าการยอมก้มหัวให้แก่แรงกดดันบีบคั้นทางการเมือง

อย่างน้อยที่สุด กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมายจะทำให้การตัดสินโชคชะตาของติ๊กต็อกล่วงเลยเนิ่นช้าออกไปจนกระทั่งภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นแล้ว พวกเจ้าของชาวจีนเหล่านี้ย่อมอาจวาดหวังได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายจากในเวลานี้

ประสบการณ์ทั้งหมดทั้งสิ้นในเรื่องติ๊กต็อก สมควรที่จะทำให้ปักกิ่งหยุดพักเพื่อกลับมาขบคิดกันใหม่เกี่ยวกับกระบวนวิธีที่พวกเขาใช้รับมือกับวอชิงตันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ไปจนถึงเอกอัครราชทูต ชุ่ย เทียนไข (Cui Tiankai) ในกรุงวอชิงตัน กระบวนวิธีของจีนก็คือพยายามที่จะถกเหตุผลกับสหรัฐฯ ทว่านี่เป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆ

พอมเพโอไม่ได้มีความโน้มเอียงใดๆ เลยที่จะเป็นคนมีเหตุมีผลขึ้นมา เขาไม่ได้มีความสนใจใดๆ ในการกระทำการเพื่อรักษาผลประโยชน์อย่างดีที่สุดของประชาชนชาวอเมริกัน เขาเพียงแค่มีความสนใจในการนำพาสหรัฐฯเข้าไปสู่ขอบเหวแห่งสงคราม เผื่อเอาไว้ในกรณีที่ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ต้องการที่จะหันไปใช้การเผชิญหน้าทางทหารมาเป็นมาตรการจนตรอกขั้นสุดท้าย เพื่อเอาชนะได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยังคงมีทางเลือกอย่างอื่นๆ อีกที่สามารถเลือกหยิบมาใช้ได้ ดังนั้นเขาน่าจะไม่ต้องหันไปพึ่งพาการทำสงครามกับจีน เขาอาจจะประกาศว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากพวกบัตรลงคะแนนที่ส่งมาทางไปรษณีย์นั้นมีปัญหา หรือมีความผิดปกติอื่นๆ บางอย่างบางประการที่อาจสามารถหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อกล่าวหา หรือไม่ก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไปสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ซึ่งเขาไม่สามารถที่จะควบคุมได้ ทว่าประเด็นแตกแขนงแยกย่อยออกไปต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการถกเถียงแสดงความคิดเห็นของข้อเขียนชิ้นนี้

เทคนิคกลวิธีของพอมเพโอก็คือเขาทำเสมือนกับว่าเขากำลังลงแข่งขันในเกมฟุตบอล(อเมริกัน) ซึ่งเขาสามารถที่จะแกล้งทำเป็นกระโดดข้ามเส้นแบ่งแดน เพื่อยั่วยุทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นฝ่ายถูกทำโทษเพราะทำความผิดฐานออฟไซด์จริงๆ เสียเอง อันที่จริงแล้ว อเมริกามีความเคยชินกับการเอาชนะคะคานพวกประเทศที่ด้อยกว่าตนเอง ด้วยกระบวนวิธีแบบทำท่าเข้าข่มเหงรังแกเช่นนี้ ดังนั้นเขาจึงไม่ใช่เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเรื่องนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด

การรุกรานที่ติดตามมาหลังข้อกล่าวหาสิทธิมนุษยชน

การกล่าวหาประเทศเป้าหมายรายหนึ่งๆ ว่ามีพฤติการณ์ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน คือเครื่องมือแสนโปรดปรานอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การเข้าแทรกแซงรุกรานของฝ่ายอเมริกัน ซัดดัม ฮุนเซนถูกกล่าวหาว่าลิดรอนเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวอิรัก และนั่นก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่ดีเพียงพอแล้วสำหรับการเข้ารุกราน

ทุกวันนี้ ยังคงมีคนอเมริกันอยู่ในอิรัก โดยที่เราสามารถโต้แย้งได้อย่างมีพลังว่าพลเมืองของที่นั่นในเวลานี้มีความเป็นเสรีน้อยลงกว่าเดิม นอกจากนั้นเราสามารถพูดได้อย่างมั่นอกมั่นใจยิ่งกว่านั้นเสียอีกว่าพวกเขามีความปลอดภัยส่วนบุคคลน้อยลงกว่าเดิม

มูอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแบบเดียวกันกับซัดดัม ฮุสเซน ก็ต้องประสบกับผลลัพธ์ที่ต้องสูญเสียชีวิตแบบเดียวกันนั้น ขณะประเทศลิเบียถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ให้จมอยู่ในความปั่นป่วนวุ่นวายชนิดสมบูรณ์แบบ บาร์ชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย คือผู้ที่ถูกตราหน้ารายหลังที่สุดว่าเป็นผู้กดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และซีเรียเวลานี้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่สับสนโกลาหล

ชาวซีเรียเป็นล้านๆ คนถูกเข่นฆ่าหรือไม่ก็ต้องพลัดถิ่นฐานกลายเป็นคนไร้บ้าน และถูกบังคับให้ต้องเสาะแสวงหาสถานที่ปลอดภัยที่ไหนสักแห่งในยุโรป

ทุกๆ ประเทศซึ่งถูกสหรัฐฯรุกรานภายใต้ข้ออ้างอำพรางว่าเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่างต้องประสบกับความวิบัติหายนะในทางมนุษยธรรม และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาทั้งๆ ที่มีความย้อนแย้งว่า ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอย่างเลวร้ายยิ่งไปกว่าในสหรัฐฯ ไม่เชื่อก็ขอให้ลองสอบถามผู้คนซึ่งอยู่ในขบวนการ “แบล็ก ไลฟ์ส แมตเทอร์” (Black Lives Matter) ดูเถอะ

พอมเพโอกำลังใช้ไม้กระบองสิทธิมนุษยชนนี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป เขาใช้วิธีการตั้งข้อกล่าวหาอย่างกว้างขวางและครอบคลุมไปทั่ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่แยแสหรอกว่าสิ่งที่เขากำลังพูดออกมานั้นมีน้ำหนักเชื่อถือได้แค่ไหน เขากำลังกระตุ้นและยั่วยุจีนให้ตอบโต้และยกระดับความตึงเครียดทวิภาคีให้ยิ่งลุกลามบานปลาย ทั้งหมดเหล่านี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันไปให้ถึงจุดที่ว่าการสู้รบขัดแย้งกันกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และใช้วิธีใดๆ ก็ตามเพื่อทำให้จีนถูกประณามว่าเป็นผู้ร้าย

ลองฟังดูว่านักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่งที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศจีน พูดอะไรบ้างเกี่ยวกับความคิดผิดพลาดต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังจุดยืนของพอมเพโอ ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=0oluuHNQzbs&feature=youtu.be

ความท้าทายอันยากลำบากที่ปักกิ่งยังจะต้องเผชิญต่อไป

พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลปักกิ่งควรทำอย่างไรบ้างเพื่อเป็นการโต้ตอบ? ถึงแม้ต้องยอมรับว่าคงเป็นเรื่องลำบากยากเย็นอย่างยิ่ง แต่ปักกิ่งจำเป็นต้องเสาะหาหนทางที่จะยับยั้งตนเองไม่คอยเอาแต่จะตอบโต้แบบแรงมาแรงไปกับทุกๆ การยุแหย่ยั่วเย้าของพอมเพโอ

ในบางกรณี ถ้าหากเป็นไปได้ ควรแค่เพิกเฉยไม่สนใจเขา ในกรณีอื่นๆ ควรส่งสัญญาณว่าปักกิ่งจะรอคอยไปจนกระทั่งการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนในสหรัฐฯผ่านไปแล้วจึงจะดำเนินการตอบโต้อย่างเหมาะสม

พอมเพโอเป็นคนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับจีน กล่าวกันว่าเขาได้รับการติวจากอาจารย์สอนวิชาประวัติจีนผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีนที่แต่เดิมมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเวลานี้สอนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ (Naval Academy) ถ้าหากวินิจฉัยตัดสินจากคำปราศรัยแอนตี้จีนอย่างตึงตังโวยวายซึ่งพอมเพโอพูดเอาไว้ที่หอสมุดและพิพิธภัณฑ์ประนาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว เขาก็ดูไม่ได้เรียนรู้อะไรหรอกจากสิ่งที่เขาได้รับการติว

ด้วยการพ่นคำว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” อย่างซ้ำๆ ซากๆ ตลอดคำปราศรัยคราวนั้นของเขา จนฟังดูเหมือนกับเป็นคำสบถ พอมเพโอดูเหมือนมองตัวเขาเองว่าเป็นผู้ปลดแอกประชาชนผู้ถูกกดขี่ของประเทศจีน

แต่ปัญหามีอยู่เพียงข้อเดียว นั่นคือ ประชากรจีนมากกว่า 90% ต่างยอมรับเห็นชอบกับแนวทางของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวซึ่งกำลังปกครองจีนอยู่ในเวลานี้ ตัวเลขนี้สูงเป็นกว่าสองเท่าตัวทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับเรตติ้งความยอมรับในตัวทรัมป์ของสาธารณชนชาวอเมริกัน

ความพยายามของพอมเพโอที่จะดัดแปลงเขียนกันเสียใหม่ ในเรื่องกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของริชาร์ด นักสิน และความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีนที่ประสบความสำเร็จซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามมาอีกหลายทศวรรษนั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นแค่มือสมัครเล่น และการมีฝีมือเพียงระดับเด็กๆ อย่างน่าอับอายขายหน้า แทนที่จะสามารถทำให้ชาติต่างๆ รู้สึกมั่นอกมั่นใจและก้าวเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรต่อต้านจีนของเขา ฝ่ายที่สามอื่นๆน่าจะเพียงแค่พบว่าคำปราศรัยแบบลัทธิแก้ลัทธิทวนกระแสของเขานี้ช่างน่าขบขัน แบบเดียวกับที่ประชาชนชาวจีนค้นพบว่าพอมเพโอคือตัวตลก

การดูหมิ่นเหยียดหยามที่ควรมอบให้แก่พอมเพโอ

เมื่อใดก็ตามทีที่มีความเป็นไปได้ ปักกิ่งน่าจะต้องปฏิบัติต่อพอมเพโอด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างที่เขาสมควรจะได้รับเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่เขามีประวัติสำเร็จการศึกษาจากสถาบันระดับยอดเยี่ยมทั้งโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ และคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด [1] แต่เขาก็ยังคงยินดีหมอบราบทอดทิ้งเกียรติศักดิ์ศรีและความซื่อสัตย์ของเขา เพื่อคอยเป็นเกราะคุ้มกันให้แก่บุคคลผู้ซึ่งถูก เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนก่อนหน้าเขา เรียกขานว่าเป็นคนปัญญาอ่อน

สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ปักกิ่งจะต้องผลักดันเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการเอาชนะมติมหาชนโลก และเอาชนะความท้าทายอันยากลำบากของการอธิบายให้สาธารณชนอเมริกันมองเห็นถึงการโกหกพกลมและการบิดเบือนของพอมเพโอ ศาสตรจารย์เจฟฟรี แซคส์ (Jeffrey Sachs) เพิ่งเสนอบทความที่เป็นการทบทวนตรวจสอบอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลต่อเนื่องที่ติดตามมาของพอมเพโอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.project-syndicate.org/commentary/america-evangelical-crusade-against-china-by-jeffrey-d-sachs-2020-08) นี่สามารถถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก

เวลานี้มีพันธมิตรบางรายซึ่งพอมเพโอทึกทักเอาว่าอยู่ในกำมือของเขาเรียบร้อยแล้ว กลับกำลังแสดงท่าทีขบคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับสติปัญญาของการเดินตามวิถีทางการทูตแบบใช้ไม้แข็งลูกเดียวโดยไม่รู้จักใช้ไม้อ่อนของพอมเพโอ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษนั้นได้ต้านทานสหรัฐฯอยู่เป็นเวลานานทีเดียว ก่อนที่จะยินยอมเตะหัวเว่ยออกไปด้วยท่าทีลังเลใจ

เรื่องนี้จะทำให้อังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลายพันล้านปอนด์ และเวลาเตรียมการเป็นปีๆ ในการติดตั้งเครือข่าย 5 จีทั่วประเทศ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะทบทวนการติดสินใจครั้งนี้ของเขาเสียใหม่ภายหลังเดือนพฤศจิกายน

จวบจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้ แคนเบอร์ราได้แสดงตนเป็นบริวารผู้ติดตามที่แสนจะจงรักภักดีของวอชิงตัน มาถึงเวลานี้พวกผู้นำทางการเมืองของออสเตรเลียจำนวนมาก --โดยอาจจะยกเว้นไม่พูดถึง สกอตต์ มอร์ริสัน-- ต่างกำลังเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาอย่างฉับพลันว่า “เฮ้! เดี๋ยวก่อนนะ ทำไมพวกเราจะต้องเดินไปตามจุดยืนโจมตีจีนของพอมเพโอด้วย ในเมื่อจีนเป็นทั้งลูกค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรายสำคัญที่สุดของเรา?”

องค์การสื่อ “เนชั่น ออฟ เชนจ์” (Nation of Change) เพิ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับสติปัญญาของอเมริกาในการทำสงครามเย็นกับประเทศจีน –มีความเป็นไปได้เหมือนกันแต่น้อยกว่ามากที่จะทำสงครามร้อน— โดยกล่าวว่า “รัฐบาลต่างๆ ตลอดทั่วโลกกำลังร่วมมือประสานงานกับจีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา และแลกเปลี่ยนแบ่งปันหนทางในการต่อสู้กับเชื้อร้ายนี้กับทุกคนทุกฝ่ายซึ่งต้องการแลกเปลี่ยนแบ่งปัน สหรัฐฯต้องยุติการเดินหน้าใช้ความพยายามอย่างไม่บังเกิดดอกผลของตนเพื่อบ่อนทำลายจีน ตรงกันข้าม สหรัฐฯควรที่จะทำงานร่วมกับเพื่อนบ้านทั้งหมดของเราบนพิภพเล็กๆ ของเราดวงนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nationofchange.org/2020/08/04/u-s-cold-war-china-policy-will-isolate-the-u-s-not-china/)

เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวอเมริกันของผม และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมดทั้งมวลของโลก ผมหวังว่าในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นการร่ายมนตร์เพื่อปิดฉากระบอบปกครองอันแสนวิปริตของโดนัลด์ ทรัมป์ และพอมเพโอผู้ดื้อรั้นฉุนเฉียว

ดร. จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการของเฟรชฟิลด์ (Freschfield) แพลตฟอร์มการก่อสร้างล้ำยุคแบบสีเขียว


หมายเหตุผู้แปล

[1] ประวัติย่อๆ ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้ มีดังนี้:


ไมค์
พอมเพโอ
เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกันที่มีแนวความคิดสายแข็งกร้าวโดยอยู่ในกลุ่ม
“ที ปาร์ตี้” (Tea Party) ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
จะแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ
และจากนั้นก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เขาเกิดเมื่อวันที่
30 ธันวาคม 1963 ที่เมืองออเรนจ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
โดยที่บิดาของเขามีบรรพบุรุษเป็นผู้อพยพมาจากอิตาลี
ตัวเขาสำเร็จการศึกษาโดยสอบได้เป็นที่หนึ่งของรุ่นจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ของสหรัฐฯ
(United States Military Academy at West Point) ในปี 1986
ด้วยวิชาเอกด้านการบริหารจัดการทางวิศวกรรม

พอมเพโอเข้ารับราชการเป็นนายทหารยานเกราะอเมริกันที่ประจำการอยู่ในเยอรมันตะวันตก

โดยเขาเคยทำหน้าที่ตรวจการณ์ตามแนวชายแดนติดต่อกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกรื้อถอนทำลาย
เขายังเคยประจำการอยู่ในกองพันที่ 2 กรมทหารม้าที่ 7 แห่งกองพลทหารราบที่
4 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี 1991
เขาลาออกจากราชการโดยยศสุดท้ายที่ได้รับคือร้อยเอก

หลังจากนั้นเขาเรียนวิชานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
จนจบได้รับปริญญา J.D. (Juris Doctor) โดยระหว่างเรียนอยู่ที่นั่น
เขาได้เป็นบรรณาธิการคนหนึ่งของวารสารฮาร์วาร์ด ลอว์ รีวิว (Harvard Law
Review) ด้วย

ในปี 1998 พอมเพโอย้ายไปพำนักอาศัยที่เมืองวิชิตา
(Wichita) รัฐแคนซัส และได้ก่อตั้งบริษัทเธเยอร์ แอโรสเปซ (Thayer
Aerospace) ขึ้นมา โดยเขาทำหน้าที่เป็นซีอีโออยู่กว่า 10 ปี
หลังจากนั้นเขาเข้าเป็นประธานกรรมการบริหารของ เซนทรี อินเตอร์เนชั่นแนล
(Sentry International) บริษัทผู้ผลิต, ผู้จัดจำหน่าย, และผู้ให้บริการ
อุปกรณ์สำรับใช้ในบ่อน้ำมัน
ทั้งนี้ระหว่างที่พอมเพโอเประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจนี้
เขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทคอช อินดัสตรีส์ (Koch Industries)
ของตระกูลคอช ซึ่งก็มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองวิชิตา

ถึงปี 2010
เขาหันมาเป็นนักการเมือง โดยลงแข่งขันได้เป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน
และชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.ของเขต 4 รัฐแคนซัส ด้วยความสนับสนุนจาก
ชาร์ลส์ และ เดวิด คอช สองพี่น้องอภิมหาเศรษฐีแห่งตระกูลคอช
ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินรายยักษ์ใหญ่ให้แก่พรรครีพับลิก
พอมเพโอสามารถครองเก้าอี้ ส.ส.ตัวนี้อย่างต่อเนื่อง 3 สมัย
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2011 จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2017
ตอนที่เขาลาออกเพื่อรับรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการซีไอเอ

พอมเพโอทำงานเป็นนายใหญ่ของซีไอเออยู่จนถึงเดือนเมษายน
2018 ทรัมป์ก็เสนอชื่อเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ภายหลังจากปลด
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อน
ทั้งนี้พอมเพโอผ่านการพิจารณารับรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ
และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2018
(เรียบเรียงจากประวัติย่อไมค์
พอมเพโอ ของทางทำเนียบขาว
(https://www.whitehouse.gov/people/mike-pompeo/)
ประวัติย่อของเขาในวิกิพีเดีย (https://en.wikipedia.org/wiki/Mike_Pompeo)
และประวัติย่อที่รายงานโดยบีบีซี
(https://www.bbc.com/news/world-us-canada-38029336))

กำลังโหลดความคิดเห็น