xs
xsm
sm
md
lg

‘ตะวันออกกลาง’ที่จะเปลี่ยนแปลงไป จาก‘ข้อตกลงอิสราเอล-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


ธงชาติอิสราเอล และธงชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียงรายอยู่ข้างถนนของเมืองเนทันยา เมืองริมทะเลในอิสราเอล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2020
Israel, UAE legitimise their relationship
byM.K.BHADRAKUMAR
14/08/2020


color=#0033ff>ข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ซึ่งสหรัฐอเมริกามีบทบาทอยู่ด้วยอย่างสำคัญ มีเนื้อหาที่เป็นการปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในฐานะแค่เป็นตัวเบี้ยทางการเมือง ขณะสร้างความระคายเคืองให้ตุรกี และน่าสังเกตว่าไม่ได้มีการเอ่ยถึงอิหร่านเอาเลย



เมื่อประสบความสำเร็จขึ้นมา ใครๆ ต่างต้องการอ้างว่าเป็นผลงานของตน แต่เมื่อประสบความล้มเหลว ใครๆ ต่างพากันตีตัวออกห่าง ดังนั้นจึงพูดกันว่า ความสำเร็จมีพ่อหลายคน แต่ความล้มเหลวเป็นลูกกำพร้า
ข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ประกาศออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ส.ค.) และก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างรุนแรง เวลานี้มีพ่อ 2 คนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล
ขณะที่ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ลูกเขยของทรัมป์และเป็นที่ปรึกษาด้านตะวันออกกลางของทำเนียบขาวด้วย ก็กล่าวอ้างอย่างลับๆ ล่อๆ เพื่อเป็นคุณพ่อคนที่ 3

ทรัมป์กับเนทันยาฮูต่างกล่าวอ้างความเป็นพ่อด้วยความเปิดเผย –เนทันยาฮูกระทั่งทำก่อนหน้าทรัมป์ด้วยซ้ำไป ความกระตือรือร้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-announcing-normalization-relations-israel-united-arab-emirates/)
ของพวกเขาเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจกันได้ กล่าวคือ ทั้งคู่ต่างกำลังอยู่ในวัฎจักรการเลือกตั้ง—เราสามารถที่จะพูดได้เช่นนี้ และทั้งคู่ต่างไม่ต้องการพลาดโอกาสอันหาได้ยากในการแผ้วทางเส้นทางการเมืองจากเรื่องราวแห่งความสำเร็จ

ไม่น่าประหลาดใจอะไร ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน ซายเอ็ด (Sheikh Mohammed Bin Zayed) เจ้าชายมกุฎราชกุมารของยูเออี กลับกำลังทรงแสดงท่าทีไม่ปรารถนาที่จะยอมรับบทบาทสำคัญชนิดขาดหายไม่ได้ของพระองค์ในการตั้งครรภ์ข้อตกลงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-อิสราเอลคราวนี้ ด้วยสายตาที่เฝ้าจับจ้องมองของผู้คนเดินดินชาวอาหรับ ท่านชัยค์จึงต้องทำพระองค์โลว์ โปรไฟล์ เอาไว้ ถึงแม้ว่ากิจการอันอึกทึกครึมโครมระหว่างฝ่ายอิสราเอลกับฝ่ายยูเออีนี้ได้กระทำกันมาเป็นเวลาเกือบๆ หนึ่งในสี่ของศตวรรษแล้ว และกลายเป็นความลับที่ลือกันให้แซดตามตลาดบาซาร์ของคนอาหรับ

การประสานกันได้อย่างสอดคล้องสมบูรณ์แบบระหว่างทรัมป์, เนทันยาฮู, และชัยค์ โมฮัมเหม็ด เป็นสิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่ ามีส่วนอยู่ในการสมรสสมรักครั้งนี้ซึ่งในที่สุดก็ยกระดับไปจนถึงจุดสุดยอด พวกเขาได้พูดจาหารือระหว่างกันและกันเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.) ก่อนที่จะประกาศความสำเร็จของพวกเขาในรูปของคำแถลงร่วมฉบับหนึ่ง

กระนั้นก็ตาม เมื่อหน่อเนื้อเชื้อไขในครรภ์ถึงเวลาคลอดออกมาอย่างเห็นเป็นเลือดเป็นเนื้อกันจริงๆ มันก็ยังคงก่อให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นเอะอะเกรียวกราว ทั้งนี้จุดสำคัญที่สุดของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า นี่คือการที่อิสราเอลสามารถทำลายเพดานจำกัดความเคลื่อนไหวของตัวเองได้สำเร็จ และกำลังเกาะกุมอาหรับเอาไว้ในมือของตน มันเป็นสัญญาณแสดงถึงการจับกลุ่มรวมตัวกันใหม่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการเมืองของตะวันออกกลาง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชาวปาเลสไตน์ ผู้ซึ่งไม่ถูกอ้างอิงกล่าวถึงในเอกสารของสหรัฐฯ-อิสราเอล-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉบับนี้เลย ได้รับการปฏิบัติเป็นเสมือนกับตัวเบี้ยทางการเมือง และถูกกีดกันออกจากการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาเอง

คำแถลงร่วมของสหรัฐฯ-อิสราเอล-ยูเออี (https://www.timesofisrael.com/full-text-joint-statement-on-normalization-of-relations-between-israel-uae/) อ้างว่า การเข้าสู่ความสัมพันธ์ฉันปกติระหว่างเทลอาวีฟกับอาบูดาบีเช่นนี้ “จะปลดล็อกศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้” คำแถลงบอกว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์จากนี้ไป อิสราเอลกับยูเออีจะเปิดเผยข้อตกลงหลายๆ ฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า การลงทุน, การท่องเที่ยว, เที่ยวบินตรงระหว่างกัน, ความมั่นคง, การสื่อสารโทรคมนาคม, เทคโนโลยี, พลังงาน, การดูแลสุขภาพ, วัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม, การจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตขึ้นในประเทศของกันและกัน, และ “ด้านอื่นๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”

ผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างชัดเจนในเฉพาะหน้านี้ประการหนึ่ง ได้แก่การที่อิสราเอลจะ “ระงับ” แผนการผนวกดินแดนเวสต์แบง์ก (West Bank) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจที่ฝ่ายอาบูดานีพยายามชูขึ้นมาเป็นข้ออ้างว่า ตนเองยังคงมุ่งมั่นผูกพันกับคำสัญญาในเรื่องปัญหาปาเลสไตน์ แต่มันไม่ได้ทำให้ใครเชื่อถือหรอก พวกเจ้าหน้าที่ของปาเลสไตน์พากันประเมิน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://see.news/palestinian-authority-hamas-condemn-uae-israel-deal-for-normalizing-diplomatic-ties/) ว่าท่านชัยค์ทั้งหลายในอาบูดานีได้ทรยศพวกเขาเสียแล้ว และแผนการผนวกดินแดนของอิสราเอลจะหวนกลับมาปรากฏอยู่ในวาระของเนทันยาฮูอีกภายหลังหยุดนิ่งไปสักพักเดียว

คำปลอบประโลมอีกอย่างหนึ่งที่ฝ่ายอิสราเอลมอบให้แก่ฝ่ายเอมิเรตส์ ได้แก่คำมั่นสัญญาว่า “ชาวมุสลิมทุกๆ คนที่เดินทางมาอย่างสันติ อาจจะสามารถเข้าไปและสวดอ้อนวอนที่มัสยิดอัล อักซอ (Al Aqsa Mosque) ได้ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในนครเยรูซาเลมก็ควรที่จะเปิดให้แก่ผู้ศรัทธาในความเชื่อต่างๆ
ทุกๆ ฝ่าย ให้เข้าไปสักการะได้อย่างสันติ”

เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวที่คำแถลงร่วมฉบับนี้คาดการณ์ว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่าทางตันในทางการทูตกับชาติอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก” คุชเนอร์นั้นพูดเป็นนัยๆ ว่าพวกรัฐสมาชิก ซีจีจี (กลุ่มรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย) รายอื่นๆ อาจจะเดินตามรอยเท้าของเอมิเรตส์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชัยค์ โมฮัมเหม็ด จะต้องทรงมีการร่วมมือประสายงานความเคลื่อนไหวของพระองค์กับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Prince Mohammed bin Salman) มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียอยู่แล้ว เดิมพันที่วางกันก็คือ บาห์เรน กับ โอมาน จะเป็นรายต่อๆ ไปที่กำลังเข้าแถวเพื่อเปิดความสัมพันธ์ฉันปกติกับอิสราเอล

ในแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ คำแถลงร่วมฉบับนี้ประกาศว่า สหรัฐฯ, อิสราเอล, และยูเออี จะร่วมมือกันในการเปิดตัว “วาระทางยุทธศาสตร์สำหรับตะวันออกกลาง” (Strategic Agenda for the Middle East) เพื่อขยายความร่วมมือทั้งทางการทูต, การค้า, และความมั่นคง โดยอิงอยู่กับการที่ประเทศทั้งสามมี “มุมมองต่ออนาคตคล้ายคลึงกันในเรื่องเกี่ยวกับภัยคุกคามต่างๆ และโอกาสต่างๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นผูกพันร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนเสถียรภาพโดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูต, การเพิ่มการบูรณาการทางเศรษฐกิจ, และการร่วมมือกันด้านความมั่นคงอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น”

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตาดูกัน แต่จุดที่น่าสนใจมากยังคงมีอยู่ว่า คำแถลงร่วมนี้หลีกเลี่ยงไม่มีการอ้างอิงใดๆ ถึงอิหร่านไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม เห็นได้ชัดว่ายูเออี ไม่ต้องการที่จะทำลายความริเริ่มทางการทูตซึ่งเพิ่งผลิบานยังไม่ทันนานของตนในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิหร่าน มีเหตุผลอย่างดีทีเดียวที่จะคิดได้ว่า สำหรับเอมิเรตส์ในทุกวันนี้แล้ว แกนความร่วมมือระหว่างตุรกี-การตาร์ ต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกหวั่นหวาดยิ่งเสียกว่าเรื่องการผงาดขึ้นมาของอิหร่าน เมื่อพิจารณาจากการที่สองประเทศนี้ต่างเป็นผู้ที่ฝักใฝ่อยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
(Muslim Brotherhood)

เมื่อมองจากสายตาของผู้คนส่วนใหญ่ ข้อตกลงอิสราเอล-เอมิเรตส์นี้ ย่อมถูกถือว่าเป็นการที่พวกอาหรับ “ทรยศ” ต่อความคิดอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์ ขณะที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิสราเอลคือผู้ที่ประสบชัยชนะมากที่สุด เนื่องจากสามารถก้าวกระโดดคืบหน้าไปได้ก้าวเบ้อเริ่ม ในการทำให้ยุทธศาสตร์ระยะยาวของตนซึ่งมุ่งหมายที่จะบูรณาการเข้ากับพวกระบอบปกครองอาหรับที่มีความคิดคล้ายคลึงกัน
กลายเป็นความจริงขึ้นมา

สิ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือ ทั้งอิสราเอลและยูเออีต่างกำลังเตรียมตัวสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมาถึง
ซึ่งด้วยการนำเอาทรัพยากรต่างๆ ของพวกเขามากองรวมกัน พวกเขาก็สามารถที่จะปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาได้อย่างสูงสุด ในความคิดของพวกผู้ปกครองรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียนั้นมีความวิตกกังวลข้อใหญ่ในเรื่องที่ว่า ยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของสหรัฐฯในตะวันออกกลางนั้นขาดไร้ความสม่ำเสมอ แล้วความเลวร้ายยังเพิ่มมากขึ้นไปอีกจากความไม่แน่ไม่นอนในเรื่องผลของการเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ในอเมริกา

หาก โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดี ความหมายของเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่การถึงแก่ความตายอย่างฉับพลันของกระบวนวิธี “ใช้แรงกดดันระดับสูงสุด” ต่ออิหร่านซึ่งทรัมป์ใช้อยู่ในเวลานี้เท่านั้น
แต่ยังจะมีการฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจอยู่มากให้แก่พวกระบอบปกครองคณาธิปไตยของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ในอ่าวเปอร์เซีย
ตลอดจนอิสราเอล

ฉากทัศน์ที่น่าอึดอัดยิ่งไปกว่านี้เสียอีกอาจปรากฏขึ้นมา ถ้าหากคณะบริหารของประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตเดินหน้าอย่างจริงจังในการพาสหรัฐฯถอนตัวออกจากสงครามในเยเมนอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ หรือหันมาเน้นส่งเสริมสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ แนวนโยบายของพรรคเดโมแครตในภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนที่เป็นมุสลิม อาจจะหวนกลับไปสู่สมัยบารัค โอบามา

มองกันโดยภาพรวมก็คือว่า โดยพื้นฐานแล้ว บทบาทของสหรัฐฯที่ได้เคยกระทำมาอย่างยาวนาน ในการเป็นผู้อำนวยให้มีความมั่นคงขึ้นในตะวันออกลาง กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว ตรงนี้เองที่แกนพันธมิตรตุรกี-กาตาร์กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงถึงขั้นการดำรงคงอยู่ของยูเออี เราอาจจะคาดหมายได้วา
การบรรจบกันของอิสราเอลและยูเออีนี้ ก็เพื่อตอบโต้นโยบายต่างๆ ที่อยู่ในลักษณะอิสลามิสต์ของตุรกี
ตลอดจนแนวความคิดว่าด้วยการสร้างจักรวรรดิออตโตมันขึ้นมาใหม่ (neo-Ottomanism) ของประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ทั้งนี้ ลิเบียคือยุทธบริเวณของความขัดแย้งแห่งหนึ่งระหว่างตุรกีกับยูเออี

หันมาดูจากมุมมองของฝ่ายตุรกีบ้าง พวกเขาเห็นว่าทั้งอิสราเอลและยูเออีต่างก็เป็นศัตรูที่ให้การสนับสนุนชาวเคิร์ด (Kurd) ขณะเดียวกันก็พูดได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอลไม่สามารถปรับปรุงกระเตื้องให้ดีขึ้นอย่างมีความหมายใดๆ ได้เลย ตราบเท่าที่ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ให้การส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มฮามาส (Hamas) พร้อมกันนั้น แอร์โดอันก็มีความเชื่อว่า ยูเออีคือเวทีวางแผนเตรียมการเพื่อก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2016 ซึ่งมีความประสงค์ที่จะสังหารเขาและโค่นล้มรัฐบาลของเขา

ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงระหว่างยูเออีกับอิสราเอลเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงเช้าวันที่
14 สิงหาคม แอร์โดอัน กล่าวว่า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.presstv.com/Detail/2020/08/14/631787/Erdogan-Turkey-UAE-Israel) เขากำลังพิจารณาที่จะระงับหรือลดระดับความผูกพันทางการทูตที่ตุรกูมีอยู่กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “ผมออกคำสั่งไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ผมบอกว่าเราอาจจะระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับคณะบริหารอาบูดาบี หรือเรียกตัวเอกอัครราชทูตของเรากลับประเทศก็ได้” แอร์โดอัน บอก

ท่าทีที่ชัดเจนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ตุรกีกับกาตาร์จะมองการผูกพันทางยุทธศาสตร์ระหว่างอิสราเอล-ยูเออีนี้ว่าเป็นความท้าทายทางด้านความมั่นคง สำหรับตุรกี, กาตาร์, และอิหร่านแล้ว เรื่องนี้ควรถือเป็นของขวัญจากสวรรค์ซึ่งทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะกลายเป็นจุดศูนย์กลางขึ้นมาในฐานะผู้กล้าหาญที่เชิดชูช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต้านทานอิสราเอล อันที่จริง กระทรวงการต่างประเทศตุรกียังได้ออกคำแถลงซึ่งใช้ถ้อยคำแรงๆ บอกว่า “ประวัติศาสตร์และมโนธรรมของประชาชนในภูมิภาคนี้จะไม่มีวันลืมและจะไม่มีวันให้อภัยแก่พฤติกรรมแบบมือถือสากปากถือศีลของยูเออีครั้งนี้ ที่กำลังทรยศความถูกต้องชอบธรรมแห่งการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ เพื่อผลประโยชน์อันคับแคบของตนเอง”

คำแถลง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mfa.gov.tr/no_-173_-abd-israil-ve-bae-tarafindan-aciklanan-ortak-bildiri-hk.en.mfa) กล่าวต่อไปอีกว่า “เป็นเรื่องน่าวิตกอย่างยิ่งในการที่ยูเออี ซึ่งลงมือกระทำการตามอำเภอใจของตนฝ่ายเดียว จะพยายามและโยนทิ้งแผนสันติภาพอาหรับ (ปี 2002) (the (2002) Arab Peace Plan) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสันนิบาตอาหรับ (Arab League) มันไม่ได้มีความน่าเชื่อถือแม้แต่นิดเดียวสำหรับเรื่องที่คำประกาศสามฝ่ายนี้ จะถูกนำเสนอในลักษณะที่ว่าเป็นการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์”

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านก็เรียกความเคลื่อนไหวของยูเออีครั้งนี้ว่าเป็น “ความโง่เขลาในทางยุทธศาสตร์” คำแถลงที่ออกจากเตหะราน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://theiranproject.com/blog/2020/08/14/iran-condemns-uae-israel-ties-as-strategic-folly/) กล่าวว่า “กริชที่แทงใส่ข้างหลังของประชาชาติแห่งชาวปาเลสไตน์และประชาชนชาวมุสลิมนั้น จะสะท้อนกลับคืนสู่ผู้ทำร้าย และยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่แกนพันธมิตรฝ่ายต่อต้าน (Resistance Axis) ด้วยการกระตุ้นปลุกเร้าความสามัคคีและความสมานฉันท์ในการต่อสู้กับระบอบปกครองของพวกไซออนนิสต์ (Zionist regime –หมายถึงอิสราเอล ผู้แปล) และพวกรัฐบาลปฏิกิริยาในภูมิภาคนี้”

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้านแล้ว อิสราเอลขะสามารถแทนที่สหรัฐฯได้มากน้อยแค่ไหน ในการเป็นผู้อำนวยให้เกิดความมั่นคงแก่พวกระบอบปกครองอาหรับเผด็จการของรัฐริมอ่าวเปอร์เซีย นี่ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป รัฐร่ำรวยด้วยดอลลาร์จากน้ำมันเหล่านี้มีความเคยชินกับการเอาต์ซอร์สความมั่นคงแห่งชาติของพวกเขาไปให้พลังภายนอกดูแลให้ และศักยภาพของอิสราเอลในการจัดหาข่าวกรอง
รวมทั้งความชำนิชำนาญของอิสราเอลในการกดขี่พวกที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบ ก็ดูสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับการปกครองแบบเจ้าอาหรับของท่านชัยค์ทั้งหลาย

ส่วนสำหรับอิสราเอล พวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียเหล่านี้สามารถที่จะกลายเป็นตลาดซึ่งมีเสน่ห์ดึงดูดใจ
มีขนาดขอบเขตอันกว้างขวางทีเดียวสำหรับการขยายตัวในด้านการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ อุตสาหกรรมไฮเทคของอิสราเอลสามารถที่จะยึดฉวยโอกาสต่างๆ ในด้านการลงทุน, กำหนดเป้าหมายเพื่อการส่งออก และแม้กระทั่งการขายอาวุธ ทว่ามติมหาชนชาวอาหรับจะมองการปรากฏตัวของชาวอิสราเอลซึ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นมาอยู่รอมร่อแล้วนี้กันอย่างไร ยังคงเป็นคำถามแบบปลายเปิด

มันนักหนาเกินเลยไปมาก ที่จะคาดหวังให้อิสราเอลแก้ไขวิธีการอันรุนแรงต่างๆ ของตนทั้งในเรื่องการบีบคั้นและทำลายล้างประชาชนชาวปาเลสไตน์, การสร้างนิคมผิดกฎหมายต่างๆ ขึ้นมา, การธำรงรักษาระบอบแบ่งแยกเชื้อชาติเอาไว้, และการเล่นงานพวกผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน น่าสนใจทีเดียวที่พวกฝ่ายซ้ายจำนวนมากในสหรัฐฯ รวมทั้งพวกองค์กรฝ่ายเสรีนิยมของชาวยิวในสหรัฐฯต่างพากันปฏิเสธไม่เห็นด้วยว่าข้อตกลงอิสราเอล-ยูเอดีนี้จะสามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ฉันปกติขึ้นมาได้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.middleeasteye.net/news/jewish-american-group-condemns-israel-uae-peace-deal) พวกเขาบอกว่า มัน “ไม่ได้มีอะไรควรแก่การเฉลิมฉลองเลย”

พวกเขาพากันมองเมินข้อตกลงนี้โดยเห็นว่าเป็นเพียงกลอุบายล่าสุดของทรัมป์และเนทันยาฮู –โดยมียูเออีคอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้กำลังใจ— และไม่ได้มีอะไรนอกเหนือจากการแสดงละครและเป็นเพียงการหันเหความสนใจออกไปจาก “โรคระบาดใหญ่, วิกฤตทางเศรษฐกิจ, การก่อความไม่สงบในหมู่พลเมือง, และแรงสนับสนุนจากสาธารณชนที่กำลังลดฮวบลงทั้งในสหรัฐฯและในอิสราเอล”

จริงทีเดียว เสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้มีคุณค่าควรแก่การพิจารณาบางประการ ประเด็นก็คือ ทั้งทรัมป์และเนทันยาฮูต่างกำลังตกอยู่ในความลำบากยุ่งยากทางการเมืองอย่างล้ำลึก –ในแต่ละหนทางของพวกเขาเอง— และต่างใจจดใจจ่อดิ้นรนมองหาสิ่งที่พวกเขาจะสามารถใช้อวดอ้างว่าเป็นความสำเร็จได้ แต่ส่วนที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่ก็คือ ชัยค์ โมฮัดเหม็ด จะหลุดออกมาจากสถานการณ์ทั้งหมดนี้กันอย่างไร เมื่อพิจารณาจากแง่มุมทางการเมืองต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนที่เป็นชาวมุสลิม

(เก็บความจากเว็บไซต์indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่https://indianpunchline.com/israel-uae-legitimise-their-relationship/)


เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า
29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต
ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
กำลังโหลดความคิดเห็น