US-China trade deal unravels. What next?
by M. K. Bhadrakumar
28/06/2020
การทูตอเมริกันในยุคคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกผลักดันด้วยความคิดผิดๆ ที่ว่า รากฐานทางสังคมของพรรคอมมิวนิสต์จีนได้ถูกกัดกร่อนทำลายไปอย่างมโหฬารจากไวรัสโคโรนา และการกุมอำนาจของ สี จิ้นผิง ได้ตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนง่อนแง่นเป็นอย่างยิ่งแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ที่จะยุติลบทิ้งมรดกแห่งการปฏิวัติจีน
ประชาคมโลกสามารถที่จะถอนหายใจด้วยความโล่งอกได้ว่า มันจะยังไม่มีสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเกิดขึ้นมา สงครามเย็นนั้นจำเป็นต้องมีกลุ่มประเทศ 2 กลุ่ม ขณะที่เวลานี้วอชิงตันไม่สามารถที่จะปะผุซ่อมแซมให้เกิดเป็นกลุ่มของตนขึ้นมาใหม่ ส่วนปักกิ่งก็ไม่มีความสนใจที่จะก่อตั้งกลุ่มเช่นนี้ โดยที่ขาดไร้ความคิดจิตใจชนิดต้องการก่อตั้งรวมเป็นกลุ่มประเทศขึ้นมาด้วยซ้ำ ทว่าการโดดเดี่ยวจีนในประชาคมระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งที่พูดง่ายกว่าทำ เมื่อเวลานี้โลกาภิวัตน์ที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังถูกแทนที่ด้วยโลกาภิวัตน์ที่นำโดยจีน
ขณะเดียวกันมันก็ไม่มีลู่ทางโอกาสใดๆ ที่จะเกิดสงครามร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐฯขึ้นมาเช่นกัน ตรงกันข้ามสิ่งที่กำลังคลี่คลายปรากฏโฉมให้เห็นคือการประจันหน้ากันระหว่างคณะบริหารทรัมป์กับปักกิ่งในท่ามกลางความว่างเปล่าทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยที่ทิศทางโคจรของมันจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เวลานี้ส่วนใหญ่คงต้องขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ประชาคมโลกโดยรวมนั้นไม่ได้วางตัวเข้าข้างฝักใฝ่ฝ่ายใดในการประจันหน้ากันนี้ โดยมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็เพียงแค่ 2 ประเทศผู้ประกาศตัวเป็นอิสรเสรีแยกห่างจากคนอื่นใน “อินโด-แปซิฟิก” และเวลานี้ตกลงเข้าร่วมอยู่ในขบวนของสหรัฐฯแล้ว ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย กับ อินเดีย
เอเชียเอง ยังคงไม่ได้เกิดการเสียหายแตกร้าวอะไร ญี่ปุ่นแสดงท่าทีระมัดระวังไม่ต้องการยั่วยุจีน (ดูเพิ่มเติมได้จากข้อเขียนในบล็อกของผมเรื่อง Japan-US alliance gets less intimate ใน https://indianpunchline.com/japan-us-alliance-gets-less-intimate/) ขณะที่พวกประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนปฏิเสธไม่ขอเข้าข้างไหนไม่ว่าจะเป็นคณะบริหารทรัมป์หรือว่าประเทศจีน ในความเป็นจริงแล้ว อาเซียนเพิ่งได้รับหลักประกันความมั่นใจว่า ข้อตกลงที่มีชื่อว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership ใช้อักษรย่อว่า RCEP) ซึ่งมีทั้งจีนและญี่ปุ่นอยู่ด้วยนั้น จะมีการลงนามกันได้ภายในปีนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.cgtn.com/news/2020-06-23/Ministers-RCEP-trade-pact-expected-to-be-signed-in-2020-RyAGmaew2k/index.html) โดยที่ข้อตกลงฉบับนี้กำลังจะเปลี่ยนรูปโฉมการบูรณาการในระดับภูมิภาคของเอเชีย-แปซิฟิก อย่างมโหฬาร
ทำนองเดียวกัน ยุโรปก็กำลังยืนห่างออกมา และได้เริ่มต้นการทำงานเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนกันที่เสมอภาคมากขึ้นและสมดุลยิ่งขึ้น โดยปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงอันหนักแน่นของโลกยุคหลังโควิด-19 (post-Covid-19) ซึ่งจีนสามารถยืนโดดเดี่ยวอยู่ต่างหากจากคนอื่นๆ ในฐานะที่เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด
เมื่อ “ทรัมป์” ตัดสินใจชู “ปีศาจจีน” เป็นประเด็นหาเสียง
กล่าวโดยสรุป ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจจะชู “ปีศาจจีน” ให้เป็นหนึ่งในหมากเด็ดอันสำคัญสำหรับการณรงค์หาเสียงของเขาเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยหนึ่งในการลงคะแนนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ทรัมป์คาดคำนวณว่ามันจะเป็นยุทธศาสตร์อันฉลาดล้ำประการหนึ่งซึ่งเสริมส่งให้เขาก้าวไปสู่ชัยชนะในการแข่งขันซึ่งผู้มีชัยจะคว้าทุกสิ่งทุกอย่างไปครอบครอง ในด้านหนึ่ง เขาทึกทักเอาว่า ข้อตกลงการค้า “เฟส 1” ที่ลงนามกันเอาไว้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะผูกพันบังคับให้จีนต้องซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกันเป็นมูลค่ารวมกันมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้รวมไปถึงผลิตภัณฑ์การเกษตรปริมาณมหึมา ซึ่งจะกลายเป็นการอวดโชว์ให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านนโยบายการต่างประเทศของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ยังมองเห็นว่ามีช่องทางในการใช้เรื่องนี้มาหนุนชูตัวเขาเองให้กลายเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนที่ “เขี้ยวที่สุด” เท่าที่เคยมีมาในเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับจีน –อันเป็นภาพลักษณ์ซึ่งเขาพยายามผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่บรรดาท่านผู้ชมภายในประเทศ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากการหาเสียงของบุคคลที่เขามาดหมายว่าจะกลายเป็นคู่แข่งขันคนสำคัญที่สุดของเขานั่นคือ จอห์น ไบเดน --บุคคลที่ทรัมป์จะพยายามฟาดฟันให้จมดินด้วยข้อกล่าวหาว่าไร้ความสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้กับจีนซึ่งเป็น “จอมแข็งกร้าวยืนกราน”
นอกจากนั้น ด้วยการร่ายมนตร์ปลุกผี “ไวรัสอู่ฮั่น” ทรัมป์ก็วาดหวังว่าจะสามารถหันเหความสนใจของสาธารณชนออกมาจากการไร้ความสามารถและความล้มเหลวอย่างน่าเศร้าใจของตัวเองเองในการรับมือจัดการกับการท้าทายของโรคระบาดโควิด-19 ถึงแม้ขณะนี้วิกฤตการณ์นี้ยังคงพุ่งแรงลิ่วขึ้นมาอย่างน่ากลัวจนทำท่าอาจจะกลายเป็นเทวทัณฑ์ซึ่งทำให้การรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของเขาต้องพังทะลาย
หากจะบอกว่าปักกิ่งคงไม่รังเกียจอะไรนักหรอก จากการถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายเสมือนเป็นกระสอบทรายซ้อมชกให้แก่ทรัมป์ เพื่อสร้างภาพของเขาให้ดูเป็นนักการเมืองผู้ “เข้มแข็ง” ในปีแห่งการเลือกตั้ง นี่ก็เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลน่ารับฟังอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี พวกเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารทรัมป์ยังกลับพยายามรุกคืบหน้าอย่างไม่ฉลาดเอาเลย ในการมุ่งสร้างพลังผนึกประสานมาขยายผลจากแผนการหาเสียงเช่นนี้ของทรัมป์ ด้วยทัศนะที่ต้องการวางรากฐานสำหรับให้ทางคณะผู้นำสหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์คล้ายๆ กับในยุคสงครามเย็น ต่อประเทศจีนต่อไปในอนาคต
การจัดวางยุทธศาสตร์เช่นนี้ กำหนดขึ้นมาจากการตีความอันผิดพลาดถึงขั้นอาจสร้างความวิบัติหายนะ ตามการตึความดังกล่าว โรคระบาดโควิด-19 ได้ทำให้จีนอยู่ในสภาพที่อ่อนแออย่างร้ายแรงยิ่ง โดยการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรถึงขั้นพังพาบเจ็บหนัก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจขึ้นในสังคมแดนมังกร และทำให้สาธารณชนรู้สึกแปลกแยกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งทำท่าจะเกิดการท้าทายอย่างสาหัสร้ายแรงชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยต่อความเป็นผู้นำของ สี จิ้นผิง อีกด้วย
กล่าวโดยรวมก็คือ ตามวิธีการเล่าเรื่องบรรยายความเช่นนี้ของสหรัฐฯ ช่วงขณะปัจจุบันนี้แหละกำลังกลายเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งสำหรับการดิสเครดิตจีนและการโดดเดี่ยวจีน และสำหรับการทำลายลู่ทางความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งสิ้นของแดนมังกร ในการเป็นอภิมหาอำนาจผู้ก้าวผงาดขึ้นมาแข่งขันชิงดีชิงเด่นกับอเมริกาในอนาคต ด้วยเหตุนี้ การทูตของสหรัฐฯภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ (อดีตนายสิบในกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้ฮึกห้าวต้องการก้าวขึ้นเทียบชั้น เจมส์ แมตทิส นายทหารยศพลเอกผู้ได้รับเหรียญตราประดับแพรวพราว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความคิดแบบรอบคอบระมัดระวัง) จึงรีบเปลี่ยนเข้าเกียร์สูงโดยที่มีวาระต่อต้านจึนเป็นจุดโฟกัสหลักของตน
ระหว่างปีสองปีที่ผ่านมาขณะที่ทรัมป์เปิดฉากสงครามขึ้นภาษีศุลกากรสหรัฐฯ-จีนอยู่นั้น พอมเพโอได้ทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มกำลังและด้วยความคลั่งไคล้ ในการผลักดันวาระทางการทูตแบบมุ่งประจันหน้ากับจีนให้ถึงที่สุด (ทำนองเดียวกับที่ วินสตัน เชอร์ชิล เมื่อตอนกล่าวคำปราศรัย “fight them on the beaches” วันที่ 4 มิถุนายน 1940 อันมีชื่อเสียงของเขา เพื่อปลุกเร้าให้ประชาชนชาวอังกฤษฮึกหาญกล้าต่อสู้กับนาซีเยอรมันต่อไป ถึงแม้ฝรั่งเศสกำลังถูกนาซีเยอรมันรุกราน และทำท่าอาจจะปราชัยแพ้พ่าย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/We_shall_fight_on_the_beaches)
ในด้านหนึ่ง พอมเพโอยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในฮ่องกง, ประณามอย่างยาวเหยียดเผ็ดร้อนในสิ่งที่เขากล่าวหาว่าจีนกำลังปราบปรามกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์, พยายามอย่างแข็งขันในการสร้างระบบพันธมิตรระบบหนึ่งขึ้นมากับอินเดียและออสเตรเลีย เพื่อร่วมกันต่อต้านคัดง้างจีน, เพิ่มการแสดงท่าทีวางโตทางการทหารของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้, ทำท่าถอยห่างจากคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯเมื่อปี 1972 ในเรื่องจะปฏิบัติตามนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งเป็นสิ่งที่ปักกิ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่สุดที่วอชิงตันจะละเมิดไม่ได้, เปิดการรณรงค์ทั่วโลกเพื่อป้ายสีทำให้ หัวเว่ย และเทคโนโลยี 5 จีของจีนกลายเป็นผู้ร้ายโฉดชั่ว
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ดำเนินการเคลื่อนไหวเป็นขยักๆ แต่ต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-จีนที่มีความกว้างขวางยาวไกล บังเกิดการสะดุดถอยหลัง (นี่รวมถึงการใช้มาตรการแซงก์ชั่นและการจำกัดงดออกวีซ่าในระยะหลังๆ มานี้ด้วย) โดยที่มีทิศทางมุมมองเชิงนโยบายในระยะยาวที่จะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนเกิด “การหย่าร้างแยกขาดออกจากกัน” ในท้ายที่สุด
แบบแผนวิธีการของจีนในการสู้รบปรบมือกับโรดแมปเช่นนี้ของพอมเพโอ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในลักษณะตั้งตนเป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายที่คอยทำการตอบโต้ จีนหลีกเลี่ยงการยั่วยุสหรัฐฯหรือการปฏิบัติที่จะเป็นการคัดค้านพวกผลประโยชน์แกนกลางทั้งหลายของสหรัฐฯไม่ว่าในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก ทั้งนี้ “ความเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้” ของจีน ที่เป็นหลักๆ เลย มีอาทิ:
**การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การตกลงทำความเข้าใจกันอย่างฉันมิตรระหว่างจีน-รัสเซีย
**การติดต่อทาบทามพวกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมนีและฝรั่งเศส) มาเป็นหุ้นส่วนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกัน โดยวางพื้นฐานอยู่บนความเคารพและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
**การสร้างห่วงโซ่อุปทานสายใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ “การหย่าร้างแยกขาด” จากสหรัฐฯในท้ายที่สุด
**การโฟกัสที่นวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีภายในจีนเอง
**การผ่อนคลายลดระดับความตึงเครียดที่มีอยู่กับญี่ปุ่น
**การทำให้นโยบายโลกาภิวัตน์ของแดนมังกร กลายเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ระดับภูมิภาค (เวลานี้อาเซียนได้เข้าแทนที่สหรัฐฯ กลายเป็นคู่ค้าหมายเลข 1 ของจีนไปเรียบร้อยแล้ว)
**การใช้แผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) มากระตุ้นกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีจีนเป็นผู้นำ (รวมไปถึงการจัดทำ “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” Health Silk Road ขึ้นมาในช่วงหลังๆ นี้ เพื่อกำหนดจัดวางตำแหน่งของตนเองให้กลายเป็นผู้นำด้านสุขภาพระดับโลกรายหนึ่งในขณะที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19) และ แน่นอนทีเดียว อีกข้อหนึ่งคือ
**การดำเนินการด้วยความหนักแน่นทรงพลังในการปฏิเสธไม่ยอมให้สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายในฮ่องกง หรือในกิจการภายในของจีนไม่ว่าตรงไหนก็ตามที รวมทั้งการตอบโต้สวนกลับต่อสิ่งที่จีนรับรู้เข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามต่อ “อธิปไตยทางดินแดน” ของตน
ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ของจีน แม้เมื่อตรวจสอบด้วยความละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ยังคงมองไม่เห็นว่ามัน มีลักษณะ “ต่อต้านอเมริกัน” ที่ตรงไหน
มายาภาพที่เป็นความเชื่อของฝ่ายอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ เมื่อโรดโชว์ทั้งหลายของพอมเพโอเริ่มที่จะเพิ่มความถี่ในการพุ่งเป้าโจมตีและป้ายสีใส่ความพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการวาดภาพเสียดสีเย้ยเยาะว่าพรรคการเมืองที่พึงได้รับความเคารพนับถือซึ่งร่วมก่อตั้งขึ้นโดยเหมา เจ๋อตง ในปี 1921 หรือเมื่อเกือบๆ 1 ศตวรรษก่อนพรรคนี้ เป็นแหล่งกำเนิดของความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงบนโลกใบนี้
สามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจได้ว่า การทูตอเมริกันถูกผลักดันดำเนินไปด้วยความคิด(ผิดๆ) ที่ว่า รากฐานทางสังคมของพรรคอมมิวนิสต์จีนได้ถูกกัดกร่อนทำลายไปอย่างมโหฬารจากไวรัสโคโรนา และการกุมอำนาจของ สี จิ้นผิง ได้ตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนง่อนแง่นเป็นอย่างยิ่งแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสทางประวัติศาสตร์ที่จะยุติลบทิ้งมรดกแห่งการปฏิวัติจีน ทำนองเดียวกับเมื่อตอนที่สหรัฐฯได้ฉวยโอกาสหาประโยชน์อย่างเฉลียวฉลาดในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อสร้างความอ่อนแอและทำลายอดีตสหภาพโซเวียต และฝังกลบมรดกทั้งหลายของพรรคบอลเชวิก
เป็นเช่นนี้จริงๆ ในหมู่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของอเมริกา (และในหมู่พวกนักวิเคราะห์ในอินเดียด้วย) การเล่าเรื่องบรรยายความแบบที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดยิ่งกว่าแบบใดๆ ได้แก่การเล่าเรื่องให้เห็นไปว่า ปักกิ่งกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันบีบคั้นอย่างมหึมามโหฬาร สืบเนื่องจากความปั่นป่วนไม่เป็นขบวนในกิจการภายในด้านต่างๆ ของตน จนกระทั่งคณะผู้นำถูกบังคับให้ต้องทำการ “เบ่งกล้าม” ในต่างประเทศ ในลักษณะของแผนอุบายซึ่งจัดทำขึ้นมาเพื่อปกปิดอำพรางไม่ให้มองเห็นถึงกำลังความแข็งแกร่งและเสถียรภาพทางการเมืองที่แท้จริงภายในบ้านของตนเอง
อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าการบรรยายความเช่นนี้กลับขัดแย้งกับข้อมูลที่เห็นกันได้อย่างโต้งๆ ซึ่งกลับแสดงให้เป็นภาพอย่างอื่น --นั่นก็คือ ตัวทรัมป์เองต่างหากที่ตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นกดดันให้ต้องสร้างภาพตนเองสำหรับปีเลือกตั้งปัจจุบันนี้ โดยมุ่งวาดให้ตัวเองกลายเป็น “บุรุษเหล็ก” ที่มีความเป็นผู้นำซึ่งสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นตัวทรัมป์เองยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแตกขั้วแบ่งข้างและเกิดเงื่อนไขต่างๆ ชนิดใกล้ระเบิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นในเศรษฐกิจสังคมของสหรัฐฯ— รวมทั้งยังถูกเติมเชื้อให้โหมคุโชนด้วยโรคระบาดโควิด-19, เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยอย่างรุนแรง, ความไม่สงบทางเชื้อชาติ, และระบบการเมืองแบบ 2 พรรคซึ่งติดแหง็กอยู่ในการสู้รบทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย ซึ่งกำลังเฉือนแบ่งผ่ากลางประเทศชาติให้ขาดจากกันเป็น 2 ซีก
โจ ไบเดน สามารถเพิ่มคะแนนนำของตนจนกระทั่งถึงหลัก 19% ในการสำรวจความคิดเห็นของโพลล่าสุดบางสำนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเกรงขามมาก ถ้าหากโรคระบาดยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกในสหรัฐฯในช่วงหลายๆ สัปดาห์และหลายๆ เดือนข้างหน้านี้ อันเป็นสิ่งที่มีความน่าจะเป็นอย่างสูงลิ่ว การวินิจฉัยตัดสินใจทางการเมืองของทรัมป์ก็ย่อมจะต้องถูกตรวจตราสอบทานอย่างถี่ถ้วนและรุนแรง –โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจอย่างเป็นเวรเป็นกรรมของเขาในการเปิดเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ กระทั่งก่อนที่จะสามารถทำให้ “เส้นเคิร์ฟ” การระบาดของโควิด-19 แบนราบลงมาได้
ไม่น่าประหลาดใจอะไร ที่ความอดกลั้นอดทนของจีนกำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และทำการตอบโต้ตอกกลับในจุดที่ทำให้ทรัมป์เจ็บปวด – ด้วยการหาข้อแก้ต่างให้ตนเองสำหรับที่จะไม่ทำตามสัญญาในการซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกันมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ ถ้าหากทรัมป์ไม่ล่าถอยออกจากนโยบายต่างๆ ของเขาที่เป็นปรปักษ์ต่อปักกิ่ง
จีนกำลังดำเนินการตอบโต้แก้เผ็ด โดยทราบอยู่เต็มอกว่ากลุ่มล็อกบี้เพื่อภาคการเกษตรคือภาคส่วนที่สำคัญมากภาคส่วนหนึ่งของฐานเสียงสนับสนุนของโดนัลด์ ทรัมป์ มันเป็นการกระหน่ำโจมตีที่สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ทีเดียว (ทรัมป์เวลานี้กำลังมีคะแนนเสียงตามหลังไบเดนในรัฐการเกษตรอย่างวิสคอนซิน ซึ่งมองกันว่ามีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งคราวนี้)
เวลาเดียวกันนั้น จากสิ่งที่กำลังเริ่มปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกันจากตัวเลขข้อมูลการค้าทั้งหลายซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ยังแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทรัมป์เที่ยวประโคมอวดโอ่เกี่ยวกับความสำเร็จของเขาใน “สงครามการค้า” กับจีนนั้น จำนวนมากกลับปรากฏผลออกมาในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำเนียบขาวเคยระบุเอาไว้
มันกลายเป็นความย้อนแย้งอย่างน่าขันทีเดียว อย่างที่นักวิชาการทางด้านจีน 2 คนของมูลนิธิคาร์เนกี ได้ชี้ออกมาให้เห็นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://carnegieendowment.org/2020/06/24/in-u.s.-china-trade-war-new-supply-chains-rattle-markets-pub-82145) ว่า “ภาษีศุลกากรไม่ได้ทำให้ภาวะดุลการค้าที่อยู่เบื้องลึกลงไปของสหรัฐฯ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาอย่างแท้จริงใดๆ เลย แต่เวลาเดียวกัน การได้เปรียบดุลการค้าของจีนกลับเพิ่มสูงขึ้น และตลาดส่งออกของแดนมังก็กำลังมีการกระจายตัวหลากหลายมากขึ้น”
ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า “การลดความเสียเปรียบดุลการค้าทวิภาคีที่มีกับจีนของทรัมป์เป็นสิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยที่ทำให้เกิดการหดตัวอย่างสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ของการได้เปรียบทางการค้าโดยภาพรวมของจีน”
ขณะที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนลดต่ำลงไป 87,300 ล้านดอลลาร์เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี สิ่งซึ่งมันสำแดงผลออกมาให้เห็นเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ราคาที่สูงขึ้นสำหรับพวกกิจการค้าปลีกและบรรดาครัวเรือนชาวอเมริกันทั้งหลาย แทนที่จะกระทบกระเทือนการได้เปรียบทางด้านการค้าโดยภาพรวมของจีน หรือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเฟื่องฟูมีการว่าจ้างแรงงาน “คอปกน้ำเงิน” อย่างคึกคักในอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกา ตามที่ทรัมป์ได้คาดหมายวาดหวังเอาไว้ว่าจะบังเกิดขึ้น
จีนยังสามารถชดเชยทดแทนยอดที่ลดฮวบลงของการส่งออกไปยังสหรัฐฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มยอดขายในการค้ากับคู่ค้ารายอื่นๆ แทบทุกราย เฉพาะการส่งออกของจีนไปยังกลุ่มอาเซียนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 38,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนการที่จีนขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อผลิตภัณฑ์อเมริกันได้ทำให้ยอดนำเข้าของแดนมังกรลดต่ำลง 33,000 ล้านดอลลาร์
เวลานี้เป็นที่เปิดเผยชัดเจนกันแล้วว่า ทั้งๆ ที่ต้องทำสงครามการค้ากับอเมริกา แต่จีนก็ยังคงสามารถปิดบัญชีในปี 2019 ด้วยการที่ดุลการค้าโดยรวมได้เปรียบเกินกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ สภาพเช่นนี้ยังคงบังเกิดขึ้นมาถึงแม้มีข้อเท็จจริงอย่างที่การศึกษาของ 2 นักวิชาการแห่งมูลนิธิคาร์เนกีชี้เอาไว้ว่า:
“ฐานะครอบงำของจีนในอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกกำลังลดถอยลงอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 2015 สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างต่างๆ ในเศรษฐกิจจีน เป็นต้นว่า การที่จีนอยู่ในกระบวนการถอนตัวอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ จากพวกอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ทักษะต่ำ อย่างเช่นเสื้อผ้าและสิ่งทอ, การที่จีนลดถอยบทบาทในการเป็นสถานที่สำหรับการนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย, และการปรับความสมดุลให้ไปสู่การบริโภคและการบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะเน้นหนักการค้าลดน้อยลง ขณะที่เน้นหนักการลงทุนมากขึ้น”
สิ่งที่แนวโน้มต่างๆ ข้างต้นตอกย้ำให้เห็นกันอย่างชัดเจนก็คือ สงครามการค้ากับสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนของสายโซ่อุปทานสืบเนื่องมาจากโรคระบาด มีแต่จะยิ่งเร่งรัดเพิ่มทวีความรวดเร็วพวกแนวโน้มเหล่านี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปักกิ่งเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจสำหรับการก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง
สรุปแล้ว เป้าหมายของทรัมป์ในการลดการขาดดุลการค้าและในการทำให้ลู่ทางอนาคตทางเศรษฐกิจของจีนอ่อนแอลง ต่างก็ยังไม่ได้ปรากฏให้เห็นเป็นจริง เมื่อวินิจฉัยจากการลงทุน, การบริโภค, และระดับราคาต่างๆ แล้ว เศรษฐกิจจีนไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญจากการที่สหรัฐฯมุ่งกำราบบดบี้แดนมังกรทั้งทางด้านการค้าและทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความป่วยไข้ใดๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีนอยู่ในเวลานี้ ไม่ได้มีสาเหตุสืบเนื่องจากทรัมป์ หากแต่เป็นอย่างที่นักวิชาการชาวจีนผู้หนึ่งได้เขียนเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า “มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างอุปทานและอุปสงค์ภายในประเทศ, ฟองสบู่ทางการเงินที่มีสาเหตุจากการปล่อยกู้ในเรื่องที่ดิน ซึ่งสังคมโดยรวมยังไม่ได้ย่อยสลายไปอย่างเต็มที่, และวงจรเศรษฐกิจอันขรุขะ ระหว่างการกระตุ้นอุปสงค์ด้วยการใช้มาตรการแบบสำนักเคนส์ (Keynesian) ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเป็นเวลานาน และการออก M2 กันอย่างล้นเหลือ (ตามทฤษฎีของสำนัก monetary school)
“สงคราม”ไม่ได้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถนำมาใช้ได้
สามารถกล่าวได้ว่า ปักกิ่งได้มีการไตร่ตรองคาดคำนวณเอาไว้เป็นอันดีแล้ว ขณะที่ขีดเส้นสีแดงบนพื้นทรายในการประชุมหารือที่ฮาวายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ระหว่าง หยาง เจียฉี สมาชิกในกรมการเมืองที่ทรงอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งเป็นนักการทูตระดับท็อปของแดนมังกร กับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ข้อเขียนของผมเรื่อง China warns Trump not to risk trade deal https://indianpunchline.com/china-warns-trump-not-to-risk-trade-deal/)
หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในเมื่อมันไม่ได้มีความแตกต่างอย่างใหญ่โตมากมายอะไรในเรื่องความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างระบบเศรษฐกิจของจีนกับของสหรัฐฯในเวลานี้ สงครามเพื่อมุ่งเล่นงานจีนจึงไม่ได้เป็นทางเลือกทางหนึ่งสำหรับวอชิงตันอีกต่อไปแล้ว สงครามทั้งหลายทั้งปวงที่ทรัมป์ทำกับจีน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า, สงครามทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, หรือสงครามทางความคิดอุดมการณ์ ล้วนไม่สามารถทำให้เกิดความแตกต่างแก่ช่วงห่างทางอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีแต่กำลังหดแคบเข้ามาด้วยจังหวะเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ
ในทางตรงกันข้าม การระบาดใหญ่ของโรคติดต่อโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียอย่างหนักหน่วงให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่ปรากฏหลักฐานเมื่อดูจากพวกตลาดหุ้นอเมริกันซึ่งต้องใช้กลไกเซอร์กิตเบรกเกอร์ของพวกตนมาหยุดยั้งการไหลรูดของตลาดครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม นอกจากนั้น ผลกระทบสะสมซึ่งทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูงสุดโต่ง และการเสียชีวิตของชาวอเมริกันกว่า 100,000 คนสืบเนื่องจากเสถียรภาพทางสังคม ก็กำลังเป็นสิ่งที่ร้ายแรงเอามากๆ
ในสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ นอกเหนือจากอินเดียและออสเตรเลียแล้ว ไม่ได้มีใครอื่นอีกที่เข้าร่วมเอาด้วยกับยุทธศาสตร์ของทรัมป์ในการมุ่งสยบจีน สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวมากที่สุดได้แก่การที่พวกประเทศสหภาพยุโรปกำลังใช้ท่าทีดำเนินนโยบายต่อจีนอย่างเป็นอิสระกันมากขึ้นเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ที่แตกต่างออกไปของพวกตน ประเทศเหล่านี้กำลังเน้นย้ำเรื่องที่ยุโรปจะมุ่งร่วมมือและเป็นหุ้นส่วนกับจีน ถึงแม้ยังคงมีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจอย่างคึกคักระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ก็ตามที
อียูยืนยันว่าการมีปฏิสัมพันธ์และการปฏิบัติงานร่วมกับจีน “เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความจำเป็น” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2020/06/26/the-future-of-trans-atlantic-collaboration-on-china-what-the-eu-china-summit-showed/?) เวลาเดียวกันนั้นก็จะยังคงเดินหน้าผลักดันให้ปักกิ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นธรรมของจีนไปด้วย ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ยุโรปต้องพึ่งพาอาศัยจีนอย่างมหาศาลในเรื่องการค้าและการลงทุน และไม่สามารถที่จะเข้าร่วม ตลอดจนจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม ในการมุ่งโฟกัสไปที่ภูมิรัฐศาสตร์อย่างคลั่งไคล้ของวอชิงตันได้ รวมทั้งยุโรปยังจะไม่เข้าร่วมในการผจญภัยทางทหารใดๆ ที่สหรัฐฯอาจจะก่อขึ้นมาเพื่อคัดค้านจีน แม้กระทั่งในเรื่องคำพูดจาคำแถลงของพวกตน บรรดาผู้นำยุโรปก็จะหลีกเลี่ยงละเว้นจากการโจมตีเล่นงานจีนใดๆ ก็ตามที่มีการใช้สำนวนโวหารแบบมุ่งเผชิญหน้า, ไม่ยินยอมอ่อนข้อ, และมุ่งลงโทษเอาผิด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกยุโรปไม่ไว้วางใจคณะบริหารทรัมป์อย่างล้ำลึกยิ่ง และถือว่ารัฐบาลสหรัฐฯชุดนี้พึ่งพาเชื่อถือไม่ได้รวมทั้งไม่อาจคาดเดาทำนายได้
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า นโยบายปัจจุบันของคณะบริหารทรัมป์ที่มุ่งกำราบบดบี้จีน และส่งผลให้เป็นความพยายามปิดกั้นล้อมวงมุ่งสกัดไม่ให้แดนมังกรสามารถพัฒนาความแข็งแกร่งแห่งชาติอย่างรอบด้านของตนต่อไปได้อีกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอนาคต ทรัมป์เป็นผู้ที่รู้สึกขมขื่นมากถ้าหากถูกคนอื่นมองว่าเป็น “พวกขี้แพ้” มันเป็นบทบาทที่เขารังเกียจเหยียดหยามมาโดยตลอด ความขมขื่นเช่นนี้กำลังแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ มันกำลังกลายเรื่องความรู้สึกส่วนตัวไปแล้วในระยะหลังๆ อย่างที่เห็นได้จากการระเบิดอารมณ์อย่างรุนแรงผิดแผกปกติ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/chinese-communist-partys-ideology-global-ambitions/) ที่ทำเนียบขาวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ตอนที่เขาบอกว่า สี จิ้นผิง เป็นคนประเภทเดียวกับ โจเซฟ สตาลิน โดยเป็นทรราชและเป็นนักลัทธิมาร์กซ์-ลัทธิเลนิน (Marxist-Leninist) ที่ยึดติดแน่นไม่มีทางแก้ไขกลับใจได้ อันถือว่าคำหยาบหยามอย่างรุนแรงที่สุดในประมวลคำศัพท์ทางการเมืองของทรัมป์
ถึงแม้เราสามารถพูดได้อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้นนี้ แต่หากแยกเอาเรื่องการใช้ถ้อยคำโวหารเพื่อโต้เถียงขัดแย้งกันออกไปแล้ว ต้องยอมรับว่าทรัมป์ยังมีความเป็นผู้ยึดถือความเป็นจริง (realist) ซึ่งจะตระหนักรับทราบว่านโยบายในการกำราบบดบี้จีนของคณะบริหารในสมัยแรกของเขานั้น ไม่เพียงแต่ล้มเหลวไม่สามารถก่อให้เกิดดอกผลอันพึงปรารถนาที่จะเพิ่มพูนลู่ทางโอกาสในการทำให้เขาได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขาดเขินไร้ผลในการกระตุ้นให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงใดๆ ในเส้นชีวิตของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย ถ้าทรัมป์เกิดเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ความตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้อาจจะเร่งรัดให้เขาต้องปรับเปลี่ยนนโยบายจีนของเขา มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเริ่มต้นกันใหม่ด้วยทีมนโยบายการต่างประเทศทีมใหม่ ขณะเดียวกัน เขายังจะไม่ตกอยู่ในสภาพถูกบีบบังคับให้ต้องพึ่งพาเอาใจผู้ลงคะแนนเสียง จนกระทั่งต้องคอยพูดคอยทำเรื่องที่ก่อให้เกิดความเอะอะฮือฮาอยู่เรื่อยๆ อีกต่อไป ถ้าสภาพเช่นที่กล่าวถึงนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว คาดหมายได้ว่าจีนจะมีการตอบสนองต่อการทาบทามใดๆ ก็ตามซึ่งปรากฎให้เห็น
ในอีกด้านหนึ่ง แทบเป็นสิ่งแน่นอนทีเดียวว่าจะเกิดการหันเลี้ยวกลับอย่างแรง ถ้าหากไบเดนเป็นฝ่ายชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ สามารถคาดหมายได้ว่านโยบายจีนของไบเดนจะสมเหตุสมผลและมุ่งผลในทางปฏิบัติ ถึงแม้เขาเคยเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกแบบวางแผนให้แก่ยุทธศาสตร์ “หวนกลับมาสร้างความสมดุล” ในเอเชีย ในช่วงยุคแห่งการเป็นประธานาธิบดีของบารัค โอบามา ไบเดนและพวกพรรคเดโมแครตโดยรวมนั้นมีทัศนคติที่ค่อนข้างแง่บวกมากกว่าและเปิดกว้างยิ่งกว่า ในการมุ่งสู่ยุคสมัยที่เต็มไปด้วยปัญหาต่อไปข้างหน้านี้ --ยุคสมัยซึ่งจีนกำลังไล่กระชั้นและหดลดช่องว่างแห่งอำนาจที่ยังห่างจากสหรัฐฯ ด้วยความรวดเร็วยิ่ง
ช่องทางต่างๆ ในการพูดจาสนทนากันจะกลับปรากฏขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่ง โดยเข้าแทนที่การตั้งท่าวางโตตามแผนการที่วางกันเอาไว้ในยุคแห่งการเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ซึ่งมุ่งที่จะวาดภาพบรรยายความจีนให้กลายเป็นปีศาจร้ายและเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของสหรัฐฯ ในช่วงแห่งการเป็นประธานาธิบดีของไบเดน บรรยากาศโดยรวมของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนมีแต่จะปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้น – ถึงแม้การแข่งจันอันดุเดือดระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องทั้งในปริมณฑลด้านไฮเทค และในการชิงชัยเพื่อเป็นผู้กำหนดมาตรฐานระดับโลกทั้งหลาย ในขณะเดียวกับที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคสมัยซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียิ่งเร่งตัว และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย จนกระทั่งกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างปุบปับฉับพลัน
ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ทำนองเดียวกันกับพวกประเทศยุโรป ไบเดนเองก็จะต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาภายในประเทศอันใหญ่โต –เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ, ประเด็นปัญหาด้านเชื้อชาติสีผิว, ความยุติธรรมในสังคม, การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศภายหลังโรคระบาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างเมทริกซ์ (matrix) อย่างหนึ่งขึ้นมา โดยที่การร่วมมือและการประสานงานกับปักกิ่งจะกลายเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ ส่วนการกำราบบดบี้จีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างที่อเมริกันกระทำอยู่ในปัจจุบันมีแต่จะบรรเทาผ่อนเพลาลงไป เนื่องจากผลลัพธ์ของการจัดลำดับความสำคัญในการรับมือกับประเด็นปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ ขณะที่สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเองก็มุ่งเน้นหนักความเป็นพหุภาคี
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/us-china-trade-deal-unravels-what-next/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก