รอยเตอร์ – อเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ เข้าพบประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงไทเป วันนี้ (10 ส.ค.) โดยส่งมอบคำยืนยันจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าพร้อมจะให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเข้มแข็ง พร้อมเอ่ยชมความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล ไช่ ว่ายอดเยี่ยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
อาซาร์ และคณะเดินทางถึงไต้หวันเมื่อวานนี้ (9) และถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่ไปเยือนไต้หวันในรอบ 40 ปี
การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีผู้นี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อจีนซึ่งยังคงถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน โดยปักกิ่งขู่จะมีมาตรการตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ
วอชิงตันตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวันและประกาศยอมรับหลักการจีนเดียว (One China) ตั้งแต่ปี 1979 แต่ถึงกระนั้นอเมริกาก็ยังคงเป็นซัพพลายเออร์อาวุธและเป็นผู้สนับสนุนไต้หวันรายใหญ่ที่สุดในเวทีโลกเรื่อยมา
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาที่นี่ เพื่อนำมิตรภาพและการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประธานาธิบดี ทรัมป์ มายังไต้หวัน” อาซาร์ กล่าวระหว่างเข้าพบ ไช่ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไทเป
“มาตรการตอบสนอง โควิด-19 ของไต้หวันถือว่าประสบความสำเร็จมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และนี่คือการสดุดีต่อสังคมและวัฒนธรรมไต้หวันที่มีความเปิดกว้าง, โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ”
มาตรการควบคุมโรคที่รวดเร็วและได้ผลจริงของรัฐบาลไต้หวันช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมคงอยู่ที่ 480 ราย และเสียชีวิตเพียง 7 ราย ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง อีกทั้งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็เป็นเคสที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สหรัฐฯ ซึ่งเผชิญการแพร่ระบาดหนักหน่วงที่สุดในโลกและเวลานี้มีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 5 ล้านคน กล่าวหาจีนว่า ‘ขาดความโปร่งใส’ และอาจปิดบังอำพรางสาเหตุของการแพร่กระจายของโควิด-19
ประธานาธิบดี ไช่ กล่าวกับรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ ว่า การมาเยือนของเขา “ถือเป็นย่างก้าวสำคัญในความร่วมมือต่อสู้โรคระบาดใหญ่ระหว่างเราทั้งสอง” พร้อมอ้างถึงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของการวิจัย/พัฒนาวัคซีนและตัวยารักษาโควิด-19
รัฐบาลไทเปยังรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษที่สหรัฐฯ มีส่วนช่วยเรียกร้องให้ไต้หวันได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly - WHA) และสามารถเข้าถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มากยิ่งขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
ไต้หวันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิก WHO จนแล้วจนรอด เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจาก ‘จีน’ ซึ่งถือว่าเกาะแห่งนี้ยังเป็นดินแดนของตนอยู่
“ดิฉันขอย้ำว่า การพิจารณาเรื่องการเมืองไม่สมควรจะอยู่เหนือสิทธิด้านสุขภาพ และการกีดกันไต้หวันไม่ให้เข้าประชุม WHA ถือเป็นการละเมิดสิทธิสากลในด้านสุขภาพ” ไช่ กล่าว