เอเจนซีส์ – ผู้นำสหรัฐฯส่งเสียงยินดีการตกลงฟื้นฟูทางการทูตระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรคตส์เมื่อวานนี้(13 ส.ค) ชี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนสันติภาพตะวันออกกลางที่สหรัฐฯเป็นเจ้าภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่อิสราเอลต้องยอมยกเลิกแผนผนวกเขตเวสต์แบงก์ แต่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ยันยังคงเดินหน้าผนวกต่อ
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(13 ส.ค)ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์
กล่าวแถลงในทำเนียบขาววันพฤหัสบดี(13)ถึงการตกลงครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า
“ทุกคนต่างกล่าวว่าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้”
และเสริมต่อว่า “หลังจาก 49 ปีผ่านไป อิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตให้อยู่ในระดับปกติอีกครั้ง พวกเขาจะแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตและเอกอัครราชทูตจะเริ่มต้นความร่วมมือทุกภาคส่วนและในวงกว้างรวมไปถึง การท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข การค้าและความมั่นคง”
เขาเปิดเผยถึงการหารือทางโทรศัพท์ 3 ฝ่ายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู
และเจ้าชายชีคโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล-นาห์ยัน มกุฎราชกุมารของอาบูดาบี (Prince Khalifa bin Zayed Al Nahyan)ว่า “มีแต่ความรัก”
พร้อมกันนี้ทรัมป์ยังเปิดเผยว่า จะมีข้อตกลงที่คล้ายกันนี้ถูกหารือกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งในการแถลงที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวแวดล้อมไปด้วยที่ปรึกษาระดับสูงรวม จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขย ผู้นำสหรัฐฯกล่าวถึงการตกลงร่วมกันครั้งประวัติศาสตร์ว่า “เป็นข้อตกลงสันติภาพ” ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นคนกลาง
สื่ออังกฤษชี้ว่า เงื่อนไขที่ผู้นำสหรัฐฯตั้งในข้อตกลงครั้งนี้คือ อิสราเอลต้องหยุดแผนการประกาศอำนาจอธิปไตยรัฐยิวเหนือดินแดนเขตเวสต์แบงก์
ซึ่งในวันเดียวกัน(13)หลังจากนั้น ผู้นำยูเออีได้ออกมาทวีตว่า “ประเทศของพระองค์ได้ตกลงในทางเลือกอื่นเพื่อการร่วมมือและจัดตั้งโร๊ดแม็พเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี”
เดอะการ์เดียนชี้ว่า เงื่อนไขของการตกลงฟื้นฟูครั้งประวัติศาสตร์นี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของสหรัฐฯที่ต้องการให้
“อิสราเอล” หยุดแผนการผนวกเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งสื่ออังกฤษชี้ว่า ดูเหมือนข้อตกลงจะมีรอยร้าวในทันทีเป็นเพราะหลังจากการประกาศความสำเร็จของการตกลงร่วมออกมา เนทันยาฮูในวันพฤหัสบดี(13)ได้ออกมายืนกรานว่า เขาจะยังคงเดินหน้าแผนการผนวกเขตเวสต์แบงก์ต่อไปซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเขา
แต่ทว่าฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกมาสวนทันควัน “ถือเป็นการหยุดการผนวกดินแดนในทันที”
ทั้งนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นชาติอาหรับที่ 3 ตามหลังจอร์แดน และอียิปต์ที่ออกมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล
แต่สำหรับในฝั่งปาเลสไตน์ที่ตลอดมาต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากบรรดาชาติอาหรับเพื่อทำให้รัฐปาเลสไตน์ได้รับเอกราชและถูกยอมรับในฐานะความเป็นรัฐ การออกมาประกาศปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอลที่ถือเป็นคู่อริและยูเออีในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่ถอยหลังสำหรับปาเลสไตน์จากความพยายามที่ต้องการให้นานาชาติร่วมกดดันอิสราเอลจนกระทั่งข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์จะบรรลุ
สำนักข่าวทางการปาเลสไตน์รายงานว่า มีการเรียกตัวเอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กลับประเทศ