xs
xsm
sm
md
lg

จีนฮึ่มใส่สหรัฐฯ สร้างภัยคุกคามสันติภาพ-เสถียรภาพ ด้วยการส่ง จนท.ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีไป ‘ไต้หวัน’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) อเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ (ขวา) และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะแถลงข่าวที่สวนกุหลาบ ของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2020
รอยเตอร์/เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ อเล็กซ์ อาซาร์ ของสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนไต้หวันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอเมริกาที่ไปเยือนไต้หวันในรอบ 40 ปี ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่จีน ซึ่งแถลงปึงปังว่านี่เป็นภัยคุกคามต่อ “สันติภาพและเสถียรภาพ” ในบริเวณช่องแคบไต้หวัน

การเยือนไต้หวันของอาซาร์ ซึ่งสำนักงานของเขาในกรุงวอชิงตันแถลงยืนยันเมื่อวันอังคาร (4 ส.ค.) คาดว่าจะยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากสงครามการค้า, โรคระบาดโควิด-19 และประเด็นสิทธิมนุษยชน แม้รัฐบาลไทเปจะยินดีปูพรมต้อนรับเจ้าหน้าที่อเมริกันเพื่อสื่อถึงการไม่สยบต่อแรงกดดันของจีนก็ตาม

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันระบุว่า อาซาร์ มีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ด้วย

“ไต้หวันถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความโปร่งใสและการให้ความร่วมมือต่อระบบสาธารณสุขโลก ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดและก่อนหน้านั้น” อาซาร์ ระบุในถ้อยแถลงวันอังคาร (4) “ผมรอคอยที่จะแจ้งให้ไต้หวันทราบว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมสนับสนุนความเป็นผู้นำในด้านสาธารณสุขโลกของไต้หวัน และตอกย้ำความเชื่อที่เรามีร่วมกันว่า สังคมประชาธิปไตยที่เสรี นั้นคือ แบบอย่างที่ดีที่สุดสำหรับการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพ”

สำนักงานของอาซาร์ เรียกการเยือนไต้หวันครั้งนี้ว่า เป็น “ทริปประวัติศาสตร์” ซึ่งจะมี มิตเชลล์ วูล์ฟ ประธานเจ้าหน้าที่แพทย์จากศูนย์กลางเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) รวมถึงเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ ติดตามไปด้วย

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ชี้ว่า การเยือนของ อาซาร์ สะท้อนถึงความใกล้ชิดสนิทสนมและความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มีให้กับไต้หวันตลอดมา และรัฐบาลไทเปยังรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษที่สหรัฐฯ มีส่วนช่วยเรียกร้องให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ไต้หวันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิก WHO เนื่องจากเผชิญการคัดค้านจาก ‘จีน’ ซึ่งถือว่าเกาะแห่งนี้เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน และปักกิ่งยืนยันด้วยว่าเกาะแห่งนี้ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นทุกอย่างในเรื่องการรับมือโควิด-19 อยู่แล้ว

สหรัฐฯ ประกาศยอมรับหลักการจีนเดียว (One China) ตั้งแต่ปี 1979 โดยได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตที่เคยมีอยู่กับไทเป แล้วหันมารับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในปักกิ่งแทน แต่ถึงกระนั้นอเมริกาก็ยังเป็นซัพพลายเออร์อาวุธและเป็นผู้สนับสนุนไต้หวันรายใหญ่ที่สุดในเวทีโลก

จีนา แม็กคาร์ทีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับคณะรัฐมนตรีรายล่าสุดที่ไปเยือนไต้หวันเมื่อปี 2014 แต่ในทางเทคนิคก็ยังถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรองกว่า อาซาร์

เมื่อเดือน มี.ค. ทรัมป์ ได้ลงนามประกาศใช้กฎหมายเพิ่มการสนับสนุนบทบาทของไต้หวันในระดับนานาชาติ รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยือนด้วย จนทำให้จีนออกมาขู่แก้แค้น

สำหรับปฏิกิริยาของปักกิ่งเกี่ยวกับการไปเยือนไต้หวันของอาซาร์นั้น หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันพุธ (5) ประณามทริปเดินทางนี้ และระบุว่าจีนคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการใดๆ ระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน

หวังบอกว่า จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกทริปเดินทางนี้ไปเสีย รวมทั้งยังได้ “ยื่นประท้วงอย่างรุนแรงต่อวอชิงตันด้วย

“ไต้หวันเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและอ่อนไหวที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ” โฆษกผู้นี้กล่าวเตือน ขณะที่ย้ำว่า “เราเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพยึดมั่นในหลักการจีนเดียว ... เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอันตรายอันร้ายแรงต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ตลอดจนต่อสันติภาพและเสถียรภาพของสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น