(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Deciphering Trump’s political attacks on China
by MK Bhadrakumar
06/05/2020
ดูจากผลสำรวจความเห็นของอเมริกันชน ทรัมป์ไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยการโจมตีจีน เพื่อหันเหความสนใจออกไปจากความผิดพลาดของเขาเองในการรับมือโควิด-19 แต่มันชัดเจนมากว่าทรัมป์วาดหวังอาศัยการเล่นงานทุบตีจีน เพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยที่ โจ ไบเดน คู่แข่งของเขาก็มีความประสงค์ทำนองเดียวกัน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำลังมัดตัวเองและท่านผู้เฝ้าชมทั้งหลายเอาไว้ด้วยเงื่อนปมที่ผูกซ้อนๆ ทบทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการแถลงแสดงความคิดเห็นในระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้ที่บางครั้งยกย่องชมเชยจีนแต่บางคราวก็โจมตีวิจารณ์จีนสลับไปสลับมา ทั้งนี้คงมีแต่ตัวเขาเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถแก้คลายเงื่อนปมอีนุงตังนังซึ่งเขาเป็นผู้ผูกเอาไว้นี้ และเขาจะอยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนี้ได้คงมีแต่ต้องรอกันไปจนกระทั่งหลังเดือนพฤศจิกายนเมื่อการหย่อนบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯผ่านพ้นไปแล้ว
ทำไมทรัมป์จึงออกแรงใช้ถ้อยคำโวหารบีบคั้นจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ นี่อาจจะตีความได้หลายๆ อย่างแตกต่างออกไป แต่คำอธิบายที่โดดเด่นมีพลังน่าเชื่อถือดูจะมีอยู่ 3 ประการ อันแรกสุดซึ่งก็เป็นการตีความแบบที่จีนอยากให้เราเชื่อด้วยนั้น ระบุว่า เป็นไปได้ที่ทรัมป์ขยายการวิพากษ์วิจารณ์จีนของเขาก็เพื่อหันเหความสนใจออกไปจากความบกพร่องล้มเหลวของคณะบริหารของเขาเองในการรับมือจัดการกับโรคระบาดใหญ่เนื่องจากไวรัสโคโรนาในอเมริกา
มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางนิวยอร์กไทมส์ในเดือนเมษายน [1] ระบุว่า: “การตรวจสอบเผยให้เห็นว่า ประธานาธิบดีได้รับคำเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่แล้ว แต่เนื่องจากความแตกแยกกันภายใน, การขาดไร้การวางแผน, และความเชื่อศรัทธาของเขาที่มีต่อสัญชาตญาณของตัวเขาเอง ได้นำไปสู่การตอบโต้รับมือแบบแหว่งๆ วิ่นๆ ตะกุกตะกัก” รายงานข่าวนี้กล่าวต่อไปอีกว่า:
“สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการติดตามเฝ้าระวังโรคระบาดใหญ่ทั้งหลาย ได้รับรายงานข่าวกรองตั้งแต่ตอนต้นเดือนมกราคมซึ่งทำนายการแพร่กระจายของไวรัสนี้เข้าสู่สหรัฐฯ และภายในไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนั้นก็กำลังหยิบยกข้อเสนอทางเลือกต่างๆ ที่คล้ายๆ กับการเรียกร้องให้ชาวอเมริกันทำงานจากบ้าน และปิดล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ ขนาดนครชิคาโก ทว่ามิสเตอร์ทรัมป์จะหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้ก้าวเดินเหล่านี้จวบจนกระทั่งมาถึงเดือนมีนาคม”
ผลก็คือ ทรัมป์พล่าผลาญเวลาอันสำคัญยิ่งยวดไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งพรวดขึ้นตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ตลอดระยะเวลา [2] “จากวันที่ 26 กุมภาพันธ์ไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม จำนวนเคสยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ใมนสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจาก 15 มาเป็น 4,226 ราย ... (สำหรับยอดรวมสะสมนับถึงตอนนี้ มีผู้คนมากกว่า 1 ล้านแล้ว) [3] ในสหรัฐฯซึ่งผลตรวจเชื้อไวรัสออกมาเป็นบวก ไม่เพียงเท่านั้นพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบบอกด้วยว่า ยังมีอีกหลายแสนคนที่ยังไม่ได้ถูกตรวจ ซึ่งก็น่าจะติดเชื้อเช่นเดียวกัน” ขณะที่จำนวนชีวิตคนที่สูญเสียไปอยู่ในระดับเฉียดๆ 70,000 คน [4] ณ วันที่ 4 พฤษภาคม
ไล่ประณามคนอื่นเพื่อหันเหความสนใจ
สามารถคาดคิดกันไปได้ว่า การเที่ยวไล่ประณามคนอื่นเพื่อหันเหความสนใจได้กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับคณะรัฐบาลทรัมป์ในการปกปิดการไร้ความสามารถของตน ทรัมป์นั้นใช้ท่าทีแบบมุ่งรอมชอมอยู่ตลอดช่วงกลางเดือนมีนาคม มีการยกย่องสรรเสริญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนว่ากำลังทำได้ดีในการรับมือกับการแพร่กระจายของโควิด-19 แต่แล้วน้ำเสียงเช่นนี้ก็เปลี่ยนไปแบบปุบปับฉับพลันเมื่อเขาหันมาป่าวร้องข้อความใหม่โดยเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “ไวรัสจีน”
อย่างไรก็ดี พอติดตามตรวจสอบกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น กลับพบว่าทรัมป์ ผู้ซึ่งมีสายตาที่แหลมคมมากในเรื่องวัฎจักรของข่าวสารนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นจริงๆ อะไรเลยที่จะต้องหันไปพึ่งวิธีไล่ประณามคนอื่น เรตติ้งความยอมรับผลงานของเขา [5] ในโพลของสำนักแกลลัป (Gallup poll) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน ยืนอยู่ในระดับเหลือเชื่อที่ 49% ชัดเจนทีเดียวว่าคะแนนความยอมรับผลงานของเขาโดยภาพรวมอยู่ในระดับสามารถลอยคอเหนือน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี 50% บอกว่าพวกเขายอมรับเห็นชอบกับการจัดการกับโรคระบาดใหญ่ของเขา
ผลโพลออกมาเช่นนี้ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่ายอดตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานกำลังกระโจนพรวด และตลาดการเงินที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างวูบวาบ ต่างปลดริบเหตุผลข้ออ้างที่แข็งแกร่งที่สุดสำหรับการรณรงค์ให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของเขา ซึ่งได้แก่ เศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง
สภาพเช่นนี้กลายเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่คำอธิบายอื่นๆ อีก 2 ประการในเรื่องที่ว่าทำไมอารมณ์ของทรัมป์จึงเหวี่ยงขึ้นลงแรงเหลือเกินในเรื่องเกี่ยวกับจีน ทั้งนี้เมื่อรวบเอาทั้ง 2 ประการนี้มากล่าวอย่างเป็นภาพรวม ก็คือ ทรัมป์กำลังปรับจุดยืนของตนเองให้สามารถตักตวงใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนในสหรัฐฯ ซึ่งได้เปลี่ยนไปในทางรู้สึกลบต่อจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา
ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันครั้งใหม่ ที่กระทำโดยศูนย์กลางวิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ (Pew Research Center ) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา [6] เปิดเผยให้เห็นว่า “ประมาณกันอย่างหยาบๆ ประมาณสองในสามของอเมริกันชนเวลานี้บอกว่า พวกเขามีความคิดเห็นในทางไม่ชอบประเทศจีน ถือเป็นเปอร์เซนต์ความรู้สึกลบต่อประเทศนี้ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ที่สถาบันแห่งนี้เริ่มต้นถามคำถามนี้ในปี 2005 และเพิ่มขึ้นเกือบๆ 20 เปอร์เซนต์นับตั้งแต่คณะบริหารทรัมป์เริ่มบริหาร” ปกครองสหรัฐฯในปี 2017
สิ่งที่น่าประหลาดใจมากก็คือ รายงานผลการสำรวจครั้งนี้ของ พิว กล่าวต่อไป [7]ว่า “เวลานี้มีชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นที่มองเห็นว่า สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจผู้นำหน้ากว่าใครเพื่อนของโลก [8] ซึ่งถือว่าสูงกว่าการสำรวจครั้งใดๆ ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา” และ “เชื่อกันอย่างมากมายท่วมท้นเช่นกันว่าประเทศของพวกเขาเป็นผู้นำในด้านการทหารของโลก และเชื่ออีกว่าโลกนี้ดีขึ้นด้วยการมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้จีนเป็นผู้นำ”
ยิ่งไปกว่านั้น “มีเพียงราวหนึ่งในสี่” ของอเมริกันชนซึ่งสำรวจโดย พิว ที่บอกว่า “มีทัศนคติในทางชื่นชอบ” ประเทศจีน
ยุทธศาสตร์ใหม่
จุดที่สำคัญมากก็คือ “ในกลุ่มประชากรต่างๆ หลากหลายทั่วไปหมด มีทัศนะเชิงลบต่อจีนเป็นจำนวนมาก” ประมาณกันอย่างหยาบๆ ได้ว่า 6 ใน 10 ของผู้ที่แสดงตัวเป็นชาวพรรคเดโมแครต รวมทั้งพวกความคิดเห็นอิสระที่เอนเอียงไปทางเดโมแครต ... และ 7 ใน 10 ของผูที่แสดงตัวเป็นชาวรีพับลิกัน รวมทั้งพวกความคิดเห็นอิสระที่เอนเอียงไปทางรีพับลิกัน ... ต่างมีทัศนะไปในทางไม่ชื่นชอบจีน” ตามรายงานผลการสำรวจของ พิว [9]
ไม่ต้องสงสัยเลย ทรัมป์ไม่เพียงแค่ทำตัวสอดคล้องกลมกลืนไปกับประชาชนชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังกำลังขับขี่กระแสคลื่นแห่งมติมหาชนนี้ด้วย เคียงข้างไปกับเรื่องนี้ ยังมีปัจจัยประการที่ 2 ได้แก่ การที่ โจ ไบเดน กลายเป็นผู้ที่น่าจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครในนามพรรคเดโมแครต ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนนี้
ฉายาดูถูกดูหมิ่นที่ทรัมป์นิยมใช้เรียกไบเดน ก็คือ “Sleepy Joe” (โจ ซึมเซา) และ “Beijing Biden” (ไบเดน ปักกิ่ง) ทรัมป์ยังพยายามทำให้พวกเราเชื่อว่า ไบเดนเป็นสหายของ “Crazy Bernie [Sanders]” (เบอร์นี แซนเดอร์ส คนบ้า) ซึ่งเป็นกันเองกับจีนเหลือเกินจนทำให้เขาไม่เหมาะที่จะเป็นประธานาธิบดี
เรื่องหลักที่ทรัมป์หวังใช้หาเสียงให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง คือ เศรษฐกิจที่คึกคักมีชีวิตชีวา ได้ระเหิดระเหยหายไปเสียแล้ว ดังนั้นเขาและทีมงานของเขาจึงกำลังประดิษฐ์สร้างยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา อันได้แก่ การละเลงป้ายสีชื่อเสียงเกียรติคุณของคู่แข่งขันทางการเมืองของเขา ด้วยการเชื่อมโยงคู่แข่งผู้นั้นให้พัวพันเกี่ยวข้องกับศัตรูเก่าทางภูมิรัฐศาสตร์
“จีนต้องการได้ โจ ซึมเซา เหลืออออ เกิน” ทรัมป์ทวิตเมื่อวันที่ 18 เมษายน [10] และพ่นไฟต่อไปว่า “โจ เป็นคนที่หลอกต้มได้ง่าย จึงเป็น ผู้ ส มั ค ร ใ น ฝั น ของพวกเขา!” อีเมลรณรงค์หาเสียงอันหนึ่งที่เคยป่าวร้องกันก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนก็เน้นย้ำประเด็นนี้ “ผม โ ห ด กั บ จี น แต่ โจ ไบเดน คนซึมเซา อ่ อ น แ อ กั บ จี น”
ด้วยการทำเช่นนี้ ทรัมป์ยังกำลังดำเนินแผนการหันเหจุดสนใจให้ออกไปจากคณะบริหารของเขาที่รับมือโควิด-19อย่างบกพร่องผิดพลาด เขากำลังกุมบังเหียนตะล่อมเอาความรู้สึกของอเมริกาที่เป็นปรปักษ์ต่อจีนมากขึ้นเรื่อยๆ มาใช้เปิดฉากการเข้าโจมตีเล่นงานเป็นการส่วนตัวต่อ “ไบเดน ปักกิ่ง”
การเมืองเรื่องเลือกตั้งของอเมริกันเป็นสิ่งที่เอะอะอึกทึก และเป็นเรื่องธรรมดาที่จะพยายามนิยามคู่ปรับทางการเมืองในทางลบตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการรณรงค์หาเสียง จอร์จ ดับเบิลยู บุช ใช้ยุทธวิธีเช่นนี้เล่นงาน จอห์น เคร์รี (John Kerry) ในปี 2004 และบารัค โอบามา ก็ใช้เล่นงาน มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ในปี 2012
หลักฐานชัดเจนมากว่า ทรัมป์ได้คำนวณแล้วว่าเวลาตอนนี้แหละคือจังหวะอันเหมาะเหม็งสำหรับการวางแนวทางและการเลือกใช้ถ้อยคำที่จะโจมตีเล่นงานไบเดน ซึ่งเป็นอดีตรองประธานาธิบดีที่ผู้คนรู้จักกันอยู่แล้ว และมีชื่อเสียงมายาวนานในฐานะของการเป็นพวกมุ่งหวังผลเชิงปฏิบัติที่มีกลิ่นไอแบบคนบ้านนอก
สงครามน้ำลาย
ด้วยเหตุนี้สงครามน้ำลายจึงเริ่มต้นขึ้นมาในโฆษณารณรงค์หาเสียงของแต่ละฝ่ายในเรื่องที่ว่า ใครคือคนที่โหดมากกว่าในการติดต่อสัมพันธ์กับจีน เป็นต้นว่า ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ได้ปล่อยโฆษณาตัวหนึ่งตอนต้นเดือนเมษายน ซึ่งมุ่งประจานคำพูดต่างๆ เกี่ยวกับจีนที่ไบเดนเคยกล่าวเอาไว้ในอดีต และสรุปด้วยการประกาศว่า “ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา โจ ไบเดน ผิดมาตลอดในเรื่องเกี่ยวกับจีน”
มีเว็บไซต์ BeijingBiden.com [11] ปรากฎขึ้นมา ซึ่งดูมีจุดมุ่งหมายหลักว่า ต้องการพูดถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างไบเดนกับจีน ซึ่งถูกระบุว่าเป็น ‘ความสัมพันธ์ที่แสนจะเป็นกันเอง’” [12] อย่างที่ ลอเรน แกมบิโน (Lauren Gambino) แห่ง เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานเอาไว้
รายงานของ แกมบิโอ กล่าวต่อไป [13] ว่า ในอีกด้านหนึ่ง แน่นอนอยู่แล้วว่า “ทีมรณรงค์หาเสียงของไบเดนก็ได้ตอบโต้ด้วยการรณรงค์โฆษณาที่ปวดแสบปวดร้อนของตนเองเช่นกัน” ด้วยการประณาม “ทรัมป์ที่ไม่ได้เล่นงานจีนให้ต้องรับผิดกันตั้งแต่ต้นๆ ในเรื่องการรับมือกับไวรัส โดยที่โฆษณานี้บอกว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ‘บกพร่องล้มเหลวไม่ได้ลงมือทำ’ ขณะที่ไวรัสโคโรนาแพร่กระจายออกไป” เวลาเดียวกันยัง “บรรจุฟุตเทจที่ทรัมป์กำลังพูดยกย่องสรรเสริญสี แล้วสำทับว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ‘ยกย่องจีนว่าสมควรที่เขาให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ’”
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ทรัมป์ยังแสดงความระมัดระวังไม่ให้การโจมตีปักกิ่งเช่นนี้บานปลายเลยเถิดออกไป ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าจีนยังคงถือไพ่หลายใบเอาไว้ในมือ ในช่วงเวลาหลายๆ เดือนก่อนจะถึงเดือนพฤศจิกายน ที่เป็นเดือนเลือกตั้ง
จีนนั้นกุมความได้เปรียบอย่างสำคัญในเรื่องสินค้าข้าวของเครื่องใช้ด้านสุขภาพของทั่วโลก อย่างที่รายงานชิ้นหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์บอกเอาไว้ [14] ว่า “จีนเป็นผู้ควบคุมซัปพลายจำนวนมากมายมหาศาลของหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ซึ่งพวกโรงพยาบาลอเมริกาจำเป็นต้องใช้ และถ้าหากจีนพัฒนาวัคซีนได้เป็นเจ้าแรก มันก็จะเปลี่ยนเป็นไพ่ที่ทรงอำนาจมากอย่างแท้จริง เป็นไพ่ที่จะเพิ่มพูนยกระดับฐานะระดับโลกของประเทศนี้ และทำให้จีนมีอำนาจอิทธิพลเหนือสุขภาพของชาวอเมริกันหลายร้อยล้าน”
ในทำนองเดียวกัน ทรัมป์ยังจะคอยติดตามวัดผลลัพธ์ของถ้อยคำโวหารที่เขาป่าวร้องไป ว่าจะทำให้ความตึงเครียดในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนพุ่งทะยานรุนแรงขึ้นขนาดไหน ทั้งนี้มันยังไม่มีความแน่นอนเอาเสียเลยว่า จีนจะกระทำตามคำมั่นสัญญาซึ่งให้ไว้ภายใต้ข้อตกลงการค้าฉบับชั่วคราว [15] ในเดือนมกราคม ที่จะจัดซื้อสินค้าอเมริกันเป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในระยะ 2 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน เป็นสิ่งที่เกือบแน่นอนอยู่แล้วที่จีนจะสามารถก้าวผงาดออกมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นจากโรคระบาดใหญ่ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯซึ่งยังจะต้องผ่านระยะทางอีกยาวไกลสำหรับการฟื้นตัวนั้น เมื่อใดก็ตามที่เริ่มต้นกระเตื้องขึ้นมา ก็จะต้องพึ่งพาอาศัยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชีย (ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนคือผู้ขับดันตัวหลักให้เอเชียเดินหน้าสู่การเติบโตขยายตัว) เพื่อช่วยเหลือประคับประคองเศรษฐกิจของอเมริกันให้เงยหน้าอ้าปากขึ้นมา
ตรงนี้แหละที่การยินยอมกระทำตามข้อตกลงการค้าเดือนมกราคมของปักกิ่งกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เพราะเหตุผลข้อนี้เอง รายงานชิ้นหนึ่งของซีเอ็นเอ็น จึงให้ชื่อหัวเรื่องว่า “เป็นช่วงเวลาวิปริตสำหรับทรัมป์ที่จะเข้าสู้รบกับจีนอีกยกหนึ่ง” (It’s an insane time for Trump to pick (another) fight with China) [16] รายงานนี้ได้อ้างอิงนักเศรษฐศาสตร์หลายรายที่กล่าวเตือนว่า ยุทธศาสตร์ใดๆ ก็ตาม “ที่ใช้การขึ้นภาษีศุลกากรหรือมาตรการแซงก์ชั่นอื่นๆ เพื่อลงโทษจีนสำหรับบทบาทของปักกิ่งในวิกฤตการณ์สาธารณสุขครั้งนี้ ... อาจก่อให้เกิดผลด้านกลับอย่างเลวร้าย โดยมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สิ่งที่เวลานี้เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างดำดิ่ง (deep recession) ให้กลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างเต็มตัว (full-blown depression)”
และเศรษฐกิจสหรัฐฯนั่นเองอาจจะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้รายใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่ทรัมป์ยังคงแสดงท่าทีกลับไปกลับมาเวลาที่พูดกับสาธารณชนในเรื่องจีน
เชิงอรรถ
[1] https://go.ind.media/e/546932/oronavirus-trump-response-html/f9yrfn/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[2] https://go.ind.media/e/546932/oronavirus-trump-response-html/f9yrfn/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[3] https://go.ind.media/e/546932/-coronavirus-us-cases-html-map/f9yrfq/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[4] https://go.ind.media/e/546932/-coronavirus-death-toll-upward/f9yrfs/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[5] https://go.ind.media/e/546932/-handling-covid-situation-aspx/f9yrfv/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[6] https://go.ind.media/e/546932/ive-amid-coronavirus-outbreak-/f9yrfx/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[7] https://go.ind.media/e/546932/ive-amid-coronavirus-outbreak-/f9yrfx/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[8] https://go.ind.media/e/546932/ive-amid-coronavirus-outbreak-/f9yrfx/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[9] https://go.ind.media/e/546932/20-04-21-u-s-views-china-0-04-/f9yrfz/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[10] https://go.ind.media/e/546932/us-1251589681428520960-lang-en/f9yrg2/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[11] https://go.ind.media/e/546932/2020-05-05/f9yrg4/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[12] https://go.ind.media/e/546932/-coronavirus-politics-pandemic/f9yrg6/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[13] https://go.ind.media/e/546932/-coronavirus-politics-pandemic/f9yrg6/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[14] https://go.ind.media/e/546932/s-coronavirus-china-trump-html/f9yrg8/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[15] https://go.ind.media/e/546932/ase-1-trade-deal-idUSKBN1ZE2IF/f9yrgb/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
[16] https://go.ind.media/e/546932/ronavirus-trade-war-index-html/f9yrgd/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://go.ind.media/e/546932/2020-05-05/f9yrgg/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8) กับ Globetrotter (https://go.ind.media/e/546932/globetrotter-/f9yrgj/613536237?h=f8G96mg06T10tSCBEBCDNOAjfcUHg6UlEaX1yj3raJ8) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย