รอยเตอร์ – สหรัฐฯ กำลังพิจารณาจำหน่ายเครื่องบินขับไล่ชนิดหลบหลีกเรดาร์ F-35 ให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยเป็นการให้สิทธิ์ในรูปแบบของข้อตกลงข้างเคียง (side agreement) หลังจากที่รัฐบาลยูเออียอมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมเผยวานนี้ (19 ส.ค.)
สัปดาห์ที่แล้ว อิสราเอลและยูเออีได้ประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของแผนสันติภาพตะวันออกกลางที่มีรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเจ้าภาพ
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากยูเออีได้ครอบครองสุดยอดเครื่องบินขับไล่ F-35 จากสหรัฐฯ เช่นกันย่อมจะส่งผลกระทบกระเทือนถึงความได้เปรียบทางทหารของอิสราเอลในตะวันออกกลาง
ระหว่างการแถลงข่าววานนี้ (19 ส.ค.) ทรัมป์ ยอมรับว่ายูเออีแสดงความสนใจที่จะสั่งซื้อฝูงบิน F-35 จากค่ายล็อกฮีดมาร์ตินคอร์ป ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่อิสราเอลมีประจำการอยู่
“พวกเขาอยากจะสั่งซื้อ F-35 เดี๋ยวรอดูกันต่อไป มันอยู่ระหว่างการพิจารณา” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว
นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลออกมาพูดดักคอสหรัฐฯ ตั้งแต่วันอังคาร (18) ว่าอิสราเอลไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ จะขาย F-35 ให้กับยูเออี โดยย้ำถึงความจำเป็นที่อิสราเอลจะต้องคงไว้ซึ่งศักยภาพด้านการทหารที่เหนือชั้นกว่าใครๆ ในภูมิภาค
ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาซื้อขายและส่งมอบ F-35 คงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่มีเวลาเหลือเฟือที่จะยับยั้งข้อตกลงนี้ อีกทั้งการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ต่างชาติก็จะต้องขอการอนุมัติจากสภาคองเกรสด้วย
โปแลนด์ซึ่งเป็นลูกค้า F-35 รายล่าสุดสั่งซื้อเครื่องบินทั้งหมด 32 ลำ แต่กว่าจะได้รับมอบลำแรกก็ต้องรอไปถึงปี 2024
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมระบุว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อตกลงขาย F-35 ให้กับยูเออีก็คือ เจเร็ต คุชเนอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสและลูกเขยคนโปรดของทรัมป์
หนังสือพิมพ์ Yedioth Ahronoth ของอิสราเอลเป็นสื่อเจ้าแรกที่ตีแผ่เรื่องข้อตกลงขาย F-35 ให้ยูเออี ในขณะที่เพนตากอนและทำเนียบขาวยังไม่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้
สหรัฐฯ นั้นรับประกันว่าจะอุดหนุนชาติพันธมิตรหลักอย่างอิสราเอลด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้มีแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้น (qualitative military edge) กว่าประเทศเพื่อนบ้านเสมอ